อาหารที่ดีต่อผู้ป่วยมะเร็งในแต่ละวิธีรักษา

อาหารที่ดีต่อผู้ป่วยมะเร็ง

อาหารที่ดีต่อผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา

💖 รับอาหารใจที่ดี

🍲 ทานอย่างไรดี เมื่อรักษามะเร็ง

  • รักษาด้วยเคมีบำบัด ทานอย่างไรดี
  • ใช้ยามุ่งเป้า ควรเลี่ยงอาหารอะไร
  • หลังฉายแสง ทานอย่างไรดี
  • หลังผ่าตัด ทานอย่างไรดี

🍲 ทานมังสวิรัติดีไหม

🧅 สรุปหลักสำคัญในการทานอาหารของผู้ป่วยมะเร็ง

รับอาหารใจที่ดี

เรื่องการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม เป็นประเด็นอันดับต้นๆ ที่ผู้ป่วยมะเร็งรวมถึงญาติผู้ดูแลมักรู้สึกกังวลและมีความสับสน ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องดูแลก่อนเป็นอันดับแรกก็คือ “อาหารใจ” เพราะเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง โดยส่วนใหญ่มักเกิดความวิตกกังวล หวาดกลัว จิตใจอ่อนแอ ข้อมูลมากมายทั้งจากผู้ที่หวังดีและจากอินเทอร์เน็ตก็ยิ่งชวนให้เกิดความสับสนและอาจสร้างความเข้าใจผิด ประจวบกับในช่วงภาวะที่จิตใจไม่มั่นคงก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ตัดสินใจทำอะไรที่ผิดพลาดไปได้ จึงควรมีความระมัดระวัง และปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลอยู่เสมอก่อนที่จะติดสินใจทำอะไร

ก่อนเข้ารับการรักษามะเร็ง ทานอย่างไรดี

หลายครั้งผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำจากคุณหมอว่า “ทานอาหารได้ทุกอย่าง” แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งกลับมักรู้สึกว่าเมื่อเป็นโรคมะเร็ง ควรจะมีความต้องการดูแลที่พิเศษ จึงพยายามหาข้อมูลที่พิเศษ จนอาจทำให้ไม่เป็นไปในทางเดียวกันกับการดูแลรักษาหลักของหมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคำแนะนำของคุณหมอก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนในการดูแลรักษาซ่อมแซมบำรุงร่างกาย เพียงแต่ต้องมีปริมาณจำกัดในอาหารบางประเภทเท่านั้น โดยสิ่งสำคัญคือ การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

ร่างกายแข็งแรง ก็ดีต่อการรักษา

ไม่ว่าจะเป็นก่อนการรักษา หรือระหว่างการรักษา การมีสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าร่างกายแข็งแรง อวัยวะแต่ละส่วนทำงานได้อย่างปกติก็จะส่งผลดีต่อการรักษา แต่หากผู้ป่วยทานของที่ส่งผลให้ระบบของร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงสมดุล เช่น กินสมุนไพรปริมาณเข้มข้นมากจนทำให้ค่าไตผิดเพี้ยนไปจากปกติ จะส่งผลกับการรับยารักษาในกระบวนการหลัก ทำให้คุณหมอต้องมาคำนวณวางแผนในการให้ยาใหม่ อีกทั้งยังอาจลดทอนประสิทธิภาพของยาบางตัว ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรได้อีกด้วย

ทานอาหารดี สุขภาพก็ดี

อาหารที่ดีกับผู้ป่วยมะเร็ง

ดูแลเม็ดเลือดแดงเม็ดเลือดขาวให้ดี

ไม่ควรเครียดและกังวลเรื่องอาหารมากเกินไปจนเจ็บป่วย น้ำหนักลด จะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงเม็ดเลือดขาวลดลง ภูมิคุ้มกันตก ร่างกายเสียสมดุล

ทำคีโมบำบัดอยู่ ทานอย่างไรดี

คนที่กำลังเข้ารับการรักษาแบบคีโมบำบัดมักจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ทานได้น้อยลง มีปัญหาในช่องปาก มีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ การเลือกทานอาหารจึงต้องมีความพิถีพิถันกว่าปกติ เมื่อทำเคมีบำบัด ผู้ป่วยมักมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ จึงควรเน้นการรับประทานอาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ภูมิคุ้มกันดี กำจัดเซลล์มะเร็งได้

“ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย” เป็นตัวช่วยที่สำคัญ เพราะมีความสำคัญในการช่วยจัดการดูแลรักษาร่างกายให้มีความปกติสมดุล ในด้านนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งจากเดิมที่เน้นการใช้ยาเคมีบำบัด เข้าไปจัดการเซลล์มะเร็งให้แตกและตาย ก็พัฒนามาเป็นยามุ่งเป้า ซึ่งเป็นยาภูมิคุ้มกันบำบัด ที่เปลี่ยนแนวคิดการรักษา โดยการเอาโมเลกุลของยาไปจัดการภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเอง ให้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะไปกำจัดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้

ทานอย่างไรดี

  • ทานอาหารที่หลากหลาย เน้นอาหารที่ปรุงสุกใหม่
  • เน้นทานโปรตีน ปริมาณมาก ประมาณ 1.2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 – 1.5 กิโลกรัม
  • คิดเป็นเนื้อสัตว์ เฉลี่ยวันละ 250 กรัม ต่อวัน
  • เน้นทานเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนโปรตีนจาก ไข่ ปลา ไก่
  • การทำคีโมส่งผลให้เม็ดเลือดแดงต่ำลง จึงต้องเสริมธาตุเหล็ก ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์ที่มีเลือดมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น เนื้อไก่ ปลานิล ปลาช่อน ปลาทับทิม
  • การทานในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้
  • เน้นอาหารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วิตามินซี สังกะสี การกินผักหลากหลายชนิด

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรกินไข่ต้มอย่างเดียวแทนเนื้อสัตว์ เพราะมีปริมาณธาตุเหล็กน้อย แม้จะเป็นโปรตีนคุณภาพดี จะส่งผลทำให้ได้โปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย
  • หากมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ควรงดผักผลไม้สด ควรทานผักผลไม้ที่ผ่านความร้อน โดยไม่จำเป็นต้องนำไปปรุงประกอบอาหาร เช่น ต้ม หรือผัด เพราะการความร้อนและเสียน้ำจากผักไปจะทำให้คุณค่าสารอาหารและวิตามินลดหาย ควรใช้วิธีการนึ่ง หรือเข้าไมโครเวฟเพื่อคงคุณค่าสารอาหาร
  • หากมีอาการรู้สึกร้อนในร่างกายตัวเอง แต่ไม่ได้เป็นไข้ ไม่ควรใช้ยาลดไข้ เพราะเป็นความร้อนที่เกิดจากการถูกเร่งกระบวนการเมตาโบลิซึมในร่างกาย สามารถช่วยได้โดยการกินพืชผักสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น เช่น น้ำชาเก๊กฮวย
  • ไม่ควรกินน้ำใบบัวบกลดความร้อน เพราะแม้เป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น แต่มีสารที่ตีกับยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาหลายตัว
  • ต้องระวังการกินทุกอย่างที่เป็นปริมาณมากหรือเข้มข้น เพราะยาแต่ละตัวจะตีกับอาหารแต่ละอย่างแตกต่างกันไป ในช่วงการรักษา การทานผักผลไม้บางอย่างจะมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น

รักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ทานอย่างไรดี

ควรเลี่ยงผักผลไม้บางอย่างที่มีฤทธิ์ตีกับตัวยา เช่น

  • Grapefruit เป็นน้ำผลไม้ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์บางตัว โดยเฉพาะ ไซโทโครม P450 3A4 เพราะจะทำให้การตอบสนองของยาเปลี่ยนแปลงและเสียคุณภาพไป ทั้งนี้ ในส้มโอ มีสารที่ใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่รองรับชัดเจนว่ามีผลเท่า Grapefruit ไหม แต่ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อน
  • ขมิ้นชัน มีผลกับยาบางตัว เช่น Tamoxifen (ทาม็อกซิเฟน) ซึ่งเป็นยาต้านฮอร์โมนของกลุ่มมะเร็งเต้านม ถ้าทานในส่วนที่ประกอบมากับอาหารในปริมาณไม่เยอะอาจไม่เป็นไร แต่การกินแบบเป็นอาหารเสริมสกัดเม็ดจะส่งผลมาก
  • การทานบล็อกโคลีปริมาณมาก ส่งผลกับยาเคมีบำบัดสูตร 5FU อาจทำให้เกิดการดื้อยาของเซลล์มะเร็ง 
  • น้ำมะเขือเทศ 

หลังฉายแสง ทานอย่างไรดี

ผลกระทบจากการฉายแสง

ผลกระทบจากการฉายแสง จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ร่างกายและปริมาณความถี่ที่ได้รับ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยในกลุ่มที่รักษาผ่านการผ่าตัดหรือฉายแสงส่วนหนึ่งมักมีอาการทานอาหารได้ยาก กลืนแล้วเจ็บในลำคอ กลุ่มที่ประสบปัญหามากที่สุดคือผู้ป่วยมะเร็งศรีษะและลำคอที่ต้องฉายแสงบริเวณลำคอ ส่งผลทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารถูกทำลายทั้งหมด เพราะแสงเข้าไปทำลายเซลล์อนุมูลอิสระที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เยื่อบุต่างๆ จึงได้รับผลกระทบไปด้วย

ความเย็นช่วยลดปวด

ในช่วงที่ไม่สามารถทานไหวจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องฝืน อาจเปลี่ยนมาทานอาหารทางการแพทย์แทน ควรเลือกที่มีกรดอะมิโนเอซิด (Amino Acids) สูง เพื่อช่วยซ่อมแซมระบบลำคอ โดยมีเทคนิคหนึ่งที่อาจช่วยได้คือ การใช้ไอศกรีมมาปั่นรวมกับอาหารทางการแพทย์ ตักเข้าปาก อม และค่อย ๆ กลืน ความเย็นจะช่วยลดปวด ทำให้พอได้รับสารอาหารในช่วงฉายแสง

กลูตามีนช่วยเยียวยาอาการอักเสบของเยื่อบุในช่องปาก

ไอศกรีมที่เป็นนมโดยเฉพาะเวย์โปรตีนสามารถช่วยเยียวยาอาการอักเสบของเยื่อบุในช่องปากได้ดีกว่าแบบเชอร์เบต เนื่องจากเวย์มีกลูตามีนอยู่เยอะ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ช่วยให้เซลล์ซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้น แม้จะมีน้ำตาลมาก แต่หากช่วงนั้นมีความจำเป็นต้องใช้แคลอรี สามารถใช้ตามความจำเป็นในช่วงเวลาดังกล่าวได้

หลังผ่าตัด ทานอย่างไรดี

เน้นโปรตีน และวิตามินซีเพื่อสร้างคอลลาเจนเนื้อเยื่อใหม่

ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ควรทานอาหารที่เน้นโปรตีนเช่นเดียวกัน และควรได้รับวิตามินซีเพื่อสร้างคอลลาเจนเนื้อเยื่อใหม่ในการสมานแผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเนื้อสัตว์ ผักผลไม้อยู่แล้ว สามารถเลือกทานได้ตามความเหมาะสม

ข้อแนะนำ :

  • การผ่าตัดที่บางส่วนของร่างกายต้องได้รับการพักฟื้นฟู เช่น การผ่าตัดลำไส้ ต้องงดเว้นอาหารที่มีกากใยมากเกินไป
  • การผ่าตัดเต้านมสามารถทานอาหารได้ทุกชนิด
  • ความเชื่อเรื่องห้ามกินของแสลง เช่น ไข่แดง ข้าวเหนียว ไม่เป็นความจริง สามารถทานได้
  • ห้ามทานของหวาน เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง และทำให้การสร้างเนื้อเยื่อช้าลง
  • การทานของหมักดองบางอย่าง เช่น ปลาร้า ปลาเค็ม อาจทำให้เกิดอาการคันแผลมากขึ้น ในส่วนนี้ยังไม่มีงานวิจัยศึกษาออกมา แต่เป็นความรู้จากประสบการณ์ตรงของหมอที่พบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการที่มีเชื้อโรคเจือปน หรือความเค็มทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบเนื้อเยื่อ ทำให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ช้าลง จึงควรหลีกเลี่ยง

ทานมังสวิรัติดีไหม ?

ในการเกิดโรคมะเร็งของคนๆ หนึ่งนั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ในบางเคสที่ทานมังสวิรัติมาทั้งชีวิตก็ยังอาจพบว่าเป็นมะเร็งได้ โดยอาจเกิดจากปัจจัยองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การล้างผักที่ไม่ดีพอ อาจทำให้ได้รับยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีตกค้างจากผัก โดยควรเลือกทานผักพื้นบ้านหลากหลายชนิด และปลูกแบบเติบโตตามธรรมชาติ เพราะเสี่ยงต่อสารเคมีน้อยกว่า

บางคนอาจทานเพราะเหตุผลพิเศษบางอย่าง เช่น การไม่เบียดเบียนชีวิต แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล

สรุปหลักสำคัญในการทานอาหารของผู้ป่วยมะเร็ง

  • ดูแลอาหารใจ
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และทานให้หลากหลาย
  • เน้นอาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และเน้นโปรตีน
  • จำกัดปริมาณอาหารที่ส่งผลเสีย

อาหารทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษที่แตกต่างกันไป ไม่มีสิ่งไหนที่ดีที่สุดหรือเลวร้ายที่สุด

สิ่งสำคัญ คือ
• รู้จักเลือกทานตามเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงเวลาให้เหมาะสม
• ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี
• ด้วยความใส่ใจในการดูแลสุขภาพทั้งเพื่อตัวเอง คนใกล้ชิด และผู้ดูแลรักษา


สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังของบทความนี้

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน โภชนาการและอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

โดย
👨‍⚕️ ดร.กมล ไชยสิทธิ์ : สมาคมโภชนาการและสมุนไพรเชิงบูรณาการ
👨‍⚕️ คุณสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข : ประธานชมรมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

-+=