เยี่ยมผู้ป่วยอย่างไร
ให้ดีต่อใจกับทุกฝ่าย

เยี่ยมผู้ป่วยอย่างไร ให้ดีต่อใจกับทุกฝ่าย

เยี่ยมเยียนให้กำลังใจ

ความน่ารักอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือมักเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีและความเอื้ออาทร เมื่อได้ยินว่ามีญาติสนิทมิตรสหายกำลังเจ็บป่วยเป็นโรคที่รุนแรงเรื้อรัง เราก็มักจะอยากไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ และหาหนทางช่วยเหลือแบบต่าง ๆ อย่างเต็มที่

แต่ในบางครั้ง ด้วยความไม่รู้และไม่ทันระมัดระวัง คำพูดการกระทำต่างๆ และความปรารถนาดีที่พยายามจะส่งไปเหล่านั้น อาจกลายเป็นสิ่งที่ไปสร้างความทุกข์ความอึดอัดใจให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลได้เช่นกัน วันนี้เราจึงอยากมาแชร์มุมมองและแนวทางต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้การเยี่ยมผู้ป่วยในครั้งต่อไปของเรา เป็นผลดีกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ให้การเยี่ยมผู้ป่วยในครั้งต่อไปของเรา เป็นผลดีกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

“เพื่อเธอ หรือเพื่อฉัน” ถามใจตัวเองดู

หลายครั้งที่ความปรารถนาดีของผู้ดูแลหรือญาติมิตรที่มาเยี่ยมเยียน อาจแปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมหรือถ้อยคำที่บีบคั้นกดดันผู้ป่วย จนส่งผลทำให้เกิดเป็นความตึงเครียด ขัดแย้ง จนอาจถึงขั้นปะทะกันได้ เช่น บังคับให้กินอาหาร ยัดเยียดให้ฟังธรรมมะ พาไปทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกต้องการหรือให้ความยินยอม เป็นต้น

เข้าใจสภาวะที่ผู้ป่วยเป็นอยู่อย่างแท้จริง เช่น อาจกินไม่ลงเพราะผลข้างเคียงอย่างหนักจากยา ไม่มีเรี่ยวแรงหรืออารมณ์ที่จะทำอะไร หรือแค่อยากอยู่เงียบๆ อย่างสงบมากกว่า

การกระทำเหล่านี้ บางทีอาจเป็นไปโดยที่เราไม่ได้เข้าใจสภาวะที่ผู้ป่วยเป็นอยู่อย่างแท้จริง เช่น กินไม่ลงเพราะผลข้างเคียงอย่างหนักจากยา ไม่มีเรี่ยวแรงหรืออารมณ์ที่จะทำอะไร หรือเพียงแค่อยากอยู่เงียบๆ อย่างสงบมากกว่า

แต่ด้วยความปรารถนาดีของคนรอบข้าง จึงกลับกลายเป็นการพยายามนำเสนอหรือถึงขั้นยัดเยียดในสิ่งที่ “ตนเอง” คิดว่าดี จนทำให้ผู้ป่วยต้องอึดอัดและเป็นทุกข์ ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจในระยะยาว นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อตัวเราเองเสียมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยอาจเกิดจากความต้องการดูแลให้เต็มที่เพื่อชดเชยให้กับเวลาที่เหลือน้อยลง ไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองดูแลพ่อแม่ไม่ดี ต้องการทำเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา ฯลฯ 

หากเราไม่รู้เท่าทันสภาวะที่เกิดขึ้นแบบนี้ ก็อาจทำให้ผลที่ออกมาเป็นไปในทางตรงกันข้ามได้

สิ่งหนึ่งที่ควรระลึกอยู่เสมอในการดูแลผู้ป่วยก็คือ
“ดีของเรา อาจไม่ใช่ ดีสำหรับเขา”

ก่อนไปเยี่ยม

1) ควรตรวจสอบ สอบถามข้อมูลให้ดีก่อน

อาการของโรค และสภาวะของผู้ป่วย

เพื่อให้ทราบความเป็นไปและข้อควรระวัง ทั้งในแง่การปฏิบัติตัว การเลือกสิ่งของ หรืออาหารที่จะนำไปฝากได้อย่างเหมาะสม ให้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยจริงๆ ไม่ทำให้แพ้ หรือเป็นสิ่งที่หมอห้าม

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายไม่ต้องการรับของฝากของเยี่ยมใดๆ
เราก็ควรเคารพในเจตนาของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

วันเวลา และวิธีการเข้าเยี่ยม

ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาล ก็ควรตรวจสอบจากผู้ที่ดูแลให้ดีก่อน
ให้เป็นเวลาที่ทางโรงพยาบาลกำหนดให้เยี่ยมได้
ให้เป็นช่วงที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลสะดวกจะรับแขก
ให้ผู้ดูแลสามารถควบคุมความถี่ หรือจำนวนคนที่เข้าเยี่ยมได้อย่างพอดี ไม่ส่งผลเสียกับผู้ป่วย

ผู้ป่วยบางราย ไม่ต้องการให้มีการเข้าเยี่ยมใดๆ
ซึ่งอาจมาจากเหตุผลได้หลายประการ
เราก็ควรเคารพในเจตนาของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

2) แจ้งบอกนัดหมายการเข้าไปเยี่ยมล่วงหน้า

เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้เตรียมพร้อมอย่างสะดวกใจ

ระหว่างเยี่ยม

  • สังเกตท่าที บรรยากาศ และรับฟังผู้ป่วยก่อน ไม่ผลีผลามในการพูดหรือทำอะไร
  • ไม่เสียงดัง หรือทำอะไรที่อาจเป็นการรบกวนผู้ป่วย
  • อย่าด่วนตัดสิน คิดว่าตนเองรู้ เข้าใจดี หรือพยายามให้คำแนะนำสั่งสอน หรือออกคำสั่งกับผู้ป่วย

คำพูดที่ควรระวัง

  • “สู้ๆ”
    ผู้ป่วยบางคนรู้สึกไม่ดีกับคำนี้ เพราะอาจรู้สึกว่าเค้าต้องสู้ต้องผ่านอะไรมามากมายพอแล้ว ไม่ต้องการที่จะสู้อีก หรือเหมือนกับว่าเค้ายังไม่สู้มากพออีกหรือ
  • “ทำใจนะ”
    ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว มาถึงทางตัน อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสิ้นหวังได้
    อาจเปลี่ยนมาใช้คำว่า “หมอ(หรือผู้ดูแล)จะช่วยดูแลรักษากันอย่างเต็มที่นะ”
  • “เดี๋ยวก็หาย”
    ผู้ป่วยหลายรายรู้ตัวดีว่าอยู่ในสถานะที่รักษาไม่หาย จึงอาจรู้สึกว่าผู้พูดก็พูดไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้พูดในสิ่งที่จริง
  • “ไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องตกใจนะ โชคดีนะที่ตรวจเจอเร็ว”
    • ผู้ป่วยร้ายแรงส่วนใหญ่มักรู้สึกตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับคำปลอบโยนเหล่านี้
      เพราะเขามักตกใจ เห็นเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่เรื่องโชคดี ไม่ว่าจะตรวจพบช้าหรือเร็ว

คำพูดและท่าทีที่เสริมกำลังใจ

  • “เป็นกำลังใจให้นะ ถ้ามีอะไรที่เราช่วยได้ก็ยินดี ขอให้บอก”
  • การให้กำลังใจ บางครั้งไม่ต้องทำอะไรเลย
    • เพียงอยู่เคียงข้าง ให้เขาเห็นว่าเราเป็นที่พึ่งที่รับฟังสำหรับเขาได้
    • รับฟัง ทุกสิ่งที่เขาอยากพูด อยากระบาย โดยไม่โต้แย้งสั่งสอน
    • หากสนิทสนม อาจสัมผัสร่างกายผู้ป่วยได้ตามความเหมาะสมและคุ้นเคย

ผู้ป่วยมักบอกว่า…ท่าทีและภาษากาย เป็นสิ่งที่แสดงความห่วงใยได้ดีกว่าคำพูด

วางตัวเป็นปกติ พูดคุยเรื่องทั่วไป

  • วางตัวเองให้เท่ากับเขา ในฐานะเพื่อน ด้วยการฟังมากกว่าสอน
    ไม่ว่าเราจะอายุมากกว่าเขา หรือมีสถานะแบบใดก็ตาม
  • วางตัวให้เป็นปกติ
    ไม่แสดงออกถึงความสงสาร เศร้าใจ หรือห่วงใยจนมากเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองนั้นอ่อนแอ ด้อยกว่า อาการแย่แล้วจนคนอื่นได้แต่ต้องเป็นห่วง
  • พูดคุยเรื่องทั่วไป เรื่องที่ทำให้รู้สึกดี ไม่ต้องถามเรื่องโรคก็ได้
    เพราะผู้ป่วยผู้ดูแลมักต้องตอบเรื่องนี้กับทุกคนที่มาเยี่ยม
    หลีกเลี่ยงการคุยแต่เรื่องโรค นอกจากผู้ป่วยอยากเล่าให้ฟัง เพื่อให้ไม่ต้องวกวนจมอยู่กับแต่ความเจ็บป่วย

ดูแลหัวใจ

ระมัดระวังในทุกคำพูดและท่าทีของเราที่มีต่อผู้ป่วย

ทำความเข้าใจเขาในมุมที่เขากำลังเป็นอยู่จริงๆ มากกว่าตัดสินจากมุมมองความรู้ประสบการณ์ของเรา

ผู้ป่วย โดยเฉพาะในโรคที่มีความรุนแรงเรื้อรัง มักจะมีสภาพจิตใจที่เปราะบาง อ่อนไหวง่าย และแปรปรวน เราจึงควรต้องระมัดระวังในทุกคำพูดและท่าทีของเราที่มีต่อผู้ป่วย พยายามให้พื้นที่ ทำความเข้าใจเขาในมุมที่เขากำลังเป็นอยู่จริงๆ มากกว่าตัดสินจากมุมมองความรู้ประสบการณ์ของเรา

การเคารพในความเป็นเขา เคารพในพื้นที่ ความต้องการ การตัดสินใจของผู้ป่วยและผู้ดูแลเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยควรอยู่บนความตระหนักรู้ว่า เราทุกคนล้วนมีความแตกต่าง สิ่งที่ดีในมุมมองของเรา อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยหรือผู้อื่นเสมอไป

เคารพในความเป็นเขา เคารพในพื้นที่ ความต้องการ การตัดสินใจของผู้ป่วยและผู้ดูแลเป็นสิ่งที่สำคัญ

อยู่บนความตระหนักรู้ว่า เราทุกคนล้วนมีความแตกต่าง

ขอบคุณหนังสือ “คุยเป็นยา”

ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาบางส่วนจาก หนังสือ “คุยเป็นยา” ศิลปะการสื่อสารเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว โดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

สั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่
https://peacefuldeath.co/product/pc-talk-book/

ขอบคุณจากหัวใจ

  • คุณฝน กนกพร ตรีครุธพันธ์, ผู้เขียน
  • ขอบคุณข้อมูลเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “คุยเป็นยา” ศิลปะการสื่อสารเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว โดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์, จัดทำโดย โครงการชุมชนกรุณา เพื่อการอยู่และตายดี กลุ่ม Peaceful Death, สั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ https://peacefuldeath.co/product/pc-talk-book/
-+=