มีชีวิตที่สมดุล

มีชีวิตที่สมดุล

มีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้นได้ ด้วยการดูแลชีวิตให้ “สมดุล”

โลกกำเนิดขึ้นจากความพอดี และดำรงอยู่ได้ด้วยความสมดุล

ความพอดี…ของแสงจากดวงอาทิตย์ ผืนดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ และองค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้เกิดพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตขึ้นในโลก

ความสมดุล…ของธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอื่น ๆ ในธรรมชาติ องค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลาย ปริมาณที่พอดี การเคลื่อนหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและวัฏจักรทั้งหลาย ทำให้สิ่งต่างๆ สามารถเติบโต และดำรงอยู่ได้ข้ามผ่านเวลาอันยาวนาน

ความสมดุล จึงนับเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตคนเรามาก แต่การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน กลับมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราสูญเสียสมดุลของตัวเองไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจ และนั่นก็เป็นที่มาของความเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเรา

สมดุล…เป็นอย่างไรนะ ?

เมื่อพูดถึงคำว่าสมดุล เราอาจนึกถึงสิ่งที่มีลักษณะของตราชั่ง ซ้ายขวามีน้ำหนักเท่ากัน จุดสมดุลอยู่ตรงกลาง ซึ่งทำให้ของทั้งสองฝั่งสามารถดำรงอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ โดยไม่เสียหายหรือพังลงมา

แล้วในชีวิตของเราล่ะ…

ถ้าเรากำลังดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่สมดุล เปรีบบเทียบกับตราชั่งแล้ว ก็เหมือนฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีน้ำหนักมากกว่า เราจึงต้องออกแรงเพื่อให้ของบนตราชั่งนั้นดำรงอยู่ได้ โดยไม่หล่นลงมา แต่หากเราใช้ชีวิตอย่างสมดุล เราก็จะเบาสบายมากขึ้น ไม่ต้องออกแรงเยอะตลอดเวลา

ชีวิตของคนเรามีองค์ประกอบอยู่มากมายหลายมิติ และมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ “การดูแลสมดุลในชีวิต” จึงสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ตามบริบทในแต่ละช่วงเวลา และอยากให้คำนึงว่าความสมดุลของแต่ละคนอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าความเบาสบายของแต่ละคนอยู่ตรงไหน

สิ่งสำคัญจึงควรต้องเริ่มจากการหมั่น “สังเกต” และ “สำรวจ” ความเป็นไปในชีวิตเราให้รอบด้าน เพื่อการดูแลและปรับจูนให้เรามีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

สมดุลชีวิตปรับเปลี่ยนได้ตามกาลเวลา สมดุลของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

อยู่ที่ว่าความเบาสบายของแต่ละคนอยู่ตรงไหน

หลักเช็คความสมดุลในชีวิต

ในการดูแลความสมดุลในชีวิต มีหลักสำคัญที่สามารถนำไปเป็นตัวช่วยในการตรวจเช็คได้ ดังนี้

  1. มีความหลากหลาย
    เช่น กิจวัตรประจำวันที่ต้องมีทั้งการทำงาน พักผ่อน ออกกกำลังกาย ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การให้เวลากับตัวเอง
    ทานอาหารหลากหลายชนิดเพื่อรับคุณค่าของสารอาหารที่แตกต่างกัน
  2. มีปริมาณที่พอดี
    เช่น กิน-ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมกับความจำเป็นและความต้องการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียมากไป ทำกิจกรรมแต่ละอย่างแบบไม่มากหรือน้อยจนเกินไป มีเวลาพักผ่อนกำลังดี
  3. มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง
    เช่น ไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวมากเกินไป เดินทางไปเปลี่ยนบรรยากาศที่อื่นบ้าง การปรับเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เรื่อย ๆ
  4. มีความเป็นระบบ เป็นจังหวะ
    เช่น ทานอาหารให้ตรงเวลา ตื่นนอน-เข้านอนในเวลาที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

BALANCE CHECK !

ชวนมาสำรวจความสมดุลในชีวิตเพื่อการดูแลตัวเองกัน

เมื่อเราพบกับความติดขัดในชีวิต ทำอะไรไม่ราบรื่น พบอุปสรรคจากตัวเราเอง อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลองทวนในด้านต่างๆ ตามนี้ อาจพบเจอทางออกที่น่าจะช่วยได้ แล้วเลือกหยิบไปปฏิบัติได้เลย

ค่อยๆ ปรับทีละนิด
จะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ง่ายขึ้น

ปรับร่างกายให้สมดุลขึ้น

การทานอาหาร

  • ทานอาหารครบ 5 หมู่
  • ทานอาหารหลากหลายประเภท (ไม่ทานซ้ำ ๆ อยู่ไม่กี่อย่าง)
  • ทานแบบพอดีอิ่ม
  • ทานครบ 3 มื้อ และตรงเวลา (อาจไม่ต้องเป๊ะ แค่ไม่ผิดเวลาจนเกินไป)

การใช้ร่างกาย

  • ใช้งานร่างกาย และการพักผ่อนอย่างพอดี
  • หมั่นใช้ร่างกายให้ครบทุกส่วน เช่น ได้ขยับแขน ขา มือ เท้า และอวัยวะส่วนอื่นๆ อย่างเหมาะสมในแต่ละวัน
  • อยู่ในท่าทางที่ดีต่อสรีระ เช่น ยืนเต็มเท้า 2 ข้างอย่างสมดุล ไม่ก้มดูมือถือนานเกินไป นั่งและเดินตัวตรงอย่างสมดุล
  • เคลื่อนไหวอย่างสมดุล สลับอิริยาบถ ให้ร่างกายได้ขยับอยู่เสมอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายกายแข็งแรง เสริมภูมิคุ้มกัน แล้วยังช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ด้วยนะ

ปรับใจให้สมดุลขึ้น

ดูแลทั้งพลังงานชีวิตและจิตใจ

ในด้านอารมณ์ความรู้สึกและพลังงานชีวิตที่ขับเคลื่อนตัวเรา เป็นสิ่งที่มีความหลากหลายซับซ้อน มีการเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยหลากหลายอย่างทั้งภายในและภายนอกตัวเรา การดูแลเพื่อรักษาสมดุลอาจทำได้จากหลายมุมมองและวิธีการ โดยในที่นี้ เราจะชวนมาตรวจเช็คสมดุลผ่านมุมมองของ “ธาตุ 4 ด้าน” ที่มีอยู่ในธรรมชาติกัน

ธาตุดิน

ธาตุดิน - earth element

คุณลักษณะของธาตุดิน สัมพันธ์กับเรื่อง

ความหนักแน่น มั่นคง การใช้เหตุผล ความคิดใคร่ครวญ การจัดการเป็นระเบียบ

  • การคิดทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิต เพื่อได้เรียนรู้และพัฒนา
    • ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันที่ผ่านมา
    • หรือการวางแผนจัดการให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น
  • การปฏิสัมพันธ์สื่อสารกับคนอื่น
    • เราใช้อารมณ์หรือเหตุผลมากกว่ากัน
    • เราได้ยืนยันสื่อสารความต้องการของเราอย่างเป็นมิตรและตรงไปตรงมาไหม
    • เราได้รับฟังพยายามทำความเข้าใจในมุมมองของคนอื่นเพียงพอหรือไม่
  • ให้เวลากับตัวเอง ใช้เวลาเพียงลำพังบ้าง อาจช่วยทำให้ได้หยุดพัก และมองเห็นอะไรในมุมใหม่มากขึ้น

ธาตุน้ำ

คุณลักษณะของธาตุน้ำ สัมพันธ์กับเรื่อง

อารมณ์ความรู้สึก ความสัมพันธ์ ความยืดหยุ่นปรับตัว การโอบอุ้ม ความสงบเย็น

  • ตระหนักรู้ เท่าทัน และใส่ใจในอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น
    ในแต่ละวันอาจมีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
    ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกแบบใดที่เกิดขึ้น ขอให้รับรู้มันอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ด่วนตัดสินว่าดีหรือไม่ดี เพียงแค่โอบรับและทำความเข้าใจถึง “ความหมาย” ของแต่ละอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น ว่าเกิดจากอะไร เพื่อที่จะสามารถจัดการและตัดสินใจปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมต่อไป
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยเติมพลังหรือเสริมกำลังใจให้กับเรา
    อาจเป็นงานอดิเรกเล็กๆ น้อย ๆ ที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง วาดรูป เล่นกับสัตว์เลี้ยง อยู่กับธรรมชาติ ฯลฯ
  • ใช้เวลากับคนที่เรารู้สึกสบายใจที่จะอยู่ด้วย
    ถ้าไม่สามารถเจอตัวกันได้ ก็อาจส่งข้อความทักทาย หรือคุยทางโทรศัพท์ได้
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้เราผ่อนคลาย สงบ หรือช่วยเยียวยาจิตใจ

ธาตุลม

ธาตุลม - air element

คุณลักษณะของธาตุลม สัมพันธ์กับเรื่อง

ความมีอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ ความคล่องตัว ความสนุกสนานร่าเริง ความเปลี่ยนแปลง การริเริ่มทำสิ่งใหม่

  • ทำกิจกรรมที่ช่วยสร้างความบันเทิงสนุกสนาน หรือกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
    เช่น ทำงานศิลปะ เดินทางท่องเที่ยว ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม เล่นกีฬา
  • การทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ
    ไปในสถานที่ที่ไม่เคยไป เข้าคอร์สเรียนรู้ Workshop ที่สนใจ
  • พบปะเจอผู้คน หรือทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ บ้าง
  • ไม่อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมเดิมๆ นานจนเกินไป
    หากไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ อาจทำการปรับเปลี่ยนแต่งเติมพื้นที่ห้อง/บ้านให้มีสีสันความสดชื่นแปลกใหม่บ้าง

ธาตุไฟ

ธาตุไฟ - fire element

คุณลักษณะของธาตุไฟ สัมพันธ์กับ
ความมุ่งมั่นกระตือรือร้น การลงมือทำ การมุ่งสู่เป้าหมาย ความเด็ดขาดชัดเจน ความกล้า ความมีพลัง

  • ตั้งเป้าหมาย สร้างความท้าทายให้กับตัวเอง
    เช่น ตั้งเป้าในการพัฒนาตัวเองโดยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือฝึกทักษะใหม่ ๆ
  • วางแผนทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เห็นแนวทางที่ต้องทำอย่างชัดเจน
    เช่น วางตารางเวลาในแต่ละวันให้เป็นระบบ วางแผนขั้นตอนการจัดการงาน วางแผนในการดูแลรักษาตัวเอง  
  • ลงมือทำตามสิ่งที่ตั้งใจให้สำเร็จตามแผน
    อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น การจัดห้องนอน เขียนบันทึกประจำวัน จัดการงาน หรืออาจทำสิ่งที่เป็นเป้าหมายในระยะยาวตามลำดับก็ได้

ฝึกตัวเอง

สมดุลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเพียงแค่หยิบสิ่งที่เราต้องการปรับ มาปรับใช้ มาปฏิบัติ และฝึกไปเรื่อยๆ เพื่อให้เอาชนะนิสัยเดิม กลายเป็นนิสัยใหม่ ทุกอย่างต้องใช้เวลา ไม่ต้องรีบร้อน ความสุขอยู่ในปัจจุบัน อยู่ตรงที่ได้เริ่มปฏิบัติ ได้กำลังฝึกแล้ว เพียงแค่มุ่งมั่นทำต่อไป เราจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เองจนบางทีเราก็ไม่รู้ตัวเลยแหละ

ทุกอย่างต้องใช้เวลา ไม่ต้องรีบร้อน ความสุขอยู่ในปัจจุบัน อยู่ตรงที่ได้เริ่มปฏิบัติ ได้กำลังฝึกแล้ว

การดูแลสมดุลชีวิตโดยมองผ่านมุมของธาตุทั้ง 4 เหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะช่วยเติมพลังให้ชีวิตของเรามีมิติที่หลากหลายและสมดุลได้มากขึ้น ทั้งนี้ชีวิตของแต่ละคนล้วนมีบริบทและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เราอาจเพียงนำหลักสำคัญเหล่านี้ไปเป็นตัวช่วยในการตรวจเช็ค และออกแบบชีวิตในแต่ละวันโดยปรับให้เหมาะสมกับตัวเราได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าในทุกวันต้องทำได้ครบทุกอย่าง เราอาจกำหนดช่วงเวลาว่าภายใน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน เราจะดูแลและทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตให้มีความสมดุลในทุกๆ มิติได้อย่างไร

ควาสมดุลไม่ได้มีอยู่เพียงจุดเดียว หรือมีรูปแบบเดียวที่เหมือนกันสำหรับทุกคน เราสามารถเริ่มต้นได้จากการทบทวนรูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเราเองที่ผ่านมาก่อนว่า เราทำสิ่งไหนมากไป หรือขาดส่วนไหนของชีวิตไปบ้าง จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เติมส่วนประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับตัวเราเข้าไป เพื่อการดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจให้มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น

ขอบคุณจากหัวใจ

  • คุณฝน กนกพร ตรีครุธพันธ์, ผู้เขียน
-+=