สื่อสารด้วยความรัก และฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดย ท่านติช นัท ฮันห์

สื่อสารด้วยความรัก และฟังอย่างลึกซึ้ง

ถอดเนื้อหาจากบันทึกการสอน “Loving Speech & Deep Listening | Thich Nhat Hanh”

พูดด้วยความอ่อนโยน โอบอุ้มด้วยความรัก

พระโพธิสัตว์ เป็นบุคคลที่สามารถพูดในลักษณะที่เปี่ยมด้วยความอ่อนโยนและโอบอุ้มด้วยความรัก เป็นคนที่สามารถรับฟังผู้อื่นได้อย่างมีความเห็นอกเห็นใจ เราทุกคนก็สามารถทำสิ่งนี้ได้เช่นกัน ด้วยการฝึกฝนในเวลาเพียง 3 วัน เพื่อที่จะสื่อสารแบบนี้กับคนรอบตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีเพื่อทำมัน แค่ไม่กี่วันก็เป็นเวลาเพียงพอ

ตัวอย่างข้อความ จากลูกสาวถึงพ่อ

“พ่อจ๋า หนูรู้ว่าพ่อมีความทุกข์มากๆ ในหลายปีมานี้ หนูไม่สามารถช่วยให้พ่อผ่อนปรนความทุกข์ลงได้ หนำซ้ำยังปฏิบัติกลับไปด้วยความโกรธในแบบที่ทำให้สถานการณ์มันแย่ลงอีก

พ่อรู้ไหม หนูไม่ได้ตั้งใจเลยที่จะทำให้พ่อต้องเจ็บปวด แต่มันเป็นเพียงเพราะหนูไม่ได้เข้าถึงความทุกข์ที่อยู่ข้างในของพ่อ ไม่เข้าใจในความทุกข์ที่พ่อกำลังเผชิญ ก็เลยอยากให้พ่อช่วยบอกหนูถึงสิ่งที่อยู่ในใจ บอกหนูทีว่ามีอะไรที่อยู่ในความยากลำบาก ความสิ้นหวัง และความขัดแย้งในใจทั้งหลายเหล่านั้น ช่วยเล่าให้หนูฟังหน่อยนะ หนูอยากจะเข้าใจพ่อจริงๆ

เมื่อหนูเข้าใจ หนูก็จะได้ไม่ปฏิบัติในแบบที่เคยทำมาในอดีต พ่อช่วยหนูนะ มีแค่พ่อคนเดียวแหละ ที่จะช่วยให้หนูเข้าใจพ่อได้อย่างแท้จริง”

ตัวอย่างข้อความ จากลูกชายถึงพ่อ

พ่อครับ ผมรู้ว่าพ่อมีความทุกข์มากๆ ในหลายปีมานี้ ผมช่วยพ่อให้เป็นทุกข์น้อยลงไม่ได้ หนำซ้ำยังแสดงท่าทีกลับไปด้วยความโกรธและทำให้สถานการณ์มันแย่ลงอีก

พ่อรู้ไหม ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้พ่อต้องเจ็บปวด แต่มันเป็นเพราะผมไม่ได้เข้าใจถึงความทุกข์ที่อยู่ในใจของพ่อ ไม่เข้าใจในความทุกข์ที่พ่อต้องเจอ เลยอยากขอให้พ่อช่วยบอกสิ่งที่อยู่ในใจ บอกผมทีว่ามีอะไรที่อยู่ในความยากลำบาก ความสิ้นหวัง และความขัดแย้งในใจทั้งหลายเหล่านั้น ช่วยเล่าให้ผมฟังหน่อย ผมอยากจะเข้าใจพ่อจริงๆ

เมื่อผมเข้าใจ ผมก็จะได้ไม่ปฏิบัติในแบบที่เคยทำมาในอดีต พ่อช่วยให้ผมเข้าใจหน่อยนะ เพราะมีแค่พ่อคนเดียวนี่แหละ ที่จะช่วยให้ผมเข้าใจพ่อได้อย่างแท้จริง

นี่คือตัวอย่างของการพูดด้วยความรัก เป็นลักษณะของความเมตตาที่เราสามารถทำได้ ถ้าเราเรียนรู้ที่จะมองเห็นความเจ็บปวดในตัวผู้อื่น เราก็จะเข้าถึงรากที่มาของความเจ็บปวดในตัวผู้อื่นได้

เหมือนกับหมอ ที่ถ้ามองไม่เห็นต้นตอของความเจ็บป่วยก็จะไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้

เหมือนกับนักจิตวิทยา ที่ถ้าไม่เข้าใจความเจ็บปวดหรือที่มาของความเจ็บปวดนั้นอย่างแท้จริง ก็จะไม่สามารถช่วยคนที่มาปรึกษาได้

เข้าใจความทุกข์

ดังนั้นการเข้าใจในความทุกข์ความเจ็บปวด จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการปฏิบัติของทางพุทธ

  • สัจธรรมข้อแรก คือ ความทุกข์
  • ข้อที่สอง คือ ธรรมชาติของเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

ถ้าเราสื่อสารด้วยความเข้าใจในจุดนี้ได้ ผู้อื่นก็จะเริ่มเปิดใจบอกสิ่งที่อยู่ในใจของเขาออกมาได้เช่นกัน

ฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ

Deep listening & Compassionate listening
การฟังอย่างลึกซึ้ง หรือฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่มีคุณล้ำค่า ถ้าเธอสามารถฟังผู้อื่นแบบนี้ได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เธอก็จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นได้ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมง

การฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Compassionate listening) มีแก่นสำคัญอยู่ที่ความเห็นอกเห็นใจ ถ้าเธอไม่ได้ฝึกสติรู้ตัว หรือความเห็นอกเห็นใจ เธอจะไม่สามารถฟังอะไรได้นาน เธออาจจะมีความตั้งใจในการฟังผู้อื่นเพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ของเขา ความตั้งใจนั้นอาจจะดี แต่หากไม่ได้ฝึกสองสิ่งนี้แล้ว เราก็จะสูญเสียคุณภาพของการฟังไปได้ เพราะเวลาที่ผู้อื่นพูดบางสิ่ง มันอาจเต็มไปด้วยความเข้าใจผิดบางอย่าง เต็มไปด้วยความขมขื่น คำกล่าวโทษ คำตำหนิ ซึ่งอาจสร้างความขุ่นเคืองและความโกรธในตัวเธอ ซึ่งทำให้เธอเสียศักยภาพในการฟังไป

เธอควรฝึกฝนตนเอง ก่อนที่จะไปฝึกผู้อื่น

เธอต้องใช้เวลาในการมองเข้าไปถึงความทุกข์ความเจ็บปวดในตัวผู้อื่น และทำตัวเองให้มีความพร้อมก่อน ในระหว่างการฝึก เธอจำเป็นต้องรักษาสติความรู้ตัวในความเมตตาให้ดำรงอยู่

Mindfulness of compassion หมายถึง การตระหนักรู้ว่า จุดมุ่งหมายในการฟังของคุณนั้นเป็นไปเพียงเพื่อเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว คือเพื่อชำระล้างจิตใจและบรรเทาความทุกข์ของเขา เพราะฉะนั้นแม้ว่าเขาจะพูดในสิ่งที่ไม่ถูก ไม่ดี เราก็จะยังรับฟังเขา และไม่ขัดการพูดของเขา เพราะถ้าเราขัดและพยายามแก้ไขให้ถูก มันก็จะแปรเปลี่ยนจากการสนทนาให้กลายเป็นการโต้เถียง (Debate) ทันที และนั่นจะทำลายทุกสิ่ง

จงหายใจเข้าและหายใจออกอย่างมีสติ
ในตลอดช่วงเวลาที่กำลังรับฟัง
และจดจำไว้อย่างหนึ่งว่า

“ฉันมีเพียงความมุ่งหมายเดียวในการรับฟังเขาเท่านั้น
คือ การให้โอกาสในการที่เขาจะบรรเทาความทุกข์ลง”

ฟังก่อน ข้อมูลค่อยบอกทีหลัง

เธอสามารถที่จะบอกตัวเองได้ว่า เขาเข้าใจผิด การตัดสินของเขามีความอคติและหลงผิด ในวันเวลาหลังจากนี้ฉันจะมีโอกาสบอกข้อมูลและคำแนะนำบางอย่างกับเขา เพื่อให้เขาสามารถแก้ไขการรับรู้ให้ถูกต้อง แต่..ไม่ใช่เวลานี้ เพราะ..ตอนนี้..เป็นเวลาแห่งการรับฟังเท่านั้น

ถ้าเธอสามารถดำรงสิ่งนี้เอาไว้ในจิตใจของคุณได้ นั่นก็จะเรียกได้ว่าเป็น การเจริญความเมตตา (Mindfulness of Compassion) และหากเธอสามารถเจริญความเมตตานี้ได้ในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ในขณะที่เธอรับฟังผู้อื่น เธอก็จะมีความเป็นโพธิสัตว์ในตัวเอง เพราะพลังแห่งความเมตตานั้นดำรงอยู่ในใจของเธอ และเธอก็ดำรงอยู่ในพลังของควาเมตตา เธอจะมีความปลอดภัย และหากมีความเมตตาอยู่ในนั้น ไม่ว่าอะไรที่ผู้อื่นพูดมา ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับการรับรู้ของเธอ เต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิด มีความขมขื่น ความโกรธ คำกล่าวโทษ คำตำหนิ เธอก็จะปลอดภัย เพราะเธอได้รับการปกป้องอยู่ด้วยความเมตตา

การปกป้องที่ดีที่สุด คือ การปกป้องด้วยความเมตตา

เช่นนี้เธอก็จะสามารถนั่งลง และ “ฟัง” ได้เป็นชั่วโมง หรือยาวนานกว่านั้น แน่นอนว่าเธอมีสิทธิ์ที่จะบอกพวกเขาเกี่ยวกับความจริงบางอย่าง แต่มันไม่ใช่เวลานี้…มันจะเป็นเวลาหลังจากนี้

อ่านเพิ่มเติม

วิดีโอบรรยาย “Loving Speech & Deep Listening”

โดยท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)

สามารถกดดูคำบรรยายภาษาอังกฤษได้

ติดตามคำสอนท่านติช นัท ฮันห์

อ่านง่ายๆ ได้ที่
Facebook : Plum Magazine

Website

https://plumvillage.org/

ขอบคุณจากหัวใจ

-+=