สื่อสารกับผู้ป่วย ด้วยหัวใจ

สื่อสารกับผู้ป่วย ด้วยหัวใจ

หลักสำคัญในการสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยหัวใจ

ในเวลาที่คนเรามีความเจ็บป่วย เป็นโรคที่รุนแรง รักษาหายได้ยาก สภาพร่างกายและจิตใจมีความเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ไม่อาจใช้ชีวิตหรือช่วยเหลือตัวเองได้อย่างที่เคย สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน ความกลัว ความไม่มั่นคงในจิตใจหลายอย่างมักปรากฏขึ้นในตัวผู้ป่วย หลายครั้งก็ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ และนำมาซึ่งอุปสรรคต่อการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล

เข้าใจ รับรู้ความรู้สึกของผู้ป่วย และฝึกสื่อสารด้วยหัวใจ

ทะนุถนอมใจกันและกัน อย่างอ่อนโยน จากใจที่มั่นคง

สื่อสารอย่างไร ให้ “เข้าใจ” กัน

การดูแลในช่วงท้ายของชีวิต

สื่อสารด้วยท่าที บรรยากาศ หรือคำพูดที่โอบอุ้มจิตใจของผู้ป่วย

โดยที่ญาติหรือผู้ดูแลก็ดูแลร่างกายและจิตใจตัวเองด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยและผู้ดูแลมักส่งผลซึ่งกันและกัน

“แก่นสาระของการสื่อสารเพื่อการดูแลสุขภาพช่วงท้ายของชีวิต คือ การสื่อสารที่ทำให้ผู้ป่วยรับรู้สภาวะของโรค และแนวทางการดูแลรักษา ภายใต้ท่าที บรรยากาศ หรือคำพูดที่โอบอุ้มจิตใจของผู้ป่วย

ขณะเดียวกันญาติหรือผู้ดูแลควรสามารถดูแลร่างกายและจิตใจตัวเองด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยและผู้ดูแลมักส่งผลซึ่งกันและกัน

. . มิเพียงในห้วงเวลาที่เจ็บป่วย แต่ยังต่อเนื่องไปจนเมื่ออีกฝ่ายอำลาจากโลกนี้ไปแล้ว”

ก่อนสื่อสาร ลองทบทวนตัวเองตามนี้

  • เข้าใจความรู้สึกตัวเอง : ก่อนที่จะสื่อสารอะไรออกไป สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือเราควรมีความ “เข้าใจตัวเอง” ให้ดีก่อน โดยลองใคร่ครวญว่าในสถานการณ์นั้นๆ เรารู้สึกอย่างไร เช่น โกรธ เศร้า เสียใจ กังวล หงุดหงิด รำคาญ หรือเฉยๆ
  • รับรู้ความต้องการของตัวเอง : เมื่อระบุความรู้สึกได้ จะทำให้สามารถรับรู้ถึง “ความต้องการ” และความปรารถนาในเบื้องลึกของตัวเรา เช่น ความรัก ความสุข ความสบายใจ ความมั่นคง เป็นต้น
  • เลือกวิธีการที่เหมาะสม : เมื่อพบความต้องการในสถานการณ์นั้นๆ แล้ว ก็จะช่วยให้สามารถค้นหารูปแบบหรือวิธีการที่จะตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ ของตัวเองอย่างเหมาะสมได้

สื่อสารได้ชัดเจนและอ่อนโยนขึ้น

เพราะเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง

เมื่อเราเข้าใจตัวเองอย่างชัดแจ้ง การสื่อสารก็จะมีความชัดเจน ไม่ถูกบิดเบือนไปด้วยอารมณ์ แต่สื่อสารด้วยความหนักแน่น มั่นคง และมีพลัง โดยบางครั้งเราอาจเลือกที่จะไม่สื่อสารออกไป เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบทั้งกับตนเองหรือผู้ป่วยก็ได้ เพียงแค่เรามีความตระหนักรู้ต่อความต้องการของตัวเอง ก็จะช่วยให้รู้สึกสงบมั่นคง และยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น เพราะอย่างน้อยสภาวะภายในที่คลุมเครืออัดแน่นบางอย่างก็คลี่คลายลงไปในระดับหนึ่งแล้ว

เข้าใจผู้ป่วย

ในทางกลับกัน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการทำความเข้าใจผู้ป่วย เมื่อเราสามารถพิจารณาว่า ท่าที พฤติกรรม หรือคำพูดของผู้ป่วยในแต่ละสถานการณ์นั้น เกิดจากเหตุผล ปัจจัย ความต้องการ และความรู้สึกอะไรที่อยู่เบื้องหลัง ก็จะช่วยทำให้เราสามารถรับมือกับผู้ป่วยได้ด้วยจิตใจและอารมณ์ที่สงบนิ่งได้มากขึ้น

จากนั้นเราก็จะมีทางเลือกในการสื่อสารหรือตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยให้ตรงจุดได้มากยิ่งขึ้น

หลักการ/ความเชื่อสำคัญ ในการสื่อสารกับผู้ป่วย

จากการพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วย พบว่ามีหลักการสำคัญร่วมกันที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยเปิดใจ และสามารถนำไปสู่การสื่อสารความในใจระหว่างกันได้อย่างราบรื่นและตรงไปตรงมามากขึ้น ได้แก่

มีความเชื่อ/ศรัทธาว่าทุกสิ่ง จะผ่านไปได้

ช่วยให้รู้สึกมั่นคงภายใน ซึ่งส่งผลต่อพลังที่ส่งออกมาตอนสื่อสาร

เคารพและยอมรับความคิดการตัดสินใจของอีกฝ่าย

ทุกความคิด ความเชื่อ พฤติกรรมของแต่ละคนมาจากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง

เปิดใจ ทำความเข้าใจ ยอมรับถึงความต้องการตามสิ่งที่เขาเป็น

เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยได้สื่อสาร

ในการสื่อสารไม่ใช่พื้นที่ “ปล่อยของ” หรือแสดงความเป็นผู้รู้ของเรา

ควรใช้การถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ทวนสิ่งที่เราได้ยิน เพื่อแสดงให้เห็นความใส่ใจ (ผู้ป่วยได้รับความใส่ใจ)

ให้ผู้ป่วยเลือกทางเดินของตนเอง

เราเป็นเพียงผู้ช่วยส่องไฟ ใช้คำถามปลายเปิด

ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้คิดใคร่ครวญสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายตามที่ต้องการ ไม่ควรสั่งสอนแนะนำเพียงฝ่ายเดียว

ไม่เร่งรัด ด่วนสรุป กระโจนสู่เป้าหมาย

ผู้ดูแลมักตกหล่มความอยากช่วยเหลือด้วยการจัดการทุกอย่างทันที ควรหยั่งดูท่าทีผู้ป่วยโดยไม่เร่งรีบ

บางทีอาจใช้เวลาหลายครั้ง ค่อยๆ ทำให้เค้าเห็นความห่วงใยใส่ใจของเรา จนพร้อมเปิดใจในที่สุด

ให้ความเข้าใจ ไม่ใช่ความสงสาร

คนป่วยจำนวนมากไม่ชอบความสงสารและเห็นใจแต่ต้องการความเข้าใจมากกว่า ทั้งในแง่อารมณ์ความรู้สึกและความต้องการ

ให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาร้องขอหรือยอมรับ มิใช่ยัดเยียดหรือบังคับ

อยู่กับสิ่งที่เขา “เป็น” ไม่ใช่ที่ “เคยเป็น”

เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์เปลี่ยน สิ่งที่เคยพูดหรือเคยเชื่อก็อาจเปลี่ยนไป

ไม่ควรยึดติดกับอดีต แต่อยู่กับสิ่งที่เขาเป็นในตอนนี้

ก้าวไปด้วยกัน..อย่างเท่าเทียม

ช่วยเหลือโดยยอมรับในตัวผู้ป่วยอย่างเท่าเทียม

การเยียวยาจิตใจเหมือนกับการเต้นรำ ทุกจังหวะย่างก้าวของทั้งสองฝ่าย ควรต้องสอดรับเสมอกัน ไม่มีใครนำใคร คนที่ถูกเยียวยาต้องไม่รู้สึกด้อยกว่าคนที่เข้าไปช่วยเหลือ

ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น

ไม่วิพากษ์ ไม่สั่งสอน
ธรรมชาติของมนุษย์มีความอยากเอาชนะ การให้เหตุผลหรือโต้เถียง มักจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย

ควรเปิดใจโอบรับ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ไม่ไหว ให้ออกมา

หากผู้ป่วยหงุดหงิดฉุนเฉียว ให้ผู้ดูแลกลับมาดูแลจิตใจตัวเองให้มั่นคงก่อน

เราเองก็เป็นมนุษย์ที่สามารถเหน็ดเหนื่อยได้ เมื่อพร้อมค่อยกลับไปใหม่ อย่าเก็บไว้จนล้นทะลักแล้วไประเบิดอารมณ์ใส่ผู้ป่วย

ทั้งหมดนี้เป็นหลักสำคัญที่ในการปฏิบัติจริงอาจต้องใช้เวลา ทั้งในส่วนของผู้ป่วย หรือตัวผู้ดูแลเอง เริ่มจากค่อยๆ สังเกตทำความเข้าใจตัวเอง ทำความเข้าใจผู้ป่วยให้มากขึ้น แม้บางครั้งอาจยังทำไม่สำเร็จหรือเกิดการโต้เถียง ก็ไม่ต้องโทษตัวเองหรือแม้แต่ตัวผู้ป่วย เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแค่เรามีความตั้งใจ เริ่มตั้งเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีบางอย่างไว้ ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าก้าวหนึ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

อ่านเพิ่มเติม

ศิลปะการสื่อสารเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว

อ่านเนื้อหา ศิลปะการสื่อสารเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว ฉบับเต็มได้จากหนังสือ “คุยเป็นยา” โดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
จัดทำโดย โครงการชุมชนกรุณา เพื่อการอยู่และตายดี กลุ่ม Peaceful Death

สั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่
https://peacefuldeath.co/product/pc-talk-book/

Peaceful Death คือ กลุ่มคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการดูแลการเจ็บป่วย การตาย การบริบาล และความสูญเสีย โดยให้การสนับสนุน ผลักดัน และส่งเสริมระบบนิเวศของการอยู่ดีและตายดี

ติดตาม Peaceful Death

www.peacefuldeath.co
Facebook : Peaceful Death
Youtube : Peaceful Death
Line : @peacefuldeath

ขอบคุณจากหัวใจ

  • คุณฝน กนกพร ตรีครุธพันธ์, ผู้เขียน
  • บทความเรียบเรียงจากแรงบันดาลใจและถอดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “คุยเป็นยา”
  • อ่านเนื้อหา ศิลปะการสื่อสารเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว ฉบับเต็มได้จากหนังสือ “คุยเป็นยา” โดย ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์, จัดทำโดย โครงการชุมชนกรุณา เพื่อการอยู่และตายดี กลุ่ม Peaceful Death, สั่งซื้อได้ทางออนไลน์
-+=