แนวทางการรักษามะเร็ง MM
(มัลติเพิลมัยอิโลมา : Multiple Myeloma)

แนวทางการรักษาผู้ป่วย

มะเร็ง MM หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma)

เบื้องต้น

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ประกอบด้วยการดูแลรักษาหลักจาก 2 ฝ่าย ได้แก่

  1. แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์
  2. ผู้ป่วย และผู้ดูแล

ในการรักษาทุกขั้นตอนจะต้องช่วยเหลือดูแลให้ความร่วมมือกันอย่างสอดคล้องทั้ง 2 ฝ่าย

เบื้องต้นหากผู้ป่วยมะเร็งมัยอิโลมาอายุยังไม่เกิน 65 ปี หรือหากอายุเกินแต่มีสุขภาพแข็งแรงดีมาก จะพิจารณาให้เข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ของตัวเองได้ เพื่อช่วยยืดระยะเวลาโรคสงบให้ได้นานยิ่งขึ้น

แนวทางการปฏิบัติของผู้ป่วยและผู้ดูแล

ต้องมีการปรับพฤติกรรมและกิจกรรม ในหลายๆ มิติของชีวิตเพื่อการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

จัดสรรชีวิตให้เหมาะสม ก็จะดูรักษาชีวิตได้มีประสิทธิภาพ

  • จัดสรรการทำงานดี
  • นอนดี
  • อารมณ์ดี (ดูแลสภาพจิตใจดี)
  • อาหารดี
  • ออกกำลังกายดี
  • ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

จัดสรรการทำงานดี

ในประเทศไทยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะอยู่ในวัยทำงาน อายุประมาณ 40–60 ปี และมีการเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูกกันเป็นจำนวนมาก (ในต่างประเทศมักเป็นกันเมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปีขึ้นไป) โดยเมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด และปรับวิถีการทำงานให้สอดคล้อง

  • เคลียร์ตารางงาน จัดสรรให้มีเวลาในการเข้ารับการรักษา และพักผ่อนดูแลตัวเองอย่างเพียงพอ
  • ไม่ควรทำงานเกินวันละ 7–8 ชั่วโมง มีการเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1-2 ชั่วโมง
  • ไม่ทำงานที่หนัก หรือหักโหมเกินไป
  • สามารถขอใบรับรองแพทย์เพื่อแจ้งที่ทำงานในการจัดเวลาให้ได้พัก หรือเปลี่ยนงานที่เบาลง

นอนดี

  • นอนอย่างมีคุณภาพ อย่างน้อย 6–8 ชั่วโมง
  • นอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้ทำการซ่อมแซมพักฟื้นตนเอง

ดูแลสภาพจิตใจดี

  • เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หากยอมรับว่าเป็นได้โดยเร็ว จะช่วยลดความว้าวุ่นกังวลใจ
  • สภาพจิตใจที่ดีจะส่งผลดีกับการใช้ชีวิตและสุขภาพส่วนอื่น ๆ
  • ให้ตระหนักว่าพัฒนาการในการรักษามะเร็งมัยอิโลมาในปัจจุบันนี้ มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • พยายามหาทางผ่อนคลาย ไม่เครียด
  • เมื่อมีข้อกังวลให้ปรึกษาแพทย์พยาบาล หรือผู้มีประสบการณ์ เพื่อรับคำแนะนำได้
  • หากเรามีสุขภาพจิตที่ดีก็จะส่งผลดีต่อการรักษาด้วย

ทานอาหารดี

สารอาหารครบ

  • ควรทานอาหารให้ได้ในปริมาณใกล้เคียงกับปกติ เมื่อป่วยแล้วอาจทานอาหารได้น้อยลง อาจช่วยด้วยการแทรกทานในมื้อย่อยๆ เสริมให้มากขึ้น
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • เน้นการทานโปรตีนที่มีประโยชน์ เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เพราะยาที่ใช้ในการรักษาจะออกฤทธิ์แรง ทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อภายในได้มาก
  • เลือกทานปลาที่หลากหลาย เปลี่ยนชนิด เปลี่ยนแหล่งที่มาสลับกันไปเรื่อย ปรุงให้สุกสะอาด

ถูกสุขอนามัย

  • เลือกทานอาหารที่สดใหม่ สุก สะอาด ทำทานมื้อต่อมื้อ
  • หลีกเลี่ยงอาหารดิบๆ สุกๆ อาหารที่เสี่ยงต่อการท้องเสีย ติดเชื้อ เช่น ส้มตำปูปลาร้า ปลาดิบ 
  • เลือกร้านและใช้ภาชนะอุปกรณ์ที่สะอาด
  • งดทานหอย เพราะเสี่ยงต่อการท้องเสียเป็นอันดับ 1
    งดปลาหมึก เพราะมักมีการแช่สารเคมีหรือฟอร์มาลีน
  • กุ้ง ทานได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงหัวกุ้งที่มักไม่สุก เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี 
  • ระวังผักโรยที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน

ลดอาหารที่ปรุงแต่งสังเคราะห์ • หลีกเลี่ยงของทอดของมัน • เลี่ยงเนื้อแดง เนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก

  • ทานอาหารรสชาติกลางๆ ไม่รสจัด
  • หลีกเลี่ยงเครื่องปรุงที่เป็นสารปรุงแต่ง หรือสารเคมีสำเร็จรูป เลือกใช้เครื่องปรุงตามธรรมชาติ เช่น เกลือ น้ำตาล ซีอิ๊วขาว
  • หลีกเลี่ยงอาหาร หรือขนม ที่มีการปรุงแต่งมาก
  • หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน เพราะจะทำให้อึดอัด น้ำย่อยที่ออกมาจากตับต้องไปทำหน้าที่กำจัดส่วนเกินจากยา
  • หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เนื้อแดง เพราะย่อยยาก เนื้อที่ย่อยง่ายคือ ปลา ไก่

ออกกำลังกายดี

  • ออกกำลังแบบไม่หักโหมเกินไป 
  • ไม่เน้นการออกกำลังในลักษณะแข่งขัน เช่น วิ่งมาราธอน เพราะเมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้งานมาก อาจทำให้เกิดความผิดปกติส่งผลให้ไตวายได้ 
  • ออกกำลังกายที่ได้บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เช่น โยคะ รำมวยจีน
  • หลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องปะทะ เช่น เทนนิส วอลเล่ย์บอล ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
  • ไม่ควรว่ายน้ำ ในช่วงที่รักษา เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านเยื่อบุตา เยื่อบุหู ไปถึงสมองได้

ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

  • ต้องมาติดตามการรักษาอย่างตรงเวลา ต่อเนื่อง
  • หาผู้ช่วยผู้ดูแลที่มีความเข้าใจคอยช่วยเหลือสนับสนุนติดตามอีกแรง

หากดูแลพฤติกรรมต่างๆ นี้เป็นอย่างดี ผลข้างเคียงที่เกิดจะน้อยลง ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น

ระบบการดูแลรักษาโรค MM

หลังจากทำการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะทำการประเมินระยะโรคของผู้ป่วย โดยการเจาะเลือด และดูจากปัจจัยหลัก 3 อย่าง ได้แก่

  • ปริมาณตัวโรค : LDH, Beta2-microglobulin
    เป็นตัวบอกว่าโรคที่เกิดในร่างกายอยู่ในระดับที่มากแค่ไหน
  • ความรุนแรงของตัวโรค : Albumin
    ถ้าเป็นมากจะไปยับยั้ง albumin ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกาย
  • ลักษณะทางพันธุกรรม : FISH
โรคมัลติเพิลมัยอิโลมา (มะเร็งไขกระดูก MM)
Patient-Centered Inter-Professional Team Members

ภาพนี้ แสดงถึงโครงสร้างของผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง/ระบบของการดูแลรักษาอย่างย่อ 

  • ศูนย์กลางคือผู้ป่วย (Patient)
  • ลำดับถัดมาที่ใกล้ชิดคือ ผู้ดูแล (Caregiver) และเพื่อน ครอบครัว ชุมชนสังคม (Friends, Family, Community)

กลุ่มคนเหล่านี้ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคและการดูแลรักษาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจได้

  • วงรอบนอก คือ ทีมผู้ดูแลส่วนต่าง ๆ ได้แก่
  • แพทย์เจ้าของไข้หลัก
  • แพทย์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น ด้านไต กระดูก 
  • การฝึกฝนผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยในการดูแล อาจมีทีมพยาบาลที่ช่วยให้คำแนะนำต่าง ๆ พยาบาลประสานงานส่วนต่าง ๆ
  • เภสัชกร แนะนำและเตรียมยา ไม่ควรใช้ยาจากผู้อื่นภายนอกโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากแพทย์
  • ทีมวิจัย ศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยที่มารับการรักษา เพื่อนำไปวิจัยพัฒนาการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
  • หมอกายภาพบำบัด สำหรับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องกระดูก แนะนำท่าการเคลื่อนไหว การออกกำลังที่เหมาะสม
  • บริการดูแลด้านอาหาร สามารถสอบถามแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการทานได้
  • การสนับสนุนจากภาคสังคม ระบบ สิทธิ์การรักษา
  • ความรู้สึก อารมณ์ สังคม จิตใจ
  • การดูแลแบบประคับประคอง

หลักการดูแลแบบประคับประคอง

เนื่องจากโรคมะเร็งส่งผลให้มีอาการได้หลากหลาย หากได้รับการรักษาที่ดีเพียงพอ จะช่วยทำให้การเจ็บปวดลดลง ไม่เกิดอาการปวดกระดูก แต่หากมีอาการมากขึ้นจนทำให้ร่างกายอ่อนแอทุกข์ทรมาน กลับมาเป็นซ้ำ ก็จะพิจารณาการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางนี้ในทุกโรงพยาบาล เป็นนโยบายระดับประเทศ เพื่อลดอาการป่วยและความทุกข์ทรมาน ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการให้ยาเสริมกล้ามเนื้อ และทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามความสนใจ เช่น ศิลปะ ดนตรี โดยทั้งหมดนี้ ทำเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

หลักการสำคัญ :

  • ลดอาการป่วย และบรรเทาความทุกข์ทรมาน -> เพิ่มคุณภาพชีวิต

การจัดการดูแลให้สอดคล้องใน 3 มิติ :

การดูแลรักษาแบบประคับประคอง ประกอบด้วย

  • การสื่อสาร เกี่ยวกับเป้าหมายและแผนการรักษาในช่วงเวลาต่างๆ
    • แพทย์และพยาบาลจะสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
  • ดูแลความต้องการของผู้ป่วย รวมทั้งความคิด อารมณ์ ความรู้สึก
    • เน้นการสร้างความสบายใจ และความสุขของผู้ป่วย
  • มีส่วนร่วมในการตัดสินใจแผนการรักษาจากผู้ป่วยและผู้ดูแล
    • แพทย์จะแจ้ง ข้อดี ข้อเสีย ทางเลือก เพิ่มความเข้าใจ เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้นร่วมกัน ให้เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อความราบรื่นในการดำเนินการรักษาระยะยาว
  • คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแล
    • การดูแลตัวเองของผู้ดูแลก็เป็นส่วนสำคัญ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ควรมีการสลับพักบ้าง

คำถาม

อาหารเสริม และสมุนไพรมีค่อนข้างมาก เราทานได้มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ควรทานเลย ?

อาหารเสริมต่างๆ เหมาะกับการทานก่อนที่จะเป็นมะเร็ง หรือหลังจากการรักษาหายแล้วมากกว่า การทานระหว่างการรักษาอาจไม่ช่วยอะไร และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้

ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนจะทานอะไรเสมอ

หลักการ คือ ช่วงที่เรากำลังรักษาโรคมะเร็งเราจะมียาหลักที่เราได้รับอยู่ ในส่วนอาหารเสริมต่างๆ เหมาะกับการทานก่อนที่จะเป็นมะเร็ง หรือหลังจากการรักษาหายแล้วมากกว่า การทานระหว่างการรักษาอาจไม่ช่วยอะไร และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนจะทานอะไรเสมอ

สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาทั้งหมดจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังของบทความนี้

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน อยู่ร่วมอย่างสบายใจกับโรคมัลติเพิลมัยอิโลมา (มะเร็งไขกระดูก MM)

โดย อ.พญ. อาจารย์แพทย์หญิงธีรยา พัววิไล
อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

-+=