แนวทางสร้างคุณภาพชีวิต
สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด และผู้ดูแล
ผู้ป่วยและผู้ดูแล ต้องการทั้งกำลังกาย และกำลังใจ
ผู้ป่วย ผู้ดูแล และสมาชิกในครอบครัว จะต้องตั้งสติ ทำใจยอมรับความเป็นจริงให้ได้ มีกำลังใจ และมีความรักที่จะทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน
การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกัน เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้นหนึ่งคนย่อมมีผลกระทบต่อครอบครัวนั้นเสมอ นอกเหนือจากผู้ป่วยยังมีผู้ดูแลที่ต้องการกำลังกายและกำลังใจไม่น้อยไปกว่ากัน ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้ดูแลสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยผู้ป่วย ผู้ดูแล และสมาชิกในครอบครัว จะต้องตั้งสติ ทำใจยอมรับความเป็นจริงให้ได้ มีกำลังใจ และมีความรักที่จะทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน
บทสรุปในมุมของผู้ป่วย ได้แก่ เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง หยุดนิ่งพักได้แรงเพิ่ม เสริมพลังด้วยงานและการออกกำลังกาย ใส่ใจคุณค่าอาหาร เบิกบานต้านซึมเศร้า ปลุกเร้ามิตรภาพทั้งเก่าและใหม่
เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่
จิตใจคนเรา สามารถปรับให้เข้มแข็งกว่าร่างกายได้เสมอ
บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ดูแลพูดว่า “ทุกอย่างอยู่ที่ใจ” โรคภัยในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่จิตใจคนเราสามารถปรับแต่งให้เข้มแข็งกว่าร่างกายได้เสมอ
การรับรู้ข่าวร้ายว่าป่วยเป็นมะเร็งต้องใช้เวลาและความพยายามมหาศาล กว่าจะทำใจยอมรับได้ ใช้เวลาทำใจ ปรับตัว ปรับใจตามสถานการณ์ เปิดใจรับรู้ข้อมูลต่างๆ เพื่อที่จะเข้าใจแนวทางการรักษา ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และเตรียมตัวรับมือด้วยความพร้อม
อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง
หลังจากรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เจ็บปวด จิตใจมักปฏิเสธอยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องไม่จริง แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องยอมรับว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องจริงและต้องเผชิญฝ่าฟันไปด้วยกัน ทั้งผู้ป่วยครอบครัว และทีมบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อยอมรับและเข้าใจรายละเอียดของโรคและเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์สำหรับการรักษาแล้ว จึงให้ความร่วมมือในการรักษาแผนปัจจุบัน ไม่ปฏิเสธ หลบเลี่ยง หรือไปแสวงหาหนทางที่ผิดจากความจริง หรือไม่มีหลักฐานว่ารักษาได้จริง
หยุดนิ่งพัก ได้แรงเพิ่ม
- มีเวลาอยู่กับตัวเอง
- งีบหลับ
- ทำสมาธิ หรือทำงานอดิเรกเบาๆ ในตอนกลางวัน
- นอนหลับให้เพียงพอในตอนกลางคืน
ช่วงเริ่มต้นของการวินิจฉัยและรักษา เป็นช่วงที่ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้ามากที่สุด ทั้งการที่จะต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมมากมาย การรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ การต่อสู้กับความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา กระบวนการรักษามะเร็งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันยาวนาน
การมีเวลาอยู่กับตัวเอง งีบหลับ ทำสมาธิ หรือทำงานอดิเรกเบาๆ ในตอนกลางวัน และการนอนหลับให้เพียงพอในตอนกลางคืน เป็นการรวบรวมกำลังกายที่สำคัญมากเพื่อให้ทุกวันผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
หากมีความเครียดหรือนอนไม่หลับร่างกายจะยิ่งอ่อนล้า อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาช่วยผ่อนคลายความเครียดและนอนหลับได้
เสริมพลังด้วยงานและการออกกำลังกาย
ผู้ป่วยมะเร็งปอดไม่จำเป็นต้องนั่งหรือนอนนิ่งอยู่กับที่เท่านั้น หากการเจ็บป่วยไม่ได้บั่นทอนร่างกายจนเกินไป และแพทย์ไม่ได้มีข้อห้าม
ผู้ป่วยมะเร็งปอดสามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้ ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น
- เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ชี่กง โยคะ เป็นต้น
- การออกกำลังกายเบาๆ หรือขยับร่างกายโดยการทำงานบ้านอย่างเหมาะสม
- การฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ
- ดีต่อร่างกาย ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
- ดีต่อจิตใจ มีใจแจ่มใส เบิกบาน และรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น
ใส่ใจคุณค่าอาหาร
ผู้ป่วยมะเร็งปอดมักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน จากการได้รับเคมีบำบัด การฉายรังสี และสภาวะจิตใจที่หม่นหมอง ในขณะเดียวกันมักได้รับคำแนะนำให้ใส่ใจและพิถีพิถันมากขึ้นกับอาหารการกิน
มีคำแนะนำเฉพาะเกี่ยวกับอาหารในช่วงที่ให้เคมีบำบัด คือ การรับประทานอาหารที่สุก สะอาด มีคุณค่าครบถ้วนตามหลักโภชนาการทั้งเนื้อสัตว์ ข้าว ผัก ผลไม้ ควรรับประทานไข่ขาวให้มากขึ้นเพราะเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีประโยชน์
ผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้ดูแลสามารถสนุกกับการคิดเมนูอาหารใหม่ๆ แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการทำอาหารให้ผู้อื่นได้รับรู้ สร้างงานสร้างคุณค่า เป็นผลพลอยได้นอกเหนือจากการได้กินอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย
เบิกบานต้านซึมเศร้า
ควรจัดให้มีกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจเบิกบาน ไม่เป็นโรคซึมเศร้า
สามารถปล่อยวางและหยุดคิดหมกมุ่นเรื่องโรคภัยในร่างกายได้ชั่วขณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดและชื่นชอบของแต่ละบุคคลเช่น
- การเข้าวัด ฟังธรรม ทำบุญ
- ฟังเพลง ท่องเที่ยว เล่นกับสัตว์เลี้ยง อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฟังเพลงเก่าๆ
- ทำอาหาร และประดิดประดอยของใช้ในบ้าน
ปลุกเร้ามิตรภาพทั้งเก่าและใหม่
คนเรามักคิดว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องโชคร้ายเฉพาะตน และรู้สึกโดดเดี่ยว แต่แท้จริงแล้วทุกคนทุกครอบครัวล้วนผ่านประสบการณ์เรื่องราวการเจ็บป่วยกันมาทั้งนั้น ควรรักษามิตรภาพเพื่อนเก่าไว้คอยบอกเล่าแบ่งปันทุกข์สุขและระบายความรู้สึกบ้าง อาจคุยโทรศัพท์หรือพบปะกัน เมื่อร่างกายและจิตใจแข็งแรงพอ ช่วงให้เคมีบำบัดทำให้ผมร่วง อาจจะอายไม่อยากพบเจอเพื่อนเก่า แต่พอผมยาวขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น ก็นัดเพื่อนมาเยี่ยมที่บ้านหรือไปรับประทานอาหารนอกบ้านได้
นอกจากนี้การได้รู้จักกลุ่มเพื่อนใหม่ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งด้วยกันหรือกลุ่มผู้ดูแล ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันก็เป็นเรื่องดี
เรียบเรียงและเขียนโดย ด็อกเตอร์ แพทย์หญิงประกายทิพ สุศิลปรัตน์
นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และเจ้าของเพจ “สู้สู้สิแม่ก็แค่มะเร็ง”