Home Chemotherapy

นวัตกรรมการรักษามะเร็งที่บ้าน Home Chemotherapy และกินอยู่อย่างไรเมื่อมีถุงทวารเทียม

คีโมที่บ้าน (Home Chemotherapy)

  • 💫 การให้ยาคีโมที่บ้านทำได้อย่างไร ? (Home Chemotherapy)

โรคมะเร็งกับการรักษาเคมีบำบัด

ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประเทศไทย และมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยรายใหม่มากขึ้นทุกปี โรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งปอด โดยวิธีการรักษาหลักรูปแบบหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยคือการทำเคมีบำบัด ซึ่งในการรักษาโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลเพื่อรับเคมีบำบัด และต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 2 – 3 วัน ในทุก ๆ 2 สัปดาห์ แต่จากการเก็บข้อมูลในปี 2558 พบว่ามักจะต้องมีการเลื่อนวันรับยาให้เคมีบำบัดของผู้ป่วยเนื่องจากเตียงที่โรงพยาบาลเต็ม เพราะต้องมีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่น ๆ ด้วย ทำให้ต้องเลื่อนลำดับคิวออกไปประมาณ 1 สัปดาห์ จึงมีผลทำให้ประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคลดลง

การรักษาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงมีนโยบายร่วมสานภารกิจ คิดนอกกรอบ รับผิดชอบสังคม ปรับปรุงการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยวิธีรักษาโดย การให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน หรือ Home Chemotherapy เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาในหลายมิติ ทั้งด้านระบบการเข้ารับบริการ ที่ต้องเสียเวลารอคอย เพิ่มความเครียดในการรอเตียงของผู้ป่วย ด้านคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ที่บางรายอาจต้องเสียโอกาสในการหารายได้เลี้ยงชีพจากการทำงานในกรณีที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ ด้านสังคม ที่ต้องเสียกำลังคนในการทำงาน นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดภาระของทีมแพทย์และพยาบาล ตลอดจนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ทำให้ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม หากเราสามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้

โครงการเคมีบำบัดที่บ้าน ได้จับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มาเป็นผู้รับการรักษาหลัก เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ในประเทศไทยมีจำนวนถึง 12,467 รายต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตถึง 4,500 ราย ซึ่งถือเป็นปริมาณมาก ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีตัวยาหลักคือ 5FU ซึ่งจะต้องใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ โดยปกติจะต้องใช้ยาเคมีบำบัด 2 ชนิด ต้องมีการให้ยาแบบน้ำเกลือขวดใหญ่ที่ใช้เวลาในการให้ยา 2 วัน และอีก 2 อาทิตย์ผู้ป่วยก็ต้องกลับมารับยาใหม่อีกรอบ

ผู้ป่วยที่แนะนำให้รับการรักษายาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy)

  • กลุ่มหลัก : ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะที่ 3 – 4 ที่ต้องให้ยาเคมีบำบัด
  • ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือ และสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับโครงการระหว่างรับการรักษา
  • ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการต้องขอความร่วมมือจากครอบครัวในการช่วยดูแล ทดแทนการมานอนที่โรงพยาบาล

ระบบขั้นตอนการรักษายาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy)

  • ตรวจร่างกายโดยแพทย์ เจาะเลือด ดูผลเลือด
  • เข้าห้องบริหารยาเคมีบำบัด ซึ่งจะให้ 2 ชนิด ดังนี้
  • ชนิดที่ 1 จะให้ที่ห้องให้ยาระยะสั้น ใช้เวลา 3 – 4 ชั่วโมง
  • ชนิดที่ 2 คือตัวยา 5FU เป็นตัวยาที่ต้องให้อย่างต่อเนื่อง โดยจะบรรจุในถุงยาอุปกรณ์แบบใหม่ เรียกว่า “อีซี่ปั๊ม” ที่มีตัวยาเข้มข้นขนาด 100 ml และบริหารเข้าทางเส้นเลือดตรงหน้าอกที่มีหลอดเลือดดำใหญ่
  • เมื่อเสียบถุงยาเสร็จ ทางโรงพยาบาลจะให้คำแนะนำคนไข้ในการดูแลตัวเองที่บ้าน สอนวิธีทำความสะอาดต่าง ๆ ให้กับผู้ป่วย วิธีแก้ไขเมื่อถุงยาหลุดรั่ว และปัญหาอื่น ๆ
  • ถุงยาจะมีขนาดเท่าลูกเทนนิส ผิวนุ่ม พกติดตัวสะดวก
  • พยาบาลจะมีการทำงานเชิงรุก โทรสอบถามอาการ ให้คำแนะนำดูแลผู้ป่วยทุกวันที่มีการใส่ถุงยา หรือผู้ป่วยสามารถโทรสอบถามทางโรงพยาบาลได้ตลอดระยะเวลาในการให้ยาเช่นกัน
  • ตัวยาจะหยดอยู่ที่ระยะเวลา 50 ชั่วโมง เมื่อรับยาครบ ต้องมาที่โรงพยาบาลเพื่อถอดถุงยา
  • คนไข้สามารถถอดถุงยาที่บ้านก็ได้ แต่ต้องแจ้งทางโรงพยาบาล หรือจะถอดที่โรงพยาบาลเครือข่ายใกล้บ้านก็ได้เช่นกัน
  • ทางโรงพยาบาลจะมีเบอร์ Call Center สำหรับติดต่อได้ 24 ชั่วโมง
  • มีคู่มือในการดูแลสำหรับผู้ป่วยทุกรายรวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้
  • มีคำแนะนำเบื้องต้นไว้ท้ายเล่ม และมีการฝังวีดีโอคลิปไว้ในกลุ่มไลน์

ประโยชน์ของการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy)

  • มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตทางสังคม สามารถใช้ชีวิตได้ปกติกับครอบครัว
  • ลดการเสียเวลาเสียโอกาสในการทำงานหาเลี้ยงชีพ
  • มีแนวโน้มการได้รับยาตรงรอบอยู่ที่ 70%
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องยา โดยหากรักษาในโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200,000 บาท แต่หากรับการรักษาที่บ้านจะอยู่ที่ 150,000 บาท ทำให้ประหยัดไปได้ประมาณ 50,000 บาทต่อราย
  • สามารถลดการครองเตียงได้ 20,000 เตียงต่อปี

สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังของบทความนี้

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน Home Chemotherapy และกินอยู่อย่างไรเมื่อมีถุงทวารเทียม

โดยคุณหมอและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
👨‍⚕️ อาจารย์นายแพทย์ พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
👩‍⚕️ พว.ประไพ อริยประยูร : พยาบาลวิชาชีพขั้นสูง รพ.รามาธิบดี
👨‍⚕️ คุณสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข : ประธานชมรมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

-+=