ฟัง..ด้วยหัวใจ ช่วยคลายทุกข์ได้

ฟังด้วยหัวใจ : สื่อสารกับผู้ป่วย ด้วยหัวใจ

เปิดประตูสู่ความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล ด้วยการฟังแบบมีหัวใจ

ในภาวะที่ผู้ป่วยกำลังตกอยู่ในสภาวะที่มีความเจ็บป่วยและส่งผลให้เกิดความแปรปรวนทั้งทางร่างกายและจิตใจ การสื่อสารพูดคุยกันในแต่ละวันของผู้ป่วยและผู้ดูแลแม้ในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปหรือเรื่องง่ายๆ อาจกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาได้ เราจึงอยากแบ่งปันแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเป็นประตูสู่ก้าวแรกของการสื่อสารอย่างเป็นมิตรกับหัวใจและเข้าใจกันได้มากขึ้น ด้วยการฟังแบบมีหัวใจ หรือการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

เมื่อกล่าวถึงการสื่อสารเพื่อความเข้าใจ เรามักอาจจะคิดถึงเรื่องเทคนิควิธีการพูด แต่ความจริงแล้วกุญแจที่สำคัญมากๆ ของเรื่องนี้เริ่มต้นจาก “การฟัง” อย่างมีคุณภาพ

เมื่อเราสามารถฟังเขาได้อย่างแท้จริง
เขาก็จะเริ่มอยากฟังเราเช่นกัน

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

การฟังเพื่อคนที่อยู่ตรงหน้า

การฟังอย่างลึกซึ้งเป็น “การฟังเพื่อคนที่อยู่ตรงหน้า” อย่างแท้จริง คือการเปิดใจรับฟังสิ่งที่ผู้พูดสื่อสารออกมาในปัจจุบันอย่างใส่ใจ

ฟังให้รับรู้ความรู้สึกต่างๆ ของผู้พูดเป็นสำคัญ เนื้อความเป็นสิ่งรองลงมา ช่วยให้ออกจากกรอบความคิดความเชื่อที่อาจไม่ตรงกัน และละวางคำตัดสินได้ง่ายขึ้น

ละวาง

การฟังอย่างลึกซึ้งเป็น “การฟังเพื่อคนที่อยู่ตรงหน้า” อย่างแท้จริง คือการเปิดใจรับฟังสิ่งที่ผู้พูดสื่อสารออกมาในปัจจุบันอย่างใส่ใจ ให้พื้นที่กับผู้พูดอย่างเต็มที่ วางความคิด ความเห็น คำตัดสิน หรือเสียงที่เกิดขึ้นภายในตัวเราผู้ฟัง เพื่อให้เราสามารถรับข้อมูล ทำความเข้าใจทั้งเจตนาและความรู้สึกของผู้พูด รับรู้ได้อย่างตรงไปตรงมา ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นอาจไม่สอดคล้องตรงตามความรู้ ความคิดเห็น หรือความรู้สึกของเราก็ตาม

การฟังในลักษณะนี้ จะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัย และเอื้อให้ผู้พูดกล้าที่จะเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจ อันจะเป็นประตูนำไปสู่ความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้มากขึ้น

มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การฟังอย่างลึกซึ้งและมีคุณภาพ สามารถช่วยในการรักษาความเครียด หรือวิตกกังวลของผู้ป่วยทางจิตเวช รวมถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้

การฟังอย่างลึกซึ้งและมีคุณภาพ สามารถช่วยในการรักษาความเครียด หรือวิตกกังวลของผู้ป่วยทางจิตเวช รวมถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้

การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ เมื่อเรามีความตั้งใจอยากที่จะทำความเข้าใจผู้ป่วยอย่างแท้จริง ค่อยๆ สังเกตทั้งตัวเรา และผู้พูด เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีผ่านการรับฟัง เป็นสิ่งที่เราต่างทำได้เมื่อมีเจตจำนงชัดเจน

เทคนิคการฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้ง

เริ่มต้นจากการ “สังเกต” ในช่วงเวลาที่พูดคุยกัน ผ่านมุมมองทั้ง 2 ด้าน ได้แก่

สังเกต “เรา”

…เพื่อสร้างการฟังอย่างมีคุณภาพ

สังเกตกาย

ท่าทาง และท่าทีในการรับฟังของเรา สามารถส่งผลถึงความรู้สึกของผู้พูดได้

  • การวางตัวสบายๆ หันหน้าเข้าหา อยู่ในระดับสายตาเดียวกับผู้พูด จะช่วยสร้างความสบายใจ ความรู้สึกเท่าเทียม และเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย
  • การแสดงออกภาษากาย เพื่อแสดงให้ผู้พูดรับรู้ว่าเราตั้งใจฟังและให้ความใส่ใจกับเค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การมองตา พยักหน้า ไม่ทำอย่างอื่นระหว่างฟัง (ดูนาฬิกา กดมือถือ)

สังเกตใจ

  • ฟังอย่างใส่ใจ : ใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับผู้พูด
  • ฟังให้จบ
    • มีสติ วางใจ วางความรู้สึกที่อยากช่วยเหลือให้คำแนะนำลงก่อน เพื่อให้พื้นที่ผู้พูดได้บอกเล่าสิ่งต่างๆ ออกมาอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกขัด
    • วางการตัดสิน ความรู้ ความคิดถูกผิดในใจของเราออกไปก่อน
    • ฟังให้จบ แล้วจึงค่อยถาม หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมถามหรืออยากแนะนำอะไร แค่อยู่กับ ณ ขณะฟัง ..เรากำลังฟังเพื่อให้เขาได้พูดออกมา
  • ฟังทั้งเนื้อหา ความคิด และความรู้สึกของผู้พูด
    • บางเรื่องที่เรารู้ แต่อาจจะคนละแง่มุม หรือมีรายละเอียดแตกต่างกันไปกับความคิดความรู้สึกของผู้พูดก็ได้ ฟังไปถึงความรู้สึก ความคิดเชื่อของผู้พูด
    • ไม่อิน ไม่จมกับอารมณ์ของผู้พูด ซึ่งอาจเป็นความเศร้า ความโกรธ ความสุข ความทุกข์ของผู้พูด แม้ว่าการมีความเห็นอกเห็นใจจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราจมกับความรู้สึกร่วมมากจนเกินไป เราก็จะหลุดจากเรื่องราว และไม่ได้รับฟังผู้พูดอย่างแท้จริง

สังเกต “เขา”

สังเกต “เขา”

..เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

เมื่อพูดถึง “การฟัง” ในการพูดคุยสื่อสาร อาจไม่ได้หมายถึงการฟังด้วยหูเท่านั้น แต่เป็นการสังเกต รับรู้ สัมผัสองค์ประกอบอื่นๆ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยฟังอย่างใส่ใจ และมีสติอยู่กับปัจจุบันตรงหน้าให้มากที่สุด

  • ฟังด้วยหู : รับรู้คำพูด เนื้อหา เรื่องราว ตลอดจนน้ำเสียง จังหวะความหนักเบาในการพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังของผู้พูดได้
  • ฟังด้วยตา : สังเกตสีหน้า แววตา ท่าทางของผู้พูด ความเคลื่อนไหว และภาษากายต่างๆ ที่อาจบ่งบอกความหมาย รวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในแต่ละขณะที่มองเห็นได้
  • ฟังด้วยหัวใจ : สัมผัสรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด ผ่านสิ่งต่างๆ ที่เราสังเกตและรู้สึกได้ รวมถึงเจตนาและความต้องการเบื้องหลังของสิ่งที่พูดเหล่านั้น แม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้พูดมันออกมาตรงๆ ก็ตาม

ดูแลหัวใจ ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

นอกจากการรับฟังอย่างลึกซึ้งและมีหัวใจที่จะให้พื้นที่แก่ผู้พูดอย่างเต็มที่แล้ว

การแสดงออกภาษากายของผู้ฟังเพื่อแสดงให้ผู้พูดรับรู้ว่าเราตั้งใจฟังและให้ความใส่ใจกับเค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากการรับฟังอย่างลึกซึ้งและมีหัวใจที่จะให้พื้นที่แก่ผู้พูดอย่างเต็มที่แล้ว การแสดงออกภาษากายของผู้ฟังเพื่อแสดงให้ผู้พูดรับรู้ว่าเราตั้งใจฟังและให้ความใส่ใจกับเค้าก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การมองตา พยักหน้า ไม่ทำอย่างอื่นระหว่างฟัง (ดูนาฬิกา กดมือถือ) สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้พูดได้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่อาจอัดอั้นอยู่ข้างในใจออกมาได้อย่างเต็มที่

การไม่ตัดสินของเราจะช่วยเอื้อให้เกิดการเปิดใจของผู้พูด และทำให้เราสามารถรับรู้ เรียนรู้ เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังเป็น กำลังเผชิญได้มากซึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ก้าวถัดไป ที่เราจะสามารถทำการช่วยเหลือ ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

ถ้ารู้สึกไม่ไหว ให้ถอยออกมา

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้ดูแล ต่างก็เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีอารมณ์ความรู้สึก สามารถเหนื่อยได้ ไม่โอเคได้ ถ้าเรารู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมสำหรับการฟัง หรือดูแลคนอื่น “ถ้ารู้สึกไม่ไหว ให้ถอยออกมา” แล้วกลับมาดูแลตัวเองให้ดีก่อน เพราะหากฝืนจะเผชิญหน้า อาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง และอาจยากจะฟื้นคืนความรู้สึกดีๆ กลับมาได้

เราสามารถฝึกฝนการฟังแบบนี้ได้ในทุกๆ ครั้งที่พูดคุยสื่อสารกับผู้อื่น โดยอาจเริ่มจากเพื่อนหรือคนใกล้ตัวก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและคุ้นชินกับการฟังและสื่อสารอย่างเป็นมิตร ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงภายใน และช่วยให้เราสามารถดูแลรับฟังผู้ป่วยได้อย่างดียิ่งขึ้น

หากอยากฝึกฝนและเข้าใจเพิ่มเติม แนะนำเพจ สื่อสารอย่างสันติ ^^

ฝึกฝนเพิ่มเติม

ฝึกฝนและเข้าใจเพิ่มเติม ได้ที่เพจ สื่อสารอย่างสันติ ^^

ขอบคุณจากหัวใจ

  • คุณฝน กนกพร ตรีครุธพันธ์, ผู้เขียน
  • บันทึกถอดบทเรียน Workshop กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ “การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เพื่อสร้างสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี”, https://www.facebook.com/pathumyouth.in4n
  • · หนังสือ “เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดย ภินท์ ภารดาม
  • · 6 เทคนิคการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) โดย ภญ.ธันยพร จารุไพศาล
-+=