สาเหตุและอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว MM

สาเหตุโรค และอาการ
ของมะเร็งเม็ดเลือดขาว MM

มะเร็ง MM หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma)

สาเหตุการเกิดโรค

มะเร็ง MM หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) มีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของเม็ดเลือด ปกติในร่างกายจะมี B-Cell ซึ่งจะพัฒนาตัวเองเพื่อทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรค แต่ในช่วงที่มีพัฒนาการนี้ก็เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ได้เช่นกัน และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมาได้ โดยหลังจากที่เซลล์พัฒนาแล้วก็จะกลับเข้าสู่ไขกระดูก จึงทำให้มะเร็งชนิดนี้เกิดขึ้นในไขกระดูกเป็นหลัก

สาเหตุของมะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

การกลายพันธุ์

ในขั้นแรก การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลือง จากนั้นก็เข้าสู่ไขกระดูก จนกระทั่งมีการแบ่งตัวมากขึ้น เป็นระยะการกลายพันธุ์ครั้งที่ 1 ทำให้มีเซลล์มะเร็งอยู่รอดมากขึ้น และเมื่อเกิดความผิดปกติครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะนำไปสู่กลายพันธุ์ครั้งที่ 2 เกิดการสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งมากขึ้น และอาจกลายพันธุ์ต่อไปได้เรื่อยๆ จนเข้าสู่ระยะสุดท้ายของตัวโรคในไขกระดูก

เซลล์มะเร็งตัวนี้จะสามารถสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นแอนติบอดี้ในกระบวนการปกติ แต่โปรตีนที่ถูกสร้างจากเซลล์มะเร็งจะไม่สามารถต่อต้านเชื้อโรคได้ และก่อให้เกิดโรคมัลติเพิลมัยอิโลมาขึ้น

ปัจจุบันมีข้อมูลว่าพบการเกิดโรคในคนตั้งแต่อายุประมาณ 30 ปี โดยส่วนใหญ่พบว่าการกลายพันธุ์นี้จะเกิดครั้งแรกในช่วงอายุประมาณ 30-40 ปี และถูกเก็บไว้ในร่างกาย ซึ่งในบางคนก็จะเกิดการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง แต่ในบางคนไม่เกิดก็มี ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าความแตกต่างเกิดจากปัจจัยอะไร เป็นสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่

CRAB คืออะไร

CRAB เป็นตัวย่อลักษณะอาการที่เกิดจากโรคมะเร็ง MM

ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ CRAB

  • C = แคลเซียมสูง
  • R = ไตวาย
  • A = ซีด
  • B = ปวดกระดูก

Calcium สูง

เกิดจากการที่เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเยอะขึ้น จนเซลล์ตัวนี้ไปกินกระดูก ลดการทำงานของเซลล์ที่สร้างกระดูกลง เมื่อเซลล์กินกระดูกก็จะกลายเป็นแคลเซียมที่ถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีภาวะแคลเซียมที่สูงขึ้น ทำให้มีอาการ ซึม ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก

Renal failure : ไตวาย

เกิดจากหลายสาเหตุที่สัมพันธ์กับโรคชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็น การทานยาแก้ปวดเพื่อแก้อาการของผู้ป่วย และตัวโปรตีนที่เซลล์มะเร็งสร้างไปสะสมที่ไต ทำให้เกิดไตวาย

Anemia : ซีด

เกิดจากการที่เซลล์มะเร็งเข้าไปแทนที่ไขกระดูกปกติ

Bone : กระดูก

เมื่อกระดูกโดนกินหายไป ก็จะเกิดอาการปวดกระดูก ปวดหลัง กระดูกหักง่าย

นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายอีกด้วย

CRAB อาการของมะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)
CRAB อาการของมะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

ลักษณะการดำเนินโรค

กลายพันธุ์

เมื่อ MM Cell กลายพันธุ์เรื่อยๆ จะทำให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง จนกระทั่งฟอร์มตัวเป็นก้อน ดันกระดูกออกมา เมื่อกลายพันธุ์มากในระดับที่เซลล์มะเร็งอยู่ได้เองโดยไม่ต้องอาศัยไขกระดูกก็จะสามารถหลุดเข้าสู่กระแสเลือดได้ จัดเป็นระยะที่รุนแรง อีกทั้งยังเกิดเป็นก้อนออกจากกระดูก เยื่อหุ้มปอด สมอง หรือในกล้ามเนื้อได้

การเปลี่ยนแปลงของมะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

ลักษณะของโรคที่ได้รับการวินิจฉัย

แบ่งเป็นหลัก ๆ 4 ประเภท ได้แก่

  • มะเร็งมัยอิโลมาที่มาด้วยอาการ CRAB
  • มะเร็งมัยอิโลมาที่มาด้วยอาการ CRAB + ก้อนตามตัว
  • มะเร็งมัยอิโลมาที่มาด้วยอาการ CRAB + เซลล์มะเร็งในกระแสเลือด
  • มะเร็งมัยอิโลมาที่มาด้วยอาการ CRAB + อะมัยลอยโดซิส
    • ตัวโปรตีนที่สร้างเปลี่ยนรูปร่างไปสะสมในเนื้อเยื่อ ทำให้อวัยวะต่างๆ เสื่อมลงได้

การประเมินระยะโรค

ประเมินจากปัจจัยหลัก 3 อย่าง ได้แก่

  • ปริมาณตัวโรค : LDH, Beta2-microglobulin
    เป็นตัวบอกว่าโรคที่เกิดในร่างกายอยู่ในระดับที่มากแค่ไหน
  • ความรุนแรงของตัวโรค : Albumin
    ถ้าเป็นมากจะไปยับยั้ง albumin ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกาย
  • ลักษณะทางพันธุกรรม : FISH

ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนประมาณ 50-70% ที่ช่วยบอกได้ว่าในแต่ละระยะโรคจะมีความรุนแรงแค่ไหน ตอบสนองกับยาดีหรือไม่ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ส่งผลต่อการพยากรณ์โรค

ทั้งนี้ในระยะที่ตัวเลขสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะรุนแรงมากรักษายากกว่าเสมอไป เช่น เป็นระยะ 3 แต่การตอบสนองต่อยาดี ก็จะทำให้ดีขึ้นได้ ในขณะเดียวกันหากเป็นระยะ 1 แต่ไม่ตอบสนองก็อาจจะแย่กว่าได้ เป็นต้น

สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังของบทความนี้

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน รู้ทัน..เข้าใจ..ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma : MM)

โดย อ.พญ. ชุติมา คุณาชีวะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

-+=