มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ต่อมน้ำเหลืองคืออะไร

ระบบน้ำเหลืองในร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ประกอบด้วยทั้งส่วนที่เป็นเนื้อและส่วนที่เป็นน้ำ โดยมีหน้าที่หลักคือ

  • ระบายน้ำและน้ำเหลืองที่อยู่นอกเซลล์ ให้กลับสู่ระบบปกติ
  • ป้องกันการติดเชื้อ

ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) ประกอบไปด้วยอวัยวะน้ำเหลือง อันได้แก่ ม้าม ไขกระดูก ต่อมทอนซิล ต่อมไทมัส

ภายในอวัยวะเหล่านี้จะเต็มไปด้วยน้ำเหลือง ซึ่งมีหน้าที่นำสารอาหารและเซลล์เม็ดเลือดขาว (Lymphocyte) ไปทั่วร่างกาย

มารู้จักมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกันเถอะ

ในระบบต่อมน้ำเหลืองมีเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า “ลิมโฟไซต์” เมื่อลิมโฟไซต์แบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ และมีการสะสมมากขึ้นในระบบน้ำเหลือง ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีลักษณะเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งในระบบน้ำเหลือง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งในระบบต่อมน้ำเหลืองส่วนที่เป็นก้อนและส่วนที่เป็นน้ำ เช่น ตัวต่อมน้ำเหลือง ม้าม หรือในกระแสเลือด

ประเภทของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma) และชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) โดยส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งย่อยได้มากมายหลายชนิด โดย WHO ได้จำแนกระบุไว้ถึง 47 ชนิด ซึ่งถือเป็น 4% ของมะเร็งทุกชนิด ทั้งนี้แต่ละชนิดจะมีวิธีการดูแลรักษา และให้ยาที่แตกต่างกันไป

โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin สามารถแบ่งออกได้เป็น 30 ชนิดย่อย ถ้าอาศัยอัตราการเจริญของตัวมะเร็งแล้ว จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งค่อนข้างช้า แต่มักจะไม่หายขาดด้วยการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  2. ชนิดรุนแรง (Aggressive) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจะเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือนถึง 2 ปี มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรงมีโอกาสที่จะหายขาดจากโรคได้ถ้าได้รับการรักษา

ลักษณะอาการตามการแบ่งตัวช้าเร็ว

  • ลักษณะอาการที่แบ่งตัวช้า เช่น ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดเท่าเดิม หรือโตขึ้นน้อย เมื่อผ่านเวลาไปหลายปี
  • ลักษณะอาการที่แบ่งตัวเร็ว เช่น ภายใน 2 อาทิตย์มีขนาดโตขึ้นจาก 1 ซม. กลายเป็น 2-3 ซม. เป็นต้น

ในการรักษา แพทย์จะพิจารณาก่อนว่าผู้ป่วยเป็นกลุ่มไหน โดยดูจากอาการเมื่อมาพบแพทย์ และจากชิ้นเนื้อที่นำไปตรวจ จากนั้นจึงเลือกใช้การรักษาตามความรุนแรงของการแบ่งตัว

การรักษาคนไข้กลุ่มที่แบ่งตัวช้า แพทย์มักคำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะได้รับ โดยเทียบประเมินกับคุณภาพชีวิตของคนไข้ หากยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติอยู่อาจยังไม่ทำการรักษาทันที เพื่อให้ไม่ต้องให้เกิดผลข้างเคียงมาก

สังเกตอาการ

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เนื่องจากอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถพบได้ในหลายภาวะ เช่น การติดเชื้อ ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง แต่โดยทั่วไปอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักจะกินเวลานาน และไม่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุอื่น

อาการเริ่มต้น

ข้อสังเกตที่ควรเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีดังนี้

ต่อมโต

  • ต่อมน้ำเหลืองโต พบก้อนที่บริเวณต่างๆของร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ ขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักไม่เจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อ ที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน หรือมีก้อนที่โตเร็ว เจ็บผิดปกติ
  • ม้ามโต (มักมีอาการกินแล้วอิ่มง่าย น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ) มีก้อนตามที่ต่าง ๆ
  • ต่อมทอนซิลโต

มีอาการเหล่านี้ โดยไม่ทราบสาเหตุ

  • มีไข้ หนาวสั่น เป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน
  • ซีด อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ (ลดมากกว่าร้อยละ 10 ใน 6 เดือน)

รวมถึงอาการเหล่านี้

  • ไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวก
  • อาการคันทั่วร่างกาย
  • ปวดศีรษะ (พบในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท)

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีโอกาสหายขาดสูงถึง 80%

ตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว ทำตามที่แพทย์แนะนำ พบแพทย์สม่ำเสมอ ก็หายขาดได้

ปัจจัยเสี่ยง / สาเหตุ

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เช่น

สารเคมี ยา สิ่งแปลกปลอม และการฉายแสง

  • สารเคมีและยา เช่น
    • สารเคมีจากการปลูกพืชผัก ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า
    • ชีวิตประจำวัน เช่น ยาฉีดกันยุง ยาทาเล็บ ยาย้อมผม/สีย้อมผมที่ได้รับในปริมาณมาก
    • การฝังเต้านมเทียม
  • ศัลยกรรม ควรระวังการศัลยกรรมบริเวณเต้านม การใส่สิ่งที่ไม่ใช่ส่วนของร่างกายเข้าไปอาจทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
  • การรักษาด้วยการฉายแสง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม

ภูมิคุ้มกัน

  • ภูมิต้านทานของร่างกาย เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (SLE) โรคเอดส์ (HIV) การได้ยากลุ่มกดภูมิคุ้มกัน
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ที่อาจเกิดในที่เดิมซ้ำๆ มีโอกาสทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นมากไปจนทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น H.Pyroli บริเวณกระเพาะอาหาร (เป็นโรคกระเพาะ)

ประวัติคนในครอบครัวและอายุ

  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • อายุสูงขึ้น มีแนวโน้มเสี่ยงมากขึ้น

วิธีป้องกัน

พื้นฐานความแข็งแรง

  • ตรวจสุขภาพทุกปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสมลพิษ สารเคมี โดยตรง
  • เป็นโรคที่รักษาได้ ก็รักษา เช่น โรคกระเพาะ

การวินิจฉัย และการแบ่งระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ประเมินแนวการรักษา

คำนึงถึงตัวคนไข้ โรคประจำตัว การแพ้ยา
คำนึงถึงชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และระยะของโรค ซึ่งสัมพันธ์กับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการรักษา

แนวทางการรักษา

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาตามสภาพร่างกายผู้ป่วย และระยะของโรค เพื่อการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 5 กลุ่มการรักษา ได้แก่

  1. การเฝ้าระวังโรค (Watch & wait)
  2. การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
  3. การฉายรังสี (Radiation therapy) : เพื่อช่วยลดการใช้ยาเคมีบำบัด
    • ในระยะ 3 – 4 อาจลดการฉายแสงลง เพราะจะมุ่งรักษาทางร่างกายมากกว่าการรักษาเฉพาะที่
  4. การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted cancer therapies) : แพทย์จะพิจารณาว่าชนิดโรคที่ผู้ป่วยเป็นนั้นมีตัวยาที่รักษาได้หรือไม่
  5. การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือสเต็มเซลล์ (Stem cell transplantation)
    • มักทำเมื่อเกิดการกลับมาเป็นซ้ำ

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเหมาะกับยาพุ่งเป้าชนิดไหน

แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและตรวจสอบว่าชนิดโรคที่เราเป็นตรงกับยาพุ่งเป้าชนิดไหน มียาหรือไม่ หรือดูจากผลการย้อมเซลล์ ว่าตรงกับยาพุ่งเป้าชนิดใด ทั้งนี้ หลังจากใช้ยาไปแล้วแพทย์จะประเมินอีกครั้งเมื่อทำการรักษาไปประมาณครึ่งทาง ว่ายาพุ่งเป้าที่ใช้ส่งผลทำให้โรคสงบหรืออาการลดลงหรือไม่ หากยังคงเป็นมากขึ้น อาจแสดงว่ายาชนิดนั้นไม่ส่งผลในการรักษา และต้องพิจารณาเปลี่ยนตัวยาต่อไป

ต่อมน้ำเหลือง ตรวจเองได้

เพียง 60 วินาทีต่อเดือน ก็ห่างไกลโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

ผู้ป่วยระยะแรกมักไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเพราะอาการดูเหมือนโรคทั่วไปมาก แต่ถ้ารู้ทันไว ก็มีโอกาสหายขาดได้ เพียง 60 วินาทีต่อเดือน ก็ห่างไกลโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ เพราะถ้าคลำเจอตุ่มแต่แรก >95% ไม่ใช่มะเร็ง และยุบไปเอง

9 checkpoints ตรวจต่อมน้ำเหลืองด้วยตัวเอง

ตรวจต่อมน้ำเหลืองด้วยตัวเอง ทำอย่างไร

ฟังคุณหมอเล่าถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดจากอะไร
  • มีกี่ชนิดและมีวิธีการรักษาแบบไหนได้บ้าง
  • อาการต้องสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุมาจากอะไร
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองกับมะเร็งที่ลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองต่างกันอย่างไร

พบความรู้และข้อแนะนำดีๆได้จาก
รศ.พญ.พิมพ์ใจ นิภารักษ์
แพทย์อายุรศาสตร์ สาขาโลหิตวิทยา รพ.รามาธิบดี

สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง
Thai Cancer Society

#LymphomaAwareness #LymphomaDay

อยากรู้เกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มเติม อ่านที่เอกสารข้างล่างนี้ได้เลย

ในเอกสารมีเนื้อหาดังนี้

  • มารู้จักมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกันเถอะ
  • อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • แนวทางการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • การดูแลรักษาตนเอง

Download

เข้าใจเพิ่มเติม

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
พบน้อย โอกาสหายขาดสูง
วิธีตรวจมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยตัวเอง : มะเร็ง รู้เร็ว หายได้

เพื่อนร่วมทาง..
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เพื่อนร่วมทาง..มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

Lymphoma Community

Thai Lymphoma

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของประเทศไทย

Facebook page

โรคนางเอก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคนางเอก

มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

Facebook group

-+=