ถามตอบ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และการดูแล

ถามตอบ เรื่องมะเร็ง

เนื้อหาบางส่วนจากการอบรมในโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน รู้จัก รับมือ รักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (CCL)

โดย
รศ.พอ.นพ. วิเชียร มงคลศรีตระกูล
รศ.นพ.เอกพันธ์ ครุพงศ์

ยาพุ่งเป้า

ยาคีโมแบบพุ่งเป้าของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีกี่ประเภท สามารถทำให้หายขาดได้ไหม ?

ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เช่น ชนิดนอนฮอดจ์กิน หลักๆ จะมี 2-3 ตัว และของ CLL มี 1 ตัว ยาแบบพุ่งเป้าส่วนใหญ่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ควบคู่กับยาเคมีบำบัดเพื่อมุ่งหวังผลในการเพิ่มฤทธิ์ มีน้อยมากที่จะสามารถใช้ยาพุ่งเป้าแบบขนานเดียวในการรักษา โดยทั่วไปจะส่งผลช่วยให้หายขาดเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20%

ทั้งนี้การใช้ยาเคมีบำบัดโดยทั่วไปก็มีโอกาสทำให้หายขาดได้ ส่วนการเลือกใช้ยาพุ่งเป้าเพิ่มเข้าไปพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ประเมินราคาที่ต้องเสียกับโอกาสที่เพิ่มขึ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่คุ้มค่า โดยผลข้างเคียงที่เกิดก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เหตุใดผู้ป่วยบางคนได้รับยาพุ่งเป้าหลังจบการรักษาแล้ว ?

ยาพุ่งเป้ามีหลายระดับ ในบางชนิดโรคจะใช้ตั้งแต่เริ่มแรกในการรักษา แต่ในบางชนิดการใช้ยาเคมีบำบัดก็ทำการรักษาได้เพียงพอ หรือยาพุ่งเป้าไม่ได้ส่งผลช่วยที่แตกต่างกันมาก ก็จะเลือกใช้เป็นตัวเลือกที่สอง ในกรณีที่ยาเคมีบำบัดปกติไม่ส่งผล

การใช้ยาพุ่งเป้าหลังการปลูกถ่ายไขกระดูก มุ่งหวังเพื่อยืดระยะเวลาในการกลับมาเป็นซ้ำ ลดเซลล์มะเร็งให้เหลือน้อยมากที่สุด จนกระทั่งถึงจุดที่โรคไม่กลับมาจึงจะเรียกได้ว่าหายขาด

ยาพุ่งเป้าของ CLL ใช้ในช่วงไหนของการรักษา ?

โดยส่วนใหญ่จะใช้แบบระยะยาว เพราะเป็นชนิดโรคแบบเรื้อรัง มักไม่ค่อยหาย แม้โรคจะสงบแล้วก็ตาม โดยหลักการแล้วดูจากเป้าหมาย หากใช้ยาพุ่งเป้าในตอนช่วงแรก คือการมุ่งใช้เสริมยาเคมีบำบัดให้โรคหาย แต่หากรักษาไปแล้วยังไม่แน่ชัดว่าโรคจะหายหรือไม่ ก็เสริมยาพุ่งเป้าต่อได้

ยาพุ่งเป้ามีผลข้างเคียงในระยะยาวไหม ?

ยาทุกชนิดมีผลเสียหรือผลข้างเคียง อาจทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลง อาจมีผลต่อตับ ไต หรือหัวใจ การเลือกใช้ยาทุกชนิดต้องเป็นไปตามการวินิจฉัยของแพทย์

สูตรยาต่างๆ

R-CHOP ใช้กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดใด ?

R-CHOP เป็นสูตรยาเคมีบำบัดและพุ่งเป้า เป็นพื้นฐานการรักษาเนื้องอกต่อมน้ำเหลืองชนิด B-Cell เกือบหมด ส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มที่เจริญเติบโตปานกลางเป็นหลัก

สูตรยา R-Squared (R2) มีการใช้ในประเทศไทยหรือไม่ ?

เป็นสูตรยาพุ่งเป้า 2 ตัวรวมกัน โดยปกติไม่ได้ใช้ในการรักษาหลักของประเทศไทย มักใช้กับคนไข้ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยสูตรปกติได้ เป็นสูตรที่เบากว่า ค่อนข้างได้ผล และผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัดชนิดอื่นๆ

คำถามเกี่ยวกับการรักษา

มีน้ำในช่องปอด ต่อมน้ำเหลืองที่ปอดขยาย

เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด B-Cell ที่คอ ให้เคมีบำบัดไป 6 ครั้ง ฉายแสง 25 ครั้ง หลังจาก PET Scan แล้วเจอฝ้าที่ปอด มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด และต่อมน้ำเหลืองที่ปอดขยายอีก 1 ซม. คาดว่าเกิดจากสาเหตุใด ?

ต้องตรวจเพื่อทำการพิสูจน์ก่อนว่าคืออะไร เนื่องจากทุกสาเหตุสามารถทำให้เกิดน้ำในช่องปอดได้ โดยสามารถตรวจได้จาก

  • เลือด : จะสามารถบอกได้ว่าติดเชื้อหรือไม่
  • น้ำ : ตรวจดูได้ว่าในเซลล์นั้นเป็นมะเร็งหรือไม่
  • ชิ้นเนื้อของเยื่อหุ้มปอด : ใช้ตรวจหามะเร็งในเนื้อเยื่อ

เมื่อทราบแล้วว่าเป็นที่อะไร จึงค่อยทำการรักษาตามสาเหตุต่อไป

กรณีไม่ตอบสนองต่อการรักษา

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในบางกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเกิดจากอะไร และควรแก้ปัญหาอย่างไร ?

โดยทั่วไปแล้วการไม่ตอบสนองต่อการรักษาเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของโรค มีสถิติระบุว่าร้อยละ 20-30% พบว่าโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษาในช่วงแรก (ในกรณีที่รับการรักษาตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน)

วิธีแก้คือปรับสูตรยา ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งแรงขึ้นและอ่อนลง ทั้งนี้สถิติการตอบสนองในการรักษารอบที่ 2 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30-40% อาจใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวเองในการรักษา ซึ่งจะช่วยเพิ่มการตอบสนองได้อยู่ที่ประมาณ 50%

ลักษณะของการไม่ตอบสอง เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก

  1. เกิดจากตัวผู้ป่วยเอง : ไม่ทำตามข้อกำหนดของการรักษา เช่น รับยาไม่ครบ ดูแลตัวเองไม่ดี
  2. เกิดจากยา : ยาอาจไม่ตรงกับตัวโรค ต้องปรับเปลี่ยนยา
  3. เกิดจากตัวโรค : มีพันธุกรรมที่ดื้อมาก ต้องหากระบวนการรักษาเพิ่มเติม

การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นกระบวนการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่หากเป็นเคสที่เข้าข้อบ่งชี้ ก็สามารถใช้สิทธิพื้นฐานเพื่อรักษาฟรีได้ เช่น บัตรทอง สปสช. ประกันสังคม สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าเข้าข่ายที่เบิกได้ไหม

Palliative Care

เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?

ช่วยให้ผู้ป่วยเบาขึ้นทั้งทางกายและทางใจ

  • ช่วยให้คนไข้ไม่เจ็บปวด
  • เน้นการดูแลใจ
  • เตรียมแผนการใช้ชีวิตในระยะสุดท้าย ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ทำตามเป้าประสงค์ของตัวเองมากที่สุด

Palliative Care เป็นการดูแลรักษาในระยะสุดท้าย ที่แพทย์อาจลงความเห็นแล้วว่าไม่สามารถใช้ยาอะไรรักษาได้อีก โดยส่วนใหญ่ในทางการแพทย์จะมุ่งทำอะไรก็ได้ที่ช่วยให้คนไข้ไม่เจ็บปวด เช่น ให้ยาแก้ปวด ยาลดขนาด ฉายแสง ไม่ใช่เพื่อการรักษาให้หาย และเน้นการดูแลกำลังใจ เตรียมตัวถึงแผนการใช้ชีวิตในระยะสุดท้าย ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้ทำตามเป้าประสงค์ของตัวเองมากที่สุด ให้ญาติวางใจ ให้กำลังใจกัน พยายามอย่าให้ผู้ป่วยเครียดหรือกังวล

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย ทำได้อย่างไรบ้าง สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมด้วยได้หรือไม่ ?

ถ้าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถือว่ามีความโชคดีในโชคร้าย เพราะมียาที่สามารถให้ผลการรักษาที่ดีอยู่มากมาย มีโอกาสหายขาดได้สูง เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น จึงขอให้มีกำลังใจในการรักษา

กรณีที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ

นอนป่วยติดเตียงที่โรงพยาบาล

ไม่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ แพทย์จะเน้นการดูแลให้ยาเพื่อระงับความเจ็บปวด

กรณีไม่มียาที่รักษาได้

กรณีไม่มียาที่รักษาได้ ต้องไปพักผ่อนที่บ้าน ญาติผู้ดูแลก็อาจหายาสมุนไพรพื้นบ้านทางเลือกต่างๆ มาดูแลได้ ทั้งนี้ไม่ควรใช้ในการรักษาช่วงแรก เพราะยาแผนปัจจุบันยังสามารถรักษาได้อยู่

ดูแลตัวเองในมิติอื่นๆ โดยรวมให้ดี เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อน นั่งสมาธิ ดูแลจิตใจให้เบาสบาย ก็จะช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นได้

ทั้งนี้การดูแลตัวเองในมิติอื่นๆ โดยรวมให้ดี เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อน นั่งสมาธิ ก็จะช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นได้ ด้านจิตใจก็สำคัญมาก ความสุขอยู่ที่ความพอใจ โดยมีจิตเป็นตัวกำหนด เราอาจหาบางสิ่งทำเพื่อบรรเทาการโฟกัสกับความเจ็บป่วยได้

กัญชา

กัญชาช่วยระงับความเจ็บปวดได้ในระดับหนึ่ง ควรเริ่มค่อยๆ ใช้ในปริมาณน้อย เช่น หยดใต้ลิ้น 1 หยด แล้วสังเกตอาการ ปรับปริมาณไปทีละขั้น ทั้งนี้กัญชาไม่สามารถทำให้มะเร็งหายไปได้ แต่ช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้ดีขึ้น ในการรักษาปกติยาจะมีสเตียรอยด์ซึ่งส่งผลกระตุ้นทำให้นอนไม่หลับได้ ดังนั้นการใช้กัญชาจึงอาจช่วยในส่วนนี้ได้

กัญชาใช้เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในการพักผ่อนได้ แต่ไม่ได้มีผลช่วยในด้านการรักษา

กัญชาช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้ดีขึ้น

จบการรักษาแล้ว

เมื่อจบการรักษาแล้ว เรานับอัตราการรอดชีวิตจากช่วงเวลาไหน ?

โดยทั่วไปเริ่มนับจากตอนเริ่มวินิจฉัยไปอีกประมาณ 5 ปี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้ห่างจากช่วงเวลาตอนรักษาจบมาก (ประมาณ 6 เดือน)

ส่วนใหญ่แล้วหลังจาก 5 ปี จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองลดลงมากเกือบเท่าระดับคนปกติ แม้จะไม่ลดลงในระดับที่เป็น 0 แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นไม่มาก ยกเว้นกลุ่มที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่โตช้า อาจมีโอกาสกลับมาเป็นในระยะเวลา 10 ปีได้

ในกรณีของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง CLL ก็มีกรณีที่เป็นได้หลากหลาย ในแต่ละงานวิจัยก็ดูที่จำนวนปีแตกต่างกัน อาจดูเป็นระยะเวลา 10 ปี เพราะเป็นโรคชนิดเรื้อรัง

มะเร็งกลับมาเพราะอะไร

แม้ว่าโรคสงบแล้วก็ยังอาจกลับมาเป็นใหม่ได้ ทั้งมะเร็งตัวเดิมและมะเร็งตัวใหม่ เนื่องจาก

  • ยาเคมีต่างๆ ที่เรารับไป อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ และเกิดเป็นมะเร็งได้
  • การเป็นมะเร็งอาจสะท้อนว่าลักษณะทางพันธุกรรมของเราไม่แข็งแรง จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งอื่นๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงทั้งทางกาย ดูแลใจให้ดี และหมั่นตรวจเช็คอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การปฏิบัติตัวให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากโรคสงบแล้ว 2 ปี ควรทำอย่างไร ?

ยังไม่มีวิธีในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอย่างชัดเจน

แต่โดยหลักการแล้ว การดูแลตัวเองตามนี้น่าจะช่วยได้

  • ดูแลจิตใจให้ผ่อนคลาย
  • ออกกำลังกาย ภูมิคุ้มกันก็จะแข็งแรง ลดโอกาสเกิดมะเร็งได้
  • หลีกเลี่ยงสารเคมีต่างๆ ทั้งทางการสูดดม การทาน และทางผิวหนัง งดบุหรี่แอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารหลากหลาย หลีกเลี่ยง Junk Food
  • หมั่นดูแลสังเกตตัวเอง มีวินัยในการดูแลตัวเอง และเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์

ทานอะไรแล้วดี

การเลือกรับประทานอาหาร

ควรรับประทานอาหารที่สดสะอาด ถูกหลักโภชนาการ

  • ทานอาหารที่ผ่านความร้อน
  • ไม่กินผักสด ผลไม้เปลือกบาง โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ใช้สารเคมี ของค้างคืน
  • หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ของหมักดอง และผัก ผลไม้ อาหารที่มีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง
  • ทานอาหารรสอ่อนลง

ทานอาหารให้เหมาะสมตามช่วงการรักษา

  • ช่วงที่เพิ่งได้รับยาเคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันต่ำมาก ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่มีความเสี่ยง
  • เมื่อภูมิคุ้มกันกลับมาปกติแล้ว ก็ทานอาหารได้ใกล้เคียงกับชีวิตปกติทั่วไป
  • ยาพุ่งเป้าบางตัวมีจำกัดอาหารบางประเภท ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ดูแลตามกรณี

อาหารที่ช่วยให้ภูมิต้านทานแข็งแรง

  • เห็ด สามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานได้
  • พืชตระกูลถั่ว เปลือกที่หุ้มเมล็ด ช่วยเพิ่มปรับภูมิต้านทานได้
    ทั้งนี้ควรระวังเรื่องสารเคมียาฆ่าแมลงที่มากับพืชเหล่านี้ด้วย

โยเกิร์ต ถือว่าเป็นของหมักดองหรือไม่ ?

ไม่ถือเป็นของหมักดอง สามารถทานได้

ชา กาแฟ สามารถทานได้ไหม ?

ทานชา กาแฟได้ แต่ในช่วงที่เม็ดเลือดขาวตก ให้ระวังเรื่องความสะอาดมากเป็นพิเศษ เช่น น้ำแข็งอาจมีเชื้อโรค (น้ำแข็งในบ้านจะปลอดภัยกว่า)

ในชา กาแฟ มีสารหลักคือคาเฟอีนซึ่งกระตุ้นหัวใจ หากตัวยาที่เราใช้อยู่ส่งผลข้างเคียงกับหัวใจก็ควรระมัดระวัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความแน่ใจ

โควิด

ควรฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่ หากเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ?

หากเราป่วยอยู่ในระหว่างการรักษา ได้รับคีโมอยู่ การฉีดวัคซีนอาจไม่ช่วยทำให้ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคำแนะนำของสมาคมมะเร็งต่างๆ ก็ยังแนะนำให้ฉีด แต่ภูมิจะขึ้นหรือไม่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ส่วนกรณีที่หลังการรักษาจบแล้ว ก็ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเช่นกัน


สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังฉบับเต็มได้ที่นี่

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน รู้จัก รับมือ รักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (CCL)

โดย รศ.นพ. เอกพันธ์ ครุพงศ์
รศ.พอ.นพ. วิเชียร มงคลศรีตระกูล
พร้อมด้วยผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และผู้ป่วยมะเร็ง CLL

-+=