มะเร็งต่อมน้ำเหลือง CLL
มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง ชนิดบีเซลล์ (CLL) / มะเร็งต่อมน้ำเหลือง SLL
เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดแบ่งตัวช้า เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ โดยลักษณะโรคมีได้ 2 รูปแบบ คือ
- เม็ดเลือดผิดปกติอยู่ในเลือดเป็นหลัก : CLL (Chronic Lymphocytic Leukemia)
- เม็ดเลือดผิดปกติอยู่ในต่อมน้ำเหลืองเป็นหลัก : SLL (Small Lymphocytic Lymphoma)
โดยปกติแล้วลิมโฟไซต์จะเกิดจากไขกระดูก และมีหน้าที่เดินทางไปที่ต่อมน้ำเหลืองผ่านกระแสเลือด เพื่อพัฒนาตนเองให้แข็งแรงขึ้นสำหรับการต่อสู้กับเชื้อโรค
ดังนั้นความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างเดินทางในกระแสเลือดนี้จึงส่งผลทำให้กลายเป็นมะเร็งในระบบเลือดหรือชนิด CLL แต่หากมีความปกติตอนที่ไปอยู่ในไขกระดูกแล้ว ก็จะเรียกว่าเป็นชนิด SLL
ทั้งนี้ทั้ง 2 โรคจัดเป็นเซลล์แบบเดียวกัน ลักษณะอาการของคนไข้จึงอาจมีได้ 2 รูปแบบ คือ เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น แล้วตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกในต่อมน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองโต เมื่อตัดออกมาแล้วเป็นเนื้องอกต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบบเรื้อรัง ชนิดบีเซลล์ (CLL)
- พบเม็ดเลือดขาวชนิด “บีเซลล์ ลิมโฟไซต์” สูงขึ้นในเลือด
- ส่วนมากตรวจพบจากการตรวจเลือด
- อาจจะมีหรือไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต หรือม้ามโต
ทั้งนี้การที่ตรวจพบเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น หรือเม็ดเลือดขาวกินเม็ดเลือดแดง อาจเป็นสาเหตุการเกิดโรคได้หลายแบบ ไม่จำกัดเฉพาะการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเท่านั้น
อาการของผู้ป่วย
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซีด โลหิตจาง
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน
- ติดเชื้อบ่อยขึ้น เนื่องจากโดยปกติเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์มีหน้าที่ป้องกันเชื้อโรค ภูมิคุ้มกันจึงลดลง
มีจุดเลือดหรือก้อน
- มีจุดเลือดออกตามตัว มีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด
- มีก้อนตามตัว ท้องโต ตับ ม้ามโต
ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการอาจเกิดจากการตรวจพบโดยบังเอิญ
การวินิจฉัย
เจาะเลือด และ/หรือเจาะไขกระดูกเพื่อตรวจเพิ่มเติมในแง่ลึก โดยเป็นการตรวจเฉพาะเพื่อดูว่าเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ประมาณ 1 สัปดาห์จะทราบผล
หลังจากได้รับการวินิจฉัย :
- ตรวจเลือด และ/หรือเอกซเรย์ เพื่อกำหนดว่าผู้ป่วยเป็นระยะใด อาจทำ CT Scan หรือ PET/CT
- ดูข้อบ่งชี้ในการรักษา และดูความพร้อมในการรักษาและเลือกวิธีการรักษา
- ตรวจการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพื่อช่วยในการบอกการพยากรณ์โรคและเลือกวิธีการรักษา
น่าเป็นห่วงแค่ไหน
อัตราการรอดของผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้จัดว่าค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นมะเร็งที่เติบโตช้า โดยยิ่งอายุน้อยยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่า ผู้ที่อายุน้อยกว่า 60 มีอัตราการรอดอยู่ที่ 95% ผู้ที่อายุมากกว่า 80 มีอัตราการรอด 65%
การแบ่งระยะโรค
มี 3 ระยะ โดยดูจาก
- ค่าความเข้มข้นเลือด ค่าเกล็ดเลือด
- ขนาด และจำนวนต่อมน้ำเหลือง
- ตับ ม้าม
การแบ่งการพยากรณ์โรค
- แบ่งกลุ่มตามผลการตรวจเลือด ตรวจพันธุกรรม และตรวจทางโมเลกุล
- แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตั้งแต่ดีมากไปแย่มาก
โดยส่วนใหญ่หากผู้ป่วยยังไม่ถึงจุดที่ต้องรักษาก็ยังไม่จำเป็นต้องทำการพยากรณ์โรค หากต้องรับการรักษาจึงจะทำเพื่อกำหนดระดับการรักษา และระบุตัวเลือกของยาที่ต้องใช้ตามความเหมาะสม
การรักษา
ขึ้นกับข้อบ่งชี้ของการรักษา โดยพิจารณาจาก
- อัตราเร็วของการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หากเร็วก็ต้องรีบรักษา
- อาการของผู้ป่วย หากคุณภาพชีวิตโดยรวมยังดีอยู่ก็อาจยังไม่ทำการรักษา
- ความกังวลใจของผู้ป่วย
สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา จะแนะนำให้ “สังเกตอาการ” ว่ามีความผิดปกติอะไร กระทบอย่างไรกับการดำเนินชีวิต
วิธีการรักษาในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้
รักษาด้วยยาพุ่งเป้าชนิดรับประทาน
- ผลการรักษาดี ผลข้างเคียงน้อย
- ราคาสูง ต้องรับประทานยาไปเรื่อยๆ ถ้ายังตอบสนองต่อการรักษา
การใช้ยาพุ่งเป้ามีความมุ่งหมายไปที่การควบคุมโรค ไม่ใช่ทำให้โรคหายไป จึงต้องรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีโอกาสหยุดยาได้ค่อนข้างน้อย - ร้อยละ 80 – 90 มีผลตอบสนองต่อการรักษา
รักษาด้วยยาพุ่งเป้าชนิดฉีด ร่วมกับยาเคมีบำบัด
- ผลการรักษาปานกลางถึงดี
- ผลข้างเคียงสูงกว่ายาพุ่งเป้าชนิดรับประทาน
- สามารถหยุดยาได้ แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
- ให้เซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วย โดยใช้เซลล์ของญาติที่มีพันธุกรรมที่เข้ากันเป็นหลัก
- ใช้ในกรณีที่การรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล
- มีโอกาสหายขาดสูง แต่ผลข้างเคียงสูง ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยสูงอายุ
ทำความเข้าใจมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มเติมได้ที่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง
จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน รู้จัก รับมือ รักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (CCL)
โดย รศ.นพ. เอกพันธ์ ครุพงศ์
รศ.พอ.นพ. วิเชียร มงคลศรีตระกูล
พร้อมด้วยผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และผู้ป่วยมะเร็ง CLL