ขอเชิญบริจาคเลือด ตอนนี้ขาดแคลนทุกหมู่เลือด
มาทำความรู้จักเลือดกัน
คำว่า “โลหิต” อาจฟังดูน่าหวาดเสียวและน่ากลัวสำหรับคนบางคน แต่สำหรับโรงพยาบาลแล้ว โลหิตเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งการรักษาหลายๆ อย่างในปัจจุบันนี้ จะไม่สามารถทำได้หากไม่มีโลหิต
“โลหิต” หรือ “เลือด” มีความสำคัญอย่างไร
ในร่างกายคนเรามีเลือดไหลเวียนอยู่ในตัว เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงอาหาร น้ำ ออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำสารพิษ ของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่างๆ เพื่อนำไปกำจัดออกจากร่างกายเพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ในเลือดมีทั้งของเหลว(ส่วนน้ำ) และเซลล์ชนิดต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ต่างกัน กล่าวคือ
“เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่นำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนเม็ดเลือดขาวก็เหมือนทหารทำหน้าที่ป้องกัน…ต่อสู้เชื้อโรค ส่วนเกล็ดเลือดก็มีหน้าที่ทำให้เลือดหยุด”
“เม็ดเลือดแดง” ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เนื้อเยื่อออกไปขับถ่าย เม็ดเลือดแดงมีปริมาณประมาณร้อยละ 40 – 45 ของปริมาณเลือดทั้งหมด และมีอายุเพียง 120 วัน
“เม็ดเลือดขาว” ทำหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันเหมือนทหารปกป้องเชื้อโรคในร่างกาย มีปริมาณ 1% ของเลือด
“เกล็ดเลือด” ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาดเล็ก มีอยู่ประมาณ 5% ของเลือด
“พลาสมา” เป็นสารน้ำสีเหลือง มีโปรตีน เกลือแร่ ไขมัน ฮอร์โมน ไวตามิน มีปริมาณร้อยละ 55 ของเลือด
คุณสมบัติของเม็ดเลือด
เม็ดเลือดมี 3 ชนิด เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด มีคุณสมบัติอยู่สองอย่างคือ
- เป็นเม็ดเลือดตัวที่โตแล้ว ทำหน้าที่ได้
- เม็ดเลือดทั้ง 3 ชนิดที่ว่านี้ต้องมีจำนวนพอเหมาะพอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป ซึ่งมีแหล่งที่สร้างเรียกว่าไขกระดูกอยู่ในโพรงกระดูก ส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่ก็อยู่ในกระดูกแบน ๆ เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะ กระดูกสันหน้าอก กระดูกสะโพก
สเต็มเซลล์
การสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูกก็เริ่มต้นจากเซลล์ตัวแรกที่เรียกว่า “สเต็มเซลล์” หรือ “เซลล์ต้นกำเนิด” แล้วก็เจริญตัวถัดไปแยกเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด หลังจากนั้นจะมีการแบ่งตัวอีก 4 – 5 ขั้นตอน จนกระทั่งได้เป็นตัวหนุ่มสาวถึงจะปล่อยไปในเลือด ความต่างก็คือว่า เม็ดเลือดที่อยู่ในไขกระดูกยังเป็นเม็ดเลือดที่ทำหน้าที่ไม่ได้ พอโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ทำหน้าที่ได้ก็ปล่อยออกไปในเลือด
หมู่โลหิตระบบ ABO
โลหิตที่อยู่ในคนไทยเรา แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทคือ
- หมู่โอ (O) พบได้ร้อยละ 38
- หมู่เอ (A) พบได้ร้อยละ 21
- หมู่บี (B) พบได้ร้อยละ 34
- หมู่เอบี (AB) พบได้ร้อยละ 7
หมู่โลหิตระบบ Rh (อาร์เอ็ช)
นอกจากนี้ในหมู่เลือดที่กล่าวถึงเบื้องต้นแล้วยังมีหมู่โลหิตระบบอาร์เอ็ช(Rh) โดยจำนวนประชากร 1,000 คน จะมีหมู่โลหิตอาร์เอ็ชลบ (Rh-) 3 คน หรือคิดเป็น 0.3% เท่านั้น ซึ่งจัดเป็นหมู่โลหิตที่หายากหรือหมู่โลหิตพิเศษ เราพบว่าหมู่โลหิตโอเป็นหมู่โลหิตที่หาง่าย เมื่อเทียบกับหมู่โลหิตประเภทอื่นที่บริจาคกันเข้ามา สำหรับผู้ที่ไม่เคยบริจาคโลหิตมาก่อน แต่อยากช่วยเพื่อมนุษย์ด้วยกัน ไม่ยากเลยค่ะ
คุณสมบัติของผู้บริจาคเลือด
- เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ณ วันที่ บริจาค น้ำหนัก 48 กิโลกรัม
- อยู่ในระหว่างอายุ 18 ปีบริบูรณ์ จนถึงอายุ 60 ปี
- ทั้งนี้หากผู้บริจาคโลหิตอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองตามกฏหมาย
- ไม่เจาะผิวหนัง สัก ลบรอยสัก ในระยะเวลา 1 ปี
- ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ, ยาป้องกันเลือดแข็งตัว, ยาเพิ่มการเจริญเติบโต (Growth Hormone), ยารักษาสิว Isotretinoin, ยารักษาต่อมลูกหมาก, ยาปลูกผม (Finasteride)
- ไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด ไม่มีบาดแผลสดหรือแผลติดเชื้อใดๆ ตามร่างกาย
- ไม่มีประวัติโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี
- ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
- ไม่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ
- ไม่เดินทางมาจากพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วง 2สัปดาห์ที่ผ่านมา
- ไม่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัย หรือติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วง 2สัปดาห์ที่ผ่านมา
- หากท่านได้รับวัคซีนโควิด- 19 ให้เว้น 1สัปดาห์
- หากมีอาการข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนโควิด- 19 เมื่อหายดีแล้วให้เว้น 14 วัน
เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคเลือด
- ก่อนบริจาคเลือด 1-2 วัน ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนได้ดี
- งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากก่อนบริจาคเลือด 1 วัน
- รับประทานอาหารก่อนบริจาคเลือดภายใน 4 ชั่วโมง
- นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป
แต่ละครั้งโรงพยาบาลต้องการเลือดประมาณ 420 – 450 ซีซี/คน โดยปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเลือดที่ปลอดภัย เลือดที่ได้จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบก่อนนำไปให้ผู้ป่วย คือ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และตรวตหาไวรัสเอดส์
การปฏิบัติตัวหลังบริจาคเลือด
- หลังการบริจาคเลือดเสร็จแล้ว ควรนั่งพักประมาณ 10-15 นาที รับประทานขนมหรืออาหารว่าง ดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม 1-2 แก้ว แล้วรับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ตับ ไข่ เลือดหมู เลือดไก่ ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง
- งดสูบบุหรี่ 1 ชั่วโมง หลังบริจาคเลือด
- งดดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าท่านจะได้รับประทานอาหาร
- ดื่มน้ำมากกว่าปกติเป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อทดแทนปริมาณเลือดที่ท่านเสียไป
บริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน
เห็นไหมคะว่า หากมีการเตรียมพร้อมก่อนมาบริจาคเลือดก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เมื่อคุณเป็นผู้หนึ่งที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ โดยท่านสามารถบริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน
มาร่วมบริจาคเลือดกับศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช
- บริจาคได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
- เวลา 08.30 – 16.00 น.
- ที่อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ชั้น 3
- ติดต่อสอบถาม โทร 02-414-0100 หรือ 02-414-0102
นัดหมายล่วงหน้า ผ่านแอปพลิเคชัน Siriraj Connect
เพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริจาคเลือดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ศูนย์รับบริจาคเลือดร่วมกับฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอเชิญชวนผู้บริจาคเลือดใช้บริการนัดหมายบริจาคเลือดล่วงหน้า
นัดหมายบริจาคเลือดล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน Siriraj Connect เพียง 4 ขั้นตอนง่ายๆ เมื่อนัดหมายเรียบร้อยสามารถนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลาที่ท่านทำการนัดหมายไว้ โดยไม่ต้องทำการกรอกเอกสารเพื่อประเมินความเสี่ยงซ้ำอีกครั้ง
ทั้งนี้ท่านสามารถดาวโหลดแอปพลิเคชัน Siriraj Connect ได้ทั้งระบบ andriod และ ios หรือสแกน Scan qr code เพื่อเข้าหน้า web ลงทะเบียน
ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช https://www.facebook.com/Sirirajbloodbank/