มะเร็งปอด

“มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด” เป็นประโยคที่หมอมักจะบอกผู้ป่วยของหมอทุกคนในวันที่เราพบกันครั้งแรก และผู้ป่วยที่เพิ่งทราบว่ามีเซลล์มะเร็งปอดอยู่ในร่างกาย ทําไมหมอถึงได้บอกแบบนี้กับผู้ป่วย ส่วนหนึ่งเพื่อให้กําลังใจกับผู้ป่วย อีกส่วนหนึ่ง คือ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ต้องบอกว่ามีวิวัฒนาการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น และระยะแพร่กระจาย ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นผู้อ่านจะเข้าใจมากขึ้น รวมไปถึงการดูแลตนเองในระหว่างการรักษา ทั้งในแง่มุมของผู้รักษาและผู้ป่วย

เริ่มรู้จักกัน

มะเร็งปอดมีต้นกำเนิดจากเซลล์เยื่อบุหลอดลมปอดได้รับการระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน จึงเรียกชื่อตามต้นกำเนิดของมะเร็งได้อีกชื่อหนึ่งว่า Bronchogenic Carcinoma (Broncho แปลว่า หลอดลม Carcinoma แปลว่า มะเร็ง) ซึ่งอาจเกิดในบริเวณหลอดลมใหญ่ใกล้ขั้วปอด หรืออาจเกิดในหลอดลมแขนงเล็กๆ ส่วนปลายที่ไกลออกไปจากขั้วปอดก็ได้

หากตรวจพบมะเร็งปิดตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะช่วยให้มีผลการรักษาที่ดี และด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น ทำให้การรักษามะเร็งปอดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมกับผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

โดยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอแบบมีเสมหะปนเลือด เหนื่อย หายใจไม่สะดวก นํ้าหนักลดมากในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนอาจจะมาด้วยอาการทางระบบประสาท ถ้าเซลล์มะเร็งปอดแพร่กระจายไปอยู่ที่สมองหรือไขกระดูกสันหลัง เช่น อาการแขนขาอ่อนแรง ชา กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้หรือบางคนมีอาการปวดกระดูกมาก ถ้าเซลล์มะเร็งปอดนั้นแพร่กระจายไปอยู่ที่กระดูก เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงและการปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลจากมะเร็งปอด

  1. บุหรี่ ร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมีสาเหตุจากบุหรี่
    • เนื่องจากการสูบบุหรี่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลม ทำให้กลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้
    • ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อโรงมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบมากกว่า 10 เท่า ส่วนผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่จำเป็นต้องสูดควันบุหรี่จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือในบริเวณอับที่มีควันบุหรี่อยู่ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
    • หากผู้ที่สูบบุหรี่จัดหยุดสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดลดลงเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลา 10 ปี จะลดลงได้เท่าคนที่ไม่สูบบุหรี่
    • เนื่องจากในบุหรี่มีสารพิษนิโคติน  ทาร์  และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ
  2. สารพิษ และมลภาวะ อยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะมาก เช่น
    • สารแอสเบสตอสหรือแร่ใยหิน (Asbestos) ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ ฉนวนกันความร้อน การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค คลัช และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งปอดได้มากขึ้นถึง 5 เท่า และอาจเกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ร่วมด้วย จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 90 เท่า
    • ฝุ่น รวมถึง PM2.5 ซึ่งหมายถึง ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และ PM1.0 ด้วย
    • NOx เป็นสารก่อมะเร็งที่ลอยอยู่ในอากาศ เกิดจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซลที่สกปรกแทบจะล้วนๆ เครื่องฟอกอากาศก็ไม่ช่วย
    • สัมผัสสารเคมีบางชนิดในระบบทางเดินหายใจ เช่น สารกัมมันตภาพรังสี แก๊สเรดอน (Radon) ถ่านหิน น้ํามันปิโตเลียม สารหนู นิกเกิล โครเมียม เป็นต้น
    • ลงชื่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทวงสิทธิ์ที่จะหายใจอากาศบริสุทธิ์ที่ https://thailandcan.org/ เพื่อลดโอกาสที่เราจะหายใจเอาฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 / PM1.0 และ NOx ได้
  3. โรคปอด ผู้ที่เคยมีรอยแผลเป็นของโรคที่ปอด เช่น เคยเป็นวัณโรค หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป
  4. รังสี การได้รับการฉายรังสีบริเวณปอด และรังสีเรดอน ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในใยหินกระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้
  5. ปัจจัยอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด เช่น อายุเพิ่มขึ้น การใช้ยาเสพติดบางประเภท เช่น โคเคน ภาวะขาดวิตามินเอ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกรรมพันธุ์กับการเกิดมะเร็งปอดยังไม่มีความชัดเจนนัก

ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อโรงมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบมากกว่า 10 เท่า ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำก็เพิ่มความเสี่ยง 

การหยุดสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดลงได้เรื่อยๆ แม้ว่าอาจใช้เวลา 10 ปี ถึงจะลดลงได้เท่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่เลิกเลยก็ลดความเสี่ยงได้เลยทั้งต่อตัวคุณเองและคนใกล้ตัว

ทำอย่างไรให้ห่างไกลมะเร็งปอด

  1. หยุดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง เช่น สถานที่ที่มีฝุ่นควันมาก หรือหากทำงานบริเวณเหมืองแร่ก็ใช้เครื่องมือป้องกันตนเอง และหลีกเลี่ยงฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปภายนอกอาคาร หากทำงานในเหมืองแร่ก็ใส่เครื่องมือป้องกันตนเองช่วย
  3. อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
  4. ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  5. ออกกำลังกาย
  6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

อากาศดี อาหารดี ออกกำลังกายดี ตรวจร่างกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

เข้าใจมะเร็งปอดเพิ่มเติม

Know More about Lung Cancer

คลิกที่แต่ละหัวข้อเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลย

ชนิด ระยะ และอาการ

มะเร็งปอดแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่ ชนิดเซลล์เล็ก และเซลล์ไม่เล็ก

ชนิดเซลล์ไม่เล็กจะรักษาง่ายกว่า ส่วนชนิดเซลล์ไม่เล็กจะแพร่กระจายได้รวดเร็ว

หากมีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ ควรรีบมาพบแพทย์

แนวทางตรวจวินิจฉัย

ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ตรวจสุขภาพทุกปี นอนหลับพักผ่อน อาหารดี ออกกำลังกาย

อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ หลีกเลี่ยงมลภาวะและสารเคมี บุหรี่ ฝุ่น สารเคมี รังสี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ห่างไกลจากมะเร็งปอด

แนวทางการรักษา

นอกจากการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด ยังมีการรักษาด้วยยามุ่งเป้าที่จัดการกับประเภทที่ยีนกลายพันธุ์ได้

และภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นการเสริมภูมิให้แข็งแรง เพื่อไปจัดการกับเซลล์มะเร็ง

ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาตามชนิด ระยะ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมที่สุด

มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้

ผู้ป่วย ผู้ดูแล และสมาชิกในครอบครัว จะต้องตั้งสติ ทำใจยอมรับความเป็นจริงให้ได้ มีกำลังใจ และมีความรักที่จะทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน

เข้าใจความเปลี่ยนแปลง • หยุดนิ่งพัก • ออกแรงออกกำลังกาย • ใส่ใจคุณค่าอาหาร • เบิกบานต้านซึมเศร้า • ปลุกเร้ามิตรภาพ

โรคมะเร็งปอดมี 2 ชนิด

มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer)

โรคมักจะลุกลามและกระจายออกนอกเนื้อปอดได้อย่างรวดเร็ว มะเร็งชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 10 – 25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด ส่วนใหญ่พบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด มักมีการดำเนินโรคเร็ว เนื่องจากเป็นชนิดที่แพร่กระจายเร็ว มะเร็งชนิดนี้อาจสร้างสารเคมีบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) ในร่างกาย มะเร็งปอดชนิดนี้มักตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดีทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจากการรักษา แต่โอกาสหายขาดยังเป็นไปได้น้อย ไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัดเนื่องจากโรคมีการลุกลามค่อนข้างมากเมื่อเริ่มตรวจพบ

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer)

มะเร็งชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 75 – 90 ของมะเร็งปอดทั้งหมดมักมีการดำเนินโรคที่ช้ากว่า มีโอกาสตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก หากพบในระยะแรกขั้นตอนของการรักษาหลัก คือ การผ่าตัดเอาก้อนและต่อมน้ำเหลืองออก บางรายอาจให้การรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ใช้รังสีรักษา หรือการรักษาเสริมอื่นๆ ผลการรักษาดีกว่าชนิดเซลล์เล็ก มีโอกาสหายขาดได้

ในกลุ่มนี้ยังมีแยกย่อยออกเป็นชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น squamous cell carcinoma, adenocarcinoma และอื่นๆ กลุ่มที่เป็น adenocarcinoma นั้น ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้น และมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก

ในสมัยก่อนนั้นการวินิจฉัยมะเร็งปอดทํา ได้ยาก แต่พอเข้าสู่ยุคที่มีการทําสแกนคอมพิวเตอร์(CT scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และล่าสุดการสแกนด้วย PET scan รวมถึงเทคนิคต่างๆ ของการส่องกล้องทางหลอดลม และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อให้ได้มาซึ่งการวินิจฉัยเซลล์มะเร็งปอดนั้นให้ทันสมัยขึ้น ทํา ให้เราสามารถวินิจฉัยได้รวดเร็วเมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติซึ่งอาการต่างๆ เหล่านั้นแล้วแต่ว่าตัวเซลล์มะเร็งปอดนั้นอยู่ที่ตําแหน่งไหนในร่างกายเรา

อยากรู้เกี่ยวกับมะเร็งปอดเพิ่มเติม
อ่านที่เอกสารข้างล่างนี้ได้เลย

ในเอกสารมีเนื้อหาดังนี้

  1. อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดในปัจจุบันทั่วโลก
    • การแบ่งประเภทของเซลล์มะเร็ง และสัดส่วนผู้ป่วย
  2. อาการและพัฒนาการของโรค ส่งเสริมการพูดคุยเพื่อวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์
  3. การตรวจวินิจฉัยในปัจจุบัน
  4. การตรวจยีนกลายพันธุ์
  5. ยาและแนวทางการรักษาปัจจุบัน
  6. การดูแลตัวเองและโภชนาการของผู้ป่วยระหว่าง และหลังการรักษา
  7. แนวทางสร้างคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

  1. หนังสือ จริงหรือไม่ มะเร็งปอดไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด ยุค 2020
    เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. มะเร็งปอด ทุกระยะดูแลได้, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/621/Lungcancer
  3. โรคมะเร็งปอด, https://www.roche.co.th/th/disease-areas/lung-cancer.html
  4. มะเร็ง สาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทยมากว่า 20 ปี, https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/115649
  5. คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบันเสนอนโยบายสู้มะเร็งที่ถูกต้องลดการเสียชีวิต, https://www.posttoday.com/pr/597295
  6. อัตราการตายโรคมะเร็งปอด, https://www.hiso.or.th/hiso/visualize/Index.php?links=v235
  7. 5 วิธีการรักษามะเร็ง, http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/231
  8. การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด https://www.chulacancer.net/patient-list-page.php?id=40
  9. วันงดสูบบุหรี่โลก จะสูดหรือดูดก็เสี่ยงมะเร็งปอด https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=968
  10. มะเร็งปอด, สถานวิทยามะเร็งศิริราช https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/cancer/knowledgedetail.php?sub=lung
  11. Heim D et al. Int J Cancer 2014; 135: 2362–2369
  12. Baumgart M et al. Am J Hematol Oncol 2015: 11: 10–13
  13. Schwaederle M, Kurzrock R. Oncoscience 2015; 2: 779–780. 

ฟังคุณหมอเล่าเรื่องมะเร็งปอด

มะเร็งปอดรักษาหายได้จริงหรือ ?

โดยหมอซัง พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์

มะเร็งปอด ฉันจะมีชีวิตที่ดี | ต.ค. 58
ค้นหามะเร็งปอดระยะแรก

เพื่อนร่วมทาง..มะเร็งปอด

Lung Cancer Community

LungAndMe

Lung And Me

เว็บที่รวบรวมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งปอดไว้อย่างครบครัน ทั้งการกิน ออกกำลังกาย การฝึกสติ อยู่ร่วมกับมะเร็งปอด การรักษา ช่วงโควิดควรทำอย่างไร รวมถึงประสบการณ์จากผู้ป่วยและแพทย์

Website and Community

สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง

สู้สิแม่ ก็แค่มะเร็ง

บอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4

ในฐานะหมอ อยากให้แม่หาย
ในฐานะผู้ดูแล อยากให้แม่สบายดี
ในฐานะลูก อยากให้แม่อยู่กับเรานานๆ
จึงทำทุกสิ่งที่สมองและหัวใจบอกให้ทำ
เพื่อวันข้างหน้าจะไม่มีคำว่า”เสียใจ”

โดย แพทย์หญิงประกายทิพ สุศิลปรัตน์ (หมอบัว)

Facebook page

เพจ อยู่อย่างไรให้มีความสุขกับมะเร็งระยะสุดท้าย

อยู่อย่างไรให้มีความสุขกับมะเร็งระยะสุดท้าย

มาดูพี่ท่านนี้กัน เขาออกไปทำอะไรสนุกๆบ้าง

Facebook page

-+=