แนวทางการรักษามะเร็งปอด และผลข้างเคียง

แนวทางการรักษามะเร็งปอด

การรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกนั้น การรักษาหลัก คือ การผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดก็ก้าวหน้าไปมากกว่าในอดีตมาก ส่วนการรักษามะเร็งปอดระยะลุกลามนั้น ในอดีตที่ผ่านมาการรักษาหลัก คือ การให้ยาเคมีบำบัดฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำเหมือนเวลาให้นํ้าเกลือ ซึ่งในอดีตนั้นมียาเคมีบำบัดอยู่แค่ไม่กี่ชนิดที่เราสามารถใช้ได้ในการรักษามะเร็งปอดและผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง และมีการติดเชื้อง่าย เนื่องจากยาเคมีบำบัดนั้นไปกดการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูกในร่างกายอย่างที่เราทราบกันโดยทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยบางคนกลัวการให้ยาเคมีบำบัดมาก แต่อย่างที่หมอได้กล่าวข้างต้น “มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด”

ปัจจุบันได้มียาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายชนิด ซึ่งผลข้างเคียงในการรักษาน้อยกว่ายาเคมีบำบัดในกลุ่มเก่ามาก แต่อย่างไรก็ตามยาเคมีบำบัดในกลุ่มเก่าบางชนิดก็ยังคงต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วย และในปัจจุบันก็มีการพัฒนายากลุ่มใหม่ๆ ที่ได้ผลดีมากในการรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดจากยาเคมีบำบัดตามมา เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน หรือยาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่หมอจะขอยืนยันอีกหนึ่งอย่าง คือ “ยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด” จริงๆ

ยามุ่งเป้า : Targeted Therapy

ในปัจจุบัน อย่างที่หมอได้เกริ่นในข้างต้น คือ มียาต้านมะเร็งกลุ่มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ที่ใช้ได้ผลดีในมะเร็งกลุ่มที่เป็น Adenocarcinoma โดยการรักษาแบบนี้ทางการแพทย์จะเรียกว่า “การรักษาแบบตรงจุด หรือแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy)”

เป้าหรือจุดคืออะไร

ต้องขออธิบายว่า ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์และหมอมะเร็ง ได้ค้นพบว่าการเกิดมะเร็งปอดนั้นเกิดจากหลายปัจจัย และหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นในผู้ป่วยบางรายมีลักษณะทางพันธุกรรม หรือยีนในร่างกายที่เกิดการกลายพันธุ์ไป ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว ยีนที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดนั้นขณะนี้มีอยู่ 5 ชนิด ที่มียาต้านเฉพาะจุดใช้ในการรักษา คือ การกลายพันธุ์ของ Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) ซึ่งในคนผิวขาวพบได้ 10-20% 

แต่ในคนเอเซียและคนไทยพบได้ถึง 50-60% โดยพบมากในคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่มานานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ความผิดปกติของยีนอีกชนิดหนึ่ง คือ การสลับที่ของยีน ALK พบได้ประมาณ 5-10% และยังมียีนที่ผิดปกติชนิดอื่นๆ อีก 3 ชนิด คือ มีการสลับที่ของยีน ROS และ NTRK และมีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF แต่ความผิดปกติของยีน 3 ชนิดหลังนี้พบได้น้อยกว่าชนิดละ 4% เท่านั้น และเช่นกันส่วนมากพบในผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่

ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่สูบบุหรี่มักจะไม่พบความผิดปกติของยีนทั้ง 5 ชนิดนี้ ทำให้ไม่สามารถใช้ยาต้านเฉพาะจุดได้

ปัจจุบันเราสามารถตรวจความผิดปกติของยีนทั้ง 5 ชนิดนี้ได้จากชิ้นเนื้อมะเร็งปอดที่เราทำผ่าตัด หรือเจาะออกมาตรวจได้ ในประเทศไทยมียาต้านเฉพาะจุดสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่มียีนผิดปกติทุกชนิด ยกเว้นยีน NTRK ซึ่งยาต้านเฉพาะจุดสำหรับยีนผิดปกติชนิดนี้ยังไม่มีในประเทศไทย ยาต้านเฉพาะจุดหรือยามุ่งเป้าสำหรับยีนผิดปกติเหล่านี้เป็นยารับประทาน 

ซึ่งผลการตอบสนองต่อยาต้านมะเร็งทุกกลุ่มนี้ดีมากถึง 60-70% และทำให้ระยะเวลาการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับการใช้ยาเคมีบำบัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของยานั้นก็จะต่างจากยาเคมีบำบัดที่ให้ทางเส้นเลือดดำ คือ ยาในกลุ่มนี้อาจจะทำให้เกิดผื่นผิวแห้ง สิว ท้องเสีย การเจริญอาหารลดลง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหาร หรือระบบอื่นๆ เกิดขึ้นได้ แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถรับประทานยา และสามารถที่จะทนต่อผลข้างเคียงจากยาต้านเฉพาะจุดได้ดี ผู้ป่วยบางรายมีการตอบสนองต่อยาดี กล่าวคือ ยาสามารถคุมมะเร็งปอดได้นานหลายปี แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายเกิดการดื้อยากลุ่มนี้ได้เมื่อใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการดื้อยาเกิดขึ้นก็สามารถที่จะเปลี่ยนมาใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ 

ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่จัดเป็นยามุ่งเป้าเหมือนกัน ช่วยยับยั้งการสร้างเส้นเลือดและทำให้หลอดเลือดที่เสียไปดีขึ้น ทำให้นำยาเคมีบำบัดเข้าสู่ก้อนมะเร็งได้ดีขึ้น ซึ่งยากลุ่มนี้เป็นยาฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำและจะใช้ร่วมกันกับยาเคมีบำบัดและ/หรือยากระตุ้นภูมิต้านทานที่จะกล่าวถึงถัดไปได้ ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ทำให้มีความดันโลหิตสูงขึ้น มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก และภาวะหลอดเลือดอุดตันได้

การผ่าตัด ในมะเร็งปอด

มีบทบาทสําคัญในกระบวนการรักษาโรคมะเร็งปอด ทั้งในด้านการให้การวินิจฉัย การรักษา และการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็ง

การวินิจฉัย

เมื่อผู้ตรวจพบความผิดปกติของภาพถ่ายรังสีที่สงสัยว่าอาจเกิดจากมะเร็ง ขั้นตอนต่อไปคือ ต้องได้รับการพิสูจน์ชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันคำวินิจฉัย โดยอาจกระทำได้ด้วยการใช้เข็มเจาะตรวจชิ้นเนื้อจากผนังทรวงอก หรือการส่องกล้องทางเดินหายใจ เพื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ ในกรณีที่หัตถการทั้งสองอย่างนั้นทำไม่ได้ เช่น ก้อนเนื้องอกอยู่ลึก อยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยง อันตราย หรือทำไปแล้วแต่ไม่สามารถให้การวิจฉัยได้ เพราะชิ้นเนื้อที่ตัดออกมามีขนาดเล็กเกินไป การผ่าตัดทรวงอกเพื่อการวินิจฉัยสามารถทำได้ โดยมีแผลผ่าตัดแผลเล็กๆ บนทรวงอก ตัดเนื้อปอดพร้อมทั้งก้อนเนื้องอกออกมาเป็นรูปลิ่ม วิธีนี้สามารถให้คำวินิจฉัยได้ถูกต้อง แม่นยำ เพราะได้ชิ้นเนื้อขนาดใหญ่

การรักษา

ในโรคมะเร็งปอดระยะที่ 1, 2 และในบางกรณีของระยะที่ 3 นั้น การผ่าตัดปอดกลีบที่มีมะเร็งออกทั้งกลีบ รวมทั้งการตัดต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอก สามารถช่วยให้มีผลการรักษาที่ดีขึ้น อัตราการรอดชีวิตยาวนานขึ้น

การแก้ไขภาวะแทรกซ้อน

โรคมะเร็งปอดนั้นอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเกิดขึ้นได้ เช่น การไอเป็นเลือดรุนแรง การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ฝีในปอด ปอดแตก หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

ชนิดของการผ่าตัด

ตัดปอดแบบลิ่ม (wedge resection) เป็นการตัดเนื้องอกพร้อมกับเนื้อปอดข้างเคียงออกเป็นรูปลิ่ม

  • ตัดปอดทั้งกลีบ (lobectomy) เป็นการตัดปอดที่มีเนื้องอกออกทั้งกลีบ
  • ตัดปอดทั้งข้าง (pneumonectomy) เป็นการผ่าตัดปอดออกทั้งข้าง

ชนิดของแผลผ่าตัด

แผลผ่าตัดแบบมาตรฐาน (standard thoracotomy) แผลผ่าตัดยาวประมาณ 20-25 ซม. บริเวณด้านหลังใต้กระดูกสะบัก
ยาวไปตามช่องซี่โครงอ้อมไปด้านหน้าใต้ราวนม เป็นแผลมาตรฐานที่สามารถผ่าตัดปอดได้ทุกชนิด ใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ กดเบียดอวัยวะข้างเคียงที่สําคัญ หรือมีพังผืดในช่องปอดมากๆ

ผ่าตัดปอดแผลเล็ก โดยใช้กล้องวิดิทัศน์ช่วยผ่าตัด (Video-assisted thoracoscopic surgery; VATS) แผลผ่าตัดขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3-10 ซม. และมีรูเล็กๆ ขนาด 1 ซม. อีก 1-3 รู เพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์ช่วยผ่าตัด เลือกใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกขนาดไม่ใหญ่มาก และไม่กดเบียดอวัยวะข้างเคียง ช่วยให้ปวดแผลน้อยลง ผู้ป่วยฟื้นตัวไวขึ้น หลีกเลี่ยงแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ และผลการรักษามะเร็งไม่ต่างจากแผลมาตรฐาน

รังสีรักษา ในมะเร็งปอด

เรียบเรียงและเขียนโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธิติ สว่างศิลป์
หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

รังสีรักษา (ฉายรังสี, ฉายแสง)

เป็นการนํารังสีพลังงานสูงมาใช้ในการรักษามะเร็ง ซึ่งอาจทำลาย หรือยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง

กรณีของมะเร็งปอด

รังสีรักษาสามารถใช้สำหรับโรคระยะแรกที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดสำหรับโรคระยะลุกลามเฉพาะที่ หรือเป็นการรักษาเสริมเพื่อเพิ่มผลการควบคุมโรคร่วมกับวิธีรักษาอื่นๆ หรือใช้รักษาบรรเทาอาการสำหรับโรคในระยะลุกลาม หรือแพร่กระจาย

เทคนิคทางรังสีรักษาในปัจจุบัน

มีการพัฒนาเป็นรูปแบบของการฉายรังสีแบบ 3 มิติซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการวางแผนรักษา เพื่อให้ทิศทางและปริมาณรังสีมีความเหมาะสมถูกต้องที่ตำแหน่งโรคมะเร็ง และลดปริมาณรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติให้ได้มากที่สุดเพื่อลดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเข้าใจและร่วมมือในระหว่างการฉายรังสีดีอาจใช้รูปแบบการฉายรังสีแบบ 4 มิติเพื่อฉายรังสีตามรูปแบบการหายใจที่สม่ำสมอของผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษาเตรียมตัวอย่างไร

จะได้รับการบอกเล่าทำความเข้าใจถึงวิธีการรักษา ผลการรักษา ผลข้างเคียง การปฏิบัติตัว และดูแลตนเองตั้งแต่ก่อน ระหว่าง รวมถึงหลังการรักษาด้วยรังสีรักษาเสร็จสิ้น เพื่อให้ได้รับทราบข้อดีหรือข้อเสีย รวมถึงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรังสีรักษา โดยส่วนใหญ่จะให้บุคคลในครอบครัวได้ร่วมรับทราบข้อมูลไปพร้อมกัน เพื่อประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่

ขั้นตอนทั่วไปของผู้ป่วยที่มารับรังสีรักษา

  • นัดตรวจวางแผนด้วยคอมพิวเตอร์สแกน (CT scan) ก่อน
  • แล้ววางแผนการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ จึงจะนัดผู้ป่วยมาจําลองการฉายรังสี (Simulator) โดยใช้แผนการรักษาที่ได้จากคอมพิวเตอร์มาใช้กับตัวผู้ป่วยจริง
  • เริ่มขั้นตอนการฉายรังสีจริงในห้องฉายรังสี
    • ซึ่งการฉายรังสีแต่ละครั้งจะใช้เวลาไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเทคนิคและแผนทางรังสีที่ใช้
    • โดยทั่วไปอาจใช้เวลา 10-15 นาทีต่อครั้ง อาจไม่เกิน 30 นาทีละ 1 ครั้ง
    • ใช้เวลา 5 วันต่อสัปดาห์ โดยเวลาทั้งหมดมีได้ตั้งแต่ 4 ถึง 7 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับลักษณะโรคของผู้ป่วย
    • ส่วนกรณีการฉายรังสีด้วยเทคนิคพิเศษมากๆ เช่น เครื่อง CyberKnife® จะใช้เวลาต่างไป
    • สําหรับรอยโรคขนาดไม่ใหญ่มาก ระยะเวลาเตรียมการ และวางแผนการรักษาอาจใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ และการฉายรังสีแต่ละครั้งอาจใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง แต่ระยะเวลารักษาจะสั้นลงไม่เกิน 5 วัน

โดยทั่วไปอาจใช้เวลา 10-15 นาทีต่อครั้ง อาจไม่เกิน 30 นาที วันละ 1 ครั้ง ใช้เวลา 5 วันต่อสัปดาห์ โดยเวลาทั้งหมดมีได้ตั้งแต่ 4 ถึง 7 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับลักษณะโรคของผู้ป่วย

เทคนิคทางรังสีรักษาดังกล่าวมาแล้ว

มีความเหมาะสมกับสภาวะโรคและผู้ป่วยแตกต่างกันไป ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์สูงสุด

ผลข้างเคียง และการดูแลตนเองเมื่อได้รับรังสีรักษา

ระหว่างฉายรังสี

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการดูแล

  • ไม่ให้เกิดแผลบริเวณผิวหนังที่ฉายรังสี
  • รับประทานอาหารและนํ้าที่สุกสะอาด
  • ดื่มนํ้ามากๆ จะช่วยลดการอักเสบในบริเวณปาก ลำคอ ทรวงอก สามารถลดหรือชะลออาการเจ็บปาก คอ หรือไอได้
  • มีสอนและอบรมกลุ่มผู้ป่วยโดยพยาบาลเป็นระยะ
  • สามารถสอบถามแพทย์ผู้รักษาหรือพยาบาลได้ตลอดเวลาเมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัย

หลังฉายรังสีจบในช่วง 3-4 สัปดาห์แรก

ผู้ป่วยจะดูแลตนเองเสมือนช่วงฉายรังสี หลังจากนั้นผลข้างเคียงที่เหลืออยู่จะเป็นเนื้อเยื่อพังผืดบริเวณที่ฉายรังสี ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรบกวนชีวิตของผู้ป่วย ส่วนอวัยวะที่มีความสำคัญมากเช่น หัวใจ ไขสันหลัง การวางแผนทางรังสีรักษาจะจำกัดปริมาณรังสีให้อยู่ในระดับปลอดภัยและไม่เกิดอันตรายอยู่แล้ว

หลังการรักษาเสร็จสิ้น แพทย์ผู้รักษาจะยังนัดตรวจติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ ซึ่งสามารถดูแล ให้คำแนะนำ หรือแก้ไขผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยประสบอยู่ หรือมีข้อสงสัยได้

แม้วิทยาการทางการแพทย์จะช่วยรักษาโรคมะเร็งปอดได้   แต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคด้วยการหยุดสูบบุหรี่จะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคคลกลุ่มนี้จะสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ แต่อัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดยังสูงอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ในอดีต ซึ่งความเสี่ยงนี้จะลดลงเป็นปกติหลังหยุดสูบบุหรี่แล้ว 10 ปี ดังนั้นการรณรงค์ให้มีการตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ที่มีความผิดปกติทางการหายใจ เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอจนเป็นเลือด จะทำให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มได้ ซึ่งจะทำให้ผลการรักษาดีขึ้น

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงดีสามารถทนต่อการตัดปอดออกทั้งข้างได้ แต่ในรายที่สภาพร่างกายไม่แข็งแรง ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อประเมินความเสี่ยงในการผ่าตัดและคำนวนหาปริมาตรปอดที่สามารถตัดออกได้อย่างปลอดภัย

ผู้ป่วยควรได้รับการฝึกกายภาพบําบัด การฝึกไอ ฝึกหายใจ ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เพื่อช่วยให้การฟื้นตัวรวดเร็วยิ่งขึ้น

การผ่าตัดปอดโดยส่วนใหญ่เสียเลือดไม่มากนัก แต่ในบางรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ อาจจำเป็นต้องได้รับเลือด 1-2 ยูนิต ดังนั้นผู้ป่วยควรเตรียมญาติมาบริจาคโลหิตไว้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เพื่อใช้หากจําเป็น

การนอนโรงพยาบาล และการพักฟื้นหลังผ่าตัด

  • ผู้ป่วยต้องเข้านอนโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด 1 วัน เพื่อเตรียมตัว
  • งดอาหารและนํ้าดื่ม 8 ชม. ก่อนดมยาสลบ
  • การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 2-4 ชม.

หลังผ่าตัด

  • จะมีสายระบายทรวงอกเพื่อใช้ระบายนํ้า เลือด และลม ที่อาจมีรั่วซึมออกมาหลังผ่าตัดได้
  • พักฟื้นในโรงพยาบาลต่ออีก 2-5 วัน ก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
  • หลังจากพักฟื้นควรหลีกเลี่ยงการออกแรงหนัก 4-6 สัปดาห์
  • แล้วผู้ป่วยจะสามารถกลับมาทํากิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติดังเดิม

ผ่าตัดเจ็บหรือไม่ เสี่ยงแค่ไหน?

แผลผ่าตัดบริเวณทรวงอกนั้น ต้องขยับเขยื้อนระหว่างการหายใจตลอดเวลา ดังนั้น จึงเจ็บกว่าแผลผ่าตัดบริเวณ
อื่นๆ ของร่างกาย แต่หากสามารถเลือกใช้การผ่าตัดแผลเล็กได้ร่วมกับการใช้เครื่องบริหารยาระงับปวดด้วยตนเอง (PCA)
หรือการฉีดยาชาในช่องเยื่อหุ้มไขสันหลังชั้นนอก (Epidural block) ก็สามารถบรรเทาอาการปวดได้เป็นอย่างดีและช่วยให้
ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ความเสี่ยงในการผ่าตัด ต้องประเมินตามสภาพร่างกาย ขนาด และตํา แหน่งของเนื้องอก ปริมาตรของเนื้อปอดที่
เหลืออยู่หลังผ่าตัดของผู้ป่วยแต่ละคนเป็นรายๆ ไป โดยทั่วไปอัตราการตายต่ำกว่า 1 ใน 100

การผ่าตัดปอดเพื่อรักษามะเร็งนั้น ไม่ได้น่ากลัวหรืออันตรายอย่างที่หลายคนกังวล อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงใน
การรักษามะเร็งปอดระยะต้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับไปมีชีวิตที่ปกติดังเดิมได้อย่างรวดเร็ว

Read more

เรื่องมะเร็งปอดทั้งหมด

มาเข้าใจมะเร็งปอดมากขึ้น ว่าคืออะไร แบ่งชนิดอย่างไร อาการ ระยะโรค และแนวทางการรักษา มีทั้งภาพและคลิปจากคุณหมอ

-+=