มะเร็งปอด
ตรวจอย่างไรได้บ้าง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

เรียบเรียงและเขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวิชชนา จำรูญรัตน์
หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

การตรวจ CT Scan

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดนอกจากการทำ CT scan หรือการสแกนด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว ยังมีการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตรวจวินิจฉัยในผู้ป่วยบางราย ซึ่งทำได้โดยการนำสารเภสัชรังสีชนิดหนึ่งเข้าสู่ร่างกาย และถ่ายภาพสารนั้นๆ การตรวจที่ใช้บ่อยในโรคมะเร็งปอด ได้แก่

FDG PET/CT

สารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจนี้ คือ F-18 FDG (F-18 Fluoro Deoxy Glucose) หรือมักเรียกย่อๆ ว่า FDG (เอฟดีจี) เป็นสารแบบหนึ่งของนํ้าตาลกลูโคส เมื่อให้เข้าไปในร่างกายคนเรา โดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำจะสามารถติดตาม FDG ในร่างกายได้โดยเครื่องมือถ่ายภาพที่เรียกว่า PET (Positron Emission Tomography) ซึ่งปัจจุบันจะเป็นเครื่อง PET/CT มะเร็งปอดส่วนใหญ่ใช้ FDG สูง ดังนั้น เราจึงใช้สารนี้ในการตรวจวินิจฉัยการกระจายของโรค เพื่อประเมินระยะของตัวโรค ประเมินสภาวะของต่อมนํ้าเหลืองในช่องอกและสามารถที่จะใช้ช่วยในการตัดสินใจการรักษา ว่าสามารถที่จะผ่าตัดได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังใช้ในการประเมินการกลับเป็นซํ้า และประเมินผลการรักษาของมะเร็งปอดได้ดี

การสแกนกระดูก Bone scan

การสแกนกระดูกโดยใช้สารเภสัชรังสี ซึ่งสารที่นิยมใช้ในประเทศไทย คือ Tc-99m MDP (Tc-99m Methyl DiPhosphonate) หรือเรียกย่อๆ ว่า MDP (เอ็มดีพี) เมื่อให้เข้าไปในร่างกายของคนเรา โดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ จะไปจับที่กระดูก และสามารถติดตามสารนี้ในร่างกายได้โดยเครื่องมือถ่ายภาพที่เรียกว่า Gamma camera หรือ SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) ถ้ามีการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูก ก็มักจะเห็นสารนี้ในตำแหน่งนั้นๆ มากกว่าปกติ แม้ว่าการตรวจ FDG PET/CT สามารถเห็นรอยโรคที่กระดูกอยู่แล้ว แต่รอยโรคที่กระดูกบางชนิด อาจเห็นได้ดีกว่าใน Bone scan

การตรวจหายีนกลายพันธุ์ (Biomarker)

ข้อมูลจากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด เนื่องจากผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาจะสามารถยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็ง และสามารถแยกชนิดของมะเร็งได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดใด หรือเป็นมะเร็งของอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายที่ปอด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเลือกวิธีการรักษาจำเพาะต่อไป

ตรวจสุขภาพประจำปี เป็นประจำ

การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ ยังสามารถตรวจพบความผิดปกติในเบื้องต้น ได้จากการเอกซเรย์ปอด เช่น สามารถตรวจพบจุดหรือก้อนในปอดได้ หากพบว่าเริ่มมีก้อนหรือจุดในปอด สามารถตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมได้ ซึ่งหากพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถหายขาดได้ แต่หากปล่อยให้ก้อนหรือจุดในปอดโตขึ้น มะเร็งจะลุกลามยากต่อการรักษาและเป็นอันตรายถึงชีวิต

  1. การตรวจคัดกรองในผู้มีความเสี่ยง ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low – Dose Computerized Tomography : LDCT) ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดผู้ป่วยสูงอายุ โรคปอดเรื้อรังและมีญาติเป็นมะเร็งหลายคน ซึ่งช่วยในการตรวจพบจุดหรือก้อนมะเร็งปอดขนาดเล็กๆ ที่ไม่สามารถตรวจพบได้จากการเอกชเรย์ปอดแบบธรรมดา โดยผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนตรวจ
  2. การซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจพิเศษโดยแพทย์ มีหลายวิธีดังนี้
    • เอกซเรย์ปอด (X-Ray)
    • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
    • การตรวจด้วยเครื่องเพท/ซีทีสแกน (PET/CT Scan)
    • การส่องกล้องหลอดลมปอด (Bronchoscopy) และตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy)
    • การส่องกล้องในช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy)
    • การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อ (CT-Guided Biopsy) เป็นต้น
Read more

เรื่องมะเร็งปอดทั้งหมด

มาเข้าใจมะเร็งปอดมากขึ้น ว่าคืออะไร แบ่งชนิดอย่างไร อาการ ระยะโรค และแนวทางการรักษา มีทั้งภาพและคลิปจากคุณหมอ

-+=