ทำไมผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มักจะน้ำหนักลด

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มักจะน้ำหนักลด

มะเร็งไม่ใช่แค่เนื้อร้ายทำลายเซลล์ แต่ยังส่งผลต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย
หนึ่งในอาการข้างเคียงที่พบบ่อยของโรคมะเร็ง คือ “น้ำหนักตัวลดลง”

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักตัวลดลง ?
การกินมีผลกับการรักษาอย่างไร ?
วันนี้ #ลำไส้ศาสตร์ สรุปมีคำตอบมาให้ค่ะ

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มักจะน้ำหนักลด

สาเหตุที่ผู้ป่วยมะเร็งน้ำหนักลด

  1. ระบบเผาผลาญผิดปกติ
    เซลล์มะเร็งทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ทำให้ระบบเผาผลาญ (Metabolism) ทำงานผิดปกติ
    โดยกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญอาหารเร็วขึ้น ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารมากกว่าเดิม
  2. สูญเสียโปรตีน
    ผู้ป่วยมะเร็งจะมีการเผาผลาญโปรตีนผิดปกติ มีอัตราการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้เกิดการสลายโปรตีนสะสมจากกล้ามเนื้อ มวลกล้ามเนื้อจึงลดลง
  3. มีภาวะเบื่ออาหาร
    อาการเบื่ออาหารเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากสมองหลั่งสารที่ทำให้ไม่อยากอาหาร การรับรสผิดปกติ หรือเป็นผลจากความเครียด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อร่างกายต้องการอาหารมากขึ้น แต่ผู้ป่วยกินได้น้อยลงจนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารได้

ทำไมผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มักจะน้ำหนักลด

โภชนาการ กับโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากมี “ภาวะขาดสารอาหาร” สาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ความเครียด ภาวะเบื่ออาหาร หรือผลข้างเคียงจากการรักษา

ภาวะขาดสารอาหารส่งผลกระทบต่อการตอบสนองต่อการรักษา ขณะเดียวกันพบว่าในระหว่างที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ถ้าผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดี

มาดูกันค่ะว่า โภชนาการมีผลต่อโรคมะเร็งอย่างไรบ้าง ?

ผลจากภาวะขาดสารอาหาร

  • ซูบผิดปกติ ผิวหนังบาง ผมร่วง
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีกำลังกล้ามเนื้อ
  • ภูมิต้านทานลดลง ติดเชื้อง่าย
  • ไม่สามารถทนต่อการรักษาได้
  • อัตราการรอดชีวิตลดลง

ผลจากโภชนาการดี

  • ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ฟื้นตัวเร็ว
  • ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดี
  • เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดระยะติดเชื้อ
  • รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือฉายรังสีได้
  • ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรค
ทำไมผู้ป่วยมะเร็งลำไส้มักจะน้ำหนักลด

ทำอย่างไรหากผู้ป่วยกินน้อยลง

ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยหลายคนกินอาหารได้น้อย ทำให้สภาพร่างกายแย่ลง
ทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วยจึงต้องช่วยกันปรับวิธี ส่งเสริมโภชนาการที่ดี
เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหารและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา

เคล็ดลับการกินสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

  1. กินโปรตีนให้เพียงพอ
    ผู้ป่วยมะเร็งต้องการโปรตีนสูงกว่าคนปกติ ควรเน้นกินอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ รวมถึงผักอีกหลายชนิด เช่น ผักชายาซึ่งช่วยเพิ่มความอูมามิได้ด้วย ถั่วพู ต้นอ่อนทานตะวัน ผักโขม ตำลึง
  2. กินน้อย แต่บ่อยครั้ง
    ถ้าผู้ป่วยกินได้มื้อละน้อยๆ ให้เพิ่มจำนวนครั้งเป็น 5-6 มื้อ หรือลองเพิ่มการกินช่วงก่อนนอน
  3. ใส่ใจการจัดอาหาร น่าทาน หยิบสะดวก
    เลือกอาหารหน้าตาน่าทาน และเตรียมอาหารง่ายๆ วางไว้ให้ผู้ป่วยหยิบได้สะดวก
  4. เสริมด้วยอาหารเหลว
    กรณีผู้ป่วยยังกินอาหารไม่ได้หรือเบื่ออาหาร ให้ดื่มอาหารเหลวทางการแพทย์ทดแทนอาหารปกติได้
  5. สร้างบรรยากาศ
    ชวนคนในครอบครัวมากินข้าวพร้อมผู้ป่วย หรือคอยนั่งเป็นเพื่อน กระตุ้นให้ผู้ป่วยกินได้มากขึ้น

โภชนาการระหว่างรักษาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผู้ป่วยกินอาหารได้ดี ได้รับสารอาหารครบถ้วน ก็จะเป็นผลดีต่อการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยค่ะ 🙂 💙

แหล่งอ้างอิง

เพจ ลำไส้ศาสตร์

อนัน ศรีพนัสกุล. (2542). แนวคิดปัจจุบันเกี่ยวกับทุพโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง. ศรีนครินทร์เวชสาร, 14(4)

จตุรงค์ ตันติมงคลสุข และนรินทร์ วรวุฒิ. (2542). โภชนาการบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง. จุฬาลงกรณ์เวชสาร, 43(6).

ศูนย์องค์รวมเพื่อการศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง หน่วยมะเร็งวิทยา สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, งานโภชนาการ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

-+=