เมื่อเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นมะเร็ง

เมื่อเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นมะเร็ง

ผู้ป่วยบางคนเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งแล้ว จะเกิดความกังวลในหลายด้าน อาจมีความรู้สึกหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น กังวล ตึงเครียด ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

ท่านในฐานะที่เป็นเพื่อนหรือผู้ที่เป็นที่รักของผู้ป่วย สามารถเป็นผู้ที่อยู่เป็นเพื่อนหรือดูแลจิตใจในช่วงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ท่านสามารถช่วยให้บรรยากาศซึมเศร้าของผู้ป่วยและครอบครัวดีขึ้นได้ จะทำได้อย่างไรบ้าง ชวนมาเรียนรู้กัน

บุคคลที่ท่านรู้จักมีใครเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ ท่านตกใจหรือไม่ เมื่อได้ยินหรือได้ฟังว่าบุคคลที่รัก เพื่อนของท่าน หรือว่าบุคคลที่ท่านรู้จักเป็นโรคมะเร็ง เมื่อท่านได้รับรู้ข่าวร้ายเช่นนี้ ท่านในฐานะผู้ที่เป็นเพื่อนสนิทหรือบุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถเป็นที่พึ่งที่ดีของเพื่อนได้

ผู้ป่วยหลายรายอาจสับสน ต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง และต้องการกำลังใจในการสู้กับโรคมะเร็ง ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ของโรคมะเร็งควรสงวนไว้ให้แพทย์เป็นผู้บอก

เมื่อท่านได้รับรู้ว่าบุคคลที่ท่านรู้จักเป็นโรคมะเร็ง ท่านในฐานะผู้ที่เป็นเพื่อนสนิทหรือบุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถเป็นที่พึ่งที่ดีของพวกเขาได้

เริ่มต้นอย่างไรดี

โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ส่วนมากเมื่อผู้ป่วยรู้ว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งแล้วจะมีปฏิกิริยาเริ่มแรกคือความตกใจ ตามด้วยความไม่แน่ใจ และหวังว่าสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเพียงข้อผิดพลาดทางการแพทย์ ต่อมาจะมีความเศร้าเสียใจและสูญเสียกำลังใจ ผู้ป่วยหลายรายอาจสับสน ต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง และต้องการกำลังใจในการสู้กับโรคมะเร็ง ท่านในฐานะเพื่อนหรือผู้ร่วมงานสามารถที่จะช่วยเหลือทั้งสองประการได้

ผู้ป่วยมะเร็งต้องการความเข้าใจ ไม่ใช่ความสงสาร การพูดคุยการเยี่ยมเยือน การปฎิบัติด้วยการสัมผัส ด้วยความรัก และห่วงใย ย่อมบ่งบอกได้ดีกว่าคำพูดเพียงอย่างเดียว

ค่อยๆ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

ท่านอาจสามารถค้นหาข้อมูลความรู้ที่เปิดเผย และได้ข้อมูลที่ถูกต้องได้มากกว่าผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย เนื่องจากต้องใช้เวลาดูแลรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งการพบแพทย์หลายสาขา การตรวจวินิจฉัยต่างๆ

อย่างไรก็ดีข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่ค้นคว้าต้องตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ หลายครั้งผู้ป่วยมักได้รับข้อมูลว่า “เขาว่ากันว่า” หรือ “เขาบอกกันว่า” ซึ่งอาจหมายถึงท่านบอกไปเพราะได้อ่านหนังสือแม็กกาซีนที่แปลมา โดยมีที่มาไม่ชัดเจน เชื่อถือไม่ได้ หรือฟังจากผู้อื่นเล่าต่อๆ กันมา ข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดพลาดได้ นอกจากนี้การบอกข้อมูล โดยเฉพาะเกี่ยวกับผลลัพธ์ของโรคมะเร็งแก่ผู้ป่วย ควรสงวนไว้ให้แพทย์เป็นผู้บอก ท่านควรให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยมีความเข้มแข็งที่จะต่อสู้กับโรค สนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ หรือแนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เสียโอกาสที่จะรักษาให้หายขาด

ท่านอาจต้องเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษา รวมถึงการเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ป่วยและญาติ

ผู้ป่วยบางคนเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งแล้ว จะเกิดความกังวลในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในวัยที่ต้องรับผิดชอบด้านครอบครัวด้วยแล้ว อาจมีความรู้สึกหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น ความกังวล ความตึงเครียด ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น บางครั้งบุคคลในครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ในระยะแรก ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ท่านในฐานะที่เป็นเพื่อนหรือผู้ที่เป็นที่รักของผู้ป่วย สามารถเป็นผู้ที่อยู่เป็นเพื่อนหรือดูแลจิตใจในช่วงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ท่านสามารถช่วยให้บรรยากาศซึมเศร้าของผู้ป่วยและครอบครัวดีขึ้นได้

เสริมกำลังใจ

ผู้ป่วยบางคนพอได้ทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งแล้ว จะมีอาการซึมเศร้า เสียใจ หมดหวัง อาการต่างๆ เช่น เบื่ออาหาร กังวล นอนไม่หลับ เฉื่อยชาก็จะตามมาด้วย ท่านสามารถมีส่วนร่วมให้กำลังใจและให้ผู้ป่วยมีความพร้อมที่จะต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ ญาติของผู้ป่วยคนหนึ่งเล่าว่า แม่ของเขาไม่คุยกับใครเลย แต่พอเพื่อนคนนี้มาเยี่ยมจะพูดจาสนุกสนานจิตใจและร่างกายของผู้ป่วยดีขึ้น จิตใจของคนในครอบครัวเขาก็ดีขึ้น บางครั้งก็ต้องโทรไปหาเพื่อนคนนี้ให้มาหาแม่ของเขาบ่อยๆ กรณีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเพื่อนของผู้ป่วยมีส่วนร่วม สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยผู้ป่วยที่เป็นเพื่อนของท่านและครอบครัวได้

พูดคุยกับผู้ป่วยอย่างไรดี

เป็นความจริงที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งที่ว่า คนที่ใกล้ชิดกับเรามากเท่าใดก็ยิ่งมีความลำบากใจในการพูดคุยมากเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อท่านทราบว่าเพื่อนของท่านเป็นโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคร้ายแรง

ตั้งใจรับฟังผู้ป่วยมากขึ้น เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจพูดซ้ำไปวนมา หรืออารมณ์แปรปรวนบ้าง ท่านควรให้เวลารับฟังสิ่งที่ผู้ป่วยพูด เนื่องจากผู้ป่วยอาจจะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดำเนินชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ

ท่านอาจแสดงความเป็นห่วงอย่างจริงใจ แต่ต้องไม่แสดงอาการเด่นชัดว่าเป็นห่วง เกินพอดี หรือแสดงอาการผิดปกติไปจากเดิมที่เคยแสดงมากเกินไป เช่น ปกติเคยพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งแล้วก็พูดคุยเคร่งเครียดผิดปกติไม่เหมือนเดิม อาจทำให้บรรยากาศแย่ลง ท่านอาจต้องใช้ความตั้งใจรับฟังผู้ป่วยมากขึ้น เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจพูดซ้ำไปวนมา หรืออารมณ์แปรปรวนบ้าง ท่านควรให้เวลารับฟังสิ่งที่ผู้ป่วยพูด เนื่องจากผู้ป่วยอาจจะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดำเนินชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ

ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องการกำลังใจในการต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยต้องประสบกับปัญหาต่างๆ เป็นระยะ เช่น ระยะที่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งแล้วมีจิตใจหดหู่ ระยะที่ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด อาจต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลช่วงหนึ่ง ขณะที่รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์ภายนอกบางอย่างที่ สังเกตเห็นได้ และเมื่อโรคมะเร็งลุกลามมากจนผู้ป่วยอยู่ระยะสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยอาจมีความอ่อนเพลีย ความคิดสับสน แต่ละช่วงเวลาผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแตกต่างกันไป

ผู้ป่วยมะเร็งต้องการความเข้าใจ ไม่ใช่ความสงสาร การพูดคุย การเยี่ยมเยือน การปฎิบัติด้วยการสัมผัส ด้วยความรักและห่วงใย ย่อมบ่งบอกได้ดีกว่าคำพูดเพียงอย่างเดียว

ข้อแนะนำในการปฎิบัติเมื่อเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นโรคมะเร็ง

  • พูดคุยแต่สิ่งที่ดี ให้กำลังใจอย่างจริงใจต่อผู้ป่วย
  • ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้แก่ผู้ป่วย หรือแนะนำให้ผู้ป่วยถามคำถามนั้นจากแพทย์ผู้รักษา
  • ไม่แสดงท่าทีต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอกของผู้ป่วยอย่างชัดเจนเกินควร
  • หลีกเลี่ยงการพูดถึงโรคของผู้ป่วยซ้ำๆ
  • ให้เวลาแก่ผู้ป่วย โดยรับฟังให้มาก พูดให้น้อย
  • ควรไปเยี่ยมเยือนอย่างสม่ำเสมอและเป็นระยะ การโทรศัพท์หรือเขียนจดหมายอาจช่วยเสริมในกรณีที่ท่านไม่สามารถไปพบผู้ป่วยได้ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง
  • ท่านอาจช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้ป่วยได้ โดยการเยี่ยมเยือนหรือช่วยดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยได้ปลีกตัวออกจากผู้ป่วยได้บ้าง
  • ช่วยให้ผู้ป่วยได้มีกิจกรรม ให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถทำกิจกรรมและดำเนินชีวิตได้กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิท จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและพลังในการดำเนินชีวิตต่อไป
  • โรคมะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยไม่สามารถถ่ายทอดมะเร็งให้กับเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิดได้ท่านสามารถที่จะใกล้ชิดผู้ป่วยโรคมะเร็งตามปกติ

ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จาก

ทำความรู้จักกับโรคมะเร็งกันเถอะ, เผยแพร่ 2552, มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

-+=