มีลำไส้เปิดหน้าท้อง จะอยู่อย่างไรให้ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน

Cancer Academy : Lecture note

เนื้อหาบางส่วนจากการอบรมในโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน เมื่อมีลำไส้เปิดทางหน้าท้อง : อยู่อย่างไรให้ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน
โดย
👩‍⚕️ พว. จุฬาพร ประสังสิต : พยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษ และผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง
👩‍⚕️ พว. กาญจนา รุ่งแสงจันทร์ : พยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษ
👩‍⚕️ คุณสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข : ประธานเครือข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก(ภาคประชาชน)

ลำไส้เปิดทางหน้าท้อง หรือทวารเทียม

การ “มีลำไส้เปิดทางหน้าท้อง” ที่กล่าวถึงในบทความนี้ใช้ในความหมายเดียวกันกับการ “มีทวารเทียม” ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่ผ่าตัดเอาเนื้องอกหรือมะเร็งในลำไส้ออกไปแล้วต้องเปิดทางทวารใหม่มาทดแทนการใช้ช่องทางทวารปกติในการขับถ่าย เนื่องจากผู้สอนเห็นว่าสิ่งนี้ก็เป็นอวัยวะปกติส่วนหนึ่งของร่างกาย เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีการใช้คำนี้เรียกมาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี

ทำไมต้องมีลำไส้เปิดหน้าท้อง ?

ลำไส้ส่วนต่างๆ

จากภาพด้านบน เป็นลักษณะของลำไส้ใหญ่ที่มีการวางตัวหลายทิศทาง (ขึ้น-ขวาง-ลง) การเกิดเนื้องอกขึ้นมาในบริเวณที่แตกต่างกันก็ส่งผลต่อการผ่าตัดและในบางตำแหน่งอาจทำให้ไม่สามารถต่อลำไส้ให้กลับมาทำงานตามช่องทางเดิมได้ จึงต้องทำการเปิดลำไส้ทางหน้าท้องในบริเวณที่แตกต่างกัน

เนื้องอกอยู่บริเวณลำไส้ตรงใกล้รูทวารหนัก

หากก้อนเนื้องอกขึ้นอยู่ที่บริเวณลำไส้ตรงใกล้รูทวารหนัก จะทำให้ไม่สามารถตัดต่อกลับคืนเหมือนเดิมได้ และจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดลำไส้ออกมาบริเวณหน้าท้อง

เนื้องอกอยู่บริเวณลำไส้ตรงใกล้รูทวารหนัก

เนื้องอกอยู่ระหว่างลำไส้ตรงกับลำไส้ส่วนคด

หากก้อนเนื้องอกเกิดบริเวณระหว่างลำไส้ตรง กับลำไส้ส่วนคด บางครั้งก็ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องเช่นเดียวกัน

เนื้องอกอุดตันบริเวณลำไส้หลายส่วน

หากมีก้อนเนื้องอกอุดตันบริเวณลำไส้หลายส่วน ทำให้อุจจาระไม่สามารถถูกขับถ่ายออกมาตามปกติได้ เป็นสาเหตุที่ต้องทำการเปิดหน้าท้องมากกว่า 1 จุด โดยบางครั้งเป็นการผ่าตัดในกรณีฉุกเฉินเพื่อทำให้อุจจาระสามารถออกมาได้ และบางจุดอาจทำเพื่อเป็นช่องทางออกของเมือกภายในลำไส้

เนื้องอกอุดตันบริเวณลำไส้หลายส่วน

ลักษณะรูเปิดของลำไส้เปิดหน้าท้อง

ลำไส้ที่โผล่ออกมาหลังการผ่าตัด อาจมีสีแดงลักษณะเหมือนเป็นแผล ซึ่งเป็นลักษณะตามปกติของเนื้อเยื่อลำไส้

เหมือนที่ริมฝีปากกับผิวหนังเรามีเนื้อเยื่อที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง

แบบรูเดียว

ลักษณะรูเปิดของลำไส้เปิดหน้าท้อง แบบรูเดียว

แบบ 2 รู (รูซ้าย และรูขวา)

ลักษณะรูเปิดของลำไส้เปิดหน้าท้อง แบบ 2 รู

โดยปกติแล้วรูที่ถึงก่อนคือรูที่อุจจาระออก ส่วนอีกรูจะเป็นช่องทางออกของเยื่อเมือกที่ลำไส้ทำหน้าที่ผลิตออกมาตามการทำงานปกติของลำไส้

ลักษณะรูเปิดของลำไส้เปิดหน้าท้อง แบบ 2 รู

ลักษณะและสีของอุจจาระแต่ละตำแหน่งแตกต่างกันอย่างไร

ลักษณะของอุจจาระโดยทั่วไปมีประมาณ 7 รูปแบบ และมีหลายสี ซึ่งสีของอุจจาระจะเป็นตัวช่วยบ่งบอกว่าเราควรเพิ่มหรือลดการทานอาหารประเภทไหน โดยอุจจาระในแต่ละตำแหน่งของลำไส้ก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน

ลักษณะของอุจจาระ บอกอะไร

เราสามารถมีสุขภาพดีขึ้นได้ จากการสังเกตอุจจาระ และปรับตัว

  • อุจจาระเป็นลำยาว นิ่ม ผิวแตกขรุขระ หรือผิวเรียบ : ปกติ
  • อุจจาระเป็นก้อนนิ่มๆ สั้นๆ : รับประทานพวกกากใยน้อย
  • อุจจาระเป็นน้ำ อุจจาระอ่อน เหลว เละ
  • อุจจาระเป็นลำ ก้อนแข็ง : ท้องผูก
  • อุจจาระเป็นก้อน สั้นๆ คล้ายลูกกระสุน : ท้องผูก

สีของอุจจาระ บอกอะไร

ลักษณะอุจจาระ สี รูปร่าง กลิ่น : Bristol stool chart
  • สีน้ำตาล : ปกติ
  • สีเขียว : อาหารผ่านลำไส้ใหญ่เร็ว หรือรับประทานผักใบเขียวมากเกินไป
  • สีเหลือง : มีความมัน มีกลิ่น หรือรับประทานอาหารประเภทไขมันมากเกินไป
  • สีดำ : มีแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือมาจากการรับประทานพวกธาตุเหล็ก
  • สีอ่อน สีขาว หรือสีดินอ่อนๆ : มีการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี หรือการรับประทานยาบางชนิด
  • มีคราบเลือด หรือมีสีแดง : มีแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรมาตรวจที่โรงพยาบาล

ในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ อุจจาระมีลักษณะอย่างไร

ลักษณะอุจจาระในลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก

ผู้ที่ผ่าตัดลำไส้เปิดทางหน้าท้อง จะมีตำแหน่งของทวารใหม่ที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้อุจจาระที่ออกมามีลักษณะที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน

ลำไส้เล็ก : อุจจาระจะมีลักษณะเป็นน้ำ เนื่องจากยังไม่ผ่านส่วนลำไส้ใหญ่ที่ช่วยดูดน้ำกลับ

ลำไส้ใหญ่ : อุจจาระจะมีลักษณะเป็นก้อน ค่อนข้างแข็ง

ถุงรองรับอุจจาระมีกี่แบบ จะเลือกใช้อย่างไร ?

โดยพื้นฐานแล้วถุงรองรับอุจจาระจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ถุงรองรับอุจจาระชนิดปลายเปิด และถุงรองรับอุจจาระชนิดปลายปิด ในส่วนของปัสสาวะก็จะมีถุงรองรับปัสสาวะซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันไปอีกที

ถุงรองรับอุจจาระชนิดปลายเปิด

มีส่วนปลายเปิด สามารถเปิดเพื่อเทอุจจาระออกมาได้

ถุงรองรับอุจจาระ ชนิดปลายเปิด

แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบถุงสองชิ้น และแบบถุงชิ้นเดียว

แบบถุงสองชิ้น ประกอบด้วย

  • แป้นรองที่ติดกับผิวหนัง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งจะใช้ติดกับหน้าท้อง
  • ถุงที่รองรับอุจจาระ

โดยทั้งสองส่วนจะต้องมีขนาดที่ติดกันได้แบบพอดี

แบบถุงชิ้นเดียว

ส่วนที่ติดกับหน้าท้องเราจะเป็นส่วนประกอบในชิ้นเดียวกันกับตัวถุงรองรับอุจจาระ ซึ่งจะประกอบด้วย

  • แผ่นปกป้องผิวหนัง (Skin Barrier)
  • แถบกาว (Adhesive Tape)
  • ส่วนปลายเปิดสำหรับเทอุจจาระออก

ถุงรองรับอุจจาระชนิดปลายปิด

ถุงรองรับอุจจาระ ชนิดปลายปิด

แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบถุงสองชิ้น และแบบถุงชิ้นเดียวเช่นเดียวกัน แต่ตรงส่วนปลายทางออกจะมีลักษณะเล็กมนและปิดตาย ไม่สามารถเปิดเพื่อนำอุจจาระออกมาได้

ถุงรองรับปัสสาวะ

ถุงรองรับปัสสาวะ

มีทั้งแบบถุงสองชิ้น และแบบถุงชิ้นเดียว

ส่วนปลายจะมีลักษณะที่สามารถต่อกับท่อระบายได้ มีระบบป้องกันน้ำไหลย้อนกลับ ซึ่งอาจไม่สามารถมองเห็นด้วยตา

การเลือกถุงรองรับอุจจาระ

ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการมีลำไส้เปิดทางหน้าท้องด้วย

ระยะแรกหลังการผ่าตัด

  • ควรใช้ถุงรองรับอุจจาระชนิดใสปลายเปิด เนื่องจากจะยังมีอาการเจ็บแผล และแบบปลายเปิดจะช่วยให้เทอุจจาระได้สะดวก
  • หากใช้แบบ 2 ชิ้นจะทำให้เจ็บ
  • การใช้ถุงแบบใสจะช่วยให้มองเห็นลักษณะของลำไส้เปิดหน้าท้องว่ามีความปกติไหม หากมีสีคล้ำดำควรต้องรีบแจ้งแพทย์

เลือกใช้ถุงแบบไหนดี

เลือกให้เหมาะกับสรีระ ชีวิตประจำวัน และปิดถุงได้ถนัด

เหมาะกับขนาด/ชนิดของรูเปิด

หากมีขนาดใหญ่ ควรเลือกใช้ถุงแป้นที่มีขนาดใหญ่ (รูเปิดขนาดใหญ่มักเป็นรูเปิดบริเวณลำไส้ส่วนขวาง)

เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน

เช่น ต้องเดินทาง ออกไปทำงานข้างนอกประจำ อาจเลือกใช้แบบถุง 2 ชิ้นที่สามารถเปลี่ยนถุงใบใหม่ได้สะดวก เป็นต้น

ปิดถุงได้ถนัด

ซึ่งอาจสัมพันธ์กับประสิทธิภาพความคล่องตัวของร่างกาย เช่น สายตา การขยับใช้มือหยิบจับ

หากมีรอยพับรอยย่นบริเวณหน้าท้อง ไม่ควรใช้ถุงแบบ 2 ชิ้น

เพราะมีขอบพลาสติกที่อาจทำให้ไม่แนบสนิทไปกับผิว อุจจาระอาจรั่วซึมออกมาได้

อุปกรณ์และยาที่ไม่แนะนำให้ใช้

ถุงชิ้นเดียว ปลายปิด ชนิดแถบกาว

ถุงรองรับอุจจาระ ปลายปิด ชนิดแถบกาว

ไม่แนะนำให้ใช้ถุงชิ้นเดียว ปลายปิด ชนิดแถบกาว เนื่องจาก

  • กาวมีความเหนียว ไม่มีตัวปกป้องผิวหนัง เวลาลอกทำให้ผิวหนังถลอกเป็นแผลได้
  • ไม่ใช้ในกรณีที่อุจจาระเป็นน้ำ เพราะจะเซาะกาวออกมา

ใช้ในกรณีอุจจาระเป็นก้อนนิ่มๆ

ทิงเจอร์เบนซอยน์ (Benzoin coundpound tincture)

ทิงเจอร์เบนซอยน์ (Tincture benzoin)
  • เป็นน้ำ สีน้ำตาลเข้ม
  • มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและมีความเหนียว เพิ่มการยึดติดของแถบกาว
  • ปัจจุบันไม่ใช้ เนื่องจากทำให้ผิวหนังสีคล้ำ
  • ระคายเคืองได้ง่าย แสบร้อน

ตัดแป้นรองถุงอย่างไร

ตัดกว้างจากลำไส้ประมาณ 2 มิลลิเมตร

การตัดตัวแป้นรองถุงรองรับอุจจาระ
  • ถ้าตัดแคบไป : ทำให้ขอบลำไส้เลือดออกได้เวลาที่ลำไส้มีการเคลื่อนไหว
  • ถ้าตัดกว้างไป : ผิวหนังที่สัมผัสกับอุจจาระหรือปัสสาวะจะเกิดแผลได้
การตัดตัวแป้นรองถุงรองรับอุจจาระ

ภาพด้านซ้าย : เป็นลักษณะการตัดตัวแป้นที่ผิด (เกิน 2 มิลลิเมตรรอบคอลำไส้) ซึ่งทำให้ขอบลำไส้อาจถูกกดเป็นแผล มีอุจจาระรั่วซึมออกมา ผิวหนังที่สัมผัสอุจจาระเกิดการระคายเคือง และเกิดปัญหาตามมามากมาย

ภาพด้านขวา : เป็นลักษณะการตัดแป้นรองถุงที่ถูกต้อง การเลือกแป้นที่ดีควรเลือกขนาดที่ใหญ่กว่าขนาดของลำไส้เราประมาณ 1 ระดับ

แผลลำไส้จะหายเมื่อไร

ลำไส้ที่โผล่ออกมาหลังการผ่าตัด อาจมีสีแดงลักษณะเหมือนเป็นแผล แต่ความจริงแล้วคือปลายลำไส้ที่เป็นปกติ ซึ่งจะอยู่กับเราในลักษณะนี้ไปตลอด โดยลำไส้นี้จะมีการยุบบวมและขนาดเริ่มคงที่หลังการผ่าตัดประมาณ 6-8 สัปดาห์

ลักษณะลำไส้หลังผ่าตัด

หากมีเลือดออกบริเวณผิวลำไส้ ก็ใช้สำลีกดเบาๆ

ลำไส้เปิดทางหน้าท้อง

บริเวณที่เปิดลำไส้จะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงเยอะเป็นปกติ หากมีเลือดออกบริเวณผิวของลำไส้ในขณะที่เช็ดก็ไม่ต้องกังวล เพียงใช้สำลีกดเบาๆ เลือดก็จะหยุด และสามารถใช้ผงแป้งปกป้องผิวหนังโดยโรยตรงบริเวณที่เลือดออกได้

ดูแลลำไส้เปิดอย่างไร ในชีวิตประจำวัน

อาบน้ำอย่างไร เมื่อมีลำไส้เปิดทางหน้าท้อง

  • อาบน้ำได้ปกติ ใช้ได้ทั้งฝักบัว หรือขันตักอาบ เพื่อให้ของเสียที่ออกมาจากลำไส้ถูกชำระล้างผ่านไปตามน้ำ
  • ไม่ควรอาบแบบแช่ในอ่าง เพราะจะทำให้ของเสียที่ออกมาไหลเวียนอยู่ในอ่าง
  • ธรรมชาติของลำไส้จะเป็นช่องทางออกที่บีบน้ำและอุจจาระออกมา จึงไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะเข้าลำไส้
  • หากไม่ถอดถุงอาบน้ำ สามารถใช้แผ่นพลาสติกคลุมทับถุงรองรับอุจจาระ และใช้เทปกันน้ำแปะป้องกันได้

การอาบน้ำในผู้ที่ผ่าตัดมีทวารใหม่

  • อาบน้ำได้ตามปกติ ทั้งใส่ถุงและถอดถุงอาบ
  • ควรอาบเมื่อแผลแห้งแล้ว
  • ควรให้น้ำเข้ามาทางด้านหลัง
  • หลังอาบเสร็จ ควรซับน้ำรอบๆ แป้นให้แห้ง

ใส่เสื้อผ้าอย่างไร เมื่อมีลำไส้เปิดทางหน้าท้อง

หลักการสำคัญ คือ ต้องไม่ให้อะไรไปทับลำไส้ที่เปิดทางหน้าท้อง

โดยสามารถเปิดโชว์ได้ถ้าเป็นถุงแบบขุ่น หรือใช้ผ้าคลุมทับเพื่อความสวยงามได้

ใส่เสื้อผ้าอย่างไร เมื่อมีลำไส้เปิดทางหน้าท้อง

ทำงานอะไรได้บ้าง เมื่อมีลำไส้เปิดทางหน้าท้อง

สามารถทำงานใช้ชีวิตได้ตามปกติ
เพียงแต่มีสิ่งที่ควรระวังบางอย่างตามสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่ควรระวัง : หลีกเลี่ยง

  • การปะทะบริเวณหน้าท้อง
  • การยกของหนัก การเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง หรือการทำกิจกรรมที่สร้างแรงดันในท้องมาก เพื่อป้องกันภาวะลำไส้ยื่นยาว หรือภาวะลำไส้เลื่อนบริเวณที่เปิดทางหน้าท้อง

รับประทานอะไรได้บ้าง เมื่อมีลำไส้เปิดทางหน้าท้อง

หลักสำคัญ คือ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เหมือนเดิม เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดี พร้อมรับการรักษาในระยะยาว

ข้อแนะนำ :

  • ควรเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น ชะอม เพราะทำให้เวลาเปิดเปลี่ยนถ่ายถุงอุจจาระมีกลิ่นออกมา หากไม่ติดขัดในเรื่องนี้ก็สามารถทานได้ปกติ
  • อาหารรสเผ็ด เสี่ยงต่อการท้องเสีย ทำให้อุจจาระเหลว อาจทำให้ไม่สะดวกในการดูแล หากไม่ติดขัดในเรื่องนี้ก็สามารถทานได้ปกติ
  • น้ำอัดลม จะทำให้เกิดแก๊สเยอะ ถุงจะพองเต็มเร็ว
  • นม สามารถทานได้ ช่วยเสริมสร้างโปรตีนให้กับเรา
  • ผู้ที่เปิดลำไส้เล็กทางหน้าท้อง ควรระวังอาหารประเภทเมล็ดถั่วธัญพืช หรือก้านผักใหญ่ๆ เพราะหากเคี้ยวไม่ละเอียดอาจทำให้เกิดการอุดตันได้

ออกกำลังกายอย่างไร

สามารถทำได้ใน 6-8 สัปดาห์หลังผ่าตัด โดยค่อยๆ เริ่ม แต่ให้ยกเว้นกิจกรรมที่เกิดแรงเบ่งในช่องท้อง เพราะอาจทำให้ไส้เลื่อนได้

ออกกำลังอะไรได้บ้าง และมีตัวช่วยอะไรบ้าง อ่านที่นี่เลย

ดูแลลำไส้เปิดอย่างไร ในชีวิตประจำวัน

ควรเปลี่ยนถุงรองรับอุจจาระเมื่อไหร่ ?

ควรเปลี่ยนถุงรองรับอุจจาระเมื่อไร
  • เปลี่ยนถุงทันทีที่เริ่มรั่วหรือซึม หรือแป้นเซาะ ลอก
  • เปลี่ยนถุงทุก 3-5 วัน ขึ้นกับลักษณะของเสีย ถ้ามีลักษณะแข็งเป็นลำอาจเก็บนานหน่อยได้ ถ้าเป็นน้ำก็ควรเปลี่ยนเร็วหน่อย
  • ควรเทอุจจาระเมื่อมีปริมาณ 1 ใน 3 ของถุง เพื่อป้องกันการรั่วหรือซึมก่อนกำหนด

ลำไส้เปิดทางหน้าท้อง ทำความสะอาดอย่างไร

เสมือนการทำความสะอาดรูทวารก้นของเรา

  • ใช้น้ำสะอาดทำความสะอาดลำไส้เปิดทางหน้าท้องและผิวหนังโดยรอบ เพราะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายเราปกติ เสมือนการทำความสะอาดรูทวารก้นของเรา
  • ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ เบตาดีน ฯลฯ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีมอยเจอไรเซอร์ เพราะทำให้ผิวหนังลื่น ติดถุงไม่อยู่

ล้างถุงอย่างไร

วิธีล้างถุงทวารเทียม อุจจาระติดถุง

ผู้ที่มีลำไส้เปิดทางหน้าท้องมานาน มักชอบติดถุงแบบตั้งตรง เนื่องจากเวลาเทของเสียออกด้วยตัวเองจะทำได้ง่าย

การทำความสะอาดถุงแบบชิ้นเดียว

  • เปิดถุง เทอุจจาระลงชักโครก
  • เช็ดปลายถุงให้สะอาด ช่วยลดกลิ่นได้ อาจใช้ทิชชู่เปียกเช็ด แล้วซับให้แห้ง
  • สามารถใช้อุปกรณ์เสริมเป็นขวดน้ำที่มีปลายยาว (ตามภาพด้านบน) ค่อยๆ ฉีดเข้าไปในถุง เพื่อไล่อุจจาระที่ติดอยู่ตามถุงให้ออกมาได้
    • หลีกเลี่ยง : การเทน้ำเข้าไปในถุง แล้วเขย่า เพื่อล้าง เพราะอาจเสี่ยงต่อการที่น้ำจะเข้าไปเซาะตรงบริเวณแป้นได้ และอาจทำให้เกิดความชื้น หลุดง่าย

การทำความสะอาดถุงแบบสองชิ้น

ใช้น้ำยาล้างจาน ผึ่งลมให้แห้ง ไม่ตากแดด

ล้าง
  • แกะถุงออกจากแป้นที่ติดตัว และนำถุงออกไปล้าง
  • ควรใช้น้ำยาล้างจานล้าง เพราะช่วยขจัดคราบมันจากอุจจาระได้ดี
  • การใช้สบู่อาจทำให้มีเมือกเหนียวติดอยู่
  • ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มได้ แต่อาจมีความเหนียว ควรผสมน้ำก่อน
ตาก
  • ควรผึ่งลมให้แห้ง ไม่ตากแดดโดยตรงเพราะจะทำให้พลาสติกเสื่อม
  • เวลาตากให้หาสิ่งที่ช่วยถ่างถุงให้ผิวไม่ติดกัน เช่น ตะเกียบ เพื่อให้ลมผ่าน
ล้างถุงทวารเทียม

วิธีป้องกันอุจจาระติดถุง

ควรใช้เบบี้ออยล์ในการทำความสะอาด โดยหยดลงไปตรงกลางรูถุง ขยี้เล็กน้อย เมื่ออุจจาระออกมาก็จะไม่ติดถุง หรืออาจใช้สำลีก้านยาวในการเข้าไปเช็ดในถุงได้

วิธีป้องกันอุจจาระติดถุงทวารเทียม

ปรับกลิ่น และทำให้ถุงติดดี

ไม่อยากให้มีกลิ่น ทำอย่างไรได้บ้าง

กำจัดกลิ่นในถุงทวารเทียม
  • คาร์บอน
    • ใช้แผ่นคาร์บอน (แถบดำ ๆ ที่ติดตรงถุง) แต่หากเจอความชื้น ประสิทธิภาพก็จะลดลง
    • ถุงคาร์บอน ใช้โดยใส่ลงไปในถุง แต่มีข้อเสียคือมักจะแตกออก
  • มินต์หรือเมนทอล
    • ยาอมดับกลิ่นปาก ใช้โดยใส่เข้าไปในถุง
    • ใส่เม็ดมินต์ (Phudin hara) ลงในถุงรองรับเพื่อดับกลิ่น
    • ยาสีฟัน ที่มีเมนทอล ใช้โดยบีบเข้าไปในถุงก็สามารถช่วยลดกลิ่นได้
  • น้ำยาหยด หรือออยล์ดับกลิ่น : Ostomy pouch deodorant

สาเหตุของการปิดถุงแล้วหลุดบ่อย

เกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรสังเกตตัวเองว่าที่ถุงหลุดเกิดจากกรณีใด เช่น

  • ผิวหนังเปียก
  • ไม่เทอุจจาระ
  • โรยผงแป้งแล้วไม่เกลี่ยให้ดี จึงเป็นก้อน เมื่อติดถุงทับจึงไม่อยู่ อาจช่วยโดยการใช้สเปรย์พ่นทับได้
  • ใช้ครีมแก้คันทาแล้วปิดถุง ควรรอให้แห้งก่อนปิด
ปิดถุงทวารเทียมแล้วหลุดบ่อย

มีแผล มีรอยแดง ควรทำอย่างไร

เมื่อเริ่มเป็นควรรีบดูแลรักษาทันที ไม่ควรปล่อยไว้นานเพราะอาจทำให้เป็นหนัก ลุกลามยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นแผลบริเวณผิวหนังรอบลำไส้เปิดทางหน้าท้องควรทำอย่างไร ?

เมื่อเป็นแผลบริเวณผิวหนังรอบลำไส้เปิดทางหน้าท้องควรทำอย่างไร ?

ลักษณะแผล มี 2 แบบ คือ

  • ผิวหนังมีรอยแดง
  • ผิวหนังลอกหลุดเป็นแผล

สาเหตุ :

  • ผิวหนังสัมผัสกับอุจจาระเป็นเวลานาน น้ำย่อยในอุจจาระจึงไปทำลายผิวหนัง
  • ล้างสบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ออกไม่หมด
  • ติดถุงนานเกินไป
  • ตัดถุงกว้างเกินไป
ลำไส้เปิดทางหน้าท้อง ใช้สบู่น้ำ ยาฆ่าเชื้อโรค แล้วล้างทำความสะอาดออกไม่หมด
ใช้สบู่น้ำ ยาฆ่าเชื้อโรค แล้วล้างทำความสะอาดออกไม่หมด
ตัดถุงทวารเทียมกว้างเกินไป
ติดถุงนานหรือกว้างเกินไป

ผิวหนังมีรอยแดง ควรทำอย่างไร

  • ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะสามารถหายเองได้
  • ทาด้วยผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวหนังชนิดครีม (ต้องใช้ประเภทนี้เท่านั้น)
  • พ่นด้วยผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวหนังชนิดฟิล์ม

ผิวหนังลอกหลุดเป็นแผล รักษาอย่างไร

  1. ผงแป้ง : ช่วยควบคุมความชุ่มชื้น กระตุ้นการหายของแผล
    • โรยผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวหนังชนิดผงแป้งบางๆ บริเวณรอยแผล เกลี่ยผงแป้งส่วนเกินออก
    • ผงแป้งจะช่วยดูดซับความชื้น
    • เปลี่ยนเป็นเจลปกป้องผิวหนังจากการสัมผัสอุจจาระ
  2. ฟิล์มปกป้องผิวหนัง : ช่วยปกป้องผิวหนังจากความชื้น
    • พ่นด้วยผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวหนังชนิดฟิล์ม
    • ช่วยให้ผงแป้งติดกับรอยแผล
    • สามารถระบายความชื้นได้บางส่วน
  3. เพสท์ปกป้องผิวหนัง : ช่วยควบคุมความชุ่มชื้น กระตุ้นการหายของแผล และปรับระดับผิว
    • ทาทับด้วยผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวหนังชนิดเพสท์ (paste)
    • ช่วยปรับระดับผิวหนังรอบลำไส้เปิดทางหน้าท้องที่อาจสูงต่ำไม่เท่ากันให้เรียบเสมอกัน
    • ช่วยให้ติดแน่นขึ้น

กรณีที่มีอุจจาระเป็นน้ำเหลวออกตลอดเวลา สามารถทาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวหนังชนิดเพทส์บางๆ บริเวณแผ่นปกป้องผิว

(Wound, Ostomy, Continence Nurses Society., 2012 / จุฬาพร ประสังสิต., 2558)


การเป็นผื่นแพ้ใต้แป้นรอง

เป็นผื่นแพ้ใต้แป้นรองถุงทวารเทียม

ผิวหนังอักเสบเป็นแผลเปิด ขนาดแผลเท่ากับขนาดของแป้นรอง

  • ควรตรวจสอบประวัติการแพ้
  • ดูแลเหมือนผิวหนังลอกหลุดเป็นแผล
  • ลองเปลี่ยนชนิดถุงรองรับอุจจาระ เพื่อหาแบบที่ไม่แพ้

ผิวหนังปิด มีผื่นแดง คันใต้แถบกาว

  • ทายากลุ่มสเตียรอยด์บางๆ และรอให้แห้ง (สเตียรอยด์ช่วยต้านการอักเสบ)
  • ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนใช้ยา เพราะสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงหลายอย่าง

หากลำไส้เปิดอยู่ต่ำกว่าระดับผิวหนังควรทำอย่างไร

หากมีลักษณะของลำไส้เปิดอยู่ระดับผิวหนัง / ต่ำกว่าระดับผิวหนัง / รูลำไส้เปิดอยู่ระดับผิวหนัง จะทำให้มีโอกาสเกิดแผลได้ง่ายมาก ควรปรึกษาพยาบาลหรือแพทย์ผู้ดูแลเพื่อรับคำแนะนำ

วิธีแก้ : ใช้แป้นแบบมีก้นนูน

แป้นทวารเทียมแบบมีก้นนูน เหมาะเมื่อลำไส้เปิดอยู่ต่ำกว่าระดับผิวหนัง
แป้นทวารเทียมแบบมีก้นนูน เหมาะเมื่อลำไส้เปิดอยู่ต่ำกว่าระดับผิวหนัง
  • ใช้แป้นแบบมีก้นนูน (มีทั้งแบบชิ้นเดียวและสองชิ้น) ตัวแป้นจะช่วยกดให้ผิวหนังต่ำลง
  • เมื่อใช้แป้นก้นนูน ควรใช้เข็มขัดช่วยพยุงร่วมด้วย

หากมีภาวะลำไส้เปิดทางหน้าท้องยื่นยาวกว่าปกติ ควรทำอย่างไร ?

มีภาวะลำไส้เปิดทางหน้าท้องยื่นยาวกว่าปกติ ควรทำอย่างไร

สาเหตุ

  • ส่วนใหญ่พบในลำไส้เปิดทางหน้าท้องจากบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง หรือการไม่ได้เย็บลำไส้ติดกับผนังหน้าท้อง
  • ผ่าตัดคว้านช่องเปิดใหญ่เกินไป
  • ตำแหน่งของลำไส้เปิดทางหน้าท้องอยู่นอกกล้ามเนื้อกลางท้อง
  • มีแรงดันในช่องท้องสูง
  • กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอ ไม่แข็งแรง
  • ลำไส้เปิดทางหน้าท้องยาวมากกว่า 6 เซนติเมตร เหนือระดับผิวหนัง

มี 2 ลักษณะ คือ

  • ดันกลับได้
  • ดันกลับไม่ได้

ลักษณะลำไส้เปิดทางหน้าท้องยาวผิดปกติที่ต้องพบแพทย์

  • เป็นสีม่วง/ดำ
  • ปวดมีแผล
  • ไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้

แก้ไขอย่างไร

การแก้ไขภาวะลำไส้เปิดยาวกว่าปกติ

ลดความดันในช่องท้อง

นอนหงายให้ศีรษะสูงเล็กน้อย นานประมาณ 20 นาที
ช่วยให้หน้าท้องหย่อน ลดความดันในช่องท้อง

ดันลำไส้กลับ : ลำไส้เปิดหน้าท้องยาวกว่าปกติ

ประคบเย็น

ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น วางประคบบนลำไส้ 15 นาที
ช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ลำไส้ยุบบวม

ดันลำไส้กลับ : การแก้ไขภาวะลำไส้เปิดยาวกว่าปกติ

ใช้มือดัน

การดันลำไส้กลับบางครั้งอาจต้องใช้มือดันช่วยให้ยุบกลับลงไปด้วย หากไม่กล้าทำเองสามารถให้ทางโรงพยาบาลช่วยทำให้ได้

ดันลำไส้กลับ : การแก้ไขภาวะลำไส้เปิดยาวกว่าปกติ

อุปกรณ์ช่วยให้สะดวกขึ้น

ผ้าพยุงหน้าท้อง

การใช้ผ้าพยุงหน้าท้อง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้หน้าท้องแข็งแรงและไม่ดันลำไส้ออกมา

ผ้าพยุงหน้าท้อง

เลือกใช้ถุงรองรับอุจจาระที่เหมาะสม

ไม่ควรใช้

ไม่ควรใช้ถุงรองรับอุจจาระแบบ 2 ชิ้นชนิดที่มีขอบแข็ง เพื่อป้องกันลำไส้ได้รับบาดเจ็บ

แบบที่แนะนำ
  • ใช้ถุงรองรับอุจจาระที่มีแป้งรองขนาดใหญ่ มีความบางและยืดหยุ่นสูง
  • ถุงขนาดใหญ่พอสำหรับรองรับลำไส้ที่ยื่นยาว
  • ใส่ baby oil ช่วยหล่อลื่นระหว่างลำไส้กับถุงรองรับอุจจาระ

สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังของบทความนี้

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ : อยู่อย่างไรให้ทวารเทียมปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน

โดย
👨‍⚕️ พว. จุฬาพร ประสังสิต : พยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษ และผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง
👨‍⚕️ พว. กาญจนา รุ่งแสงจันทร์ : พยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษ
👨‍⚕️ คุณสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข : ประธานเครือข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (ภาคประชาชน), ประธานชมรมออสโตเมท (โรงพยาบาลราชวิถี)

ศึกษาเพิ่มเติม

-+=