Cancer Anywhere
มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม

มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ ที่พร้อม

Cancer Anywhere ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองได้รับการรักษาครอบคลุมทุกกระบวนการ รวมถึงตรวจติดตาม ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ และใกล้บ้าน ได้อย่างรวดเร็ว

ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ ในโรงพยาบาลที่รองรับสิทธิบัตรทอง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานให้ตั้งแต่เริ่มต้น และไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

การเข้ารับการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิการรักษา ปกติแล้วจะต้องรอตรวจ และรอการรักษาตามคิวของผู้ป่วย ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้มักจะใช้เวลานาน หลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน กว่าที่เราจะได้ผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งจริงๆ หรือทราบว่าเป็นมะเร็งชนิดใด จุดนี้เองทำให้เรามีโอกาสการรักษาได้ช้า และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นและเพิ่มระยะของมะเร็งได้ ซึ่งถือว่าเป็นคอขวดที่ทำให้กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้ช้า ทั้งในเรื่องระบบส่งตัวและวินิจฉัย

นโยบาย Cancer Anywhere (แคนเซอร์ เอนี่แวร์) เป็นนโยบายที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ได้รับบริการการรักษาครอบคลุมทุกกระบวนการ ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ โดยประกาศใช้เมื่อ 1 ม.ค. 2564

ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระบบบริการและได้รับการรักษาพยาบาลด้วยความรวดเร็ว ทั้งยังรองรับการส่งต่อไปรับการรักษายังโรงพยาบาลต่างพื้นที่ที่มีความพร้อมโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

ดูและฟังเนื้อหาแบบ Live สด ได้ที่ https://fb.watch/7j9om56xBI/

ที่ไหนก็ได้ที่พร้อม หมายถึง

หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่สามารถรับและส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว เข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว

เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็ง มีการใช้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน สถานพยาบาล/โรงพยาบาลแต่ละที่มีทรัพยากรครอบคลุมแตกต่างกันไป

การรักษาโรคจึงวินิจฉัยเฉพาะบุคคลไปว่าควรรับการรักษาอย่างไร แล้วจึงพิจารณาว่าสามารถรักษาที่ไหนได้บ้าง จึงเป็นที่มาของคำว่า รักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม(รักษา)

ที่ไหนก็ได้ที่พร้อม จึงไม่ได้หมายถึง จะเข้ารักษาที่ไหนก็ได้ เนื่องจากโรคมะเร็งมีหลายชนิด หน่วยบริการแต่ละแห่งมีศักยภาพในการรักษาแตกต่างกัน เช่น เครื่องมือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ เพราะกระบวนการรักษาโรคมะเร็งมีมากและซับซ้อนเป็นเฉพาะแต่ละโรค

ครอบคลุมอะไรบ้าง

การรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ในปีงบประมาณ 2564 มีดังนี้

  1. เคมีบำบัด : หน่วยบริการรับการส่งต่อทั่วไปที่มีศักยภาพในการให้เคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การสั่งการรักษา การผสมยา และการบริหารยาเคมีบำบัดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือการให้ฮอร์โมน Tamoxifen สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
  2. รังสีรักษา : หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่ สปสช. กำหนด
  3. หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 ที่ให้การรักษาและบริการโรคมะเร็งดังนี้
    1. การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งโดยครอบคลุมการประเมินระยะของมะเร็ง (Staging) ตามมาตรฐานของโรคมะเร็งแต่ละชนิด ทั้งนี้ไม่รวมการคัดกรองเบื้องต้น (Screening) หรือการศึกษาวิจัย
    2. การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคมะเร็ง ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา รวมถึงโรคร่วมที่พบในการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนั้น
    3. การตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา (Follow up) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็งและโรคร่วมที่พบในการมารับการรักษาโรคมะเร็งในครั้งนั้น

Cancer Anywhere ให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดการรอคิว และครอบคลุมทุกขั้นตอนการรักษา

หน่วยบริการที่พร้อม มีที่ไหนบ้าง

การรักษามะเร็งมีมาตรฐานเดียวกัน ใช้ข้อกำหนดหรือใช้ยาตัวเดียวกัน รวมถึงมีแพทย์ที่วางแผนการรักษาให้เหมือนกัน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจของผู้ป่วยที่จะเริ่มการรักษาใกล้บ้าน

ดูลิสต์โรงพยาบาล/สถานพยาบาล ตามจังหวัดที่สะดวก แบ่งตามความพร้อมในการรักษา คลิกเลย

Cancer Anywhere ดีอย่างไร

ลดเวลารอคอย

เนื่องจากกระบวนการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีสิทธิบัตรทอง ค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากจะต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลแต่เช้าเพื่อรอตรวจกับแพทย์ และบางคนจะต้องเสียเวลาในการทำเรื่องเพื่อขอใบส่งตัวหลายครั้ง (หลายแห่งมีการกำหนดวันขอใบส่งตัวได้แค่บางวัน ระยะเวลาที่ขอแล้วแต่ที่จะกำหนด วันเสาร์อาทิตย์ก็หยุดให้บริการ) เพื่อนำไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความพร้อมมากกว่า

ลดปัญหาการส่งตัว

การส่งตัวผู้ป่วยหลายครั้งก็มีปัญหาเรื่องข้อมูลและประวัติการรักษาที่ไม่ครบถ้วน ทำให้ผู้ป่วยจะต้องกลับไปขอข้อมูลต่างๆ จากโรงพยาบาลต้นสังกัดอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนไม่ได้รับการรักษาในระยะเวลาที่เหมาะสม และอาจทำให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่พัฒนาไปเป็นอีกระยะหนึ่งได้

ครอบคลุม ตามที่พร้อม

ดังนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลในเครือข่ายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้จัดทำนโยบาย “Cancer Anywhere นโยบายมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ ที่มีความพร้อม” ขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอย และครอบคลุมทุกขั้นตอนการรักษา โดยโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและความพร้อมจะให้บริการตามมาตรฐานกับผู้ป่วย ตามจำนวนที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถรองรับได้

ใครใช้บริการ Cancer Anywhere ได้บ้าง

ประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง หรือสิทธิ 30 บาท) เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง สามารถเข้ารักษาที่หน่วยบริการที่พร้อมให้บริการ

* ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ด เพื่อใช้สิทธิบัตรทอง ก่อนรับบริการทุกครั้ง

ประโยชน์ที่ผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับ

  1. รู้ศักยภาพของโรงพยาบาล : ผู้ป่วยมะเร็งและญาติผู้ดูแลได้รู้ศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลล่วงหน้า (แต่ละโรงพยาบาลมีทรัพยากรในการรักษาไม่เท่ากัน)
  2. การส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งทำได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาทำใบส่งตัว โดยจะมีเจ้าที่ประสานงานให้ 
  3. ไม่ต้องเดินทางเพื่อขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลต้นสังกัด เนื่องจากมีการใช้ระบบฐานข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล
  4. รู้ประวัติ : ผู้ป่วยมะเร็งทราบว่าเป็นโรคอะไร ระยะไหน รักษาอะไรมาบ้าง เป็นข้อมูลย้อนกลับมาถึงผู้ป่วย
  5. ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน

ใครรับบริการได้บ้าง

  1. คนไทยทุกคนที่ใช้ สิทธิบัตรทอง
    คลิกเพื่อเช็คสิทธิบัตรทอง
  2. ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้วเท่านั้น
  3. ผู้ที่ต้องการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล
  4. ผู้ที่ได้รับการส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัดด้วยสิทธิบัตรทอง
  5. มีบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดเพื่อยืนยันตัวตน

อยากรู้ว่ามีสิทธิบัตรทองไหม

ตรวจสอบสิทธิบัตรทองได้หลายช่องทาง คลิกเลย

ขั้นตอนการรับบริการ Cancer Anywhere

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์ผู้รักษาจะมีรายชื่อหน่วยบริการที่พร้อมและตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยว่าควรไปรักษาต่อที่ใด ซึ่งอาจเป็นหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้าน หรือเป็นหน่วยบริการที่ไม่ต้องรอคิวนาน โดยเฉพาะการรักษาที่สำคัญที่จะควบคุมระยะและการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง

สำหรับผู้ป่วยเก่า

  1. แจ้งหากต้องการย้ายโรงพยาบาล : เมื่อต้องการย้ายโรงพยาบาล ให้แจ้งเรื่องกับเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลก่อน (ถ้าโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่โรงพยาบาลต้นสังกัด จะต้องแจ้งเรื่องไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก่อน)
  2. เลือกโรงพยาบาลที่สะดวก : ผู้ป่วยกับผู้ประสานงานของโรงพยาบาลปรึกษากันด้วยข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกโรงพยาบาลรัฐแห่งใหม่
  3. เจ้าหน้าที่ดำเนินการส่งต่อ : เมื่อเลือกหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) ร่วมกับแพทย์เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะประสานงานส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่เลือกไว้
  4. ผู้ป่วยได้รับบัตรนัด : ผู้ป่วยจะได้รับบัตรนัดในแอปพลิเคชั่น Cancer Anywhere เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาลปลายทาง

สำหรับผู้ป่วยใหม่

  1. ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
  2. แจ้งหากต้องการย้ายโรงพยาบาล : ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ว่าต้องการรักษาที่โรงพยาบาลเดิมที่ตรวจวินิจฉัย หรือต้องการย้ายไปรักษาที่อื่น (ถ้าโรงพยาบาลที่ตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยไม่ใช่โรงพยาบาลต้นสังกัด จะต้องแจ้งเรื่องไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดที่มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าก่อน)
  3. เลือกโรงพยาบาลที่สะดวก : ผู้ป่วยกับผู้ประสานงานของโรงพยาบาลปรึกษากันด้วยข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกโรงพยาบาลรัฐแห่งใหม่
  4. เจ้าหน้าที่ดำเนินการส่งต่อ : เมื่อเลือกหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) ร่วมกับแพทย์เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะประสานงานส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่เลือกไว้
  5. ผู้ป่วยได้รับบัตรนัด : ผู้ป่วยจะได้รับบัตรนัดในแอปพลิเคชั่น Cancer Anywhere เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาลปลายทาง
  6. เจ้าหน้าที่ติดตั้งแอพ Cancer Anywhere ให้ เพื่อติดตามข้อมูลและประวัติการรักษา : ผู้ป่วยที่เข้าร่วมนโยบาย เจ้าหน้าที่จะติดตั้งแอปพลิเคชั่น Cancer Anywhere ให้กับผู้ป่วย เพื่อใช้ดูข้อมูลนัดหมายการตรวจ การทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี และใช้แสดงข้อมูล QR Code หรือเลข Token กับทางเจ้าหน้าที่เมื่อเข้ารับบริการ และจะจองคิวการตรวจและการรักษาในวันและเวลาที่ผู้ป่วยสะดวกให้ทันที

แอพ Cancer Anywhere

  • ดูประวัติการรักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วย และใช้ส่งต่อประวัติผู้ป่วย
  • เพื่อให้โรงพยาบาลปลายทางเข้าถึงข้อมูลการวินิจฉัยโรคมะเร็ง และประวัติการได้รับการรักษาของผู้ป่วยด้วยวิธีการรักษาต่างๆ ได้แก่ ผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา
  • เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อข้อมูลที่ครบถ้วน สะดวก รวดเร็ว ทำให้เกิดการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลปลายทางได้อย่างแม่นยำและลดระยะเวลาการรอคอยการรักษา

หากไม่มีแอพ แค่แจ้งเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาล พร้อมยื่นบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ก็ดำเนินการได้เช่นกัน เพียงแต่จะติดตามประวัติการรักษาผ่านแอพไม่ได้ แต่สามารถขอให้โรงพยาบาลพิมพ์ประวัติการรักษามาเก็บไว้ได้

android ดาวน์โหลดที่นี่
iOS ดาวน์โหลดที่นี่

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

Cancer Anywhere สามารถใช้กับผู้ป่วยมะเร็งแบบไหนบ้าง

ตอบ : ใช้ได้กับผู้ป่วยมะเร็งทุกคน ได้ทุกโรคมะเร็ง ได้ทุกระยะ

ถ้ายังเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการรักษามะเร็ง อยากเปลี่ยนมารับการรักษาฟรี หรือลดค่าใช้จ่าย ต้องทำอย่างไร

ตอบ : ผู้ป่วยจะต้องแจ้งเรื่องที่โรงพยาบาลต้นสังกัดที่ตนเองมีสิทธิบัตรทองก่อน ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาได้จาก สปสช. จึงจะสามารถเข้าร่วมนโยบายนี้ และได้รับการรักษาฟรีหรือมีค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อยลง

โรงพยาบาลไหนบ้างที่รองรับ Cancer Anywhere

ตอบ : โรงพยาบาลรัฐบาลทุกที่ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลที่พร้อมบริการได้ ที่นี่

การย้ายโรงพยาบาลช่วงโควิด สามารถทำได้หรือไม่ ต้องทำอย่างไร

ตอบ : สามารถทำได้ แต่โรงพยาบาลปลายทางจะมีขั้นตอนคัดกรองความเสี่ยงก่อน ยิ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ต่างจังหวัด ผู้ป่วยอาจจะต้องเสียเวลากักตัวก่อนพบแพทย์ตามนัดหมาย ขึ้นอยู่กับแนวทางปฏิบัติของจังหวัดนั้นๆ ดังนั้น ถ้าโรงพยาบาลเดิมหรือโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ใกล้บ้านมีความพร้อมมากกว่า ให้ย้ายไปรักษาที่นั่นจะเป็นทางที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาตามระยะเวลาที่กำหนด

สิทธิประกันสังคม กับสิทธิข้าราชการ ใช้สิทธิ Cancer Anywhere ได้หรือไม่

ตอบ : นโยบาย Cancer Anywhere ยังไม่ครอบคลุมไปถึงสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ซึ่งทางมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งอยากให้ขยายไปให้ครอบคลุมด้วย https://www.nhso.go.th/news/2969

ข้อมูลเพิ่มเติม

หากสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็ง ควรทำอย่างไร

กรณีผู้มีสิทธิบัตรทองที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง แต่มีอาการหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็ง สามารถขอรับคำปรึกษาหรือคัดกรองเบื้องต้นได้ที่หน่วยบริการประจำใกล้บ้านตามระบบปกติ

ดูรายละเอียด ขั้นตอน และหน่วยรับบริการ

ดูรายละเอียด ขั้นตอน และหน่วยรับบริการ คลิกเลย

พบปัญหา หรือ สอบถามข้อสงสัย

เท่าที่สอบถามประสบการณ์ผู้ป่วยในการรับบริการ Cancer Anywhere เห็นว่าได้รับความสะดวกและปลาบปลื้มในบริการกันดี อย่างไรก็ตามหน่วยบริการบางที่อาจยังอยู่ในช่วงปรับตัว อาจพบปัญหาติดขัดบ้าง ซึ่งสามารถแจ้งได้ว่าว่ากำลังดำเนินการอะไร แล้วติดขัดส่วนไหน โดยติดต่อได้ตามช่องทางเหล่านี้

  • สอบถามศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล หรือสอบถามโดยตรงกับโรงพยาบาล หรือหน่วยให้บริการ
  • โทร. 1330 สายด่วน สปสช. ตลอด 24 ชั่วโมง
  • หรือ Line Official : @CancerAnywhere

ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล โรงพยาบาลต้นสังกัด ได้ที่

เว็บ สปสช. (คลิกเลย)

ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายได้ที่

Facebook มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง Thai Cancer Society : TCS

Line อาสาเพื่อนมะเร็ง

Line อาสาเพื่อนมะเร็ง

** เนื่องจากเป็นนโยบายที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ อาจจะติดขัด ไม่ราบรื่นบ้าง ถ้าไป รพ. แล้วเกิดปัญหา เช่น โรงพยาบาลไม่ทราบเรื่อง ไม่อยู่ในโครงการ (เช็คโรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการ cancer anywhere) ติดต่อ 1330 หรือ สถาบันมะเร็ง ได้เลย

เครื่องมือของเจ้าหน้าที่ ในนโยบายนี้

โดยการดำเนินการทั้งหมดในนโยบายนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้งานอยู่ 3 โปรแกรมหลักๆ ได้แก่

  1. โปรแกรม TCB Plus
    ระบบข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นคนลงทะเบียนในระบบให้ ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้วเท่านั้น
  2. Cancer Anywhere Application
    แอปพลิเคชั่นของผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคนที่ต้องติดตั้งไว้ หลังลงทะเบียนกับ TCB Plus แล้ว โดยในแอปพลิเคชั่นจะมีข้อมูลผู้ป่วยเบื้องต้น และยังมีรหัสที่ใช้อนุญาตเจ้าหน้าที่ ในการเข้าถึงประวัติการรักษามะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคน ใน TBC Plus
  3. โปรแกรม The One
    ระบบจองคิวการรักษาเครื่องมือเฉพาะทางของโรคมะเร็ง เช่น คิวเครื่องฉายรังสี คิวเมมโมแกรม คิว CT Scan คิว MRI โดยที่เจ้าหน้าที่จะเป็นคนจองให้ และมอบบัตรนัดให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลปลายทางต่อไป

มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง คือ ใคร

มูลนิธิเครือข่ายมะเร็งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เติบโตมาจาก Thai Cancer Society หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ชมรมเพื่อนมะเร็งไทย”

  • เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ป่วยและอดีตผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ดูแล แพทย์ และพยาบาล
  • เพื่อทำงานด้านจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง และขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานด้านมะเร็งเป็นหลัก
  • เป้าหมายหลัก คือ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย อดีตผู้ป่วย และผู้ดูแล
  • โดยมีกิจกรรมการอบรม พัฒนา ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง การสร้างสรรค์สื่อ การสนับสนุนกิจกรรมร่วมกับภาครัฐและเอกชน

ขอบคุณข้อมูล

  • เนื้อหาโดยมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี
  • เรียบเรียงขั้นตอนให้ง่ายกับการเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์(บัตรทอง) โดยมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง
  • เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งเชียร์นโยบาย ‘รักษาที่ไหนก็ได้’ สร้างมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน, ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง, https://www.nhso.go.th/news/2969
-+=