สิทธิการรักษา

การรักษาโรคมะเร็งสามารถใช้สิทธิการรักษาจากรัฐบาลได้

สิทธิการรักษาพยาบาล มี 3 ระบบใหญ่ ได้แก่

  • สิทธิบัตรทอง

  • สิทธิข้าราชการ

  • สิทธิประกันสังคม

สิทธิการรักษามะเร็งของคนไทย

เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง สิ่งที่หลายคนกังวลรองลงมาจากความกลัวไม่ได้อยู่กับคนที่รัก ก็คงจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็ง เพราะหลายคนทราบดีว่า มะเร็งเป็นโรคเรื้อรัง ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นในขณะที่โรคดำเนินไป

แต่อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะจริงๆ แล้วคนไทยได้รับการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล ซึ่งสิทธิที่ว่าครอบคลุมอะไรบ้างและมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างในการใช้สิทธินี้

สิทธิการรักษาพยาบาล มี 3 ระบบใหญ่ ได้แก่

  1. สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในนาม “สิทธิ 30 บาท” หรือ “สิทธิบัตรทอง” คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับคนไทยทุกคนที่มีหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ซึ่งไม่เป็นผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ และสถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ และมีการยกระดับบัตรทอง ด้วยนโยบาย Cancer Anywhere มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม
  2. สิทธิประกันสังคม คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับเจ้าของสิทธิ (ผู้ประกันตน) สามารถเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เลือกลงทะเบียนไว้
  3. สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของราชการ คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัว ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ

นอกเหนือจาก 3 สิทธินี้ยังมีประกันสุขภาพภาคเอกชน (ประกันชีวิต) มีให้เลือกทำอีกมากมาย
เรามาดูกันว่าทั้ง 3 สิทธิการรักษาพื้นฐานเหล่านี้ ครอบคลุมอะไรบ้าง และมีเงื่อนไขอย่างไรในการใช้สิทธิ

สิทธิบัตรทอง

หรือสิทธิ 30 บาท (30 บาทรักษาทุกโรค) มีชื่อเต็มๆ ว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

คนไทยทุกคนมีสิทธิบัตรทอง เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งแต่ไม่มีประกันสุขภาพ สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของราชการ สามารถตรวจสอบสิทธิบัตรทองได้

ยกระดับสิทธิบัตรทอง ด้วยนโยบาย Cancer Anywhere

ยกระดับสิทธิบัตรทอง ใกล้ที่ไหนรักษาได้ที่นั่น สามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ตามนโยบาย “Cancer Anywhere มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม”

ช่วยลดการรอตรวจ รอรักษา ลดขั้นตอนให้ง่ายขึ้น เพื่อให้รับการรักษามะเร็งได้เร็วขึ้น

Cancer Anywhere คืออะไร รับบริการอย่างไร
คลิกเลย

อยากรู้ว่าเรามีสิทธิบัตรทองไหมนะ

ช่องทางที่ 1 : ติดต่อด้วยตนเอง ได้ที่สำนักงานเขต กทม. (19 เขต) / สปสช. เขตพื้นที่ 1-13 / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล / โรงพยาบาลของรัฐ

ช่องทางที่ 2 : โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2 ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเครื่องหมาย # (สำหรับคนชอบโทรศัพท์ ช่องทางนี้สะดวกมาก)

ช่องทางที่ 3 : Application “สปสช.” สามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ทั้งระบบ Andriod และ IOS (สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น)
(เมื่อลงทะเบียนติดตั้งแอปพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว สามารถเข้าไปใช้งานฟังก์ชั่น ตรวจสอบสิทธิ์ตนเอง และตรวจสอบสิทธิ์คนในครอบครัวได้ทันที)

ช่องทางที่ 4 : LINE Official Account สปสช. – แอดเป็นเพื่อนง่าย ๆ พิมพ์ค้นหา Line ID @nhso
(ใช้งานง่าย ๆ เพียงเลือกฟังก์ชั่น “ตรวจสอบสิทธิ” และกรอกข้อมูล ก็สามารถตรวจสอบสิทธิได้แล้ว)

ช่องทางที่ 5 : ผ่านทางเว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th
(เข้าเมนูประชาชน เลือกหัวข้อ “ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือคลิกลิงก์นี้ https://eservices.nhso.go.th/eServices/

3 ขั้นตอนควรรู้ ! ก่อนไปใช้สิทธิบัตรทอง

  1. ตรวจสอบสิทธิ : การตรวจสอบสิทธิเป็นขั้นแรกของผู้ใช้สิทธิควรทราบว่าหน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำ ในการรักษาพยาบาลของตนเองอยู่ที่ใด โดยสามารถทำการตรวจสอบสิทธิ โทร 1330 กด 2 ตามด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก (ระบบอัตโนมัติ) หรือ กด 0 ติดต่อเจ้าหน้าที่ 1330 (ตลอด 24 ชม.)
  2. แสดงบัตรประชาชน/สูติบัตร ก่อนใช้สิทธิทุกครั้ง : ปัจจุบันการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) ใช้ “บัตรประชาชน” เพียงใบเดียวเพื่อแสดงตนก่อนการใช้สิทธิ (กรณี เป็นเด็กเล็กใช้สูติบัตรแทน)
  3. ไปรับบริการที่ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ก่อนทุกครั้ง : ในปัจจุบันผู้รับบริการจะต้องเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หากมีการวินิจฉัยให้มีการส่งตัวไปรักษาในหน่วยบริการส่งต่อ ทางหน่วยบริการปฐมภูมิจะออกใบส่งตัวเพื่อให้มารักษาตามลำดับ

หน่วยบริการปฐมภูมิ คืออะไร

* นโยบาย Cancer Anywhere ยังไม่ครอบคลุมไปถึงสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ซึ่งทางมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งอยากให้ขยายไปให้ครอบคลุมด้วย
https://www.nhso.go.th/news/2969

สิทธิประกันสังคม

สำนักงานประกันสังคม ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 สามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษามะเร็งได้ตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลตามสิทธิผู้ประกันตน ได้แก่

1. ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ได้แก่ พนักงานประจำ ลูกจ้าง (มนุษย์เงินเดือน) ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

2. ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ได้แก่ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาจากอาชีพเดิมแต่ยังต้องการสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมไว้

สำหรับผู้ที่มีสิทธิประกันสังคม และตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น

  • โดยสถานพยาบาลที่เลือกไว้จะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการรักษา และจะไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน
  • ยกเว้นมีค่าใช้จ่ายในการบริการด้านอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือสิทธิประกันสังคม เช่น การใช้ยาที่อยู่นอกบัญชียาหลัก ที่จะทำให้สิทธิการรักษามะเร็งขั้นพื้นฐานไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายยาในส่วนนี้ 

อยากรู้ว่าเรามีสิทธิประกันสังคมไหม

ตรวจสอบสิทธิประกันสังคมได้ที่   https://www.sso.go.th/wpr/main/login

รักษามะเร็งอะไรได้บ้าง

{ ประกาศเมื่อ 13 มีนาคม 2563 }
เพิ่มเติมหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน สำหรับการรักษาโรคมะเร็งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ดังนี้

การรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิดดังต่อไปนี้ จะต้องให้การรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) และให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่กำหนดไว้ในแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแนบท้ายประกาศตามเอกสารนี้

  1. โรคมะเร็งเต้านม
  2. โรคมะเร็งปากมดลูก
  3. โรคมะเร็งรังไข่
  4. โรคมะเร็งมดลูก
  5. โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก
  6. โรคมะเร็งปอด
  7. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ใหญ่ตรง
  8. โรคมะเร็งหลอดอาหาร
  9. โรคมะเร็งตับ และท่อน้ำดี
  10. โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  11. โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  12. โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  13. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ในผู้ใหญ่
  14. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่
  15. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่
  16. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่แบบ Acute Promyelocytic leukemia (APL)
  17. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่
  18. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมาในผู้ใหญ่
  19. โรคมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ในผู้ใหญ่
  20. โรคมะเร็งเด็ก

กรณีการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิดนี้ ที่ไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) และมีความจำเป็นที่ต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี

กรณีการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นนอกเหนือจากโรคมะเร็ง 20 ชนิดนี้ ที่มีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี

ทั้งนี้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถตรวจสุขภาพประจำปีฟรี ในสถานพยาบาลตามสิทธิที่ของผู้ประกันหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมที่ใดก็ได้ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน เป็นอีกหนึ่งการดูแลสุขภาพที่ช่วยให้รู้เท่าทันโรค

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการรักษามะเร็งแต่ละชนิด (Protocol) คลิกเลย

สิทธิข้าราชการ

สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่เป็นข้าราชการ  เมื่อต้องการใช้สิทธิ มีขั้นตอน ดังนี้ 

  1. ตรวจสอบสถานพยาบาล : ผู้ป่วยต้องไปตรวจสอบสถานพยาบาลก่อน รวมถึงโรคที่จะรักษาและประมาณการส่วนร่วมจ่ายก่อน โดยสามารถตรวจสอบได้ที่หัวข้อ รักษาพยาบาล ในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง
  2. ติดต่อสถานพยาบาลที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดยสถานพยาบาลจะสรุปรายการส่วนเกินที่ต้องชำระ หรือส่วนที่เบิกกรมบัญชีกลางไม่ได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยตกลงเข้ารับการรักษา จะต้องลงนามในหนังสือเพื่อยืนยัน แต่ถ้าหากไม่ประสงค์ที่จะเข้ารับการรักษา ก็สามารถปฏิเสธได้ด้วยเช่นกัน 
  3. กรณีมีส่วนเกินที่ต้องชำระเอง กรณีมีรายการส่วนเกินที่ต้องชำระ เมื่อออกจากสถานพยาบาล สถานพยาบาลนั้นจะเรียกเก็บส่วนเกินจากผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถนำใบเสร็จรับเงินมาเบิกจากทางราชการได้ ส่วนที่เบิกได้นั้นสถานพยาบาลจะวางเบิกจากกรมบัญชีกลางโดยตรง 

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

ตรวจสอบสิทธิการรักษา ได้ที่ไหน

ตอบ : คลิกที่แต่ละสิทธิได้เลย สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ

ค่ารักษาโรคมะเร็ง เท่าไรนะ

ค่ารักษาจาก รพ.เอกชน รพ.รัฐ ศูนย์แพทย์ คลินิก ฯลฯ

ค่ารักษาในโรคมะเร็งนั้นมักจะสูงตามกระบวนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้รังสีบำบัด หรือการใช้เคมีบำบัด เพราะยาบางตัวมีค่าใช้จ่ายสูง หากเป็นผู้ที่มีสิทธิรักษาพยาบาลในประเทศไทย สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือที่รู้จักกันในนาม “สิทธิ 30 บาท” หรือ “สิทธิบัตรทอง” สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม ก็จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาได้ หากผู้ที่ไม่มีสิทธิ หรือมีความประสงค์จะเลือกทางรักษาตามความต้องการของตนเอง เราขอยกตัวอย่างค่ารักษาพยาบาลจาก สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรคพยาบาลเอกชน มาไว้ให้ดูกัน

ตัวอย่างค่ารักษา

ค่าฉายรังสี รพ.จุฬา https://www.chulacancer.net/services-list-page.php?id=514

ผ่าตัดก้อนเต้านม รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง https://www.namarak.com/breast/detail/3 

ค่ารักษาของวิธีรักษาต่างๆ https://ifwd.fwd.co.th/blog/cancer-cost/

รักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ?

ข้อดีของโรงพยาบาลของรัฐบาลคือมีค่ารักษาที่ถูกกว่าและมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย แต่ก็อาจจะต้องรอคิวเพื่อรับการรักษาเนื่องจากปริมาณผู้ป่วยค่อนข้างสูง ทำให้บ่อยครั้งด้วยความจำเป็นในชีวิตประจำวันและความเร่งด่วนในการรักษาทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวตัดสินใจเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีค่ารักษาที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล 2.5-7 เท่า และค่ายามีราคาที่สูงกว่า 40-600 เท่าเลยทีเดียว

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

  1. ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง ใกล้ที่ไหนฉายรังสีรักษาได้ที่นั่น ลดเวลารอคอย การรอคิวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เริ่ม 1 ม.ค.64 พร้อมพัฒนายกระดับสิทธิอื่นๆ ในอนาคต สนใจอ่านเพิ่มเติม คลิกเลย
  2. ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม, 13 มีนาคม 2563, https://rkj.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/058/t_0011.pdf
  3. มูลนิธิเครือข่ายมะเร็งเชียร์นโยบาย ‘รักษาที่ไหนก็ได้’ สร้างมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน, https://www.nhso.go.th/news/2969
-+=