5 ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดทวารเทียม

5 ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดทวารเทียม

‘ทวารเทียม’ คือการผ่าตัดเปิดลำไส้เพื่อให้สามารถขับถ่ายอุจจาระออกมาทางหน้าท้องได้ โดยมีอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย 2 ประเภท คือถุงชนิดชิ้นเดียว (แป้นกับถุงติดกัน) กับถุงชนิด 2 ชิ้น (แป้นกับถุงแยกกัน)

ซึ่งหากมีการดูแลทวารเทียมของตนอย่างไม่ถูกวิธี ก็อาจนำไปสู่ ‘ภาวะแทรกซ้อน’ ต่าง ๆ ได้
วันนี้ #ลำไส้ศาสตร์ จึงขอมาแนะนำวิธีป้องกัน 5 ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดทวารเทียมค่ะ 🌷😙

1️⃣ ทวารเทียมเป็นแผล มีเลือดออก

สาเหตุคือ

ที่พบบ่อยๆ คือเกิดจากการตัดช่องเปิดแป้นแคบเกินไป พอขนาดไม่พอดีกัน เมื่อปิดแป้นก็จะเสียดสี เพราะมีการขยับเขยื้อน/กระทบกระแทกกับทวารเทียมจนเกิดแผลที่ตัวทวารเทียม หรืออาจเกิดจากการใช้มีดโกน โกนขนย้อนศรรอบทวารเทียมทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบ หรือเป็นแผลที่ตัวทวารเทียม

🐥 ป้องกันได้โดย

  • ทำความสะอาดทวารเทียมอย่างนุ่มนวล ซับเบาๆ ถ้ามีเลือดออกง่าย ควรใช้คัตตอนบัตชุบน้ำบีบหมาด กดที่แผลไว้ 2-3 นาที เลือดก็จะหยุดไหล
  • ใช้ถุงที่ด้านในมีความลื่นมารองรับอุจจาระ เพื่อให้อุจจาระไหลลงถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ติดค้างที่ทวารเทียม ส่งผลให้ทำความสะอาดทวารเทียมได้ง่าย
  • อาจเปลี่ยนขนาดแป้นให้ใหญ่ขึ้นหากทวารเทียมบวมขึ้น หรือตัดรูแป้นให้กว้างขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ปิดแป้นสะดวก
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือท่า sex ที่ทำให้เกิดการกระทบกระแทกทวารเทียม
  • ไม่ใช้มีดโกนโกนขนรอบทวารเทียม เปลี่ยนมาใช้กรรไกรปลายมน หรือเครื่องโกนขนไฟฟ้าแทน

2️⃣ ผิวหนังรอบทวารเทียมระคายเคือง เป็นแผล

สาเหตุคือ

  1. น้ำอุจจาระรั่วซึมออกมาสัมผัสผิวหนังรอบทวารเทียมอยู่บ่อยๆ จนระคายเคือง ซึ่งอาจเกิดจาก
    • การตัดช่องเปิดแผ่นแป้นกว้างเกินว่าทวารเทียม
    • ทากาวกว้างเกินไปทำให้น้ำอุจจาระขังใต้แป้น
    • การติดแป้นโดยไม่แนบสนิทกับผิวหน้าท้อง
    • น้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้รูปทรงหน้าท้องเปลี่ยนไป หรือผิวหน้าท้องยังไม่แห้งดี จนติดแป้นยาก
  2. การเปลี่ยนอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายบ่อยๆ (ท้องเสียก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อยขึ้นด้วย)
  3. การลอกแผ่นแป้นเร็ว/แรงเกินไป อาจทำให้ผิวหนังถลอก
  4. หากมีขนยาวรอบทวารเทียม และไม่ตัดให้เรียบร้อยเสียก่อน ทำให้แป้นทวารเทียมรั่วซึม และอาจเกิดรูขุมขนอักเสบ

🐥 ป้องกันได้โดย

  • ตัดขนาดช่องเปิดแป้นให้พอเหมาะ (ไม่ควรใหญ่กว่าทวารเทียมมากกว่า 2-3 มิลลิเมตร)
  • ไม่ทากาวใต้แป้นกว้างเกินไป (ประมาณครึ่งเซนติเมตรกำลังพอดี)
  • อย่าให้น้ำอุจจาระขังอยู่ใต้แป้นนานเกินไป
  • เปลี่ยนแป้นเท่าที่จำเป็น ไม่ลอกออกบ่อย เพื่อไม่ให้เสี่ยงเกิดแผลที่ผิวรอบทวารเทียม
  • รับประทานอาหารที่สะอาด ไม่ทำให้ท้องเสีย

3️⃣ ทวารเทียมอุดตัน

สาเหตุคือ

เกิดจากการอุดตันของอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ถั่วต่างๆ คะน้า ข้าวกล้อง ข้าวโพด เป็นต้น

🐥ป้องกันได้โดย

  • (สำหรับผู้ที่มีทวารเทียมลำไส้เล็ก) ควรกินอาหารอ่อนๆ 6-8 สัปดาห์หลังผ่าตัด จากนั้นค่อยเริ่มกินอาหารที่มีเส้นใยสูง โดยเริ่มละนิด แล้วค่อยเพิ่มปริมาณมากขึ้น
  • หมั่นเดินหรือออกกำลังกาย
  • กินอาหารอ่อน รสไม่จัด ไม่ผ่านการทอดหรือผัด
  • กินอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด
  • ดื่มน้ำมากๆ
  • ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไส้เลื่อนข้างทวารเทียม หรือหากเป็นแล้วก็ระวังไม่ให้อาการรุนแรงจนลำไส้อุดตัน

4️⃣ ทวารเทียมตีบ

สาเหตุคือ

เกิดจากการดูแลทวารเทียมผิดวิธี ทำให้มีแผลที่ทวารเทียมบ่อยๆ จนเกิดพังผืด และทำให้ทวารเทียมตีบในที่สุด

🐥 ป้องกันได้โดย

ไม่ทำให้ทวารเทียมเกิดแผลอยู่บ่อยๆ เช่น ตัดขนาดช่องแป้นให้พอเหมาะ จะได้ไม่เสียดสี/กระทบกระแทกจนเกิดแผล และวิธีอื่นๆ ที่ได้แนะนำไปข้างต้น

5️⃣ ภาวะไส้เลื่อนข้างทวารเทียม

สาเหตุคือ

เกิดจากการที่ส่วนของลำไส้ยื่นเข้าไปในช่องทวารเทียม เนื่องจากการที่ไม่กำหนดตำแหน่งเปิดทวารเทียมให้ตรงกับบริเวณกล้ามเนื้อซิกแพค และการมีผนังหน้าท้องอ่อนแอ

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นไส้เลื่อนข้างทวารเทียม ได้แก่

  • อายุมากกว่า 60 ปี
  • อ้วน
  • ไอเรื้อรัง หรือไอแรงอยู่บ่อยๆ
  • เป็นโรคหอบหืด
  • ต่อมลูกหมากโต
  • หรือออกแรงยกของหนักมากเกินไป ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังผ่าตัด

🐥ป้องกันได้โดย

  • ใช้มือ/หมอนประคองแผลและทวารเทียม ในช่วงแรกหลังผ่าตัด
  • ไม่ออกกำลังกาย/ยกของหนัก ช่วง 2-3 เดือนแรกหลังผ่าตัด
  • (สำหรับผู้มีความเสี่ยงข้างต้น) ใช้ผ้ายืดรัดหน้าท้องเมื่อลุกทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 1 ปีหลังผ่าตัด สามารถถอดออกได้เวลานอน
  • งดสูบบุหรี่ เพราะทำให้ไอได้
  • รักษาโรคที่เป็นต้นเหตุของไส้เลื่อนข้างทวารเทียม
  • รักษาน้ำหนักให้คงที่ ไม่อ้วน/ผอมเกินไป
  • หลังแผลหายดี ควรบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องให้แข็งแรง อย่างน้อย 1 ปี

#ลำไส้ศาสตร์ ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำหรับผู้ที่ใช้ทวารเทียมอยู่นะคะ การดูแลรักษาทวารเทียมให้ถูกวิธีนั้นไม่ยากอย่างที่คิด ขอเพียงแค่มีความใส่ใจนิด ๆ แล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้ดีแน่นอนค่า 💗

แหล่งอ้างอิง

เพจ ลำไส้ศาสตร์

บุญชื่น อิ่มมาก. (2016). การดูแลตนเองเมื่อมีทวารใหม่ระบบทางเดินอาหาร. ออสโตมี คลินิก กลุ่มภารกิจบริการวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี.http://www.rajavithi.go.th/…/cd1eb4bc7864844e1af652812e….

สมพร วรรณวงศ์. (2009). คู่มือการดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดทวารเทียม. ฝ่ายบริการพยาบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. http://medinfo2.psu.ac.th/…/data/news/colostomy_2.pdf…

สมพร วรรณวงศ์. (2013). การดูแลตนเองของผู้ที่มีทวารเทียม. ConvaTec. http://medinfo2.psu.ac.th/…/data/news/colostomy_1.pdf…

Diet Guidelines for People With a Colostomy. (2021). Memorial Sloan Kettering Cancer Center. https://www.mskcc.org/…/diet-guidelines-people-colostomy

-+=