มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma หรือ MM)

มะเร็งไขกระดูก

เรียกได้หลายแบบ

“มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา”
เรียกกันไปหลายแบบ ดังนี้

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา
  • มะเร็งไขกระดูก มัลติเพิล มัยอิโลมา
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว MM หรือ มะเร็งไขกระดูก MM
  • โรคมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple myeloma หรือ MM) บ้างก็เรียกสั้นๆ ว่า โรคเอ็มเอ็ม

Myel(o)- เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่แปลว่า ไขกระดูก

ไขกระดูก มีในกระดูกบางแห่งของร่างกาย
มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด

หน้าที่ของไขกระดูก เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

เริ่มรู้จักกัน

โรคมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple myeloma หรือ MM) คืออะไร

โรคมัลติเพิลมัยอิโลมา หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา เป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่เกิดจากการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า พลาสมาเซลล์ (plasma cell) ในไขกระดูก ทำให้มีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาในกระแสเลือด (Monoclonal protein หรือ เอ็ม-โปรตีน) ทำให้มีอาการได้แก่ ซีด ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ไตวาย ระดับแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

การที่เซลล์มะเร็งสร้างเอ็ม-โปรตีนออกมาในเลือดมากมายนี่เอง จึงใช้เป็นตัววินิจฉัยโรคได้ โดยเราสามารถตรวจพบเอ็ม-โปรตีนได้โดยวิธีการตรวจแยกโปรตีนทางห้องปฏิบัติการ (Electrophoresis)

ซึ่ง M-protein ที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น เป็นตัวที่ใช้ตรวจชี้วัดการเป็นโรคมะเร็ง และใช้ติดตามการรักษาโรคด้วย โดยเราสามารถตรวจพบเอ็ม-โปรตีนได้โดยวิธีการตรวจแยกโปรตีนทางห้องปฏิบัติการ (Electrophoresis)

พลาสมาเซลล์ มีหน้าที่อะไร

พลาสมาเซลล์ เป็นกลุ่มของเซลล์เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย โดยภูมิคุ้มกันนี้เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ป้องกันและจัดการเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่เข้ามาในร่างกาย

เมื่อพลาสมาเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งแล้วจะไม่สามารถสร้างสารภูมิคุ้มกันออกมาได้ แต่จะสร้างโปรตีนชนิดเดียวกันที่เรียกว่า เอ็ม-โปรตีน ออกมาแทน รวมทั้งพลาสมาเซลล์จะหลั่งสารเคมีหลายชนิดออกมา ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลทั้งต่อไขกระดูกเองและอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย

ลักษณะการก่อโรค

มีลักษณะเป็นการกลายพันธุ์หลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน โดยเมื่อเกิดกลายพันธุ์ครั้งแรกก็จะคงอยู่ต่อเนื่องเรื่อยๆ จากนั้นจึงกลายพันธุ์ครั้งที่ 2 และ 3 ในลักษณะที่มีความสะเปะสะปะมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น สร้างเส้นเลือดเยอะขึ้น จนสุดท้ายโรคก็จะกระจายเข้าสู่เส้นเลือด เป็นช่วงระยะสุดท้ายของการก่อโรค

สาเหตุ / ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรค มีสมมติฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมบางอย่างได้

สารเคมี และสารรังสี

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่เคยมีรายงานได้แก่ การทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช และสารเคมีบางชนิด การใช้ยาย้อมผม การสัมผัสกับสารรังสี

มีรายงานจากผู้รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีอุบัติการณ์ (อัตราการเกิดโรคของประชากร / จำนวนผู้ป่วยมากขึ้น) ของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซลล์สูงขึ้น ประกอบกับพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งทำอาชีพที่ใกล้ชิดกับสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลง (เกษตรกร)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปัจจัยใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว MM เบื้องต้นมีการสันนิษฐานว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น

มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสารเคมี คือ สารเคมีอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสารพันธุกรรมได้ จึงทำให้เกิดเซลล์ชนิดร้ายกลายเป็นเซลล์มะเร็งในไขกระดูก เกิดเป็นมะเร็งไขกระดูก MM ในที่สุด

ติดเชื้อไวรัสบางชนิด

การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัส HIV, Herpes virus 8 เนื่องจากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมในพลาสมาเซลล์ได้

ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ไหม

ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดพลาสมาเซลล์สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่พบมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ในครอบครัวเดียวกันหลายครอบครัวโดยพบระหว่างพ่อหรือแม่กับลูก หรือระหว่างลูกพี่ลูกน้อง

พบเยอะแค่ไหน

  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิล มัยอิโลมา มักพบในผู้สูงอายุ โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 62 ปี พบน้อยในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยได้ในช่วงอายุ 20-96 ปี
  • อัตราส่วนของผู้ป่วยชายต่อผู้ป่วยหญิงคือ 1.2 : 1
  • พบผู้ป่วยใหม่ 300-400 รายต่อปี จากข้อมูลของชมรมโรคมัยอิโลมาแห่งประเทศไทย
  • ในเอเชียพบผู้ป่วยโรคนี้ 1-2 คนต่อแสนคน และในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยโรคนี้รายใหม่ราว 10 คนต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี

มะเร็งไขกระดูก MM มีกี่ชนิด

มะเร็งไขกระดูก MM แบ่งตามชนิดของโปรตีนที่สร้างจากพลาสมาเซลล์ ซึ่งเป็นโปรตีนในร่างกายเราที่เป็นภูมิคุ้มกัน (Immunoglobulin)

65% ของผู้ป่วยจัดเป็นชนิด IgG (อ่านว่า ไอจีจี) รองลงมาคือชนิด IgA ส่วนชนิดที่เหลืออันได้แก่ IgM, IgD และ IgE พบได้น้อยมาก

มะเร็งไขกระดูก MM แต่ละชนิดจะมีลักษณะพิเศษต่างกันไป เช่น ชนิด IgA จะแสดงออกในรูปของก้อนมะเร็งภายนอกกระดูกได้ ส่วนชนิด IgD มักพบการทำไตบ่อยกว่าชนิดอื่น

อาการของมะเร็งไขกระดูก MM

กลไกการเกิดโรค

ในภาวะปกติพลาสมาเซลล์มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกัน (Immunoglobulin) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง (แอนติบอดี – Antibody) ให้แก่ร่างกาย โปรตีนนี้มีหน้าที่ป้องกันและจัดการกับการติดเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่เข้ามาในร่างกาย เมื่อพลาสมาเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งแล้ว จะไม่สามารถสร้างสารภูมิคุ้มกันออกมาได้ แต่จะสร้างโปรตีนที่เรียกว่า เอ็ม-โปรตีน (Monoclonal protein) ออกมาแทน รวมทั้งพลาสมาเซลล์จะหลั่งสารเคมีหลายชนิดออกมา ทำให้ส่งผลทั้งต่อไขกระดูกเองและอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย

สังเกตอาการ

เนื่องด้วยเอ็มโปรตีนรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ และมะเร็งพลาสมาเซลล์หลั่งสารเคมีหลายชนิดออกมา จึงทำให้อาการผิดปกติที่สามารถสังเกตได้ดังนี้

  • ซีด อ่อนเพลีย (โลหิตจาง)
  • เลือดออกผิดปกติ (เกล็ดเลือดลดลง)
  • ปวดกระดูก
  • กระดูกหักโดยไม่มีสาเหตุที่เหมาะสม (เช่น อุบัติเหตุที่กระดูกไม่น่าจะหัก แต่ทำไมกระดูกหักได้ง่าย)
  • อาการของแคลเซียมในเลือดสูง ได้แก่ ซึม สับสน ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย ฯลฯ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • บางครั้งพลาสมาเซลล์ที่เป็นมะเร็ง สามารถพบเป็นก้อนมะเร็งภายนอกไขกระดูกได้ เรียกว่า พลาสมาไซโตมา (Plasmacytoma) โดยตำแหน่งที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลัง กระดูกสันอก ซี่โครง

ผลต่ออวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกาย แบ่งตามระบบอวัยวะ

ผลต่อไขกระดูกและระบบเลือด

พลาสมาเซลล์ที่เติบโตผิดปกตินั้นจะเกิดขึ้นในไขกระดูก

ซึ่งไขกระดูกมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่บริเวณนี้ จะส่งผลให้ร่างกายขาดเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะความผิดปกติตามมา

  • เซลล์ที่สร้างเม็ดเลือดขาวลดลง จะทำให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อง่าย หายยาก
  • เซลล์ที่สร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง จะเกิดอาการซีด อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
  • เซลล์ที่สร้างเกล็ดเลือดลดลง จะเกิดภาวะเลือดออกง่าย เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ซึ่งทำให้เลือดหยุดไหล
  • เลือดข้นหนืด เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตัน เมื่อพลาสมาเซลล์เหล่านี้มีมากขึ้น จะสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นโปรตีนที่มากเกินไป ทำให้เลือดมีลักษณะข้นหนืด จนก่อให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามมาได้ หากอุดตันที่สมอง จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ และเมื่อโปรตีนเหล่านี้ถูกขับออกที่ไต ก็อาจจะทำให้เกิดการอุดตันที่ท่อไตอาจส่งผลให้ไตวายได้ในที่สุด

ผลต่อไต

สารเอ็ม-โปรตีนที่ผลิตจากมัยอิโลมาเซลล์และแคลเซียมที่สูงขึ้นในกระแสเลือดส่งผลให้ไตทำงานมากขึ้น จนเกิดภาวะไตวายได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะน้อยลง บวม อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน

ผลต่อกระดูก

ปวดกระดูก กระดูกหักง่าย จากการที่เซลล์มะเร็งหลั่งสารเพิ่มสลายกระดูกและลดการสร้างกระดูก นอกจากนี้ทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง ทำให้มีอาการซึมได้ 

  • มัยอิโลมาเซลล์เข้าไปในกระดูกรวมทั้งหลั่งสารบางชนิด จะไปรบกวนกระบวนการเจริญและซ่อมแซมของกระดูก ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกหัก กระดูกผุได้
  • มีการสร้างสารเคมีชนิดหนึ่งที่ไปกระตุ้นการสร้างเซลล์ชนิดที่ทำลายกระดูก ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้

อาการปวดหลังหรือปวดกระดูกอย่างไร ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิโลมา

แพทย์จะสงสัยโรคนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังหรือปวดกระดูกเรื้อรัง รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจมีอาการปวดในช่วงกลางคืน ร่วมกับอาการอื่นของโรคโดยเฉพาะอาการซีด อ่อนเพลีย ทำการตรวจเลือดแล้วพบว่า มีภาวะไตวาย ระดับแคลเซียมสูง หรือมีโปรตีนในเลือดสูงกว่าปกติ ทำการเอ็กซเรย์กระดูกพบความผิดปกติที่เข้าได้กับโรค นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วมของโรคมะเร็งทั่วไปเช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ในกรณีที่มีกระดูกหักในตำแหน่งซึ่งพบไม่บ่อยหรือไม่สัมพันธ์กับอุบัติเหตุก็จะทำให้สงสัยโรคนี้เช่นกัน

อะไรเกิดขึ้นในร่างกาย เมื่อพลาสมาเซลล์เพิ่มขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อพลาสมาเซลล์เพิ่มขึ้น
สาเหตุอาการ
โลหิตจางเซลล์สร้างเม็ดเลือดแดงมีจำนวนลดลง

จากการที่เซลล์มะเร็งไปแทนที่เซลล์เม็ดเลือดแดงปกติในไขกระดูก และหลั่งสารซึ่งลดการสร้างเม็ดเลือดแดง 
 • อ่อนเพลีย
 • เหนื่อยง่าย
กระดูกถูกทำลาย
 • กระดูกพรุน
 • กระดูกหัก
พลาสมาเซลล์ไปกระตุ้นเซลล์ที่มีหน้าที่ทำลายกระดูก และยับยั้งเซลล์สร้างกระดูก • ปวดกระดูก
 • กระดูกหัก กระดูกผุ หรือมีการยุบตัวลงของกระดูกสันหลัง
ภาวะแคลเชียมในเลือดสูง
กระดูกที่ถูกทำลายจะปล่อยแคลเซียมออกมาในกระแสเลือด • ภาวะขาดน้ำ
 • กระหายน้ำ
 • อ่อนเพลีย
 • เหนื่อยง่าย
 • ซึม สับสน
 • มีอาการท้องผูก
ภาวะโปรตีนในเลือดสูงขึ้น
พลาสมาเซลล์สร้างสารเอ็ม-โปรตีน • ไตวาย 
 • ขาบวม
 • ซีด
การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
พลาสมาเซลล์ยับยั้งการสร้างภูมิคุ้มกันปกติของร่างกาย • ติดเชื้อง่าย
 • ใช้เวลานานในการหายจากการติดเชื้อ

ระยะของโรคมะเร็งไขกระดูก MM (Staging)

การแบ่งระยะของมะเร็งไขกระดูก MM มีความสัมพันธ์กับจำนวนเซลล์มะเร็งในร่างกายและผลของตัวมะเร็งเอง ซึ่งมีผลต่อแนวทางการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย

แบ่งระยะตามระบบ R-ISS

พบว่ามีปัจจัยที่สามารถพยากรณ์โรคได้แม่นยำมากกว่าเมื่อก่อน คือ ผู้ป่วยที่มีค่าแอลดีเอช (Lactate dehydrogenase; LDH) สูงกว่าปกติ และผู้ป่วยที่ตรวจการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแล้วพบมีการเปลี่ยนแปลงบางชนิดที่มีความเสี่ยงสูงมักไม่ตอบสนองต่อการรักษา จึงได้จัดระยะโรคอีกแบบหนึ่งเรียกว่า Revised International staging system (R-ISS) ดังนี้

ระยะโรคค่าตัวแปร
ระยะที่ 1ไม่พบมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมแบบความเสี่ยงสูง และ มีค่า LDH ปกติ
ระยะที่ 2ค่าอยู่ระหว่างระยะที่ 1 และ ระยะที่ 3
ระยะที่ 3พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมแบบความเสี่ยงสูง หรือ มีค่า LDH สูง

แบ่งระยะตามระบบเดิม ISS

การแบ่งระยะของมะเร็งไขกระดูก MM ระบบเดิมเรียกว่า International staging system (ISS) ซึ่งอาศัยตัวแปร 2 ชนิด ได้แก่ ระดับอัลบูมิน (Albumin) และระดับเบตาทูไมโครโกลบูลิน (Beta 2 microglobulin) ในเลือด แบ่งออกเป็น

ระยะโรคค่าตัวแปร
ระยะที่ 1ระดับอัลบูมิน >= 3.5 กรัมต่อเดซิลิตร
ระดับเบตาทูไมโครโกลบูลิน < 3.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ระยะที่ 2ระดับอัลบูมิน < 3.5 กรัมต่อเดซิลิตร
ระดับเบตาทูไมโครโกลบูลิน <= 5.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ระยะที่ 3ระดับเบต้าทูไมโครโกลบูลิน > 5.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

สิ่งที่บ่งบอกว่า ระยะของโรคน้อยลง

  • ระดับเบตาทูไมโครโกลบูลิน ต่ำลง
  • ระดับอัลบูมิน สูงขึ้น

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาว MM

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการหลากหลายและไม่จำเพาะ เช่น

อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายจากภาวะซีด ไตวาย กระดูกหักง่าย พบก้อนมะเร็งตามร่างกาย เป็นต้น

หากอ่อนเพลีย ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด แล้วพบภาวะซีด ประกอบกับพบว่ามีโปรตีนในเลือดค่อนข้างสูง รวมถึงอาจเจอภาวะไตวาย และแคลเซียมในเลือดสูง ก็เป็นข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคนี้

แต่จะมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมต่อไป เช่น โปรตีนที่ตรวจพบเป็นโปรตีนที่ผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว MM แพทย์จะประเมินความรุนแรงและรักษา โดยประเมินจากอายุ ความพร้อมของร่างกาย และระดับของสารเคมีหรือโปรตีนในเลือดต่อไป

ตรวจวินิจฉัยอย่างไร

  • ตรวจเลือด ได้แก่
    • การตรวจนับเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC): เพื่อประเมินภาวะโลหิตจาง ระดับเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดของผู้ป่วย
    • การตรวจเลือดทางชีวเคมี เพื่อประเมินการทำงานของไตและระดับแคลเซียมในเลือด
    • การตรวจแยกโปรตีน เพื่อดูชนิดของโรคและระดับของเอ็มโปรตีน และอิมมูโนโกลบูลินตัวอื่นๆ รวมไปถึงระดับ Serum free light chain
    • การตรวจระดับเบตาทูไมโครโกลบูลินเพื่อประเมินระยะของโรค
  • ตรวจไขกระดูก : เพื่อตรวจปริมาณของมะเร็งพลาสมาเซลล์ในไขกระดูก และอาจตรวจโครโมโซมเพิ่มเติมเพื่อบ่งบอกถึงการพยากรณ์โรค
  • ตรวจปัสสาวะ : เพื่อประเมินชนิดและปริมาณของโปรตีนที่ผิดปกติในปัสสาวะ
  • ตรวจกระดูก : เพื่อประเมินตำแหน่งและความรุนแรงในกรณีที่โรคมีการทำลายกระดูกร่วมด้วย ได้แก่
    • X-ray : การตรวจเอกซเรย์กระดูก ใช้เป็นการตรวจมาตรฐานเพื่อบ่งบอกถึงความเสียหายของกระดูก ทั้งภาวะกระดูกบางกระดูกหัก หรือกระดูกยุบตัว
    • การตรวจเอ็กชเรย์กระดูกด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่
      • MRI : การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging) พิจารณาในกรณีที่การตรวจเอกซเรย์แบบธรรมดาไม่พบรอยโรคที่ชัดเจน หรือต้องการรายละเอียดและยังสามารถบอกถึงรอยโรคนอกกระดูกได้อีกด้วย
      • CT Scan : การตรวจเอ็กชเรย์ซีทีสแกน (Computerized tomography) เพื่อประเมินรอยโรคในตำแหน่งเล็กๆ เช่น เส้นประสาท
      • การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone density) เพื่อประเมินความรุนแรงของการทำลายกระดูก และประเมินผลหลังการรักษาด้วยการให้ยากลุ่ม bisphosphonate อาจทำในผู้ป่วยบางรายตามดุลยพินิจของแพทย์

มีแนวทางการรักษาอย่างไร

เข้าใจปัจจัยที่ทำให้การรักษาแตกต่างกัน

การพิจารณาแนวทางการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกมีความสำคัญมาก โดยปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการรักษาชนิดใดจะดีที่สุดหรือเป็นวิธีรักษามาตรฐาน ซึ่งแนวทางจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างของผู้ป่วย เช่น

  • ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • ระยะของโรค การดำเนินของโรค
  • อาการของโรค รวมถึงภาวะแทรกซ้อน
  • อายุ สุขภาพของคนไข้ รูปแบบการดำเนินชีวิต และภาวะโรคอื่นๆ ที่เป็นร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยเคยได้รับการรักษาโรคนี้มาก่อนแล้วหรือไม่ ต้องประเมินจากภาวะแทรกซ้อนและโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อนและยาที่ได้รับอยู่ก่อนด้วย

กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการ เช่น Smoldering MM หรือ MGUS ยังไม่ควรได้รับการรักษา แต่จะติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ ทุก 2 เดือน จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการดำเนินของโรคมากขึ้น รวมทั้งภาวะแทรกซ้อน โรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อน และยาที่ได้รับอยู่ก่อน เป็นต้น

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้โรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาหายขาดได้ แต่ถือเป็นโรคที่มีความเจริญก้าวหน้าในการรักษาอย่างก้าวกระโดด และพบว่าผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ชนิดของการรักษา

ชนิดของการรักษาวัตถุประสงค์ตัวอย่างการรักษา
รักษาภาวะแทรกซ้อนของโรคสร้างความสมดุลของระบบเคมีในเลือด และระบบคุ้มกันของร่างกาย • การใช้ยาเพื่อลดระดับแคลเซียมในเลือด
• การฟอกเลือด ในกรณีมีภาวะไตวาย
การรักษาแบบประคับประคองลดอาการจากตัวโรคมะเร็ง และเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วย • การฉายรังสีเพื่อลดการทำลายกระดูก
• การใช้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เพื่อลดภาวะโลหิตจาง
• การผ่าตัดในกรณีที่มีกระดูกหัก
การทำให้โรคอยู่ในระยะสงบเพื่อควบคุมให้มีมัยอิโลมาเซลล์เหลืออยู่ในร่างกายน้อยที่สุด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยหายได้ 100%

แต่พบว่าเมื่อให้การรักษาที่ทำให้โรคสงบทำให้มีมัยอิโลมาเซลล์เหลืออยู่ในร่างกายน้อยมากในระดับไม่สามารถตรวจพบได้ จะใช้เวลานานกว่าที่โรคจะกลับมาอีก เช่น การให้ยากลุ่มใหม่ร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
• การใช้ยาเคมีบำบัดหรือยากลุ่มใหม่เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
• การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหลังจากให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง
• การฉายแสงในกรณีที่เซลล์มะเร็งรวมกันเป็นก้อน

การรักษาโรคมัลติเพิลมัยอิโลมา แบ่งออกเป็น

  1. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยากลุ่มใหม่/ยามุ่งเป้าต่างๆ
  2. การฉายรังสี
  3. การให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
  4. การรักษาเพื่อควบคุมโรคให้สงบต่อไป (maintenance therapy)
  5. การรักษาประคับประคองอาการอื่นที่เกิดจากโรค

โดยการรักษาหลักเป็นการให้ยาเคมีบำบัด โดยจะพิจารณาขึ้นกับอายุและสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก

ดูรายละเอียดการรักษา สูตรยาเคมีบำบัด ข้อควรระวัง และผลข้างเคียง

ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ระหว่างการรักษา

ป้องกันการติดเชื้อ

ดื่มน้ำให้พอ

เก็บข้าวของให้เรียบร้อย

ดูแลร่างกายให้แข็งแรง

มีใจที่เบา

สะอาด ป้องกันการติดเชื้อได้

  • รับประทานอาหารที่สุกและสะอาด
  • หายใจสะอาด : หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดหรือใกล้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ (แม้จะแค่ไอหรือจามธรรมดา) ใส่หน้ากากอนามัยในกรณีที่ไปในที่ชุมชน
  • ผิวหนังและทวารสะอาด : รักษาความสะอาดของผิวหนัง และทางเข้าต่างๆของร่างกาย เช่น ช่องปาก ทางเดินปัสสาวะ ทวารหนัก เป็นต้น

ดื่มน้ำ ออกกำลังกาย ทางเดินปลอดภัย เหงือกฟันดี

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

เพื่อลดความเสี่ยงที่ไตวายมากขึ้นจากเอ็ม-โปรตีนคั่งที่ไต เช่น 2-3 ลิตรต่อวัน กรณีที่แพทย์ไม่ได้จำกัดน้ำ

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

ออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อให้ช่วยพยุงกระดูกไว้

  • รักษาร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังที่เหมาะสม เช่น เดิน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังอย่างหักโหม ระวังการกระแทกในตำแหน่งมีรอยโรคที่กระดูก รวมทั้งระวังการหกล้มเป็นพิเศษ

หมั่นดูแลสุขภาพเหงือกและฟันอยู่เสมอ

ใช้แปรงสีฟันที่มีแปรงอ่อนนุ่ม

กรณีพบความผิดปกติหรือมีแผลเกิดขึ้นในปาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เนื่องจากอาจเป็นผลข้างเคียงหรือข้อห้ามต่อการให้ยาลดการทำลายกระดูก

หากต้องทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์และทันตแพทย์ทราบเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกกรามตายจากยาลดการทำลายกระดูก

ทางเดินปลอดภัย และมีสติ

ปรับปรุงทางเดินในบ้านให้ดี

  • เอาของเกะกะออกไป
  • ติดไฟให้สว่างพอเพียง
  • เอาพรมปูพื้นที่มีขอบให้สะดุดออกไปให้พ้นทางเดิน
  • มีราวให้จับในตำแหน่งที่ควรมี เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ

เนื่องจากมีความเสี่ยงกระดูกหักแม้เป็นอุบัติเหตุเล็กน้อยได้

ทานยาให้ครบ พบหมอเมื่อสมควร แจ้งข้อมูลให้หมอทราบ

ทานยาครบ

ทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบอย่างถูกต้อง และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

เนื่องจากร่างกายมักมีการเปลี่ยนแปลงที่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยามากกว่าคนทั่วไป รวมทั้งยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยาที่กำลังใช้รักษาอยู่และส่งผลเสียต่อการรักษาได้

แจ้งแพทย์ผู้รักษาหากต้องการทานอาหารเสริมหรือสมุนไพร

  • เนื่องจากยาสมุนไพรบางประเภทอาจทำปฏิกิริยากับยาแผนปัจจุบันที่กำลังรักษาอยู่และส่งผลเสียต่อการรักษาได้
  • ไม่ควรรับประทานวิตามินซี ในปริมาณที่สูงกว่า 1,000 มก.ต่อวัน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้
  • การเสริมแคลเซียมไม่เป็นข้อห้าม ให้ปรึกษาแพทย์เป็นรายๆไป เนื่องจากระดับแคลเซียมในเลือดช่วงแรกจะสูง แต่หลังจากรักษาไปแล้วอาจต่ำลงจนต้องการเสริมได้เช่นกัน

หากมีข้อสงสัยเรื่องโรคหรือการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลโดยตรง

เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลของเราดีที่สุด การปรึกษาผู้อื่นหรือแหล่งข้อมูลอื่น ให้ระมัดระวังในด้านความนำเชื่อถือของข้อมูล หรือแม้แต่ข้อมูลนั้นถูกต้อง อาจไม่ตรงกับสภาวะของเราที่จะนำมาใช้ หรือไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกสักคนสองคนดูก็ได้

หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนนัดได้เลย

ในกรณีที่มีอาการผิดปกติ เช่น มีข้อสงสัยว่าติดเชื้อหรือมีความผิดปกติใด ๆ ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนนัด

คนไข้มีหน้าที่ดูแลตัวเอง

.. หมอมีหน้าที่รักษาเรา

.. คนรอบข้างคอยให้กำลังใจ

คุณตั้ว อัครฤกษ์ ไกรฤกษ์

แหล่งข้อมูล

เพื่อนร่วมทาง โรค MM

MM Community

เข้ากลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนกำลังใจ เรียนรู้วิธีการรับมือ และอยู่ร่วมกับมะเร็ง MM

-+=