แนวทางการรักษา และดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง MM

แนวทางการรักษา การดูแลผู้ป่วย
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว MM

แนวทางการรักษาผู้ป่วย

มะเร็ง MM หรือ
มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma)

พิจารณาแนวทางการรักษา

มะเร็ง MM หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) มีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของเม็ดเลือด โดยปกติมะเร็งทางระบบเลือดเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนอาจเข้าใจได้ยาก ในการรักษาจะต้องทำการประเมินว่าตอนนี้โรคทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง เช่น กระดูกผุ แคลเซียมในเลือดสูง ไตพัง ซีด มีก้อนตามตัว ก็รักษาไปตามเหตุ และต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยเพื่อระบุว่าต้องรักษาด้วยการให้ยา หรือจะปลูกถ่าย STEM Cell หรือเซลล์ต้นกำเนิด

รักษาได้ไหม

ทั้งนี้การรักษายังไม่สามารถทำให้เซลล์มะเร็งหมดไป แต่จะทำให้ไปสู่ระยะที่เกิดการหยุดนิ่ง หรือเรียกว่า “โรคสงบ” ได้ และต้องพยายามรักษาภาวะนี้ไว้ให้ได้นานที่สุด ซึ่งหากโรคกลับมาใหม่ก็ต้องมาคำนวณหาแนวทางสูตรในการรักษาที่เหมาะสมตามแต่ละกรณีต่อไปอีกครั้ง

มะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

แนวทางการรักษา

แนวทางการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมาทำได้หลายแบบ และด้วยวิทยาการในปัจจุบันก็ช่วยทำให้การดูแลรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้จะยังไม่อาจหายขาด แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่ในระยะโรคสงบยาวนานกว่า 10 ปีมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

มะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

ประเมินการรักษา

เบื้องต้นหมอจะประเมินก่อนว่าผู้ป่วยแข็งแรงพอที่จะได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะประเมินการให้ยาที่เหมาะสมต่อการประคองการรักษาให้ได้นานที่สุด โดยมีเป้าหมายคือการทำให้ตัวโรคเหลือน้อยที่สุด หรือตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งเลยนั่นเอง

การรักษา

ระยะที่ 1

การให้ยาแบบ Induction คือเป็นยาแรงระดับหนึ่ง เพื่อดึงโรคเข้าสู่ภาวะสงบให้เร็วที่สุด

ระยะที่ 2

ทำการปลูกถ่ายไขกระดูกด้วยเซลล์ตัวเอง ซึ่งจะทำให้ตัวโรคลดลงไปอีก โดยการปลูกถ่ายไขกระดูกยังจัดเป็นแนวทางการรักษาแบบมาตรฐานของทั่วโลกอยู่ ช่วยให้โรคสงบได้มากกว่าคนที่ไม่ปลูกถ่ายราวๆ  2 ปี

ระยะที่ 3

การให้ยาระดับเบาเพื่อคุมโรค (maintenance) ให้มีระยะเวลาประคองระยะการรักษาแบบต่อเนื่องให้ได้นานที่สุด ใช้ในกรณีที่คนไข้ไม่แข็งแรง และไม่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้

มะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

ประเมินการตอบสนองต่อยาอย่างไรได้บ้าง ?

เราสามารถประเมินการตอบสนองต่อยาได้โดยดูจากหลายปัจจัย ได้แก่

  • CRAB (อาการของผู้ป่วยมะเร็ง MM) และสภาพไต
  • ผลเลือด CBC (ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด)
  • ปริมาณโปรตีนที่ตัวมะเร็งสร้าง (M-protein)
  • เจาะไขกระดูเช็คเซลล์มะเร็ง

อย่างไรจึงเรียกว่ามีการตอบสนอง

  • ระดับเอ็มโปรตีนลดลง ซึ่งหมายถึงตัวโรคลดลง ตอบสนองต่อยาตั้งแต่ระดับ 50%, 90%, 100% (SPEP/M-spike)
  • วิธีการดูที่มากขึ้นอีกระดับ คือ การเจาะไขกระดูกเช็คเซลล์มะเร็ง
มะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

อย่างไรจึงเรียกว่าตัวโรคกลับมาเป็นซ้ำ ?

หลังจากโรคสงบลง โดยปกติในการรักษาจะไม่รอให้เกิดอาการ แต่จะ Follow up ติดตามเช็คดูระดับโปรตีนเรื่อยๆ รวมถึงตรวจเลือดทุก 3 เดือน ซึ่งผลเลือดมักจะมีการแปรผัน จึงอาจต้องตรวจดู 2 ครั้งเพื่อเทียบกัน ถ้าโปรตีน SPEP/M-spike เพิ่มขึ้นถึง 25% จะเรียกว่ากลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้การที่โปรตีนเพิ่มขึ้นอาจจะไม่ใช่ตัวโรคกลับมาใหม่เสมอไป

มะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

หากกลับมาเป็นซ้ำแล้วต้องเริ่มรักษาเมื่อไหร่ ?

เมื่อตรวจพบโปรตีนเพิ่มขึ้น อาจจะเริ่มรักษาหรือยังไม่รักษาก็ได้ โดยจะประเมินจาก

  1. มีอาการของ CRAB แค่ไหน
  2. เดิมมีลักษณะที่บ่งบอกว่าตัวโรคดื้อยา หรือเสี่ยงสูง มีไตวาย มีก้อนตามตัว มีลักษณะพันธุกรรมที่ไม่ดีอย่างไร
  3. มีก้อนขึ้นใหม่ในช่วงที่กลับมาเป็นซ้ำ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมาเป็นโรคที่มีรายละเอียดซับซ้อน จึงต้องประเมินจากหลายปัจจัย และควรหมั่นตรจเช็คร่างกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

มะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

การประเมินสำหรับผู้ป่วยที่สร้างเฉพาะ Light chain

Antibody ที่ร่างกายสร้างโดยปกติจะมีแบบ Complete คือสร้างทั้งโมเลกุลใหญ่ แต่ในบางรายจะมีการสร้างเฉพาะ Light Chain ซึ่งการตอบสนองและการประเมินจะยากกว่า คุณหมอแต่ละคนอาจมีข้อสรุปในการเริ่มรักษาไม่เหมือนกันได้ เพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้การแปรผลแตกต่างกันไป

มะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

แนวทางการรักษาโดยทั่วไป

  • เคมีบำบัด
  • ยาพุ่งเป้า เป็นยาที่ตอบสองต่อเซลล์มะเร็งแต่ละประเภทที่มีคุณลักษณะที่เป็นเป้าเฉพาะแตกต่างกัน แต่มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมาเป็นกลุ่มที่มีคุณลักษณะที่เป็นเป้าหลากหลายแบบ (คุณลักษณะของเซลล์มะเร็งมีหลายแบบ) ทำให้อาจต้องใช้ยาหลายตัว
  • ปลูกถ่ายไขกระดูก

แนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง MM (มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา)

ทานสารอาหารครบ

  • เน้นทานอาหารที่มีโปรตีน ไข่ขาว เนื้อปลา นม/นมทางการแพทย์
  • ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร จึงควรดูแลให้ได้รับสารอาหารครบ
  • ปรับอาหารตามภาวะร่างกาย ซึ่งดูได้จากค่าต่างๆ ในผลตรวจ

ทานสะอาด ลดเค็ม

  • อาหาร ผัก ปรุงสุก ผลไม้ปอกเปลือก เน้นดูแลเรื่องความสะอาด เพราะผู้ป่วยจะติดเชื้อง่าย
  • ลดโซเดียม

ทำกิจกรรมที่เหมาะกับปัจจุบัน

  • ระวังกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การสัมผัสกับสัตว์ การสัมผัสดินปลูกต้นไม้ สถานที่ผู้คนพลุกพล่าน
  • ออกกำลังกายแบบพอประมาณ

และ…

  • ปฏิบัติตามข้อต้องห้ามของยาที่ใช้ (สอบถามข้อมูลจากแพทย์ผู้ดูแล)
  • ห้ามใช้ยาสวนถ่าย เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ทำใจให้ผ่อนคลายอยู่เป็นนิจ อย่าให้เครียดเกิน

สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังของบทความนี้

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน รู้ทัน..เข้าใจ..ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma : MM)

โดย อ.พญ. ชุติมา คุณาชีวะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์

-+=