วิธีรักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอิโลมา
การรักษาโรคมัลติเพิลมัยอิโลมา แบ่งออกเป็น
- การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยากลุ่มใหม่/ยามุ่งเป้าต่างๆ
- การฉายรังสี
- การให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
- การรักษาเพื่อควบคุมโรคให้สงบต่อไป (maintenance therapy)
- การรักษาประคับประคองอาการอื่นที่เกิดจากโรค
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือยากลุ่มใหม่ต่างๆ
ปัจจุบันการรักษาด้วยเคมีบำบัดมีหลายสูตรการรักษา ผู้รักษาจะพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการรักษาเทียบกับผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษา รวมทั้งสภาวะความพร้อมของคนไข้และโรคอื่นที่เป็นร่วมด้วยโดยที่สูตรยาต่างๆจะมีมาตรฐานของขนาดยาที่ให้ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับเซลล์ปกติของผู้ป่วยน้อยที่สุดและขณะเดียวกันก็สามารถลดปริมาณเซลล์มะเร็งให้ได้มากที่สุด
สูตรยาต่างๆ จะมีมาตรฐานของขนาดยาที่ให้ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับเซลล์ปกติของผู้ป่วยน้อยที่สุด และสามารถลดปริมาณเซลล์มะเร็งให้ได้มากที่สุดด้วย
ต่อเนื่อง ได้ผลดี
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยากลุ่มใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการตอบสนองที่ดีที่สุด โดยระยะเวลาในการให้ยาอาจติดต่อกันหลายเดือนหรือเป็นปี จนกระทั่งแพทย์เห็นผลการตอบสนองที่น่าพอใจหรือโรคเข้าสู่ระยะสงบ ทั้งนี้มีการเพิ่มตัวยาหรือเปลี่ยนแปลงสูตรยา ในระหว่างการรักษาได้ หากแพทย์ประเมินการตอบสนองของคนไข้แล้วว่าไม่ตอบสนองต่อยาหรือตอบสนองได้ไม่ดี
สูตรยาที่ใช้เป็นทางเลือกในการักษาในปัจจุบันมีดังนี้
สูตรยาเคมีบำบัด/ยามุ่งเป้า | รายละเอียดและข้อแนะนำ | ข้อควรระวัง / ผลข้างเคียง |
---|---|---|
Cy-Dex (ไซ-เด็ก) ประกอบด้วย • Cyclophosphamide (ไซโคลฟอสฟาไมด์) • Dexamethasone (เด็กซาเมทาโซน) | • เป็นยารับประทาน • ให้รับประทานเป็นช่วงๆ เช่น ทาน 4 วัน เว้น 4 วัน โดยทานต่อเนื่องหลายชุดและหลายเดือน • ทานพร้อมมื้ออาหาร • ให้รับประทานเป็นช่วงๆ ร่วมกับยาอื่น | ผลข้างเคียง • คลื่นไส้ อาเจียน (พบไม่บ่อย) • ผิวหนังและเล็บสีดำคล้ำ เยื่อบุช่องปากอับเสบ • กระเพาะปัสสาวะอักเสบและมีเลือดออก • น้ำตาลในเลือดสูง นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ เปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ หากอาการเหล่านี้เป็นมากควรปรึกษาแพทย์ • ควรตรวจสอบวันที่รับประทานยาอย่างถูกต้องอย่างเคร่งครัด • ห้ามรับประทานยาเกินกว่ากำหนด |
MP (เอ็ม-พี) ประกอบด้วย • Melphalan (เมลฟาแลน) • Prednisolone (เพรดนิโซโลน) | • เป็นยารับประทาน • ผู้ป่วยทนต่อยาได้ดี รับประทานยา Melphalan ขณะท้องว่าง (1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือ 2 ชั่วโมง หลังอาหาร) • รับประทานยา Prednisolone พร้อมมื้ออาหาร • เป็นยาที่รับประทานต่อเนื่องหลายชุด และหลายเดือน | • รายงานแพทย์หากมีอาการ: ตาหรือตัวเหลือง ปัสสาวะ อุจจาระเปลี่ยนสี หรือมีผื่นผิดปกติ • ยามีผลต่อไขกระดูก ทำให้อาจมีเม็ดเลือดต่ำหลังได้รับยา และส่งผลต่อการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อปลูกถ่าย จึงไม่ใช้ในผู้ป่วยที่วางแผนปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด |
Bortezomib (บอร์ทีโซมิบ) | • เหนี่ยวนำให้เกิดการสลายของมัยอิโลมาเซลล์ • เป็นยาฉีดใต้ผิวหนังหรือทางเส้นเลือดดำ • ไม่ทำลายเซลล์ต้นกำเนิด ผู้ป่วยจึงมีโอกาสปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดได้ • ให้ยาเป็นชุดๆ ตามช่วงเวลา เช่น สัปดาห์ละ 2 ครั้งติดต่อกัน 2 สัปดาห์ แล้วตามด้วยระยะพักยา 10 วัน ถือเป็น 1 ชุดของวงจรรักษา • ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดและ/หรือเด็กซาเมทาโชน | • ควรตรวจสอบวันที่นัดมาให้ยาอย่างเคร่งครัด • ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย ท้องผูกหรือท้องเสีย ชาตามปลายมือปลายเท้า เกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากมีการปรับขนาดยา และได้รับยาบรรเทาอาการ • พบการติดเชื้องูสวัดได้บ่อย เป็นข้อบ่งชี้ในการให้ยาป้องกันไปอย่างน้อย 3-6 เดือนหลังหยุดยา |
Thalidomide (ทาลิโดไมด์) | • ออกฤทธิ์ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน • เป็นยารับประทาน • ควรรับประทานก่อนนอน หรือ หลังอาหารเย็นอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อลดผลข้างเคียงของอาการง่วงซึม • ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดและ/หรือเด็กซาเมทาโซน | • ผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงซึม ชาตามปลายมือปลายเท้า ท้องผูก หลอดเลือดดำอุดตัน • หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ |
Lenalidomide (เลนาลิโดไมด์) | • เป็นยารับประทานกลุ่มเดียวกับทาลิโดไมด์ • ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดและ/หรือเด็กซาเมทาโซน | • ผลข้างเคียง ได้แก่ เม็ดเลือดขาวต่ำ (ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ) โลหิตจาง หลอดเลือดดำอุดตัน ท้องเสีย ผื่นคัน อาการอ่อนเพลีย หรือรับรสผิดปกติ • หากรู้สึกเหมือนมีไข้ เจ็บคอ หรือมีอาการผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์ |
Carfilzomib (คาร์ฟิวโซมิบ) | • ออกฤทธิ์คล้ายกับยาบอร์ทีโซมิบ • เป็นยาฉีดทางเส้นเลือดดำ • ให้ยาเป็นชุดๆ ตามช่วงเวลา • ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดและ/หรือเด็กซาเมทาโซน | ผลข้างเคียงจากยา พบไม่บ่อยแต่มีความสำคัญ ได้แก่ • ภาวะเป็นพิษต่อหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวเนื่องจากเลือดคั่ง ภาวะหัวใจขาดเลือด • ภาวะแทรกซ้อนของปอด |
Ixazomib (อิซาโซมิบ) | • ออกฤทธิ์คล้ายกับยา Bortezomib • เป็นยารับประทาน • ให้ยาเป็นชุดๆ • ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดและ/หรือเด็กซาเมทาโซน | ผลข้างเคียงจากยาที่พบบ่อย ได้แก่ • เม็ดเลือดขาวต่ำ • ท้องเสียหรือท้องผูก ที่พบน้อย ได้แก่ • อาการบวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก • ผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก • อาการชาหรือปวดแสบร้อนที่มือและเท้า • การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ถ้ามีอาการผิดปกติ พิจารณาปรึกษา แพทย์ |
Daratumumab (ดาราทูมูแมบ) | • เป็นยาแอนติบอดี้ต่อโปรตีนจำเพาะบนผิวพลาสมาเซลล์ • เป็นยาฉีดทางเส้นเลือดดำ • ให้ยาเป็นชุดๆ ตามช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับยาที่ให้ร่วมและรอบรักษา • ใช้เป็นยาเดี่ยว หรือร่วมกับยาเคมีบำบัดและ/หรือเด็กซาเมทาโซน | ผลข้างเคียงจากการรักษา พบไม่บ่อยแต่มีความสำคัญ ได้แก่ ปฏิกิริยาของร่างกายต่อยาในการให้ครั้งแรก เช่น • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก • ความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ หน้ามืด • จุกแน่นในลำคอ • หนาวสั่น มีไข้ ป้องกันโดยการให้ยาช้าๆ ในครั้งแรก |
ฉายรังสี (ฉายแสง)
การรักษา | รายละเอียดและข้อแนะนำ | ข้อควรระวัง |
---|---|---|
การฉายรังสี (เฉพาะที่) | • เพื่อทำลายและลดการเจริญเติบโตของมัยอิโลมาเซลล์เฉพาะที่ • เพื่อลดและรักษาภาวะกระดูกถูกทำลายหรือมีการกดทับของเส้นประสาทที่ไขสันหลัง | ภาวะที่เกิดขึ้นจะสัมพันธ์กับปริมาณรังสีที่ได้รับโดยทั่วไปจะมีระคายเคืองในตำแหน่งที่ฉายแสง เช่น อาการปากแห้ง หรือการรับรู้รสชาติอาหารเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงได้รับรังสี |
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ใครปลูกถ่ายได้บ้าง
การให้เคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากตัวผู้ป่วยเอง (Autologous Stem Cell Transplantation) จะพิจารณาใน
- ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี ที่มีสุขภาพร่างกายพร้อม ไม่มีโรคประจำตัวอื่นร้ายแรง มีการทำงานของระบบไต ปอด และหัวใจที่ดี รวมถึงไม่มีข้อห้ามอย่างอื่น
- อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีที่สภาพร่างกายพร้อม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป
- โดยจะพิจารณาหลังจากที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยากลุ่มใหม่/ยามุ่งเป้าต่างๆ มาในเบื้องต้นแล้ว
ขั้นตอนของการปลูกถ่ายไขกระดูก
- ในลำดับแรก แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดหรือยากลุ่มใหม่ที่ไม่ส่งผลต่อเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูก เพื่อลดจำนวนมัยอิโลมาเซลล์ให้ได้มากที่สุด
- หลังจากที่ได้รับการตอบสนองที่สมบูรณ์ต่อการรักษาด้วยยาในช่วงแรกแล้ว จะมีการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดไว้ก่อน
- และเข้าสู่กระบวนการให้ยาเคมีบำบัดที่มีขนาดสูงเพื่อจะทำลายมัยอิโลมาเซลล์ให้หมดไป
- แล้วจึงจะทำการใส่เซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บไว้กลับไปในร่างกายผู้ป่วยเพื่อทดแทนเซลล์เม็ดเลือดปกติที่จะถูกทำลายไปด้วย
มีความเสี่ยงไหม
การรักษาด้วยวิธีนี้แม้จะเพิ่มโอกาสการตอบสนอง เพิ่มคุณภาพชีวิตและการรอดชีวิตในผู้ป่วย โดยมีผลแทรกซ้อนไม่สูงมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้โรคหายขาดถาวร และมีความเสี่ยงในผู้ป่วยที่สุขภาพไม่แข็งแรงพอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีโรคกลับเป็นซ้ำในช่วง 1.5-3 ปี และอาจต้องปลูกถ่ายมากกว่า 1 ครั้ง
ดังนั้นกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ผู้ป่วยและญาติควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับฟังคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับโอกาส ประโยชน์และความสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการรักษาด้วยวิธีนี้ สำหรับผู้ป่วยที่ได้ผลดีในครั้งแรกและสุขภาพแข็งแรงพอ เมื่อโรคกลับเป็นซ้ำ ก็สามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บไว้มารักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงและปลูกถ่ายซ้ำได้
การรักษาประคับประคองอาการอื่นที่เกิดจากโรค
มีจุดประสงค์เพื่อลดอาการจากตัวโรคมะเร็ง เพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วย และ/หรือป้องกันการเกิดอาการซ้ำ โดยจะทำไปพร้อมๆ กับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
อาการ | วิธีการรักษา |
---|---|
อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เนื่องจากภาวะ โลหิตจาง (ซีด) | • ให้เลือดในกรณีที่โลหิตจางรุนแรง • ใช้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดในกรณีภาวะโลหิตจางเล็กน้อยถึงปานกลาง |
อาการปวดกระดูก | • ใช้ยาลดการทำลายกระดูกทางเส้นเลือดดำ (ควรตรวจผลการทำงานของไตและสุขภาพฟันก่อน) ทั้งเพื่อรักษาอาการและป้องกันการเกิดภาวะกระดูกหักในอนาคต • ระงับอาการปวด เช่น มอร์ฟีนชนิดรับประทาน หรือยาชนิดแปะผิวหนัง เช่น เฟนตานิล • การรักษาอาการปวดกระดูกส่งผลทั้งทางร่างกายในการดำรงชีวิตประจำวันและทางด้านจิตใจ จึงมีความสำคัญ |
อาการจากภาวะไตวาย เช่น อ่อนเพลีย มีเกลือแร่ผิดปกติ บวม | • ให้สารน้ำอย่างเหมาะ ให้ผู้ป่วยได้รับน้ำอย่างเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการและสามารถปัสสาวะออกมาได้อย่างสมดุล ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำจะทำให้เอ็ม-โปรตีนคั่งที่ไต ทำให้การทำงานของไตทำงานลดลงอีก จึงมีความสำคัญมาก • ในทางกลับกันผู้ป่วยที่ไตวายจนไม่สามารถขับน้ำที่รับประทานทิ้งได้จะมีอาการบวม อาจพิจารณาช่วยด้วยการให้ยาขับปัสสาวะ • ให้ยาปรับสมดุลเกลือแร่ • รักษาชดเชยทางไต เช่น การฟอกเลือด ในผู้ป่วยที่ไตไม่สามารถทำงานเอง |
การมีไข้ หรือการติดเชื้อ | • ให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม • ให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวกรณีจำเป็น • ให้สารภูมิคุ้มกัน (Intravenous immunoglobulin; IVIG) ในกรณีติดเชื้อรุนแรง • รีบมาพบแพทย์โดยเร็วกรณีสงสัยว่าติดเชื้อหรือมีไข้ |
แหล่งข้อมูล
- คู่มือผู้ป่วยโรคมัลติเพิลมัยอิโลมา, ชมรมโรคมัยอิโลมาแห่งประเทศไทย
- https://www.thaihealth.or.th/Content/41525-%E2%80%9Cโรคเอ็มเอ็ม”คืออะไรและอันตรายแค่ไหน.html
- https://www.wattanosothcancerhospital.com/cancer-types/multiple-myeloma
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคเอ็มเอ็ม-คืออะไร-และอ/, อ. นพ.สิทธาคม ผู้สันติ, สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- https://drsant.com/2017/10/multiple-myeloma-2.html