เทคนิคการดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ก้าวต่อด้วยพลังบวก

Palliative Care (การดูแลแบบประคับประคอง)

สภาวะรอบตัว สัมพันธ์กับสุขภาพ

ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยความซับซ้อนยุ่งเหยิง ผู้คนในปัจจุบันจึงต้องพบเจอกับปัญหาสุขภาพจิตกันมากมาย ซึ่งภาวะที่เอื้อต่อการเกิดความเครียดความกังวลและสั่งสมอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นสิ่งที่ส่งผลกับสุขภาพทางร่างกายได้โดยตรง ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายไม่ดี และสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย รวมถึงโรคมะเร็ง การดูแลสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรให้ความใส่ใจในการดูแลทั้งกับผู้ป่วยมะเร็งเอง และผู้ดูแล

“สุขภาพจิต” กับ “ความป่วยทางจิต” ไม่เหมือนกันนะ

สุขภาพของจิตใจ เป็นสิ่งที่สามารถดูแลให้เกิดการปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเราเอง

สุขภาพจิต คือ สภาวะของจิตใจ (State of mind) หรือสุขภาพของจิตใจ
เป็นสิ่งที่สามารถดูแลให้เกิดการปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเราเอง
เช่น เราตื่นมาทำอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร สัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมแบบไหน

ความป่วยทางจิต หรือโรคทางจิตต่าง ๆ
เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดในระดับที่ลึกขึ้นไปอีก ซึ่งมีความซับซ้อนของสาเหตุปัจจัย
เป็นสิ่งที่ต้องดูแลรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ดังนั้น สองสิ่งนี้จึงเป็นคนละเรื่องกัน “สุขภาพจิต” จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตเวชเสมอไป และเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่นเดียวกันกับการดูแลสุขภาพกาย

สุขภาพจิตที่ดี เป็นอย่างไรนะ ?

การมีสุขภาพจิตที่ดี มาจากการดูแลตัวเองอย่างรอบด้าน เป็นปัจจัยพื้นฐานในการป้องกันความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

การมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราจะไม่พบเจอกับปัญหาหรือความทุกข์
แต่เป็นสภาวะที่เราสามารถใช้ชีวิตแบบ

“สุขให้เป็น ทุกข์ให้เป็น”

คือเมื่อเจอกับความสุข ก็มีสติ ไม่หลงใหลไปจนถูกครอบงำ
เมื่อเจอกับความทุกข์ ก็มีสติ สามารถมีวิธีรับมือดูแลตัวเองและสถานการณ์นั้นๆ ได้

ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นไปของชีวิตที่ไม่อาจควบคุมได้ทุกอย่าง และไม่มีอะไรแน่นอนเสมอไป ช่วยให้เราไม่จมไปกับความเครียดความกังวลมากเกินไปจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว

เราจะดูแลสุขภาพจิตและรับมือกับสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างไรดี ?

มีหลักสำคัญ 2 อย่างคือ

  • สร้างภูมิคุ้มกันทางใจ
  • สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับตัวเอง

การสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ

ภูมิคุ้มกันทางใจ เป็นเหมือนต้นทุนทางสุขภาพจิตใจที่ดี เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรารับมือเมื่อเจอกับปัญหาได้อย่างดียิ่งขึ้น

เป็นเหมือนต้นทุนทางสุขภาพจิตใจที่ดี เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรารับมือเมื่อเจอกับปัญหาได้อย่างดียิ่งขึ้น แนวคิดหนึ่งที่ช่วยในการดูแลสุขภาพจิตและทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นได้ คือ Positive Psychology ซึ่งใช้วิธีการ “มองจุดที่เป็นบวกในชีวิต เพื่อพัฒนาและเติมสิ่งที่เป็นปัจจัยบวกเข้าไป” ซึ่งจะช่วยทำให้ความหม่นหมองที่มีลดลงได้

เปรียบเหมือนแก้วน้ำที่มีสิ่งขุ่นมัวอยู่ ถ้าเราเติมน้ำที่ดีเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยเจือจางสิ่งที่ขุ่นมัวให้ลดน้อยลงได้ และพยายามไม่รับ toxic เข้ามา แต่ถ้ารับมาแล้วก็เรียนรู้ที่จะล้างออกให้เป็น ไม่ส่ง Toxic หรือพลังงานที่ไม่ดีให้คนอื่นต่อ

HERO แนวทางการเติมภูมิคุ้มกันทางใจ

มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 4 ส่วน ได้แก่

H – Hope : มีความหวัง

มะเร็งรักษาได้ ตามแต่อาการและเหตุปัจจัยของแต่ละคน มีการดูแลตัวเองแบบทางเลือกให้สุขภาพดีขึ้นอีกมาก

และชวนให้ผู้ป่วยมองเห็นสิ่งดีๆ ในชีวิต

มะเร็งรักษาได้ และมีทางเลือก

ทำให้ผู้ป่วยเห็นว่า มะเร็งเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ วิทยาการในปัจจุบันดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มีหลายวิธีการรักษาที่ทำได้ อีกทั้งยังมีการดูแลตัวเองแบบทางเลือกอีกมากมาย ที่จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น

มองเห็นสิ่งดีๆ ในชีวิต

ชวนผู้ป่วยมองถึงสิ่งดีๆ ที่มีในชีวิต ให้เห็นว่า ถ้าเค้าดูแลตัวเองให้ดี ก็จะสามารถทำหรืออยู่กับสิ่งดีๆ ได้อีกหลายอย่าง

E – Efficacy : เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง

ช่วยให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง รวมถึงหมั่นชื่นชมและขอบคุณผู้ป่วยด้วย

ให้ผู้ป่วยเห็นว่า ตัวเขามีความสามารถหลายอย่าง

  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยว่าเค้ามีความสามารถที่ดีหลายอย่าง รวมถึงศักยภาพที่จะดูแลตัวเองให้หายจากความเจ็บป่วยได้ โดยมีคนที่รักและเป็นห่วงเขาคอยช่วยสนับสนุน
  • หากมีความสามารถหรือความสำเร็จที่ผู้ป่วยเคยทำได้ในอดีต ก็สามารถนำมาใช้ในการชื่นชมและเสริมพลังใจให้เขาได้

เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง / เสริมความเชื่อมั่นได้

ความเชื่อมั่นในศักยภาพ เป็นสิ่งที่ได้มาจากการเรียนรู้สั่งสมผ่านประสบการณ์ แม้อาจไม่สามารถทำได้ทันทีในทุกคน แต่เราสามารถค่อยๆ ช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วยได้

โดยอาจเริ่มจากการชวนทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความสำเร็จได้ในแต่ละวัน อาจเป็นกิจกรรม งานอดิเรกที่ผู้ป่วยชอบ หรือการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไปก็ได้เช่นกัน

ชื่นชม / ขอบคุณผู้ป่วย

การชื่นชม/ขอบคุณผู้ป่วยในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน ก็ช่วยเติมกำลังใจและความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วยได้

R – Resiliency : มีความยืดหยุ่นทางจิตใจเมื่อเจออุปสรรค ล้มแล้วลุกได้

ยอมรับ

เมื่อเจอกับปัญหาหรืออุปสรรค ให้เริ่มจากการยอมรับกับสิ่งที่เกิดด้วยใจที่เป็นกลางก่อน เพื่อตั้งหลักในการไปต่อ

มองเห็นความหมาย เห็นคุณค่า

มะเร็งทำให้เราเกิดสติในการดำเนินชีวิต และเห็นคุณค่าความหมายของสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในชีวิตได้

ต่อจากนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ดูแลสุขภาพ

มองให้เห็น “ความหมาย” หรือสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นต่อตัวเรา เช่น การป่วยมะเร็งทำให้เราเห็นว่าที่ผ่านมาเราอาจดูแลตัวเองไม่ดีพอ ต่อจากนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ดูแลสุขภาพ

มะเร็งทำให้เราเกิดสติในการดำเนินชีวิต และเห็นคุณค่าความหมายของสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชีวิตได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เราไม่เสียศูนย์กับชีวิต แม้ว่าสถานการณ์ปัญหาจะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

เดินต่อไปได้มั่นคงขึ้น

เมื่อเรามีสติอยู่กับความเป็นจริงได้อย่างดีขึ้น เราก็จะสามารถค่อยๆ มองหาช่องทางในการลุกขึ้น หรือเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

O – Optimism : มองโลกในแง่ดี

มองด้วยหัวใจที่เป็นกลาง

เรียนรู้ / ยอมรับ / ชื่นชม / เปิดโอกาส

  • บนโลกใบนี้และชีวิตของเรา มีมิติมากมายหลายด้าน แม้เราจะเจอกับเรื่องที่ยากลำบาก แต่สิ่งดีๆ ก็มีอยู่อีกมากมายเช่นเดียวกัน
  • การมองโลกในแง่ดี ไม่ใช่การหลอกตัวเองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องที่ดี แต่คือการมองโลกด้วยหัวใจที่เป็นกลาง ยอมรับกับความจริงที่เกิด และเลือกโฟกัสในมุมที่ดี เพื่อก้าวไปต่ออย่างเป็นบวก
  • ยอมรับอดีตเป็นการเรียนรู้ ชื่นชมกับสิ่งที่ดีในปัจจุบัน และมองอนาคตเป็นโอกาสที่มีความเป็นไปได้อันหลากหลาย
  • ขอบคุณ ชื่นชมยินดีกับสิ่งรอบตัว ไม่ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน

การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับตัวเอง

สะอาด สบายใจ ธรรมชาติ เป็นมิตร

เติมสีสันให้กับชีวิต

สถานที่และสิ่งแวดล้อมที่ดี :

ดูแลพื้นที่รอบตัวบริเวณที่เราอยู่ให้มีความสะอาด สร้างความสบายใจ มีอากาศถ่ายเท ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และอาจมีสิ่งที่ช่วยเติมความรู้สึกดีๆ ให้กับเรา เช่น รูปภาพที่ชอบ เปิดเพลงที่ทำให้รู้สึกดี ต้นไม้ ข้าวของที่มีความหมายกับเรา

พื้นที่และสิ่งรอบตัวที่เอื้อต่อการดูแลและพัฒนาตัวเอง :

  • จัดการพื้นที่ให้ส่งเสริมการดูแลตัวเองของเราให้ดีได้ เช่น
    • มีพื้นที่ในการออกกำลังกาย/ทำกิจกรรมทางกาย ได้เปลี่ยนอิริยาบถ
    • มีพื้นที่ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ
  • ทำพื้นที่พักผ่อนของเราให้เอื้อต่อการพักอย่างมีคุณภาพ เช่น
    • ที่นอนที่สะอาดถูกหลักสุขภาพ ไม่มีแสงหรือเสียงรบกวนตอนกลางคืน
    • ไม่เอางานไปทำบนที่นอน

คนรอบตัวที่เป็นมิตร :

หาคนที่เราสามารถพูดคุยปรึกษาได้อย่างเป็นมิตร โดยอาจเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนที่เราไว้ใจ คนที่สามารถฟังเราได้อย่างดี

การออกไปสัมผัสกับพื้นที่/ประสบการณ์ใหม่ๆ :

การออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเติมพลังดีๆ ให้กับเราได้ ลองออกจากวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ของตัวเองบ้าง มองหาพลังบวกใหม่ๆ มาเติมสีสันให้กับชีวิต

แนะนำเครื่องมือตรวจเช็คสุขภาพใจ

Mental health check in

https://checkin.dmh.go.th/

Dmind

แอพปัญญาประดิษฐ์ช่วยประเมินภาวะซึมเศร้า อยู่ในแอพหมอพร้อม

ขอบคุณจากหัวใจ

-+=