การดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ในมุมมองของผู้รักษา

นอกจากผู้ป่วยควรเข้าใจเป้าหมายและแผนการรักษา เช่น

  • เป็นการรักษาเพื่อให้หายขาด
  • เป็นการรักษาเสริม (โดยมากมักเสริมกับการผ่าตัด)
  • หรือเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ

สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ

แพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็งที่ให้การดูแลผู้ป่วยยินดีให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถจัดการกับผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดและยาต้านมะเร็งเฉพาะจุดเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง

การเตรียมความพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ เข้าใจขั้นตอนการรักษาและรับรู้ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ

ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมในช่วงรับการรักษาได้ดี

เมื่อท่านเริ่มเข้าสู่ขบวนการรักษา สิ่งสําคัญ คือ การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อลดผลข้างเคียงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หมอรวบรวมคำถามที่พบบ่อยๆ มาตอบให้เข้าใจกันมากขึ้นดังนี้

คำถามที่พบบ่อย

จริงหรือที่ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ ?

ร่างกายที่แข็งแรงจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทนต่อผลข้างเคียงจากการรักษา และช่วยให้ผลตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่ภาวะโภชนาการไม่ดีนํ้าหนักตัวลดลงมากในระหว่างได้รับการรักษา พบว่าผลตอบสนองน้อยกว่าผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะโภชนาการดี

ในผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการไม่ดีจะมีผลกระทบต่อระบบการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ทำให้เม็ดเลือดต่ำ ไม่สามารถรับยาเคมีบําบัดได้ตรงตามระยะเวลาที่กําหนด กระทบต่อผลการรักษา

ดังนั้นผู้ป่วยควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่ให้พลังงานและโปรตีนเพียงพอ อาหารควรปรุงสุกสะอาด

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโอกาสทําให้ท้องเสียได้ง่าย เช่น ขนมจีน ส้มตํา หรือยํา ต่างๆ ของหมักของดอง งดการรับประทานผักสด และผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ชมพู่ และผลไม้ที่ไม่มีเปลือก เช่น สตอร์เบอรี่ โดยเฉพาะในช่วง 14 วันแรก หลังได้รับยาเคมีบําบัด

เพื่อให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้ดี ซึ่งทำให้รักษาได้ต่อเนื่อง ผู้ป่วยควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่ให้พลังงานและโปรตีนเพียงพอ

อาหารควรปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโอกาสทําให้ท้องเสียได้ง่าย งดการรับประทานผักสด และผลไม้เปลือกบาง เช่น องุ่น ชมพู่ และผลไม้ที่ไม่มีเปลือก เช่น สตอร์เบอรี่ โดยเฉพาะในช่วง 14 วันแรกหลังได้รับยาเคมีบำบัด

ควรพักอยู่แต่ในบ้านใช่หรือไม่ ?

หลังได้รับยาเคมีบำบัด ถ้าไม่มีอาการอ่อนเพลีย ผู้ป่วยสามารถมีกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ สามารถไปทำงานได้ แต่ถ้ามีอาการอ่อนเพลียควรนอนพักฟื้นที่บ้าน ประมาณ 1-2 วัน อาการอ่อนเพลียจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสูตรยาเคมีบำบัดและความแข็งแรงของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อช่วยลดอาการอ่อนเพลียในช่วงเวลากลางคืน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง

อะไรที่ควรหลีกเลี่ยง?

เมื่อจำเป็นต้องไปในแหล่งชุมชน เช่น ตลาด โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดมักมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ จากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หากจำเป็นต้องใกล้ชิดกับบุคคลที่ไม่สบาย เด็กที่มีอาการป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยเช่นกัน

ชีวิตส่วนตัวกับคู่สมรสจะเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคู่สมรสได้ตามปกติ สำหรับเรื่องเพศสัมพันธ์นั้นไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวตํ่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และควรงดเมื่อมีเกล็ดเลือดตํ่ากว่า 50,000 เพื่อป้องกันการเกิดเลือดออก

ต้องสวมถุงยางอนามัย การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยระหว่างได้รับยาเคมีบัด จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยหรือคู่สมรสต้องสวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันการสัมผัสยาเคมีบำบัดที่ปนเปื้อนออกมากับนํ้าอสุจิและสารคัดหลั่งในช่องคลอดในช่วง 48-72 ชั่วโมงแรก

ผู้ป่วยและคู่สมรสจะต้องคุมกำเนิด เนื่องจากยาเคมีบำบัดมีผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ได้ ในผู้ป่วยที่ยังมีความประสงค์จะมีบุตร ขอให้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษา ถึงช่วงระยะเวลาปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์ และในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องทำการเก็บไข่และอสุจิก่อนเริ่มการรักษา

อย่างไรก็ตาม หากเรื่องเพศสัมพันธ์กลายเป็นปัญหาสำคัญในระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด การเปิดใจพูดคุยสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับคู่สมรสเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อไรควรมาพบแพทย์ก่อนนัด ?

อาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรมาพบแพทย์ก่อนนัด

  • มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
  • ปวดมาก
  • ไอมากขึ้น
  • หายใจลำบาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน อย่างรุนแรง
  • ท้องเสียมาก หลังรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น

ในระหว่างเข้ารับการรักษา นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวได้เหมาะสมของผู้ป่วยแล้ว การได้รับการดูแลอย่างถูกต้องจากญาติผู้ดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเลย อย่างไรก็ตาม อย่าลืมนะคะ ว่ายังมีทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ที่พร้อมจะให้ข้อมูล เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติ ผู้ดูแลสามารถนำคำแนะนำที่ได้รับไปปรับใช้ให้สามารถอยู่กับโรคมะเร็งปอดได้อย่างมีความสุข

เรียบเรียงและเขียนโดย คุณสมถวิล ลูกรักษ์ และ ทีมพยาบาล สาขาวิชามะเร็งวิทยา
สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ดูแลตัวเองอย่างไร

คำถามฉันสงสัย อะไรที่ควรทำ อะไรควรหลีกเลี่ยง ฯลฯ

Read more

เรื่องมะเร็งปอดทั้งหมด

มาเข้าใจมะเร็งปอดมากขึ้น ว่าคืออะไร แบ่งชนิดอย่างไร อาการ ระยะโรค และแนวทางการรักษา มีทั้งภาพและคลิปจากคุณหมอ

-+=