มะเร็งปอด

“มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด” เป็นประโยคที่หมอมักจะบอกผู้ป่วยของหมอทุกคนในวันที่เราพบกันครั้งแรก และผู้ป่วยที่เพิ่งทราบว่ามีเซลล์มะเร็งปอดอยู่ในร่างกาย ทําไมหมอถึงได้บอกแบบนี้กับผู้ป่วย ส่วนหนึ่งเพื่อให้กําลังใจกับผู้ป่วย อีกส่วนหนึ่ง คือ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ต้องบอกว่ามีวิวัฒนาการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น และระยะแพร่กระจาย ซึ่งมีอะไรบ้างนั้นผู้อ่านจะเข้าใจมากขึ้น รวมไปถึงการดูแลตนเองในระหว่างการรักษา ทั้งในแง่มุมของผู้รักษาและผู้ป่วย

เริ่มรู้จักกัน

มะเร็งปอดมีต้นกำเนิดจากเซลล์เยื่อบุหลอดลมปอดได้รับการระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน จึงเรียกชื่อตามต้นกำเนิดของมะเร็งได้อีกชื่อหนึ่งว่า Bronchogenic Carcinoma (Broncho แปลว่า หลอดลม Carcinoma แปลว่า มะเร็ง) ซึ่งอาจเกิดในบริเวณหลอดลมใหญ่ใกล้ขั้วปอด หรืออาจเกิดในหลอดลมแขนงเล็กๆ ส่วนปลายที่ไกลออกไปจากขั้วปอดก็ได้

หากตรวจพบมะเร็งปิดตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะช่วยให้มีผลการรักษาที่ดี และด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนามากขึ้น ทำให้การรักษามะเร็งปอดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมกับผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

โดยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอแบบมีเสมหะปนเลือด เหนื่อย หายใจไม่สะดวก นํ้าหนักลดมากในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนอาจจะมาด้วยอาการทางระบบประสาท ถ้าเซลล์มะเร็งปอดแพร่กระจายไปอยู่ที่สมองหรือไขกระดูกสันหลัง เช่น อาการแขนขาอ่อนแรง ชา กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้หรือบางคนมีอาการปวดกระดูกมาก ถ้าเซลล์มะเร็งปอดนั้นแพร่กระจายไปอยู่ที่กระดูก เป็นต้น

มะเร็งปอด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer)และชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (non-small cell lung cancer) ซึ่งในกลุ่มหลังนี้พบได้ 85% ของมะเร็ง ปอดทั้งหมด และในกลุ่มนี้ยังมีแยกย่อยออกเป็นชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น squamous cell carcinoma, adenocarcinoma และอื่นๆ กลุ่มที่เป็น adenocarcinoma นั้นปัจจุบันมีการ รักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้น และมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก

ในสมัยก่อนนั้นการวินิจฉัยมะเร็งปอดทำได้ยาก แต่พอ เข้าสู่ยุคที่มีการทำสแกนคอมพิวเตอร์ (CT scan) การสแกน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และล่าสุดการสแกนด้วย PET scan รวมถึงเทคนิคต่างๆ ของการส่องกล้องหลอดลม และการเจาะ ตรวจชิ้นเนื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งการวินิจฉัยเซลล์มะเร็งปอดนั้น ทันสมัยขึ้น ทำให้เราสามารถวินิจฉัยได้รวดเร็วเมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ

อาการของโรคมะเร็งปอด

โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้ว อาจพบอาการดังต่อไปนี้

  1. อาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
    • ไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้
    • ไอเป็นเลือด
    • หอบเหนื่อย หายใจลำบาก เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง หรือก้อนมะเร็งนั้นกดเบียดหลอดลม หรือเกิดจากภาวะน้ําที่จมปอดได้
    • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
    • หายใจติดขัด มีเสียงดังในลำคอ
    • ปอดอักเสบ มีไข้
  2. อาการของระบบอื่นๆ ได้แก่
    • เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ
    • บวมที่หน้า แขน คอ และทรวงอกส่วนบน เนื่องจากมีเลือดดำคั่ง จากการลุกลามของมะเร็งไปยังหลอดเลือดดำใหญ่ของทรวงอก
    • เสียงแหบ เพราะมะเร็งลุกลามไปยังเส้นประสาทบริเวณกล่องเสียง
    • ปวดบริเวณต้นคอร้าวไปยังแขน
    • ปวดกระดูก
    • กลืนลำบาก เนื่องจากก้อนมะเร็งกดเบียดหลอดอาหาร
    • อัมพาต เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมองหรือไขสันหลัง
    • มีตุ่มหรือก้อนขึ้นตามผิวหนัง

แต่อาการทั้งในระบบทางเดินหายใจและระบบอื่นๆ เหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ได้ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นควรได้รับการตรวจจากแพทย์

มะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย ก็เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง เหมือนโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน

ถ้ามีอาการมากก็เพิ่ม หรือเปลี่ยนยา
อาการน้อยก็ลด หรือหยุดยาได้

การดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การหยุดสูบบุหรี่เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วย

ที่สำคัญที่สุด คือ การเข้ารับการรักษาในแผนปัจจุบันอย่างถูกต้องและทันเวลา เพื่อลดอาการ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา

ระยะของโรคมะเร็งปอด

  1. ระยะมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
    • ระยะจำกัด (Limited-Stage) เป็นระยะที่มะเร็งพบอยู่ในปอด 1 ข้าง และต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงเท่านั้น
    • ระยะลุกลาม (Extensive-Stage) เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกนอกบริเวณช่องทรวงอกข้างนั้น หรือออกจากปอดสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
  2. ระยะมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
    • ระยะที่ 1 ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเมตร
    • ระยะที่ 2 มีการลุกลามไปยังเยื่อหุ้มปอดชั้นนอก และผนังหน้าอกหรือมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอดหรือที่อยู่ใกล้ๆ กับก้อนมะเร็ง โดยก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร
    • ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง และแพร่กระจายไปที่ปอดกลีบอื่นๆ ในข้างเดียวกัน หรือไปยังต่อมน้ำเหลืองที่กลางช่องอก หรือไกลออกไปจากช่องอกข้างนั้นๆ ได้แก่ กระดูกซี่โครง กระบังลม และเยื่อหุ้มปอด
    • ระยะที่ 4 มะเร็งที่กระจายออกนอกเนื้อปอด ไปยังที่ไกลจากจุดเริ่มต้น และมะเร็งที่กระจายไปที่เยื่อหุ้มปอดหรือแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ตับ กระดูก ต่อมหมวกไตและสมอง เป็นต้น

Reference

  1. หนังสือ จริงหรือไม่ มะเร็งปอดไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด ยุค 2020
    เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Read more

เรื่องมะเร็งปอดทั้งหมด

มาเข้าใจมะเร็งปอดมากขึ้น ว่าคืออะไร แบ่งชนิดอย่างไร อาการ ระยะโรค และแนวทางการรักษา มีทั้งภาพและคลิปจากคุณหมอ

-+=