เมื่อมีถุงทวารเทียม จะดูแลและปรับตัวอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ต้องใช้ถุงทวารเทียม อาจทำให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การบริโภคอาหาร ตลอดจนการขับถ่าย

คำถามและสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้น

  • มีทวารเทียมแล้วต้องดูแลอย่างไร
  • ทวารเทียมที่ดีเป็นอย่างไร • ผิวหน้าท้องที่ดีเป็นอย่างไร
  • จะเกิดการติดเชื้อไหม • ต้องทำความสะอาดอย่างไร
  • ออกจากบ้านแล้ว ถุงจะหลุดแตกไหม

เราจะพามาทำความเข้าใจในบทความนี้กัน

ทำความเข้าใจเรื่องการใช้ถุงทวารเทียม

ผู้ใส่ทวารเทียมสามารถใช้ชีวิตได้แทบจะเหมือนเดิม แค่มีข้อควรระวังบางอย่างซึ่งจะทำให้ชีวิตของท่านสะดวกมากยิ่งขึ้น

อาหารเดินทางอย่างไร

ลักษณะการทำงานของระบบย่อยสู่การขับถ่ายนั้น เริ่มจากการทานอาหารเข้าไปทางปาก เคลื่อนผ่านทางหลอดอาหาร มาสู่กระเพาะอาหาร เกิดการย่อย และส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก ซึ่งมีความยาว 6-7 เมตร จากนั้นก็เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ถูกดูดซึมน้ำ แล้วกลายเป็นอุจจาระ โดยเดินทางจากส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ ไปยังส่วนขวาง และมาส่วนขาลงลงสู่ทวารหนัก ซึ่งอุจจาระจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็งมากขึ้น

ทวารเทียม คืออะไร

ทวารเทียม หรือออสโตมี (Ostomy) เป็นการผ่าตัดให้มีช่องทางเปิดออกทางหน้าท้อง เพื่อให้เป็นทางผ่านของอุจจาระหรือปัสสาวะ เนื่องจากของเสียภายในร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถออกผ่านช่องทางปกติได้ มีทั้งประเภทชั่วคราวและถาวร ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับแผนการรักษาและสภาวะของโรค

โดยลักษณะของทวารเทียม จะมีผิวมันเรียบ ชุ่มชื้น ส่วนใหญ่มีสีแดงหรือสีชมพู ขึ้นอยู่กับว่าเป็นทวารเทียมของระบบใด หากเป็นทวารเทียมของระบบลำไส้ใหญ่ก็จะมีสีออกไปทางแดงเข้ม ส่วนทวารเทียมของระบบลำไส้เล็กจะมีสีชมพู ทวารเทียมไม่มีเส้นประสาท ทำให้เวลาที่เราสัมผัสก็จะไม่เกิดความรู้สึกใดๆ แต่จะมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้เวลาที่ทำความสะอาด อาจมีเลือดออกได้ แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเลือดจะหยุดไหลได้เองในเวลาต่อมา

ตำแหน่งของลำไส้ที่เปิดทวารเทียม บอกลักษณะอุจจาระได้

สิ่งแรกที่ต้องทราบเมื่อต้องทำการเปิดหน้าท้องใส่ถุงทวารเทียม คือ “ตำแหน่งของลำไส้ที่เปิดทวารเทียม” ซึ่งจะทำให้ทราบว่าลักษณะของอุจจาระที่ออกมาจะมีลักษณะเหลว หรือเป็นก้อนแข็ง

ลักษณะของการผ่าตัด

การผ่าตัดเปิดทวารเทียม

การผ่าตัดที่สามารถตัดต่อลำไส้เพื่อใช้งานแบบปกติได้จะไม่จำเป็นต้องใช้ถุงทวารเทียม แต่หากเป็นการผ่าตัดออกในลักษณะของก้อน ซึ่งมีขอบเขตการผ่าเอาเนื้อร้ายออกที่ขยายวงกว้างออกไป ทำให้ต้องผ่าลำไส้ใหญ่ออกไปเยอะ จะส่งผลให้ไม่สามารถเย็บต่อลำไส้เข้าเหมือนเดิมได้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องทำการเปิดทวารเทียม

โดยปกติร่างกายคนเราจะมีหูรูดที่ปลายทวารเพื่อควบคุมการขับถ่าย แต่การเปิดทวารเทียมจะทำให้ไม่มีหูรูด จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์มารองรับ

ตำแหน่งที่เปิดทวารเทียม

ตำแหน่งที่เปิดทวารเทียม

ตำแหน่งของการเปิดทวารเทียมในแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามจุดที่เกิดโรค และส่งผลต่อลักษณะของอุจจาระที่ถูกขับถ่ายออกมา โดยหลักการคือ หากยิ่งเป็นตำแหน่งที่ใกล้มาทางส่วนปลายของลำไส้ อุจจาระที่ออกมาก็จะยิ่งแข็ง

  • Caecostomy : ส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ ลักษณะอุจจาระยังเป็นน้ำ มักยังไม่ต้องใส่ถุงทวารเทียม
  • Transverse : ช่วงส่วนขวางของลำตัว ลักษณะอุจจาระเป็นน้ำแต่เริ่มมีเนื้อมากขึ้น
  • Descending : ช่วงลำไส้ส่วนขาลง อยู่ทางด้านซ้ายของลำตัว
  • Sigmoid : ช่วงส่วนปลายของลำไส้ ลักษณะอุจจาระเป็นก้อนมากขึ้น
  • Ileostomy : ช่วงปลายของลำไส้เล็ก อุจจาระจะมีลักษณะเป็นน้ำค่อนข้างเยอะ

เมื่อเราทราบตำแหน่งของการเปิดถุงทวารเทียมแล้ว ลำดับต่อไปจะเป็นการดูว่า ถุงทวารเทียมของเรานั้นเป็นประเภทการใช้งานแบบไหน และมีรูปแบบของการยกลำไส้เป็นชนิดใด

ประเภทการใช้งานของถุงทวารเทียม

แบบชั่วคราว (Temporary)

คือ การใช้เพียงชั่วคราว เมื่อถึงจุดที่รักษาจนโรคสงบแล้ว จะสามารถกลับไปขับถ่ายทางทวารหนักได้เหมือนปกติ

แบบถาวร (Permanent)

คือ รูปแบบที่ต้องใช้ไปตลอด เพราะไม่สามารถกลับไปขับถ่ายแบบเดิมได้แล้ว

ประเภทการใช้งานของถุงทวารเทียม

รูปแบบของการยกลำไส้ (Construction)

ลำไส้เล็ก

End Ileostomy

คือ การยกลำไส้ขึ้นมาเดี่ยวๆ โดยยกปลายลำไส้เล็กมาเปิดที่หน้าท้อง เป็นลักษณะรูเดียวโดดๆ และเย็บเยื่อบุติดกับผนังหน้าท้อง

Loop Ileostomy

คือ การยกลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum : อิลเลียม) ขึ้นมาเปิดที่ช่องหน้าท้อง (ด้านขวา) ชั่วคราว เป็นรูปแบบที่เกิดจากความจำเป็นเร่งด่วน โดยจะทำการเกี่ยวลำไส้ขึ้นมา ตัดเปิดด้านบนให้เป็นท่อ แล้วปลิ้นออกมาเป็นช่องเปิด 2 ช่อง ได้แก่

  1. ช่องทางอุจจาระ
  2. ช่องทางมูก

ซึ่งเป็นลักษณะที่สามารถทำกลับให้คืนสู่ระบบลำไส้ปกติได้ง่าย

Double Barrel (หรือ End Loop)

คือ การยกลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ออกมาที่หน้าท้องแบบเป็น 2 ตำแหน่งที่แยกจากกัน คืออยู่คนละจุดกันทั้งด้านนอกและด้านใน โดยอาจเกิดจากเหตุผลที่เนื้อด้านในกำลังอักเสบมากและไม่สามารถทำงานปกติได้ จึงต้องเปิดออกมาเป็นทวารเทียม โดยมี 3 รูปแบบ คือ

  • Fulminant diverticulitis
  • Necrotizing enterocolitis
  • CA colon : obstructive type

ลำไส้ใหญ่

มีรูปแบบเดียวกันกับลำไส้เล็ก

ผ่าตัดเปิดถุงทวารเทียม

การกำหนดตำแหน่งทวารเทียม ก่อนทำการผ่าตัด

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าต้องรับการรักษาโดยผ่าตัดทำทวารเทียม ก่อนทำการผ่าตัดจะมีการพิจารณากำหนดตำแหน่งทวารเทียมโดยพยาบาลและผู้ป่วย เป็นการประเมินว่าตำแหน่งไหนจะเหมาะที่สุดเพื่อให้ทำการดูแลได้ง่าย ทั้งนี้อาจไม่สามารถทำตามใจได้ 100% เพราะขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพด้านในร่างกายของเราด้วย

หลักการพิจารณาตำแหน่ง

  • วางอยู่บน rectus muscle (กล้ามเนื้อชนิดหนึ่งในทางเดินอาหาร)
  • เลือกบริเวณผิวหนังที่เรียบ ไม่มีรอยแผลเป็น
  • หลีกเลี่ยงบริเวณสะดือ ชายโครง หรือปุ่มกระดูก
  • ตำแหน่งที่ผู้ป่วยสามารถมองเห็น สามารถดูแลตนเองได้
  • ให้ผู้ป่วยทดลองปิดถุงเพื่อสังเกตการค้ำของแป้น

ตำแหน่งที่เหมาะสมของช่องเปิดทวารเทียม

  • อยู่ภายในขอบเขตของชั้นกล้ามเนื้อ (rectus sheath)
  • ไม่อยู่ใน/ใกล้ตำแหน่งรอยแผลเก่า หรือแนวแผลผ่าตัด
  • ไม่อยู่ในรอยพับของผนังหน้าท้อง
  • ไม่อยู่ใกล้สะดือ (ยกเว้นกรณี continent diversion)
  • ไม่อยู่ที่ตำแหน่งขอบกระโปรงหรือกางเกง
  • ไม่อยู่ใกล้ปุ่มกระดูก
  • อยู่ในตำแหน่งที่ผู้ป่วยมองเห็น
ภาพการหาตำแหน่งทวารเทียมที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย
พยาบาลและผู้ป่วยร่วมกันหาตำแหน่งที่ทำให้ดูแลง่าย

ลักษณะของลำไส้ทวารเทียมที่ดี

ลักษณะของลำไส้ทวารเทียมที่ดี
  • รูเปิดมักจะอยู่ตรงกลาง เมื่ออุจจาระออกมาก็จะตกลงในถุงพอดี ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน
  • ขอบที่เย็บติดกับผนังหน้าท้องดี
  • ผิวหนังรอบหน้าท้องดี ซึ่งช่วยให้ดูแลได้ง่าย

ถุงทวารเทียมช่วยอะไร

  • เมื่อเรามีทวารเทียม ทำให้ไม่มีหูรูด จึงต้องใช้ถุงมารองรับปัสสาวะและอุจจาระ
  • ใช้ถุงปิดเพื่อป้องกันกลิ่น และการหกรั่ว
  • ปกป้องผิวหนัง
  • ช่วยให้คนไข้ดูแลตัวเองได้ ทำกิจวัตรประจำวันปกติได้
  • ช่วยเพิ่มความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ปัจจัยการเลือกถุงทวารเทียม

ในการเลือกถุงทวารเทียมนั้น นอกจากการเลือกประเภท ลักษณะของถุงที่จะนำมาติดบนร่างกาย และพิจารณาสรีระหน้าท้องของผู้ป่วยแล้ว ยังอาจพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • การขยับเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการใช้มือเป็นปกติไหม
  • ตามองเห็นได้ดีไหม
  • มีกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน ต้องการตัวช่วยซัพพอร์ตหรือไม่

สามารถปรึกษากับพยาบาลได้เลย

ชนิดของอุปกรณ์

รู้จักแป้นและถุงรองรับของเสีย

หลังการผ่าตัดผู้ที่มีทวารเทียมจะมีอุปกรณ์ 2 อย่าง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ นั่นก็คือแป้นและถุงรองรับของเสีย ซึ่งในปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้มีหลากหลายแบบให้เลือกตามความต้องการของผู้ใช้งาน

แบ่งตามลักษณะของสิ่งที่ขับถ่าย ได้แก่

  • อุปกรณ์รองรับอุจจาระ
  • อุปกรณ์รองรับปัสสาวะ

โดยแบ่งตามคุณสมบัติและความเหมาะสมในการเลือกใช้ได้ ดังนี้

แบบ 1 ชิ้น (One piece appliance)

แป้นและถุงอยู่ด้วยกัน

มีอายุการใช้งาน 3-5 วันต่อชิ้น เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องวัดขนาดทวารเทียมก่อนแล้วค่อยตัดแป้น สามารถเลือกขนาดที่พอดีได้เลย โดยตัวแป้นจะเชื่อมกับถุงรองรับเป็นชิ้นเดียว สามารถทากาวแล้วแปะติดกับผิวหนังรอบๆ ทวารเทียมได้เลย ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน

ถุงทวารเทียมแบบ 1 ชิ้น

แบบ 2 ชิ้น (Two piece appliance)

แป้นและถุงแยกกันได้

ตัวแป้นจะมีอายุการใช้งาน 5-7 วันต่อชิ้น ซึ่งตัวแป้นกับถุงรองรับจะแยกชิ้นกัน โดยแปะแป้นให้ติดกับผิวหนังรอบๆ ทวารเทียมก่อน จากนั้นจึงค่อยนำถุงรองรับมาแปะกับแป้นอีกที

ข้อดีคือถุงรองรับแบบนี้จะสามารถถอดออกมาเพื่อล้างทำความสะอาดได้

ถุงทวารเทียมแบบ 2 ชิ้น

อุปกรณ์แบบ 200 ปี

ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่แพ้พื้นผิวแป้นของถุงทวารเทียม

ถุงทวารเทียมแบบ 200 ปี
  • ประกอบด้วยตัววงพลาสติก 2 วง ถุงพลาสติก และสายเข็มขัด
  • ยึดตัวถุงด้วยวงพลาสติก 2 วง
  • วงพลาสติกยึดติดกับผู้ใช้ด้วยสายเข็มขัด
  • ถุงพลาสติกเป็นถุงบรรจุอาหารมีขายทั่วไปตามท้องตลาด
  • ถุงมีราคาถูก ใช้แล้วทิ้ง ไม่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่
  • มีข้อดีข้อเสียตามความเหมาะสมในการเลือกใช้

ข้อดี : ใช้ง่าย ราคาถูก ไม่ต้องดูแลล้างถุง

ข้อเสีย : เก็บกลิ่นไม่ได้ มีโอกาสรั่วซึมสูง เป็นอันตรายต่อผิวหนังรอบทวารเทียมได้ง่าย

อุปกรณ์เสริม

เราสามารถนำอุปกรณ์เสริมมาใช้เพื่อช่วยในเรื่องต่างๆ เช่น ดับกลิ่น เพิ่มความโค้ง ตัวซัพพอร์ตไม่ให้ท้องนูน รวมถึงการใช้แป้ง กาวต่าง ๆ เป็นต้น

อุปกรณ์เสริมสำหรับผู้มีถุงทวารเทียม
อุปกรณ์เสริมสำหรับผู้มีถุงทวารเทียม

ถุงรองรับแบบต่างๆ

ถุงรองรับอุจจาระ

อุปกรณ์ถุงรองรับสำหรับระบบอุจจาระ ปลายถุงจะมีปากกว้าง โดยจะมีทั้งประเภท

ใช้ครั้งเดียว

เป็นแบบปลายปิดสำหรับอุจจาระ

ถุงรองรับอุจจาระ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

แบบใช้ซ้ำ

เป็นประเภทแบบปลายเปิด (เปิดปลายถุงนำของเสียออกได้)

ถุงรองรับอุจจาระ แบบใช้ซ้ำได้

ถุงรองรับปัสสาวะ

อุปกรณ์ถุงรองรับระบบทางเดินปัสสาวะ จะเป็นปลายก๊อก มีระบบที่ทำให้น้ำปัสสาวะไม่ไหลกลับเข้าสู่ทวารเทียม เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ถุงรองรับปัสสาวะ

แบบ Cut-to-Fit

ถุงรองรับปัสสาวะ แบบขนาดพอดี cut-to-fit

แบบ Cut-to-Fit เป็นการตัดถุงให้มีขนาดพอดีกับทวารเทียม โดยต้องมีการลอกแบบจากตำแหน่งจริงของผู้ป่วย หรือเป็นถุงที่ตัดมาแล้วตามขนาดที่ใกล้เคียง สำหรับคนไข้ที่ไม่สะดวกในการตัดเอง

ชนิดรูปถ้วย (Convex Pouching)

ถุงรองรับปัสสาวะ รูปถ้วย

แป้นจะมีลักษณะเป็นปุ่มนูน หรือเป็นถ้วยขึ้นมา ใช้สำหรับผู้ที่มีทวารเทียมลักษณะอยู่ตรงระดับผิวหนัง อยู่ในร่องท้อง หรือมีลักษณะบุ๋มเป็นหลุมลงไป

การดูแลทวารเทียม

ทำความสะอาด

แค่คิดว่าสิ่งนี้เป็นเหมือนก้นของเรา สามารถทำความสะอาดได้ด้วยน้ำประปาปกติ หรือน้ำที่ไม่สกปรกเกินไป

หลักการคือ แค่คิดว่าสิ่งนี้เป็นเหมือนก้นของเรา สามารถทำความสะอาดได้ด้วยน้ำประปาปกติ หรือน้ำที่ไม่สกปรกเกินไป โดยสามารถเปิดอาบน้ำได้ปกติ และใช้สำลีเช็ดโดยรอบ

วัดขนาดอุปกรณ์

โดยปกติจะวัดให้มีขนาดใหญ่กว่าลำไส้หรือคอทวารเทียมประมาณ 2 มิลิเมตรโดยรอบ โดยยึดจากคอไส้ (ผนังหน้าท้อง)

ตัดอุปกรณ์

ตัดตามขนาดที่วัด เนื่องจากเวลาที่มีน้ำมาจากอุจจาระจะทำให้คอไส้บวมขึ้นมาและรัดขอบได้พอดี หากตัดเล็กเกินไปอาจทำให้เสียดสีได้

ติดอุปกรณ์

ติดตอนที่พื้นผิวหนังแห้ง เรียบ เพื่อให้ติดได้ทนทาน อยู่นาน

  • บริเวณผิวหนังรอบทวารเทียมต้องแห้งและสะอาด
  • พื้นผิวหนังรอบทวารเทียมต้องทำให้เรียบเสมอกัน
  • รูเปิดของอุปกรณ์ไม่ควรตัดกว้างหรือชิดเกินขนาดของทวารเทียม (ขนาดรูเปิดของอุปกรณ์ที่เหมาะสมคือใหญ่กว่าตัวทวารเทียมประมาณ 2 มิลิเมตร)

ผิวหนังเรียบ

หลักการของการติดอุปกรณ์ที่ดีคือต้องทำผิวหนังให้เรียบ ใช้อุปกรณ์ที่มีความยืดหยุ่น และใช้กาวช่วย ซึ่งไม่ใช่การดึงให้ตึง แต่จะใช้วิธีการค่อยๆ คลี่เนื้อให้เรียบ ให้แผ่นแป้นค่อยๆ ติดไปกับพื้นผิวทุกจุด จะทำให้อุปกรณ์สามารถติดอยู่ได้ตามระยะเวลาการใช้งาน (3-7 วัน)


เปลี่ยนอุปกรณ์

ควรเปลี่ยนอุปกรณ์เมื่อไร

ทวารเทียมเพื่อขับถ่ายอุจจาระ

เปลี่ยนขณะท้องว่าง (ยังไม่ได้ทานอาหาร) หรือหลังอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ทวารเทียมเพื่อขับถ่ายปัสสาวะ

ไม่จำกัดเวลา เพราะน้ำปัสสาวะมักไหลตลอด

มีเทคนิคคือใช้ลำสีปิดตรงจุก เพื่อช่วยซับน้ำปัสสาวะที่ซึมออกมา และทำให้แป้นแห้งที่สุดขณะที่เปลี่ยน

อุปกรณ์ทำความสะอาดผิวหนังรอบทวารเทียม

  • น้ำสะอาด และน้ำสบู่อ่อน
  • สำลีสะอาด
  • ถุงพลาสติกสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้แล้ว
  • ถุงทวารเทียมใบใหม่
  • ถุงมือ

**ห้ามใช้แอลกอฮอล์ หรือยาฆ่าเชื้อ เพราะจะทำลายเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแห้ง และทำให้มีปัญหาในการติดอุปกรณ์

ลอกอุปกรณ์

วิธีลอกถุงทวารเทียม

ใช้วิธีการกดหน้าท้องออกจากแป้น ไม่ใช้การดึงอุปกรณ์ออกจากหน้าท้อง

ประกบปิดถุง

ประกบปิดถุงทวารเทียม

แบบถุง 2 ชิ้น

ลอกตัวแผ่นกาวด้านหลังแป้นออก ค่อยๆ ปิดจากล่างขึ้นบน แล้วนำถุงมาครอบ

Tips : อาจใช้วาสลีนช่วยโดยการทาหล่อลงไปตรงส่วนกลมๆ ของตัวถุง จะช่วยทำให้ครอบง่ายขึ้น

การกลับปลายถุงเพื่อถ่ายของเสียออกจากถุง

กลับปลายถุงขึ้นมาเล็กน้อย และเทอุจจาระลงในชักโครก จากนั้นกรอกน้ำ ล้างซับบริเวณปากถุงให้แห้งสะอาด

การกลับปลายถุงเพื่อถ่ายของเสียออกจากถุงทวารเทียม

เมื่อเอาของเสียออกจากถุง อย่ารูดเอาอุจจาระออกมา เพราะจะทำให้ปลายถุงเลอะและส่งกลิ่น แต่ให้กลับปลายถุงขึ้นมาเล็กน้อย แล้วเทอุจจาระลงในชักโครก จากนั้นกรอกน้ำ ล้างซับบริเวณปากถุงให้แห้งสะอาด

ปรับตัวอย่างไร เมื่อมีทวารเทียม

เริ่มจากการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การรักษาและการดูแลตัวเองจะช่วยให้เราสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้

  • กิน เริ่มแรกอาจจะทานน้อยๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มเป็นปริมาณใกล้เคียงปกติได้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายได้
  • อาบน้ำด้วยการตักอาบได้ ใช้ฝักบัวได้ ไม่แช่ตัวในอ่างน้ำ หรืออาบน้ำในลำคลอง

หลักปฏิบัติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร 

  • รับประทานอาหารหลากหลาย
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
  • ดื่มน้ำให้มาก วันละ 2-3 ลิตร
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่สร้างปัญหาระบบทางเดินอาหาร
  • ถ้าอยากลองทานอาหารที่ไม่คุ้นเคย ควรลองทีละอย่าง

มีลมเยอะในทางเดินอาหารเพราะ

  • อาหารประเภทถั่ว อาหารย่อยยาก เครื่องดื่มที่มีการอัดลม เบียร์
  • เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด
  • พูดระหว่างรับประทานอาหาร
  • มีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือมีการเปลี่ยนแปลงชนิดแบคทีเรียในทางเดินอาหาร

ลดปริมาณลมหรือแก๊สได้อย่างไร

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดลมในกระเพาะมาก
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
  • พูดระหว่างมื้อให้น้อยลง
  • รับประทานโยเกิร์ต หรืออาหารที่มีโพรไบไอติกส์ หรือพรีไบโอติกส์ เพื่อเพิ่มแบคทีเรียตัวดีในทางเดินอาหาร
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยดูดก๊าซ

เคล็ดไม่ลับ เมื่อต้องเดินทาง

  • เตรียมอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายให้มากพอต่อการใช้
  • เปลี่ยนอุปกรณ์เป็นถุงปลายปิดเมื่อไม่แน่ใจเกี่ยวกับความสะดวกของห้องสุขา
  • เลือกถุงที่มีแผ่นช่วยซับเหงื่อเมื่อไปในที่ๆ มีอากาศร้อน
  • ใช้เข็มขัดช่วยให้การติดแน่นกระชับ
  • หลีกเลี่ยงอาหารเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดลมในกระเพาะมาก เช่น น้ำอัดลม เบียร์
  • จัดเก็บอุปกรณ์ไว้ในที่เหมาะสม ไม่ร้อน เช่น ไม่ควรเก็บไว้ในรถยนต์

ปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์

อาจเกิดปัญหาในเรื่องเพศสัมพันธ์ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด แต่ก็สามารถค่อยๆ ปรับตัวกันไปได้จนเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น

สิ่งที่อาจเกิด

  • ขาดความต้องการ ไม่กระตือรือร้นที่จะมีเพศสัมพันธ์
  • ช่องคลอดแห้ง
  • ช่องคลอดแคบ
  • อวัยวะไม่แข็งตัว
  • มีอาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์

สาเหตุของปัญหาเพศสัมพันธ์

มีหลายสาเหตุ ลองค่อยๆ คลายไปทีละเหตุ

  • การรักษา การผ่าตัด การฉายแสง ยาเคมีบำบัด
  • ความเชื่อ
  • ภาพลักษณ์
  • ตัวโรคมะเร็ง ฯลฯ

หากคลายเหตุไม่ได้ ก็คลายที่ใจ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมให้ตัวเองเป็นอย่างที่กำลังเป็นได้

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง
ปรับตัวปรับใจ กับชีวิตที่มีทวารเทียม


สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังของบทความนี้

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน Home Chemotherapy และกินอยู่อย่างไรเมื่อมีถุงทวารเทียม

โดยคุณหมอและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
👨‍⚕️ อาจารย์นายแพทย์ พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
👩‍⚕️ พว.ประไพ อริยประยูร : พยาบาลวิชาชีพขั้นสูง รพ.รามาธิบดี
👨‍⚕️ คุณสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข : ประธานชมรมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

-+=