ขอให้เธอได้พัก
อาจมีเรื่องราวมากมายที่ต้องจัดการ
..ปัญหาหลายสิ่งที่กำลังรอการคลี่คลาย
..ความสับสนทั้งหลายมักประดังประเดเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อนร่างกายที่เจ็บป่วยเหนื่อยล้าของเธอ…ต้องการการพักผ่อน
จิตใจเองก็เช่นกัน…
ก่อนที่จะไปเริ่มกระบวนการเรียนรู้ดูแลตัวเองไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เราอยากเริ่มต้นง่ายๆ จากการขอให้เธอให้เวลากับตัวเองในการหยุดพักจากสิ่งต่างๆ ก่อนเป็นอันดับแรก
แน่นอนว่าการ “หยุด” สิ่งรุมเร้าต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะจากภายนอก หรือจากภายในตัวเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรือการต้องทำอะไรบางอย่าง อาจเป็นสิ่งที่หยุดได้ยากสำหรับบางคน แต่หากเพียงเราได้ “พัก” แม้จะเป็นแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ มันก็จะดีกับเราได้อย่างแน่นอน
โลกการทำงานและการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน มักต้องแข่งขันกับเวลาอยู่เสมอ ผู้คนและองค์กรมากมายให้คุณค่ากับความขยันขันแข็ง การทำงานอย่างเต็มที่และหนักหน่วง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำร้ายและทำลายชีวิตผู้คนไปแล้วมากมาย เราจึงอยากมาชวนให้มองเห็นถึงคุณค่าความสำคัญในอีกด้านหนึ่ง
เพียงเราได้พัก แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็จะเป็นผลดีกับเราได้อย่างแน่นอน
“การหยุดพัก ช่วยให้เราก้าวไปต่อได้อย่างมั่นคงมากขึ้น”
การหยุดพัก ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และคือสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องทำ ไม่น้อยไปกว่ากิจกรรมอื่น ถ้าลองมองในอีกมุมหนึ่ง การพัก ไม่ใช่การถอยออกมาจากสิ่งที่ต้องกระทำ แต่เป็นกระบวนการหนึ่งตามธรรมชาติของการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยเช่นกัน
◓
ดวงอาทิตย์ยังมีช่วงเวลาที่ต้องหลับใหล
ให้กลางวันและกลางคืนได้ผลัดกันสร้างความสมดุลให้กับโลก
ชีวิตและจิตใจของคนเราก็เช่นกัน ต้องเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสมดุล
ไม่โหมหักจนบั่นทอนสร้างความเจ็บป่วยให้กับตัวเอง
เทคนิคการเริ่มต้น “พัก” แบบง่าย ๆ
- หา “พื้นที่” สบายกาย สบายใจ ที่เอื้อให้เราพักได้อย่างผ่อนคลาย
- แนะนำที่ที่มีความโปร่ง อากาศถ่ายเท ออกห่างจากสิ่งแวดล้อมที่ปกติทำให้เราอึดอัด
- หากเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ แหล่งน้ำ ท้องฟ้า ได้ก็ยิ่งดี
- อาจเป็นบางมุมในบ้าน หรือสถานที่ข้างนอกก็ได้
- พยายามจัดสรร “ช่วงเวลา” ในชีวิตให้กับการพักผ่อนอย่างสม่ำเสมอ และสมดุลกับการทำกิจกรรมอื่นๆ
- โปรด “วางใจ” ว่าการ “อยู่เฉยๆ” ไม่ใช่สิ่งที่ผิด
- รับรู้ถึง “ลมหายใจ” ของตัวเอง ไม่ต้องบังคับฝืนจังหวะ
- ไม่จำเป็นต้องกำหนดจิตภาวนา หรืออาจใช้วิธีการที่คุ้นเคยและรู้สึกดีได้ตามใจชอบ
- รับรู้ถึง “ร่างกาย” ในแต่ละส่วนของเราอย่างผ่อนคลาย
- รับรู้อย่างตรงไปตรงมา สบายก็รับรู้ เจ็บปวดก็รับรู้ อยู่กับตัวเราเองโดยที่ทั้งไม่ปฏิเสธ หรือจมดิ่งไปกับมัน
- เลือกทำ “กิจกรรม” ที่ช่วยให้เรารู้สึกได้พักผ่อน ซึ่งอาจเหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละคน
- เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนัง วาดภาพ ใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงหรือคนที่รัก เดินเล่น ทำสวน ฯลฯ
- โดยการพักผ่อนแต่ละครั้ง อาจผลัดเปลี่ยนกิจกรรมไป ให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันไปได้
ฟังตัวเองว่า สิ่งไหนช่วยให้เราสบายใจ
รูปแบบของการพักผ่อนมีอยู่มากมาย ตัวเราเองเป็นผู้รู้ดีที่สุด ว่าอยากทำสิ่งไหน อะไรช่วยทำให้เราสบายใจ
สิ่งสำคัญ คือ ต้องเริ่มให้เวลากับตัวเองในการพักได้อย่างแท้จริงก่อน
จัดสรรกำหนดเวลาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งอื่นมาเบียดบัง
และสุดท้าย หากเธอรู้สึก “ไม่อยากที่จะทำอะไร” ก็อยากให้รับรู้ว่า…ไม่เป็นไรเลย
ยิ้มรับและโอนโยนให้กับความอ่อนแอของตัวเองเถิด
เพราะเธอสามารถเป็นพื้นที่ปลออดภัยแรกของตัวเธอเองได้เสมอ
ขอบคุณจากหัวใจ
- คุณฝน กนกพร ตรีครุธพันธ์, ผู้เขียน