จะป้องกันมะเร็งได้หรือไม่
มาดูกันว่าเราจะป้องกันโรคมะเร็งได้หรือไม่ แล้วปัจจัยเสี่ยงมะเร็งที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งที่พบบ่อย
ปัจจัยเสี่ยงบางประการที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งที่พบบ่อยและท่านอาจหลีกเลี่ยงได้ ได้แก่
1. สูบบุหรี่ ทั้งที่มีจำหน่ายหรือบุหรี่มวนเอง ซิการ์ กล้องยาสูบ หรือการเคี้ยวยาสูบ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก กล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งของตับอ่อน แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่อย่างดีเยี่ยม แต่ก็ยังมีผู้สูบบุหรี่ใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเพศหญิง การลดปัจจัยเสี่ยงข้อนี้สามารถทำได้ง่ายโดยการงดสูบบุหรี่
2. ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ไวรัสเอปสไตน์บารร์มีความเกี่ยวข้องกับ โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Burkitt ไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus) เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง หรือ มะเร็งช่องปากและคอ ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นต้น
3. ดื่มสุรา เป็นอันตรายต่อตับ สามารถทำให้เกิดตับอักเสบและตับแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับตามมา นอกจากนี้ สุรายังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในช่องปากและคอเช่นกัน ไม่นับรวมผลเสียจากการดื่มสุราอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
นอกจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายโดยรวมให้แข็งแรงย่อมเป็นผลดีต่อร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ มีสารอาหารครบถ้วน เลี่ยงหรือลดการบริโภคอาหารไขมันสูง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การพักผ่อน และผ่อนคลายความตึงเครียด จะทำให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ต่อสู้กับโรคมะเร็งและโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ได้
การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายโดยรวมให้แข็งแรงย่อมเป็นผลดีต่อร่างกาย เช่น
อาหาร : รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ มีสารอาหารครบถ้วน เลี่ยงหรือลดการบริโภคอาหารไขมันสูง
ออกกำลังกาย : ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อารมณ์ : พักผ่อน และผ่อนคลายความตึงเครียด จะทำให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ต่อสู้กับโรคมะเร็งและโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ได้
ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จาก
- ทำความรู้จักกับโรคมะเร็งกันเถอะ, เผยแพร่ 2552, มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
- เรียบเรียงและอัพเดทเนื้อหาให้เป็นปัจจุบันโดย มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง