ถามตอบ กินอยู่อย่างไรเมื่อมีถุงทวารเทียม

วิธีรักษา

ยาเคมีบำบัด กับยามุ่งเป้าหรือยาพุ่งเป้า แตกต่างกันอย่างไร ?

ยาเคมีบำบัด

ยาเคมีบำบัดถูกใช้มานานแล้วในการรักษาโรคมะเร็ง มีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์ที่กำลังแบ่งตัว เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีลักษณะการแบ่งตัวเร็ว แต่ตัวยาไม่ได้เลือกกำจัดเฉพาะเจาะจงแต่เซลล์มะเร็งอย่างเดียว จึงส่งผลต่อเซลล์ที่แบ่งตัวในส่วนอื่นๆ ของร่างกายไปด้วย เช่น ผม เม็ดเลือด เยื่อบุลำไส้ จึงเป็นที่มาของอาการผมร่วง ท้องเสีย แผลในปาก ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และโลหิตจาง

ยามุ่งเป้า (Targeted therapy)

ในปัจจุบันมียาชนิดใหม่ๆ สำหรับรักษาโรคมะเร็งเกิดขึ้น เช่น ยามุ่งเป้า ซึ่งใช้วิธีการศึกษาดูว่ามะเร็งแต่ละชนิดเติบโตด้วยกลไกอะไร แล้วใช้ยาที่ตรงกับรูปแบบกลไกมะเร็งแต่ละชนิดเข้าไปยับยั้ง ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย ผลข้างเคียงของยามุ่งเป้าจึงไม่มีเรื่องของเม็ดเลือดขาวต่ำ การติดเชื้อ หรือโลหิตจาง

ยามุ่งเป้าใช้ได้ในบางคน

ตัวอย่างกรณีผู้ที่เป็นมะเร็งปอดที่ไม่ได้สูบบุหรี่ประมาณ 50% จะสามารถใช้ยามุ่งเป้าได้ ส่วนอีก 50% ต้องนำชิ้นเนื้อมาตรวจว่ามีตัวรับของยามุ่งเป้าชนิดนี้หรือไม่

ปัจจุบันยามุ่งเป้าชนิดที่ 1 สามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ หากสงสัยว่าเราสามารถใช้ยามุ่งเป้าได้หรือไม่ ให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเราโดยตรง เนื่องจากต้องพิจารณาบริบทในหลายด้าน เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมที่สุดตามแต่กรณี

เคมีบำบัดแบบเม็ดกับแบบที่ให้ทางเส้นเลือด มีความแตกต่างกันอย่างไร ?

ปัจจุบันมีรูปแบบการให้ยาเคมีบำบัดที่ทำได้ง่ายขึ้น เช่น ยากิน ซึ่งอยู่ในสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยตัวยามีประสิทธิภาพทัดเทียมกันหรืออาจแตกต่างกันเล็กน้อยในด้านผลข้างเคียง เช่น ยาซีโลด้า คาเพ็กไซทาบีน จะส่งผลต่อผิวหนัง ทำให้มือเท้าแห้งแตกเป็นแผลง่าย ส่วนยาฉีดมักมีผลข้างเคียงเป็นอาการท้องเสีย เป็นต้น ในด้านกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ก็มีความแตกต่างกันบ้าง เช่น ผู้ที่มีภาวะไตวาย หรือไตเสื่อม การใช้ยากินจะทำให้เกิดการขับถ่ายออกทางไตเยอะ จึงไม่เหมาะที่จะใช้

ทั้งนี้ การจะเลือกใช้ชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ดูแลพิจารณาตามความเหมาะสม

การตรวจยีนส์พันธุกรรมมะเร็งมีความจำเป็นหรือไม่ ?

การตรวจยีนส์พันธุกรรมมะเร็งเป็นเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับการตรวจโรคมะเร็ง ซึ่งมี 2 แบบ คือ การตรวจยีนส์เพื่อหาการรักษา (ยามุ่งเป้า) และ Whole Genome เป็นการตรวจยีนส์ทั้งร่างกายเพื่อหาสิ่งผิดปกติ ซึ่งมีราคาแพงจำนวนถึงหลักแสนต่อครั้ง และผลที่ออกมามักนำไปใช้ต่อไม่ค่อยได้ เพราะบางครั้งเมื่อพบยีนส์ที่ผิดปกติ แต่ก็ไม่มียาที่จะรักษายีนส์นั้น หรือยีนส์นั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคอะไร

การตรวจหายามุ่งเป้าสามารถใช้ได้กับผู้ที่ป่วยมะเร็งปอด ซึ่งมีปริมาณยีนส์ที่ตรวจไม่เยอะ มีราคาหลักไม่กี่พัน ทั้งนี้ต้องดูว่าเราเป็นโรคอะไร และมียาสำหรับโรคนั้นไหม มีแล็ปรองรับการตรวจนั้นหรือไม่

ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีตัวยามุ่งเป้า ที่ใช้ตรวจ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มยับยั้งการเติบโต ประมาณ 40% ของผู้ป่วยสามารถใช้ยาตัวนี้ได้ ซึ่งจะมีการตรวจอยู่แล้ว โดยเฉพาะในคนไข้ระยะ 4 หรือระยะแพร่กระจาย โดยจะนำชิ้นเนื้อไปตรวจก่อนว่ามียามุ่งเป้าที่ตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ เพื่อให้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • กลุ่มยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ ซึ่งจะไม่มียีนส์ให้ตรวจ

มีอาการแบบนี้ ทำอย่างไรดี

ปิดรูทวารเดิมไปแล้ว แต่ยังรู้สึกปวดถ่าย

ในกรณีที่ปิดรูทวารเดิมไปแล้ว แต่ยังมีความรู้สึกปวดถ่ายและมีของเสียรั่วซึมออกมาจากรูทวารเดิม เป็นอันตรายหรือไม่ และเราควรรับมืออย่างไร ?

หลังจากผ่าตัด บางครั้งจะมีของเสียออกมาจากรูทวารเดิมที่ไม่ได้ทำการปิดปลาย เนื่องจากโดยปกติลำไส้จะยังมีการผลิตมูกอยู่ เมื่อสะสมเป็นปริมาณมากจึงทำให้รู้สึกปวดถ่าย และมีเมือกใสๆ หรือเหลืองๆ ออกมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่หากเมือกที่ออกมามีสีที่เปลี่ยนไป เช่น ปนเลือด ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ ควรรีบปรึกษาแพทย์

ถ้าอาบน้ำแล้วรูทวารปัสสาวะมีน้ำปัสสาวะไหลออกมา จะทำการเปลี่ยนแป้นอย่างไร ?

โดยปกติน้ำปัสสาวะจะมีการไหลอยู่เรื่อยๆ แต่น้ำปัสสาวะที่ไหลนั้นก็จะหยุดเป็นจังหวะด้วย อาจต้องใช้เวลาสังเกตเพื่อจับจังหวะของตัวเอง ในช่วงที่แกะแป้นออกแล้วอาบน้ำเสร็จ ต้องใช้สำลีก้อนซับปิดตรงหน้ารูทวาร โดยอาจมวนเป็นรูปทรงคล้ายบุหรี่ได้ เมื่อซับแห้งแล้วจึงค่อยปิดแป้นครอบถุง สิ่งสำคัญคือต้อง “ใจเย็น” อย่ารีบร้อน

ใจเย็น ค่อยๆ ทำไป

หากมีภาวะไตเสื่อมจากการรับเคมีบำบัด จะมีโอกาสฟื้นฟูไตให้ดีขึ้นได้ไหม ?

มีโอกาสฟื้นฟูได้ โดยปกติในการมาตรวจทุกครั้งที่โรงพยาบาลจะมีการเจาะเลือด ดูจำนวนเม็ดเลือด ค่าตับ ค่าไต เพื่อประเมินการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้อาการไตเสื่อมอาจเกิดจากตัวยา หรือเกิดจากที่คนไข้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากๆ ดังนั้นเวลาที่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นควรรีบแจ้งปรึกษาแพทย์ ในปัจจุบันมีระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล หรือ Tele Health ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่อาจทำได้ง่ายขึ้น

โดยปกติแล้วจะมีการกำหนดระดับอาการไว้เป็นกลุ่มสี เขียว เหลือง แดง เช่น อาเจียนเกิน 3 ครั้ง เป็นสีเขียว เกิน 6 ครั้งเป็นสีแดง เป็นต้น เมื่ออยู่ในเกณฑ์อันตรายทางโรงพยาบาลก็จะทำการปรับยาให้ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นเองที่มีผลกับไต เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ หากมีอาการปวดมาก อาจมาปรึกษาแพทย์เพื่อใช้มอร์ฟีนช่วยได้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการไปซื้อยาใช้เอง

ดูแลทวารเทียมอย่างไร

หากแกะกาวออกแล้วยังมีความเหนียวติดอยู่ ใช้สเปรย์หรือน้ำอุ่นช่วยแล้วก็ยังไม่หาย มีวิธีการช่วยอย่างไรได้บ้าง ?

เวลาอาบน้ำ เปิดแป้นแล้วค่อยๆ เขี่ยทีละนิด หรือใช้สบู่ช่วยในการล้างได้ และสามารถลงโลชั่นได้ด้วย เพื่อทำความสะอาดและบำรุงผิว

น้ำมันยูคาลิปตัสอาจช่วย แต่ต้องล้างออกให้หมดก่อนติดแป้นใหม่ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความมันบริเวณผิวหนัง

มีวิธีการอย่างไรบ้าง เพื่อลดอาการคันบริเวณที่ติดแป้น ?

อาการคันที่บริเวณขอบแป้น มักเกิดจากความชื้น แพ้แป้น หรืออุจจาระซึมเข้าไป

หากมีอาการคันที่บริเวณขอบแป้น มักเกิดจากความชื้น แพ้แป้น หรืออุจจาระซึมเข้าไป ทั้งนี้ ความไวสัมผัสผิวหนังของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แป้นของแต่ละผู้ผลิตก็ทำจากส่วนประกอบที่ต่างกัน เช่น อาจทำจากยางไม้ CNC

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้นอกจากการติดแป้นให้สนิท คือ การใช้แบริเออร์ฟิล์มที่เป็นครีม หรือสเปรย์ฟิล์ม โดยใช้ทาหรือฉีดเล็กน้อยแล้วเกลี่ยให้ทั่วเพื่อเป็นตัวรองผิวหนังก่อนติดแป้น

เมื่อเกิดแผลรอบทวารเทียม ใส่แป้งแล้ว ควรทากาวทับบนแป้งอีกทีไหม ?

แผลรอบตัวทวารหากเป็นแค่ผิวถลอก แนะนำให้ใช้เพียงผงแป้งโรย เกลี่ยให้เรียบไม่เป็นก้อน เพราะจะทำให้แป้นไม่ติด

กาวจะใช้เฉพาะกรณีที่ผิวหน้าท้องบริเวณนั้นเป็นร่องหลุม จึงต้องใช้เสริมให้พื้นผิวเรียบ หากไม่เป็นก็ไม่จำเป็นต้องใช้กาว

ควรใช้ผงแป้งเพื่อช่วยดูดซับความชื้น และช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้ ทั้งนี้การใช้อุปกรณ์หลายอย่างไม่ได้ดีเสมอไป ควรเลือกใช้เท่าที่จำเป็นตามกรณีไป โดยสามารถปรึกษาพยาบาลที่ดูแลว่าควรใช้หรือไม่ได้

ในกรณีที่ลำไส้ยื่นขยายใหญ่แล้วจากนั้นมีการหดเล็กลงทำให้ขนาดแป้นไม่พอดี มีเทคนิคจัดการอย่างไร ?

ไม่ว่าจะกรณีแบบไหน ให้ยึดจากบริเวณคอไส้เป็นหลัก หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนของผิวหนังจริงๆ

เวลาทำให้ตัดแฉกที่แป้นใหญ่กว่าคอไว้ประมาณ 2 มิลลิเมตร ในเวลาที่ลำไส้ยืดยาวออกมาก็จะทำให้ไม่เกิดการเบียด

ดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ลำไส้ยื่นยาวออกมาทางคอลอสโตมี ?

บางครั้งหลังการผ่าตัด ลำไส้อาจจะบวมออกมาทำให้ปากทางมีความกว้าง โดยลำไส้ที่มีการเคลื่นไหวมีโอกาสจะโผล่ยื่นออกมา สิ่งที่จะช่วยลดอาการนี้ได้คือ ต้องพยายามไม่ทำอะไรที่ใช้แรงเบ่งในช่องท้อง ระวังการยกของหนัก การไอ และจาม

ลดลำไส้ยื่นยาวได้โดย

  • พยายามไม่ทำอะไรที่ใช้แรงเบ่งในช่องท้อง
  • ระวังการยกของหนัก
  • ไอ และจาม

ถึงแม้ว่าลำไส้จะเลื่อนออกมา แต่ก็จะสามารถหดกลับเข้าไปได้เหมือนเดิมด้วยเช่นกันในกรณีที่อุจจาระยังคงออกมาได้ แต่หากเลื่อนออกมาแล้วปลายลำไส้มีลักษณะดำคล้ำ ไม่เลื่อนกลับเข้าที่เดิม อาจมีความผิดปกติที่เป็นอันตราย ควรรีบปรึกษาแพทย์

นอกจากนี้ในบางกรณีก็อาจตัดแต่งขลิบให้สั้นลงได้ หรือลดขนาดโดยการใช้ผ้าเย็นพัน แล้วกดให้ลงต่ำ แต่หากมีแรงดันก็สามารถใช้ตัวซิลิโคนเต้านมเป็นอุปกรณ์เสริมช่วยได้

กินอย่างไรดี

มีข้อแนะนำอย่างไรในเรื่องการทานอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ?

  • ใช้ทางสายกลาง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานให้หลากหลาย ไม่ควรทานอะไรซ้ำๆ ต่อเนื่อง
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นมะเร็ง เช่น เหล้า บุหรี่ ของหมักดอง อาหารปิ้งย่าง-ไหม้ อาหารแปรรูป น้ำตาล
  • อาหารเสริมไม่แนะนำ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสารเคมี การทานอาหารตามธรรมชาติจะปลอดภัยกว่า
  • ในช่วงรับการรักษา การมีร่างกายที่แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อที่จะสามารถรับยาเคมีบำบัด/ฉายแสงได้ ซึ่งสามารถดูแลตัวเองโดยการทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เน้นโปรตีน เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาดี
  • ไม่จำเป็นต้องกลัวจนงดทานไปทุกอย่าง เพราะอาจเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารได้ เพียงใส่ใจดูแลการทานหลายๆ อย่างให้สมดุล เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี

ไม่จำเป็นต้องกลัวจนงดทานไปทุกอย่าง เพราะอาจขาดสารอาหารได้ ลองดูว่าสิ่งที่เราไม่อยากทาน จะทำให้ขาดสารอาหารอะไรไหม แล้วมีอะไรที่จะให้สารอาหารเดียวกันได้บ้าง

เพียงใส่ใจดูแลการทานหลายๆ อย่างให้สมดุล ก็จะมีสุขภาพกายและใจที่ดีได้

หลังการรักษา

หากเราผ่าตัดส่วนที่เป็นมะเร็งออกไปแล้ว จะสามารถเป็นมะเร็งที่ส่วนอื่นได้อีกไหม ?

สามารถกลับมาเป็นได้ทั้งตำแหน่งที่เคยผ่าตัดออก และตำแหน่งที่กระจายออกไป

ในการผ่าตัดต้องผ่าออกให้หมด ทำขอบแผลให้สะอาด จะช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำที่บริเวณเดิมได้ และในมะเร็งบางชนิดอาจใช้การฉายแสงร่วมด้วยหลังจากผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้ขอบแผลสะอาดมากขึ้น ปัจจุบันการฉายแสงไม่น่ากลัว ค่อนข้างสบาย เป็นการนอนนิ่งๆ คล้ายการเข้าเอ็กซเรย์ ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีต่อวัน แต่ระยะเวลาอาจยาวนาน 5-7 อาทิตย์ ซึ่งไม่ได้ส่งผลอะไรที่รุนแรง

ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการลุกลามไปมากๆ อาจเป็นได้ทั้งกรณีที่เป็นมะเร็งที่ตัวก้อนนั้นเอง เกิดที่ต่อมน้ำเหลืองรอบๆ หรือกระจายไปตามกระแสเลือด ปอด ตับ ได้

หลังจากจบการรักษาแล้ว มีวิธีปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก ?

  • รักษาสุขภาพ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นมะเร็ง เช่น บุหรี่ เหล้า
  • ไม่ปล่อยให้อ้วน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงในมะเร็งหลายชนิด
  • ติดตามทางการแพทย์ ตามที่แพทย์นัด บางโรคมะเร็งต้องติดตามกันเป็นเวลา 5-10 ปี ทำการตรวจสอบเจาะเลือด เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้

สรุปเนื้อหา และรับชม Live ย้อนหลัง

📖 สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม

🎥 รับชม Live ย้อนหลังของบทความนี้

จากโครงการ Thai Cancer Academy
ตอน Home Chemotherapy และกินอยู่อย่างไรเมื่อมีถุงทวารเทียม

โดยคุณหมอและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
👨‍⚕️ อาจารย์นายแพทย์ พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ : แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
👩‍⚕️ พว.ประไพ อริยประยูร : พยาบาลวิชาชีพขั้นสูง รพ.รามาธิบดี
👨‍⚕️ คุณสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข : ประธานชมรมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

-+=