วิธีพิชิตมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโดยมากมักมีความสับสนและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรค บางครั้งผู้ป่วยอาจเจอกับคำถามทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง เช่น
ทำไมเธอถึงผ่าตัดเต้านมอย่างเดียวไม่ได้ยาเคมีบำบัดหรือ ทำไมฉันถึงต้องให้ยาเคมีบำบัดก่อนที่จะผ่าตัด และหลังผ่าตัดยังต้องได้ยาเคมีบำบัดต่อ แล้วยังต้องได้รับการฉายรังสีรักษาด้วย เป็นต้น
ดังนั้นการเข้าใจในหลักการรักษามะเร็งจึงมีความสำคัญมาก
วิธีพิชิตมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโดยมากมักมีความสับสนและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรค บางครั้งผู้ป่วยอาจเจอกับคำถามทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง เช่น ทำไมเธอถึงผ่าตัดเต้านมอย่างเดียวไม่ได้ยาเคมีบำบัดหรือ ทำไมฉันถึงต้องให้ยาเคมีบำบัดก่อนที่จะผ่าตัด และหลังผ่าตัดยังต้องได้ยาเคมีบำบัดต่อ แล้วยังต้องได้รับการฉายรังสีรักษาด้วย เป็นต้น ดังนั้นการเข้าใจในหลักการรักษามะเร็งจึงมีความสำคัญมาก
เป้าหมายการรักษา ในแต่ละระยะ
หลังจากที่วินิจฉัยมะเร็ง (Diagnosis) แล้วต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อทราบระยะของ การดำเนินโรค (Staging) เพื่อกำหนดเป้าหมายในการรักษาและวางแผนการรักษาต่อไป คนไข้ควรมีความเข้าใจในเป้าหมายของการรักษามะเร็ง เนื่องจากหากพบว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะแรก (Early Stage) หมายถึง มะเร็งอยู่เฉพาะที่ (Localized Disease) เป้าหมายการรักษาของมะเร็งระยะแรกเพื่อหายขาด แต่ในกรณีที่มะเร็งลุกลามมากไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด (Inoperable) ได้ หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว (Advanced Stage) ส่วนใหญ่เป้าหมายของการรักษามะเร็งระยะลุกลามจะเป็นการรักษาเพื่อควบคุม ยับยั้ง ลดจำนวนมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อย่างไรก็ดี ยังมีมะเร็งหลายชนิดที่รักษาหายขาดได้ ทั้งๆ ที่มะเร็งนั้นได้มีการแพร่กระจาย ไปยังอวัยวะต่างๆ แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าการวินิจฉัยมะเร็งที่ถูกต้องและการตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม มีความสำคัญต่อผู้ป่วยเป็นอันมาก เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามเป้าหมายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยแพทย์หลายสาขา หรือสหสาขา (Multidisciplinary Approach) พิจารณาแนวทางการรักษาร่วมกัน ดังนั้นในการรักษาโรคมะเร็งจึงมีความแตกต่าง และความเหมาะสมในการรักษาแต่ละบุคคล อันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย
ในกรณีที่มะเร็งลุกลามมาก ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ส่วนใหญ่เป้าหมายของการรักษามะเร็งระยะลุกลาม จะเป็นการรักษาเพื่อควบคุม ยับยั้ง ลดจำนวนมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ผ่าตัด (Surgery)
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งเฉพาะที่ การรักษามะเร็งระยะแรกส่วนใหญ่มักต้องมีการผ่าตัดเพื่อหายขาด เช่น มะเร็งศีรษะและคอ เต้านม ปอด มะเร็งในช่องท้อง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
ปัจจุบันการผ่าตัดมีความก้าวหน้ามากศัลยแพทย์มีการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านมะเร็งมากขึ้น ในหลายอวัยวะสามารถผ่าตัดโดยไม่ทำให้เสียรูปทรง
ปัจจุบันการผ่าตัดมีความก้าวหน้ามาก ศัลยแพทย์มีการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านมะเร็ง มากขึ้น ในหลายอวัยวะสามารถผ่าตัดโดยไม่ทำให้เสียรูปทรง และหลีกเลี่ยงการสูญเสียอวัยวะนั้น เช่น มะเร็งเต้านม มีการผ่าตัดเฉพาะก้อน (Lumpectomy) ไม่ต้องตัดนมทั้งเต้า (Mastectomy) มะเร็งกระดูกของกระดูกต้นขา แพทย์สามารถผ่าตัดเก็บรักษาขาได้ (Limbsparing Surgery) โดยไม่ต้องตัดขา (Amputation) ปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบส่งผลกระทบน้อย (Minimally Invasive Surgery) เช่น การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ การผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย (Robotic Assisted Laparoscopic Surgery) เพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น แต่การรักษานี้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญเฉพาะ
ปรึกษาแพทย์เรื่องอะไรบ้าง
การปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญถึงข้อบ่งชี้ในการรักษา ข้อห้าม ข้อระวัง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา เพื่อจะได้รับการผ่าตัดที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
รักษาเสริม
หลังจากการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยบางรายต้องได้รับการรักษาเสริม (Adjuvant therapy) เช่น เคมีบำบัด และหรือรังสีรักษา ตามแต่ระยะของมะเร็ง ในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถผ่าตัดได้ทันที เนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือหากต้องการรักษาเพื่อเก็บอวัยวะนั้นไว้ แพทย์อาจวางแผนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย ยาเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีเพื่อให้ก้อนมะเร็งเล็กลงก่อน (Neoadjuvant Therapy)
รังสีรักษา (Radiotherapy)
การรักษาด้วยรังสีบำบัด หรือเรียกตามความเข้าใจทั่วไปว่า การฉายแสง เป็นการรักษามะเร็งเฉพาะตำแหน่งที่วางแผนไว้ การฉายแสงเป็นการรักษามะเร็งโดยใช้รังสีขนาดสูง (High Dose of Radiation) จากแหล่งกำเนิดรังสี โดยที่แหล่งกำเนิดรังสีจากเครื่องกำเนิดรังสี (External Radiotherapy) ให้รังสีตามตำแหน่งที่แพทย์ต้องการควบคุมมะเร็ง การฉายแสงนี้รังสีจะผ่านผิวหนังไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แพทย์รังสีรักษาเป็นผู้วางแผนการให้ปริมาณรังสีให้มีผลต่ออวัยวะข้างเคียงน้อยที่สุด เพราะสามารถกำหนดความลึกและบริเวณที่ต้องการได้ บางกรณีแพทย์อาจใช้รังสีรักษาโดยสอดใส่แหล่งกำเนิดรังสีไปในตำแหน่งใกล้กับก้อนมะเร็งโดยตรง (Brachytherapy) ได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
บทบาทของรังสีรักษา
- รักษาเพื่อให้หายขาด (Curative Radiotherapy)
- การฉายแสงเป็นวิธีหลักในการรักษามะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งบริเวณศีรษะและคอระยะแรก การฉายแสงอย่างเดียวอาจเพียงพอในการรักษา หากมะเร็งลุกลามมากขึ้น การรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับยาเคมีบำบัดยังสามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน ในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อห้ามการผ่าตัด การฉายแสงเป็นการรักษาหลักแทนการผ่าตัดได้ เช่น มะเร็งปอด เป็นต้น
- การฉายแสงเสริม (Adjuvant Radiotherapy) หลังการผ่าตัด เช่น การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดเก็บเต้านม (Breast-conserved Surgery) ผู้ป่วยต้องได้รับการฉายแสงบริเวณเต้านมหลังการผ่าตัดการฉายแสงเพื่อรักษาอวัยวะแทนการผ่าตัด (Organ-preserved Therapy) มักรักษาร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด เช่น มะเร็งกล่องเสียง หากผ่าตัดจำเป็นต้องตัดกล่องเสียง เป็นต้น
- รักษาเพื่อบรรเทาอาการจากมะเร็ง (Palliative Radiotherapy)
มะเร็งมีคุณสมบัติในการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น ทำให้เกิดอาการทุกข์ทรมานจากมะเร็งตามอวัยวะที่มะเร็งแพร่ไป เช่น อาการปวด ซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยการฉายรังสีรักษา นอกจากนี้ยังมีภาวะอื่นที่การฉายรังสีรักษาสามารถลดอาการจากมะเร็งได้ เช่น- ฉายแสงเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อมะเร็งกระจายไปกระดูก การฉายแสงสามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้ผลดีกว่าการรักษาด้วยยาแก้ปวดเพียงอย่างเดียว การฉายแสงเพื่อบรรเทาภาวะเลือดออกจากก้อนมะเร็ง ในก้อนมะเร็งมีการสร้างเส้นเลือดผิดปกติทำให้มีเลือดออกได้ง่าย เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยมีปัสสาวะเป็นเลือดตลอดเวลา การฉายแสงที่ก้อนมะเร็งสามารถรักษาให้เลือดหยุดได้
- ฉายแสงเพื่อรักษาภาวะเร่งด่วนจากมะเร็ง (Emergency Radiotherapy) เมื่อมะเร็งลุกลามอาจไปกดบริเวณที่สำคัญมาก และหากรักษาล่าช้าไปอาจเกิดผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดทุพพลภาพตามมาได้ เช่น ก้อนมะเร็งไปกดไขสันหลัง ทำให้ขาทั้งสองข้างไม่มีแรงและไม่รู้สึก
แม่นยำขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง
การฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะที่ ทำให้อาการจากมะเร็งทุเลา ไม่มีผลต่อมะเร็งตำแหน่งอื่น
เห็นได้ว่าการฉายแสงมีความสำคัญมากในการรักษามะเร็ง และในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากในเรื่องความแม่นยำ ทำให้มีผลข้างเคียงน้อยลงมากเมื่อเทียบกับการรักษาในอดีต ซึ่งมีความเข้าใจผิดว่าการฉายแสงจะเร่งให้มะเร็งลุกลามเร็วขึ้น ญาติของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายแสงเพื่อบรรเทาอาการจากมะเร็ง มักสังเกตว่าเมื่อฉายแสงไปแล้วอาการจะทุเลาเป็นที่พอใจ แต่ต่อมาจะมีอาการจากมะเร็งในตำแหน่งอื่น จึงเข้าใจว่ามะเร็งลุกลามมากขึ้นเป็นผลจากการฉายแสง ในความจริงนั้นการฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะที่ทำให้อาการจากมะเร็งทุเลา ไม่มีผลต่อมะเร็งตำแหน่งอื่น การลุกลามของมะเร็งเป็นคุณสมบัติของมะเร็ง และการรักษาไม่ให้มะเร็งลุกลามไปนั้นผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่มีผลทั่วร่างกาย (Systemic Therapy) เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
เคมีบำบัด (Chemotherapy)
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาด้วยสารเคมีที่มีผลทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติ โดยที่กลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดนั้นเป็นการขัดขวางการแบ่งเซลล์ ทำให้มีผลต่อเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติ การรักษาด้วยเคมีบำบัดได้ผ่านการวิจัยในมนุษย์มาจนเป็นที่แน่ใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย
ผลข้างเคียง
ในอดีตการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้นมีผลข้างเคียงมาก เนื่องจากความรู้เรื่องยาเคมีบำบัดมีไม่มาก และไม่มียารักษาอาการข้างเคียงของยาที่มีประสิทธิภาพ เช่น ยาแก้อาเจียน ในปัจจุบันความรู้เรื่องยาเคมีบำบัดมีมากขึ้น และยาตามอาการมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่กระนั้นก็ตามผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดก็ยังมีอาการข้างเคียงมาก ทั้งนี้อาจมีหลายปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ อาจเป็นเพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เคมีบำบัดมีน้อย ไม่มีการใช้ยาตามอาการตามความเหมาะสม ผู้ป่วยไม่ได้รับคำแนะนำเรื่องการรักษา การปฏิบัติตัวหลังได้รับเคมีบำบัด มีภาวะทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว นอนไม่หลับ ร่วมด้วย ทั้งนี้ในการวิจัยยาเคมีบำบัดในปัจจุบันไม่เพียงมุ่งเน้นการรักษามะเร็งเพียงอย่างเดียว ยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญด้วย
บทบาทของเคมีบำบัด
มีทั้งรักษาให้หายขาด เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และเพื่อบรรเทาอาการ
- เป็นการรักษาหลักเพื่อให้หายขาด
มะเร็งหลายชนิดแม้ว่าแพร่กระจายแล้ว ยังสามารถรักษาด้วยยาเคมีให้หายขาดได้ เช่น มะเร็งอัณฑะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น - เป็นการรักษาเสริมเพื่อหายขาด
- การให้เคมีบำบัดเสริมหลังการผ่าตัด (Adjuvant Chemotherapy) เป็นการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมา โดยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ และทำให้มีชีวิตได้ยาวนานขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ผ่าตัดเพียงอย่างเดียว เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระดูก เป็นต้น
- การให้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด (Neoadjuvant Chemotherapy) เป็นการรักษาเพื่อให้ก้อนมะเร็งลดลง และทำให้การผ่าตัดได้ผลตามเป้าหมาย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระดูก เป็นต้น
- เพิ่มประสิทธิภาพการฉายแสง (Concurrent Chemo-radiotherapy)
การให้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการฉายแสงให้มากขึ้น แต่ผลข้างเคียงก็มากขึ้นตามไปด้วย เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก - รักษาเพื่อบรรเทาอาการ (Palliative Chemotherapy)
การใช้เคมีบำบัดควบคุมยับยั้งมะเร็งที่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการวิจัยทางการแพทย์ หากผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการใช้ยาเคมีบำบัด การรักษาอาจสามารถช่วยผู้ป่วยได้ตามหลักฐานการวิจัย ดังนั้นการเลือกใช้ยาตามภาวะผู้ป่วยมีความสำคัญมาก เนื่องจากหากสภาพผู้ป่วยไม่เหมาะสมต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแล้ว จะเกิดผลข้างเคียงมากและเป็นอันตรายได้
แต่ละคนอาจใช้ยาเคมีบำบัดแตกต่างกัน
การรักษาในแต่ละบุคคลมีเหตุผลของการใช้ยาเคมีแตกต่างกัน โรคมะเร็งแต่ละชนิดมีการตอบสนองต่อยาแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ยาที่แต่ละคนได้รับจึงไม่เหมือนกันในมะเร็งชนิดที่ต่างกัน ท่านอาจสงสัยว่าทำไมบางคนได้ยาเคมีที่มีผลเคียงเรื่องผมร่วงน้อย ในขณะที่บางคนผมร่วงหมดศีรษะ บางคนได้ยาเคมีที่มีมูลค่าสูงมาก แต่อีกคนอาจได้ยาเคมีถูกมาก ซึ่งการได้ยาที่แพงกว่าไม่ได้หมายความว่ายานั้นจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ายาเคมีที่ถูกกว่าเสมอไป มะเร็งบางชนิดถ้าใช้ยาเคมีที่ราคาถูกก็อาจมีประสิทธิภาพที่ไม่ต่างจากยาที่แพง และยังคงเป็นมาตรฐานการรักษาเช่นกัน
โรคมะเร็งแต่ละชนิดมีการตอบสนองต่อยาแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ยาที่แต่ละคนได้รับจึงไม่เหมือนกัน
ยาฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy)
นอกเหนือจากยาเคมีบำบัดแล้ว ยังมีการใช้ยาฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) มีกลไกการยับยั้งการทำงานในเซลล์ผ่านตัวรับฮอร์โมน หรือผ่านเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน การรับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีการใช้สารชีวภาพในการรักษามะเร็ง (Biotherapy) เช่น ยาอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทน้อยลงไปมาก เนื่องจากมีการคิดค้นยาที่สามารถรักษามะเร็งได้โดยตรงเป้าหมาย มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เพราะไม่ได้ไปทำลายเซลล์มะเร็งเหมือนเคมีบำบัด
การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)
การรักษาแบบมุ่งเป้า เป็นการรักษามะเร็งที่มีเป้าหมายที่กลไกการทำงานของเซลล์ โดยที่ยานี้ไม่ได้มีผลในการทำลายเซลล์มะเร็ง และเซลล์ปกติเหมือนเคมีบำบัด
การรักษาแบบมุ่งเป้าเป็นการรักษามะเร็งที่มีเป้าหมายที่กลไกการทำงานของเซลล์ โดยที่ยานี้ไม่ได้มีผลในการทำลายเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติเหมือนเคมีบำบัด จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานทำให้มีความรู้เรื่องกลไกการกำเนิดและการเปลี่ยนแปลงของมะเร็งต่างๆ และมีการพัฒนายาที่ออกฤทธิ์ที่กลไกเหล่านั้นในเซลล์มะเร็ง
ยาในกลุ่มนี้ผ่านการวิจัยจนเป็นที่แน่ใจก่อนที่จะนำมาใช้ ทำให้ยามีราคาแพงมาก และมีข้อบ่งใช้ตามผลการวิจัยที่ได้พิสูจน์เป็นที่แน่ชัดแล้ว แต่ยานี้ไม่สามารถรักษามะเร็งทุกชนิดได้ เพราะจะได้ผลกับมะเร็งที่มีเป้าการออกฤทธิ์ของยาเท่านั้น และถึงแม้ว่าในมะเร็งนั้นมีเป้าการออกฤทธิ์ของยาก็ตาม เมื่อนำมาวิจัยแล้วอาจพบว่ายานั้นไม่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของมะเร็งอาศัยหลายกลไก เป็นผลทำให้การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะบางเป้าหมายไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้ควรเป็นไปตามการวิจัยที่ได้ผลแน่ชัดแล้วเท่านั้น
งานวิจัยทางการแพทย์
มีความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งในช่วง 20 ปี (เขียนเมื่อปี 2552) เนื่องจากมีการวิจัยและนำผลการวิจัยมาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ทำให้การรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดมีมากขึ้น ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งปัจจุบัน เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด การรักษาแบบมุ่งเป้ามีแนวทางที่ได้จากผลการวิจัยทั้งสิ้น ดังนั้นการเข้าร่วมในการวิจัยของผู้ป่วยจึงเป็นโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่อาจดีกว่าปัจจุบันก่อนผู้อื่น โครงการวิจัยส่วนใหญ่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยในโครงการวิจัยด้วยยามาตรฐานที่มีราคาแพง และเมื่อมีผลการศึกษาเสร็จสมบูรณ์ ยาใหม่เหล่านั้นอาจจะเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการรักษาเดิม และไม่เหมือนหนูทดลองตามที่บางคนเข้าใจ
แหล่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง
หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง หรืออยากถามปัญหาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของตัวท่านเอง หรือปัญหาของคนที่ท่านรักและห่วงใย ท่านทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันมีช่องทางให้ท่านได้สอบถาม และแก้ไขปัญหาของท่านได้หลายช่องทาง ตัวอย่างเช่น
- หาแพทย์ความเห็นที่ 2 (Second Opinion) ท่านสามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากอายุรแพทย์โรคมะเร็ง รวมทั้งขอความเห็นเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งสาขาอื่นร่วมด้วย (Second Opinion) ก่อนตัดสินใจการรักษา ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อและสถานพยาบาลที่มีอายุรแพทย์โรคมะเร็งได้ใน website ของมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยที่ www.thethaicancer.com
- ศึกษาเพิ่มเติมและสอบถาม ท่านสามารถเข้าหาความรู้และสอบถามปัญหาที่ท่านข้องใจ สงสัย หรือ ปัญหาในการดูแลรักษาผู้ป่วย ญาติ เพื่อน หรือบุคคลอันเป็นที่รักของท่าน ที่ป่วยจากการเป็นโรคมะเร็งได้
- เว็บมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง www.thaicancersociety.com
- Facebook มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง – Thai Cancer Society : TCS
- ท่านสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ “อาสาเพื่อนมะเร็ง” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลในการรักษามะเร็ง
- เว็บมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
- เว็บของโรงพยาบาลต่างๆ ที่อัพเดทและเชื่อถือได้
ในกลุ่มไลน์อาสาเพื่อนมะเร็งจะมีอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นอย่างดีมาช่วยตอบคำถาม ท่านสามารถมั่นใจได้ว่าคำถามของท่านจะได้รับคำตอบที่น่าเชื่อถือและเป็นกลาง
คำถามที่เป็นประโยชน์ของท่าน อาจจะเป็นคำถามที่ตรงใจกับใครอีกหลายๆ คน และช่วยแก้ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นกับใครอีกคนได้
ประสบการณ์ของแต่ละท่านมีค่า อาจสามารถช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มโรคมะเร็งได้ ปัญหาเล็กๆ ที่คุณพบ บางครั้งอาจเป็นปัญหาใหญ่ที่รอคำตอบในการแก้ไขสำหรับสมาชิกท่านอื่นก็เป็นได้
ช่องทางอื่นๆ เช่น หนังสือแนะนำผู้ป่วย เอก้สารเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มีออกมาให้เลือกมากมาย ทั้งหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือหนังสือแนะนำต่างๆ ท่านคงต้องเลือกและใช้วิจารณญาณในการเลือกสื่อที่ท่านเชื่อถือได้ เช่น หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นเอกสารสำหรับแนะนำผู้ป่วยจากหน่วยงานของทางราชการ และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น โรงพยาบาล สถาบัน หรือสมาคม ที่ทำงานเกี่ยวกับการวิจัยและรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น
คำถามที่เป็นประโยชน์ของท่าน อาจจะเป็นคำถามที่ตรงใจกับใครอีกหลายๆ คน และช่วยแก้ปัญหา ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับใครอีกคนได้
ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จาก
- ทำความรู้จักกับโรคมะเร็งกันเถอะ, เผยแพร่ 2552, มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย
- เรียบเรียงและอัพเดทเนื้อหาให้เป็นปัจจุบันโดย มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง