ปรับตัวปรับใจ กับชีวิตที่มีทวารเทียม

ปรับตัวปรับใจ กับชีวิตที่มีทวารเทียม
ปรับตัวปรับใจ กับชีวิตที่มีทวารเทียม

เป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในวิธีการรักษาที่จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับการขับถ่าย สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ นั่นก็คือ การผ่ายกเปิดทวารเทียม

แต่ผู้ป่วยหลายคนอาจจะรู้สึกกังวลก่อนผ่าตัด กังวลเรื่องการเปลี่ยนของร่างกายหลังจากใส่ทวารเทียม รวมไปถึงการปรับตัว ปรับใจ การใช้ชีวิตเมื่อมีถุงทวารเทียม

วันนี้เราจึงจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับทวารเทียมกัน รวมไปถึงแนะนำวิธีการปรับตัว ปรับใจ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

การปรับใจ

ความคิดและจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญ หลังจากที่รู้ตัวว่าต้องผ่ายกเปิดทวารเทียม สิ่งแรกที่ผู้ป่วยจะต้องทำก็คือการปรับใจ ปรับความคิด ปรับทัศนคติที่มีอยู่ให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับทวารเทียมได้อย่างราบรื่นและมีความสุข โดยเริ่มจาก…

1. ตั้งสติ

ทันทีที่ผู้ป่วยรู้ตัวว่าตัวเองนั้นต้องผ่ายกเปิดทวารเทียม สิ่งแรกที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือการตั้งสติ อย่าเพิ่งกังวลกับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองจะอยู่ได้ไม่นาน อย่าเพิ่งเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ลองหายใจลึกๆแล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับกับการมีทวารเทียมยกมาขับถ่ายที่หน้าท้อง

ตั้งสติ

หายใจลึกๆแล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับกับการมีทวารเทียม ยกมาขับถ่ายที่หน้าท้อง

2. ศึกษาหาข้อมูล

เมื่อตั้งสติได้แล้วก็ต้องเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ เพราะความไม่รู้ทำให้เกิดความกังวล เราจึงชวนลดความกังวลด้วยความเข้าใจ เพื่อที่จะได้เข้าใจสภาวะของโรคและการรักษาในรูปแบบต่างๆ การดูแล รวมไปถึงการใช้ชีวิตกับทวารเทียมว่า มีข้อควรระวังอะไรบ้าง ต้องดูแลทวารเทียมอย่างไรถึงจะถูกต้อง

ศึกษาหาข้อมูล

เพื่อให้เข้าใจโรค รู้ว่ารักษาอย่างไรได้บ้าง ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ชีวิตที่มีทวารเทียมเป็นอย่างไร จะปรับตัวปรับใจอย่างไรบ้าง

3. พูดคุยกับจิตอาสาเพื่อนทวารเทียม

การมีคนที่ทำทวารเทียมเหมือนกันคอยพูดคุย คอยแชร์ประสบการณ์ จะช่วยให้คุณเข้าใจวิธีการปรับตัวเมื่อมีทวารเทียมมากขึ้น เพื่อนๆ จากชมรมจิตอาสาทวารเทียมของโรงพยาบาลราชวิถี พร้อมให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ และคอยเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยทุกคนให้มีแรงสู้ต่อไป จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ในที่สุด

พูดคุยกับเพื่อนร่วมทาง

มีเพื่อนๆ จากชมรมจิตอาสาทวารเทียมของ รพ.ราชวิถี พร้อมให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจให้เสมอ

4. พูดคุยกับคนในครอบครัว

หากรู้สึกเครียด รู้สึกกังวลกับการผ่ายกเปิดทวารเทียม ให้ลองหันกลับมามองคนใกล้ตัวอย่างคนในครอบครัว ลองระบายสิ่งที่อยู่ในใจให้พวกเขาฟัง เราเชื่อว่าจะมีคนที่เข้าใจและคอยอยู่เคียงข้างจนกว่าคุณจะสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤตไปได้ และยังทำให้คนในครอบครัวเข้าใจคุณมากยิ่งขึ้นด้วย

พูดคุยกับคนในครอบครัว

เราเชียร์ให้ลองเล่าสิ่งที่อยู่ในใจให้คนในครอบครัวฟัง ทั้งความเครียด ความกังวล หรือแม้แต่ความสบายใจ จะทำให้เข้าใจกันชัดมากขึ้น เมื่อมีคนอยู่เคียงข้าง จะช่วยให้ผ่านวิกฤตไปได้ง่ายขึ้น

ปรับตัวปรับใจ ใช้ชีวิตใหม่อย่างไร กับชีวิตที่มีทวารเทียม

การปรับตัว

ผู้ใส่ทวารเทียมสามารถใช้ชีวิตได้แทบจะเหมือนเดิม แค่มีข้อควรระวังบางอย่างซึ่งจะทำให้ชีวิตของท่านสะดวกมากยิ่งขึ้น

เมื่อผู้ป่วยสามารถปรับใจ ปรับความคิด ได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้นแล้ว หลังจากการผ่ายกเปิดทวารเทียมก็จะต้องปรับตัวกับการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ใส่ทวารเทียมสามารถใช้ชีวิตได้แทบจะเหมือนเดิม เพียงแต่มีข้อควรระวังบางอย่างที่จะทำให้ชีวิตของท่านสะดวกมากยิ่งขึ้น ในแต่ละกิจกรรมดังต่อไปนี้

การเลือกกินอาหาร

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้

  • อาหารจำพวกเนื้อแดง เนื้อติดมัน เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ
  • อาหารปิ้ง ย่าง ทอด
  • อาหารฟาสต์ฟู้ด
  • อาหารแปรรูป เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก
  • อาหารหมักดอง

การอาบน้ำ

ผู้ป่วยที่มีทวารเทียมสามารถอาบน้ำขณะที่ใส่ถุงรองรับได้ โดยที่เวลาอาบน้ำจะต้องระวังไม่ให้ตัวแป้นกับถุงรองรับเกิดความชื้น จึงแนะนำให้ใช้ถุงซิปล็อกที่ตัดรูเท่ากับฐานแป้นแล้วติดพลาสเตอร์เข้ากับตัว เพื่อกันไม่ให้น้ำเข้า เมื่ออาบน้ำเสร็จก็ค่อยๆซับน้ำที่อยู่บริเวณแป้นให้แห้ง

ถ้าใช้แบบ 2 ชิ้น ถุงรองรับสามารถถอดออกได้ แต่จะต้องคำนึงด้วยว่าเป็นทวารเทียมระบบใด หากเป็นระบบลำไส้จะต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจมีอุจจาระไหลออกมาในขณะอาบน้ำได้ ส่วนทวารเทียมระบบลำไส้ใหญ่ จะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะมีอุจจาระออกมา

การนอน

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดและเปรี้ยวจัดในมื้อเย็น เพราะอาจทำให้เกิดแก๊สและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้
  • ควรเทของเสียออกจากถุงรองรับให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน เพื่อให้มีที่ว่างเพียงพอที่จะรองรับอุจจาระหรือปัสสาวะได้
  • ใส่เข็มขัด (Ostomy belt) เพื่อป้องกันการหลุดรั่ว
  • ใส่เม็ดมินต์ (Phudin hara) ลงในถุงรองรับเพื่อดับกลิ่น
  • นวัตกรรม (บ้านทวารใหม่ ทวารเทียม) ต่อสายเชื่อมออกจากถุงรองรับของเสียไปยังกระเปาะที่บรรจุ Activated carbon ไว้ เพื่อระบายแก๊สและลดกลิ่น

การออกกำลังกาย

สามารถทำได้ใน 6-8 สัปดาห์ หรือได้รับการปรึกษาคุณหมอแล้ว แต่ให้ยกเว้นกิจกรรมที่เกิดแรงเบ่งในช่องท้อง เพราะอาจทำให้เกิดไส้เลื่อนได้ ส่วนใครที่ชอบว่ายน้ำ ให้ใช้เข็มขัดและผ้ารัดถุงทวารเทียมไว้ เพื่อไม่ให้ถุงแกว่งไปมา และควรว่ายไม่เกิน 30 นาที

การมีเพศสัมพันธ์

ผู้ป่วยที่ผ่ายกเปิดทวารเทียมแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ เพียงแต่อาจจะต้องระวังในบางท่าทาง อย่างท่านอน หรือท่าข้างหลังสามารถทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงท่าที่ต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกกับทวารเทียม

การแต่งตัว

ผู้ป่วยสามารถแต่งตัวอย่างในแบบที่เคยทำได้เลย แต่เสื้อผ้าจะต้องหลวมกว่าปกติเล็กน้อยเพื่อเว้นที่ไว้ให้ถุงรองรับของเสีย หรือแต่งตัวได้ตามปกติถ้าทวารเทียมอยู่ต่ำกว่าแนวขอบกางเกง แต่อาจจะมีบางคนที่ต้องใส่เครื่องแบบหรือต้องการพรางตาไม่ให้เห็นถุงรองรับแบบชัดเจน คุณสามารถใช้ผ้าสีต่างๆที่มีความกลมกลืนไปกับสีชุดเพื่อคลุมถุงรองรับไว้ เพียงเท่านี้ก็จะสังเกตเห็นถุงทวารเทียมได้ยากขึ้น

ลดการเกิดกลิ่น

หากกังวลเรื่องกลิ่น สามารถใส่เม็ดมินต์ (Phudin hara) ลงในถุงรองรับเพื่อดับกลิ่นได้

ส่วนการระบายแก๊สโดยไม่มีกลิ่น ทำได้โดยต่อสายจากถุงรองรับออกไปยังกระเปาะที่บรรจุ Activated carbon ไว้

  • การรับประทานอาหารบางชนิดอาจทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรงดรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น สะตอ ชะอม กระเทียม กะหล่ำปลี หัวหอม ถั่วอบ หน่อไม้ฝรั่ง และเนื้อปลาบางชนิด
  • การล้างทำความสะอาดถุงรองรับไม่เกลี้ยง ก็ทำให้เกิดกลิ่นได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรล้างทำความสะอาดถุงรองรับ โดยเฉพาะที่บริเวณปลายถุงให้เกลี้ยงและสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
  • หากยังกังวลเรื่องกลิ่น สามารถใส่เม็ดมินท์ (Phudin hara) ลงในถุงรองรับเพื่อดับกลิ่นได้ แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินและน้ำยาบ้วนปากเด็ดขาด เพราะจะทำให้ทวารเทียมเป็นแผลได้

การระบายแก๊ส

ร่างกายจะมีการระบายแก๊สออกมาเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งแก๊สเหล่านั้นก็จะมาอยู่รวมกับของเสียที่อยู่ภายในถุงรองรับ หากมีปริมาณมากเกินไปก็จะทำให้ถุงโป่งพองและแตกในที่สุด แต่ผู้ป่วยสามารถระบายแก๊สเหล่านั้นได้ด้วยการต่อสายจากถุงรองรับออกไปยังกระเปาะที่บรรจุ Activated carbon ไว้ เพียงเท่านี้ก็จะมีทางระบายแก๊สออกโดยที่ไม่มีกลิ่น

การทำงาน

ผู้ป่วยที่มีทวารเทียมสามารถทำได้ทุกอาชีพ เพียงแต่จะต้องหลีกเลี่ยงการออกแรงเยอะ การยกของหนัก หรือกิจกรรมที่อาจกระทบกับทวารเทียมบ่อยๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

สิทธิ์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ

เมื่อเริ่มทำใจได้ ผู้ป่วยก็จำเป็นที่จะต้องรับรู้คือสิทธิ์ที่พึงได้ ทั้งในด้านของการรักษา การดูแลจิตใจ และการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตใหม่ได้อย่างมั่นใจ โดยมีดังต่อไปนี้

1. ได้รับการดูแลจากแพทย์ และทีมงานเฉพาะทาง

ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปรึกษาก่อนการผ่ายกเปิดทวารเทียมจากแพทย์ พยาบาลและทีมงานเฉพาะทาง มีการวางแผนและปรึกษาร่วมกันเพื่อกำหนดตำแหน่งทวารเทียมให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งจะอยู่ใกล้กับบริเวณกลางท้อง และเมื่อผ่ายกเปิดทวารเทียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากพยาบาลที่มีทักษะและมีความชำนาญ นอกจากนั้นยังมีทีมงานเฉพาะทางคอยดูแลอย่างต่อเนื่อง

2. ได้รับการดูแลทางด้านอารมณ์

เพราะในช่วงก่อนและหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจเกิดความเครียด กังวลกับการผ่าตัด รวมไปถึงการใช้ชีวิตหลังจากที่ผ่ายกเปิดทวารเทียม ว่าจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร จะเหมือนเดิมหรือไม่ จนอาจส่งผลกระทบกับสุขภาพได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก

3. ได้รับการสนับสนุนทางสังคม

เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคและวิธีการรักษา รวมไปถึงได้รับความช่วยเหลือจากชมรมหรือเครือข่ายของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ เช่น ชมรมจิตอาสาทวารเทียมของโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อช่วยให้ตัวผู้ป่วยสามารถก้าวผ่านช่วงระยะเวลาที่วิกฤติได้

4. ได้รับข้อมูลวัสดุ อุปกรณ์ทวารเทียม

ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุ อุปกรณ์ทวารเทียม และของใช้อื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงวิธีการใช้ วิธีทำความสะอาด และวิธีการเก็บรักษา เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจและสามารถใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง โดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้ป่วย

ทำความรู้จักกับถุงทวารเทียม

หลังจากที่ได้รู้วิธีในการปรับใจและสิทธิ์ที่ผู้ป่วยต้องได้รับไปแล้ว เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับทวารเทียมที่เป็นเปรียบเสมือนอวัยวะชิ้นใหม่ เพื่อที่จะได้เข้าใจและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ทวารเทียม หรือออสโตมี (Ostomy) เป็นการผ่าตัดให้มีช่องทางเปิดออกทางหน้าท้อง เพื่อให้เป็นทางผ่านของอุจจาระหรือปัสสาวะ เนื่องจากของเสียภายในร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถออกผ่านช่องทางปกติได้ มีทั้งประเภทชั่วคราวและถาวร ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับแผนการรักษาและสภาวะของโรค

โดยลักษณะของทวารเทียม จะมีผิวมันเรียบ ชุ่มชื้น ส่วนใหญ่มีสีแดงหรือสีชมพู ขึ้นอยู่กับว่าเป็นทวารเทียมของระบบใด หากเป็นทวารเทียมของระบบลำไส้ใหญ่ก็จะมีสีออกไปทางแดงเข้ม ส่วนทวารเทียมของระบบลำไส้เล็กจะมีสีชมพู ทวารเทียมไม่มีเส้นประสาท ทำให้เวลาที่เราสัมผัสก็จะไม่เกิดความรู้สึกใดๆ แต่จะมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้เวลาที่ทำความสะอาด อาจมีเลือดออกได้ แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเลือดจะหยุดไหลได้เองในเวลาต่อมา

รู้จักแป้นและถุงรองรับของเสีย

หลังการผ่าตัดผู้ที่มีทวารเทียมจะมีอุปกรณ์ 2 อย่าง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ นั่นก็คือแป้นและถุงรองรับของเสีย ซึ่งในปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้มีหลากหลายแบบให้เลือกตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งถ้าแบ่งตามจำนวนชิ้น จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

แบบ 1 ชิ้น

มีอายุการใช้งาน 3 – 5 วันต่อชิ้น เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องวัดขนาดทวารเทียมก่อนแล้วค่อยตัดแป้น สามารถเลือกขนาดที่พอดีได้เลย ซึ่งตัวแป้นจะเชื่อมกับถุงรองรับเป็นชิ้นเดียว สามารถทากาวแล้วแปะติดกับผิวหนังรอบๆทวารเทียมได้เลย ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน

แบบ 2 ชิ้น

ตัวแป้นจะมีอายุการใช้งาน 5 – 7 วันต่อชิ้น ซึ่งตัวแป้นกับถุงรองรับจะแยกชิ้นกัน โดยจะต้องแปะแป้นให้ติดกับผิวหนังรอบๆทวารเทียมก่อน จากนั้นจึงค่อยนำถุงรองรับมาแปะกับแป้นอีกที ข้อดีคือถุงรองรับแบบนี้จะสามารถถอดออกมาเพื่อล้างทำความสะอาดได้

การดูแลทวารเทียม

เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่ายกเปิดทวารเทียมเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องคอยดูแลรักษาให้อยู่ในสภาวะที่ดีอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถใช้งานได้และอยู่กับร่างกายได้อย่างปกติสุข ซึ่งผู้ป่วยควรดูแลทวารเทียมให้ถูกต้องตามวิธีการดังต่อไปนี้

การป้องกันไม่ให้ถุงหลุดรั่ว

เลือกแป้นและถุงที่เหมาะสม

ในตอนแรกจะมีพยาบาลคอยประเมินให้ว่าผู้ป่วยเหมาะกับแป้นและถุงรองรับแบบไหน เพราะทวารเทียมของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงผิวหน้าท้องเป็นอย่างไร สามารถแปะแป้นแบบไหนได้บ้าง หากแป้นมีขนาดใหญ่มากเกินไป ก็จะทำให้ถุงรองรับของเสียเกิดการรั่วได้ ต้องเลือกให้เหมาะสมและพอดีกับทวารเทียมมากที่สุด

ดูแลภาวะอ้วนหรือภาวะไส้เลื่อน

โดยปกติทวารเทียมจะโผล่ยื่นออกมาจากหน้าท้องประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร หากผู้ป่วยมีภาวะอ้วนหรือภาวะไส้เลื่อน ก็จะทำให้ส่วนที่ยื่นออกมานั้นโผล่ออกมาน้อยลง ขนาดของแป้นและถุงรองรับที่ใช้อยู่อาจจะไม่พอดีจนทำให้เกิดการรั่วในเวลาต่อมาได้ เพราะฉะนั้นควรเลือกแป้นให้เหมาะสมกับช่วงเวลานั้นๆ

งดอาหารเผ็ดร้อน อาหารย่อยยาก

การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนและอาหารที่ย่อยยาก จะทำให้ร่างกายมีการปล่อยแก๊สและอาจเกิดอาการท้องเสียได้ ซึ่งจะทำให้ถุงรองรับของเสียมีโอกาสการรั่วซึมสูง ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้

หาทางระบายแก๊ส

โดยปกติร่างกายจะมีปล่อยแก๊สออกมาอยู่แล้ว และการที่มีแก๊สปล่อยออกมาจะทำให้ถุงรองรับค่อยๆโป่งพองขึ้น จนในที่สุดถุงรองรับแตกและของเสียที่อยู่ในนั้นรั่วออกมา ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีทวารเทียมจึงควรระบายแก๊สที่อยู่ภายในถุงออกอยู่เรื่อยๆ ซึ่งบทความนี้เราจะมีการแนะนำวิธีระบายแก๊สในเนื้อหาส่วนถัดไป


การป้องกันไม่ให้เกิดแผลรอบทวารเทียม

ลดพื้นที่สัมผัสอุจจาระหรือปัสสาวะ

บางครั้งแผลรอบๆ ทวารเทียมจะเกิดจากการที่ผิวหนังในบริเวณนั้นมีการสัมผัสกับอุจจาระหรือปัสสาวะมากเกินไป ซึ่งวิธีการป้องกันก็คือการตัดแป้นให้มีขนาดที่พอดี ห่างจากทวารเทียมประมาณ 2 มิลลิเมตร ไม่กว้างจนเกินไป เพื่อให้แป้นสามารถปิดผิวหนังบริเวณนั้นให้ได้มากที่สุด

โดยในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ทวารเทียมจะมีขนาดไม่คงที่ ผู้ป่วยจะต้องวัดขนาดใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแป้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นสัมผัสกับของเสียมากเกินไป โดยอาจจะใช้วิธีลอกลายหรือใช้ตัว Stoma guide ในการวัดขนาดของทวารเทียม

ล้างทำความสะอาด ทาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิว ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว

บางครั้งผู้ป่วยล้างทำความสะอาดของเสียที่ร่างกายขับออกมาไม่เกลี้ยง ทำให้เกิดแผลและติดเชื้อในเวลาต่อมา ดังนั้นผู้ป่วยควรหมั่นล้างทำความสะอาดอยู่เสมอ โดยทำแบบอ่อนโยนเพื่อไม่ให้เกิดแผล หากเกิดแผลรอบๆ ทวารเทียม แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ปกป้องผิว และให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวด้วย

การลอกแป้น

การลอกแป้นจะต้องทำในเวลาที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เกิดแผลรอบทวารเทียมได้ ยกตัวอย่างเช่น แป้นแบบ 2 ชิ้น จะอยู่ได้ประมาณ 5-7 วัน หากลอกเร็วกว่านั้น ก็อาจจะทำให้เกิดแผลได้เพราะกาวยังคงติดแน่นอยู่ แต่ถ้าเกิดปล่อยไว้นานเกินไป ก็จะทำให้เกิดแผลหรือเกิดการรั่วซึมได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีทวารเทียมควรสังเกตดูว่า ใช้เวลาประมาณกี่วัน แป้นที่ใช้อยู่ถึงจะเริ่มบวม เริ่มพองตัว จากนั้นจดเอาไว้ ก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดแผลเวลาที่ลอกแป้นออกได้


ทวารเทียมโผล่ยื่น

ในกรณีทวารเทียมของผู้ป่วยโผล่ยื่นออกมามากกว่าปกติ จะทำให้การติดแป้นนั้นทำได้ยากขึ้น ซึ่งก็เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ผนังหน้าท้องของผู้ป่วยที่มีทวารเทียมไม่แข็งแรงพอ ออกแรงยกของหนักหลังการผ่าตัด หรือการไอบ่อยๆ เป็นต้น วิธีแก้ไขก็คือ ก่อนทำการติดแป้น ให้ใช้น้ำเย็นลูบที่ทวารเทียมก่อนเพื่อให้หดตัว เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สามารถติดแป้นได้ง่ายขึ้นแล้ว

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลและข้อแนะนำต่างๆ ในบทความนี้ จะช่วยให้ผู้ใส่ทวารเทียมและคนรอบข้าง เข้าใจเกี่ยวกับทวารเทียมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงช่วยปรับทัศนคติให้สามารถใช้ชีวิตกับทวารเทียมได้อย่างมีความสุข ได้อยู่กับคนรัก อยู่กับครอบครัว และได้ทำสิ่งที่อยากทำต่อไปได้อีกนานๆ

หลายคนรู้สึกกังวลเมื่อจะมีถุงทวารเทียม วันนี้เราชวนมาเข้าใจเกี่ยวกับทวารเทียมกัน รวมไปถึงแนะนำวิธีการปรับตัว ปรับใจ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

-+=