3 วิธีตรวจหามะเร็งลำไส้ และอาการที่อาจพบหลังตรวจ
3 วิธีตรวจ
ปัจจุบันการตรวจมะเร็งลำไส้สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว มีหลักๆ 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
- การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
ชวนมาดูประสิทธิภาพ ข้อดี ข้อจำกัด ความถี่ในการตรวจของแต่ละวิธีกันด้วย
มะเร็งลำไส้น่ากลัวตรงที่ “ส่วนใหญ่กว่าจะตรวจเจอก็ลุกลามไปเยอะแล้ว”
ดังนั้น เมื่อพบอาการผิดปกติของระบบขับถ่าย แม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจแต่เนิ่นๆ ได้
มะเร็งลำไส้น่ากลัวตรงที่ “ส่วนใหญ่กว่าจะตรวจเจอก็ลุกลามไปเยอะแล้ว”
ดังนั้น เมื่อพบอาการผิดปกติของระบบขับถ่าย แม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจแต่เนิ่นๆ ได้ ส่วนคนที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรตรวจคัดกรองสม่ำเสมอแม้ไม่มีอาการ
มะเร็งลำไส้ ยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสหายมากขึ้น 🩺
การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal Immunochemical Test หรือ FIT)
วิธีการตรวจ
- เก็บตัวอย่างอุจจาระ สามารถเก็บอุจจาระจากบ้านมาตรวจได้
- เจ้าหน้าที่นำไปตรวจด้วยชุดทดสอบ
- ทำการแปลผล
ผลตรวจ
ผลเป็นลบ (Negative): ไม่พบเลือดแฝงในอุจจาระ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีความเสี่ยง ควรตรวจซ้ำทุก 1 ปี
ผลเป็นบวก (Positive): ต้องตรวจยืนยันต่อด้วยวิธีส่องกล้อง
สามารถตรวจได้ทุกปี แต่ไม่สามารถตรวจพบเนื้องอกบางชนิดได้
ข้อควรระวัง: หลีกเลี่ยงการส่งตรวจระหว่างมีประจำเดือน หรือเป็นริดสีดวงทวาร
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonography)
วิธีการตรวจ
- 1- 2 วันก่อนตรวจ ให้ทานอาหารอ่อน งดอาหารที่มีกากใย
- กินยาระบายที่แพทย์สั่ง
ผลตรวจ
ใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงถ่ายภาพผ่านบริเวณช่องท้อง แล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลภาพตัดขวางที่ได้เป็นภาพเสมือนจริงแบบ 3 มิติ เพื่อตรวจดูรอยโรค หรือติ่งเนื้อ ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
การเตรียมตัว
- กินยาระบายที่แพทย์สั่ง
- งดดื่มน้ำและอาหารก่อนตรวจ 4-8 ชั่วโมง
- สวนล้างลำไส้ ในกรณีลำไส้อุดตัน หรือตรวจฉุกเฉิน
วิธีการตรวจ
แพทย์จะสอดกล้องที่เป็นท่อขนาดเล็กโค้งงอได้เข้าไปทางทวารหนัก เพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 20-45 นาที ถ้าพบสิ่งผิดปกติ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา
อาการที่อาจพบภายหลังการตรวจ
- แน่นอึดอัดท้อง: จะค่อยๆ หายเมื่อได้เรอหรือผายลม
- เจ็บท้องน้อยหรือทวารหนัก: จะค่อยๆ หายเอง
- อาจมีเลือดออกได้หากมีการตัดเนื้องอก – กรณีที่มีเลือดออกมากผิดปกติ ท้องแข็ง ปวดท้องมาก มีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์
ข้อควรระวัง: ห้ามขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร และทำงานที่ต้องใช้การตัดสินใจ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังตรวจ
เปรียบเทียบวิธีตรวจมะเร็งลำไส้ทั้ง 3 วิธี
📍 การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal Immunochemical Test หรือ FIT)
ประสิทธิภาพ: ความไว 79% (ต่ำกว่าวิธีอื่น)
ข้อดี: ไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน สามารถเก็บอุจจาระจากบ้านมาตรวจได้
ข้อจำกัด: ไม่สามารถตรวจเนื้องอกบางชนิดได้
ความถี่ในการตรวจ: ทุกปี
📍 การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonography)
ประสิทธิภาพ: ความไว 90 – 100% ขึ้นกับขนาดของเนื้องอก
ข้อดี: ไม่ต้องใช้ยานอนหลับ มีความแม่นยำ ง่ายและสะดวก
ข้อจำกัด:
- ไม่สามารถตรวจเนื้องอกชนิดแบนได้
- หากเจอเนื้องอกยังคงต้องส่องกล้องต่อ
- ต้องทานยาระบายเตรียมลำไส้
- มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อ่านภาพรังสีชนิดนี้น้อย
ความถี่ในการตรวจ: ทุก 5 ปี
📍 การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
ประสิทธิภาพ: ความไว 90 – 100%
ข้อดี: สามารถตัดรอยโรคออกมาก่อนกลายเป็นมะเร็งได้ รวมถึงเนื้องอกขนาดเล็กหากส่องตรวจพบ
ข้อจำกัด
- อาจมีอาการปวดหลังการตรวจ
- จำเป็นต้องทานยาระบายเตรียมลำไส้
- ต้องฉีดยานอนหลับ
- มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน 4 – 8 คน ต่อ 10,000 คน
ความถี่ในการตรวจ: ทุก 10 ปี
แหล่งอ้างอิง
Shaukat A, Kahi CJ, Burke CA, et al. ACG Clinical Guidelines: Colorectal Screening 2021. Am J Gastroenterol. 2021 Mar 1;116(3):458-479.
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
แนวทางการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง (ม.ป.ป). กรุงเทพฯ:โฆษิตการพิมพ์.
ศิริพร พินัยกุล. (2553). การตรวจคัดกรองมะเร็งลำ ไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์. สงขลานครินทร์วารสาร, 28 (6), 349-358.
ชัยวัฒน์ เชิดเกียรติกุล และคณะ. (2558). การตรวจพิเศษรังสีลำไส้ใหญ่. วารสารรังสีวิทยาศิริราช, 2(1), 21-29.
สงขลานครินทร์วารสาร, 28 (6), 349-358.
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วีกิจ วีรานุวัตติ์