เก็บกวาดบ้าน ผ่อนคลายใจ

เก็บกวาดบ้าน ผ่อนคลายใจ

“เก็บกวาดบ้าน” ในแบบมีความหมายมากกว่าที่เคย และยังส่งผลที่ดีต่อจิตใจเราด้วย

สิ่งต่างๆ รอบตัวที่เราได้เชื่อมโยงสัมพันธ์ ล้วนส่งผลอะไรบางอย่างกับเราไม่มากก็น้อย ทั้งโดยตรงและโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นผู้คน เหตุการณ์ หรือข้าวของต่างๆ ที่อยู่รายรอบ

กับสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เช่น ผู้คนที่เจอในแต่ละวัน เหตุการณ์สถานที่ต่าง ๆ ที่ต้องเข้าไปข้องเกี่ยว เราจะรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ส่งผลกับเราได้ชัดเจนกว่า

แต่กับสภาพแวดล้อมใกล้ตัวเราที่มีความคงเดิม เช่น ห้องนอน หรือพื้นที่ในบ้าน เราอาจไม่ทันสังเกตถึงอิทธิพลที่ส่งผลกับตัวเรา อาจเพราะด้วยความเคยชิน หรืออาจนึกไม่ถึงว่าสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลกับเราได้มากกว่าที่คิด

ในบทความนี้ เราจึงอยากชวนมาสำรวจดูแลใจกันด้วยกิจกรรมง่ายๆ ใกล้ตัว นั่นก็คือ “การเก็บกวาดบ้าน” ในแบบที่จะมีความหมายมากกว่าที่เคย และยังส่งผลที่ดีต่อจิตใจเราได้อีกด้วย

สภาพแวดล้อมใกล้ตัวเราที่มีความคงเดิม เช่น ห้องนอน หรือพื้นที่ในบ้าน เราอาจไม่ทันสังเกตถึงอิทธิพลที่ส่งผลกับตัวเรา อาจเพราะด้วยความเคยชิน หรืออาจนึกไม่ถึงว่าสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลกับเราได้มากกว่าที่คิด

แค่เก็บกวาดบ้าน จะส่งผลกับจิตใจเราได้จริงไหม ?

งานวิจัยพบว่า ช่วยให้เครียดน้อยลงได้

จากการศึกษาวิจัยของ Florida State University ได้ทำการทดลองให้นักศึกษา 51 คนล้างจานด้วยความมีสติรู้สึกตัว (Mindfulness) โดยให้วางจิตใจอยู่กับการล้างจาน อยู่กับช่วงเวลาและการกระทำนั้นอย่างแท้จริง รับรู้ถึงสัมผัสของจาน น้ำที่ไหลผ่าน อุณหภูมิ กลิ่น ในระหว่างที่ล้าง พบว่าสามารถช่วยทำให้สภาวะของจิตใจเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้หลังจากทำ โดยช่วยให้มีความเครียดลดลง 27% และส่งผลต่อจิตใจในเชิงบวกเพิ่มขึ้น 25%

ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ล้างจานแบบปกติ กลับไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้

ทำอย่างมีสติรู้สึกตัว

จากผลการศึกษาด้านบน เราจะพบว่าความจริงแล้วหลักสำคัญที่ทำให้เกิดผลดีต่อสภาพจิตใจ ไม่ใช่ตัว “การล้างจาน” แต่เป็นการกระทำอย่างมีสติรู้สึกตัว (Mindfulness) ซึ่งเราสามารถนำหลักนี้มาใช้กับการทำกิจกรรมอื่นๆ ได้เช่นกัน

วางจิตใจอยู่กับการล้างจาน อยู่กับช่วงเวลาและการกระทำนั้นอย่างแท้จริง

รับรู้ถึงสัมผัสของจาน น้ำที่ไหลผ่าน อุณหภูมิ กลิ่น ในระหว่างที่ล้าง

สำรวจรอบห้อง มองให้ลึกกว่าที่เห็น

1). ชวนสังเกต

เราได้สังเกตและมองดูรอบๆ ห้องของเราอย่างจริงจังครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่…

ของในห้องเรามีเยอะแค่ไหน

มีมากไปไหม น้อยไปรึเปล่า หรือว่ากำลังดี

ขอบคุณ…ที่เราได้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิต

เรามีของแบบไหนบ้างนะ

ของใช้ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่ง ของสะสม ของเล่น ของขวัญ ฯลฯ

ขอบคุณ…ที่รอบตัวเราอุดมไปด้วยความหลากหลาย

สิ่งของเหล่านี้มีความหมายกับเราแบบไหน

ช่วยในการดำรงชีวิต อำนวยความสะดวก ทำให้นึกถึงบางเหตุการณ์หรือคนบางคน สะท้อนถึงตัวตนและความชอบของเรา บางอย่างอาจดูไม่มีประโยชน์อะไรแต่ดีต่อใจเราเหลือเกิน ฯลฯ

ขอบคุณ…ที่สิ่งต่างๆ ยังประโยชน์ให้กับเรามากมายหลายแบบ

สิ่งของต่างๆ ส่งผลกับความรู้สึกเราอย่างไร

รัก ชอบ เฉยๆ เบื่อ เกลียด สบายใจ อึดอัด สดชื่น กังวล ผ่อนคลาย ฯลฯ

ขอบคุณ…ที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆ ที่สะท้อนถึงความหมายในจิตใจเรา

ของแต่ละชิ้นอยู่ตรงไหนบ้าง

อยู่ในที่ทางที่เหมาะสมไหม อยู่มานานแค่ไหนแล้ว ยังสมควรอยู่ตรงนั้นไหม

ขอบคุณ…และใช้เวลากับสิ่งของรอบตัวเราสักครู่…

มองดูภาพที่ได้เห็น รู้สึกถึงลมหายใจและกลิ่นต่างๆ ภายในห้อง ฟังเสียงที่เกิดขึ้น

เพียงอยู่กับมันด้วยความรู้สึกตัว แค่รับรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่ตรงนั้น

2). ชวนจัดสรร

หลังจากที่เราสังเกตทุกอย่างรอบตัวแล้ว จะช่วยทำให้เราเห็นภาพของสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น จากนั้นก็ถึงเวลาที่เราจะเข้าไปจัดการให้พื้นที่นี้ดีต่อเรามากขึ้น ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

จัดเก็บ

สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในที่ทางที่เหมาะสมกับมัน ค่อยๆ นำไปจัดเก็บให้เข้าที่เข้าทาง

ของที่ใช้บ่อย อาจนำไว้ในจุดที่ใกล้มือหรือหยิบได้ง่าย

สิ่งที่ไม่ค่อยได้ใช้ อาจจัดเก็บไว้ในจุดที่ทำให้เรามีพื้นที่ในห้องเพิ่มขึ้น

ในขณะที่หยิบจับของแต่ละชิ้น ลองรู้สึกรับรู้ถึงมันเหมือนกำลังทักทายกับเพื่อนเก่า แล้วนำไปวางจัดเก็บในจุดที่เราได้เลือกแล้วด้วยความรู้สึกตัว และจดจำ เพื่อในวันที่จะต้องกลับมาหยิบใช้ เราจะรู้ได้ทันทีว่ามันอยู่ตรงไหน

ขยับออก

บางอย่างอาจไม่ได้ใช้หรือไม่จำเป็นสำหรับเราแล้ว อาจถึงเวลาที่ต้องเอาออกไป สัมผัสรับรู้ถึงสิ่งนั้น พิจารณาดูว่าเรายังต้องการมันอยู่จริงๆ ไหม โดยให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งที่เรามีอยู่ในครอบครอง คือสิ่งที่เราต้องจัดการดูแลต่อไป

ทุกสิ่งที่เรามีอยู่ในครอบครอง คือสิ่งที่เราต้องจัดการดูแลต่อไป

ส่งต่อ

บางอย่างที่ไม่จำเป็นสำหรับเราแล้ว แต่อาจยังมีประโยชน์สำหรับผู้อื่น อาจลองถามถึงคนที่น่าจะมีโอกาสได้ใช้มันก่อนว่า ยินดีจะรับไว้ไหม หรือการบริจาคให้กับสถานที่ที่ต้องการก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง และหากสุดท้ายแล้วเป็นสิ่งที่ต้องทิ้ง ก็อย่าลืมจัดการแยกประเภทเพื่อการรีไซเคิลในส่วนที่ทำได้ และทิ้งส่วนที่เหลือในที่ที่เหมาะสม

เพราะทั้งหมดนี้ เป็นการอยู่ร่วมกับสิ่งต่างๆ อย่างมีสติ ตระหนักรู้ถึงคุณค่า และใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมของโลกที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน

3). ชวนปัดกวาด

ถึงเวลาทำความสะอาดปัด กวาด เช็ด ถู ห้องของเราให้น่าอยู่ขึ้นแล้ว

โดยในทุกขั้นตอนของการทำความสะอาด ขอให้ทำอย่างใส่ใจ (Focus) มีสติรู้สึกตัวอยู่กับสิ่งนั้น (Mindful) และทำด้วยความผ่อนคลาย (Relax) ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ในขณะที่เคลียร์สิ่งต่าง ๆ ให้มีความเรียบร้อยโปร่งโล่งขึ้น ก็ให้จินตนาการความรู้สึกเชื่อมโยงกับการคลี่คลายสิ่งที่อยู่ในใจเราให้เบาสบายขึ้นไปด้วย

มาถึงตอนนี้แล้วเราอาจพบว่า ยิ่งมีข้าวของที่เก็บไว้อยู่มากเท่าไหร่ อาจยิ่งทำให้การปัดกวาดทำได้ยากขึ้นเท่านั้น…จิตใจเราเองก็คงจะเหมือนกัน…

แต่ไม่ว่าเราจะเก็บสิ่งต่างๆ ไว้มากหรือน้อย ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ขอแค่เราตระหนักรู้และยอมรับกับสิ่งที่เราเลือกแล้ว และหมั่นทบทวนถึงมันอยู่เสมอ ก็เพียงพอ

รู้สึก รับรู้ ถึงทุกสิ่งที่เราได้ปฏิสัมพันธ์

ตระหนักรู้ และขอบคุณ ถึงความหมายของทุกสิ่งที่มีต่อตัวเรา

ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน และอาจไม่ต้องทำให้เสร็จภายในครั้งเดียวก็ได้

ยิ่งใช้เวลากับมันมากเท่าไหร่ ก็อาจยิ่งทำให้เราได้มีเวลาทบทวนใคร่ครวญกับสิ่งที่เรามีอยู่ในชีวิตได้มากขึ้น

เมื่อพื้นที่อยู่อาศัยของเรามีความเหมาะสมกับเรามากขึ้นแล้ว มันอาจช่วยสร้างความรู้สึกใหม่ๆ และส่งผลดีกับเราได้ในระยะยาวได้ต่อไป

-+=