ตรวจเต้านมตนเอง ง่ายๆ ทำอย่างไร

ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน เป็นการทำความรู้จักกับเต้านมตัวเอง

เพื่อให้คุ้นเคยและจดจำลักษณะ รูปร่าง ขนาด และผิวบริเวณเต้านมได้เป็นอย่างดี ช่วยให้สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้โดยง่ายหากมีสิ่งใดเปลี่ยนไปจากเดิม

ตรวจเต้านมด้วยตนเองง่ายๆ เพียง ดู | คลำ | บีบ

เริ่มตรวจครั้งแรกอาจจะดูมีรายละเอียดเยอะ แต่ลองค่อยๆอ่านและทำตาม

ทำไปเพียง 2-3 ครั้ง ก็จะคุ้นชินกับการตรวจ และทำเองได้ง่ายแล้ว โดยใช้เวลาตรวจเดือนละ 5 นาทีเท่านั้น

ดู

สังเกตลักษณะเต้านม ผิวหนัง และหัวนมทั้งสองข้าง ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม

  1. ดูหน้ากระจก สังเกตลักษณะเต้านม ผิวหนัง และหัวนม สังเกตทั้งด้านหน้าและด้านข้าง ด้วยสามท่า
    1. ยืนตัวตรงมือแนบลำตัว แล้วสังเกต
    2. ประสานมือเหนือศีรษะ แล้วสังเกต
    3. ยกมือเท้าที่เอว กดสะโพกให้แน่นจนกล้ามเนื้อบริเวณใต้เต้านมตึง แล้วสังเกต
  2. โน้มตัว : โน้มตัวไปข้างหน้า วางมือบนเข่าหรือเก้าอี้ แล้วดูว่าเต้านมทั้งสองข้างคล้อยอยู่ในลักษณะเดียวกันไหม

ขนาด รูปร่าง สีเปลี่ยนไปไหม

มีรอยบุ๋ม หรือนูน รูขุมขนใหญ่คล้ายเปลือกส้ม มีผื่นแดง มีแผล

ทิศหัวนมเปลี่ยนไป หัวนมอยู่ในระนาบเดียวกันไหม เต้าทั้งสองข้างเท่ากันและคล้อยลักษณะเดียวกันไหม

คลำ

เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม

คลำให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม

ครอบคลุมตั้งแต่ไหปลาร้าจนถึงขอบเสื้อในด้านล่าง รวมถึงบริเวณหางนม (บริเวณระหว่างช่วงหัวนมถึงไหล่ข้างนั้น) ไปจนถึงบริเวณใต้รักแร้

ควรทำในท่านอน โดยเอาแขนด้านที่จะตรวจรองไว้ใต้ศีรษะ และเอาผ้าเล็กๆมารองบริเวณไหล่เพื่อให้ตรวจได้ง่ายขึ้น จากนั้นคลำให้ทั่วเต้านม ถ้าสัมผัสพบก้อนสะดุดมือผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยัน

คลำอย่างไร ให้ทั่วและง่าย

  • 3 นิ้วสัมผัส ใช้สัมผัสของปลายนิ้ว 3 นิ้วคือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยใช้มือขวาคลำนมซ้าย มือซ้ายคลำนมขวา
  • คลำ สัมผัสเป็นวงกลมและเคลื่อนไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องยกนิ้วมือสัมผัสขึ้นจากผิวของเต้านม
    • สามารถคลำได้หลายรูปแบบตามความถนัด เช่น เป็นรูปวงกลมก้นหอย บนลงล่างวนขึ้นบนไปเรื่อยๆ หรือรูปรัศมีพระอาทิตย์ (คลิก ดูคลิปประกอบ)
  • คลำให้ทั่วจนถึงรักแร้ คลำหรือคลึงให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม ตั้งแต่ไหปลาร้าจนถึงขอบเสื้อในด้านล่าง รวมถึงบริเวณหางนม (บริเวณระหว่างช่วงหัวนมถึงไหล่ข้างนั้น) ไปจนถึงบริเวณใต้รักแร้
  • ทาน้ำมันให้ลื่นมือ ใช้น้ำมันหรือโลชั่นทาบนผิวเพื่อให้ลื่นมือ คลำง่าย
  • ไม่ต้องบีบเนื้อเต้านม เพราะจะรู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่

บีบ

บีบหัวนม เพื่อดูว่ามีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากหัวนมหรือไม่ ถ้ามีให้พบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

คลำแล้วมีคำถาม

คลำแล้วไม่รู้ว่าคืออะไร ใช่ก้อนหรือไม่

เราไม่ได้คลำให้รู้ว่าเป็นก้อนหรือไม่ แต่คลำเพื่อให้รู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เทียบกับเดือนที่แล้ว สองเดือนที่แล้ว หากพบว่าเปลี่ยนแปลงไปก็ควรพบแพทย์

ทำอย่างไร หากพบเจอก้อน

เมื่อคลำเจอก้อนในเต้านมอย่าเพิ่งตกใจ เพราะก้อนส่วนใหญ่มักไม่ใช่เนื้อร้าย อาจเป็นเพียงถุงน้ำหรือก้อนเนื้องอกแบบธรรมดา

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

หากพบเจอก้อนที่เต้านม ไม่ว่าจะเจ็บหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

หากตรวจเช็กเต้านมด้วยตนเองแล้วพบอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นไป ดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์

  • คลำพบก้อนหรือไตแข็งผิดปกติ รวมถึงที่รักแร้ด้วย
  • มีอาการเจ็บเต้านม
  • เต้านมเปลี่ยนแปลงไป
    • เต้านมเปลี่ยนแปลง มีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป มักเริ่มที่ข้างเดียว
    • ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ เห็นรอยรูขุมขนใหญ่ขึ้นคล้ายเปลือกส้ม หรือบางส่วนเกิดเป็นสะเก็ด มีแผลที่ไม่หาย หรือเปลี่ยนสี
    • หัวนมเปลี่ยนแปลง เช่น หดตัว คัน หรือมีผื่นแดงผิดปกติ หัวนมดึงรั้งผิดปกติ หัวนมบอด หัวนมชี้เปลี่ยนทิศทาง มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกทางหัวนม

ควรตรวจเต้านมบ่อยแค่ไหน

ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อย เดือนละครั้ง

  • ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง และตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนทุก 3 ปี
  • ผู้หญิงอายุ 40-69 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง และตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนทุก 1 ปี
  • ผู้หญิงที่อายุ 70 ปีขึ้นไป แพทย์จะพิจารณาการตรวจความเหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มตรวจด้วยแมมโมแกรมตั้งแต่อายุที่ญาติสายตรงเป็นลบออก 10 ปี เช่น หากมีมารดาเป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุ 45 ปี ก็ควรตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมเมื่ออายุ 35 ปี

ตรวจเต้านมช่วงไหนดี

ควรตรวจเต้านมหลังจากหมดประจำเดือน เนื่องจากเต้านมจะลดความตึง ทำให้สามารถคลำพบสิ่งผิดปกติได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่นของเดือน ช่วงที่เหมาะสมที่สุด คือ 7-10 วันหลังจากมีประจำเดือนวันแรก

ช่วงที่เหมาะกับการตรวจเต้านมที่สุด คือ 7-10 วันนับจากวันแรกที่มีประจำเดือน

กรณีที่ไม่มีประจำเดือนแล้ว ควรกำหนดวันที่ที่ช่วยให้จำง่าย เช่น ทุกวันที่ 1 ของเดือน

กรณีที่ไม่มีประจำเดือนแล้ว ควรกำหนดวันที่ที่ช่วยให้จำง่าย เช่น ทุกวันที่ 1 ของเดือน ทุกวันที่ 10 ของเดือน

คลิปและภาพประกอบเพิ่มเติม

Breast Self-Exam

เพลงตรวจเต้านมด้วยตนเอง Dance to check breast cancer

สำหรับผู้หญิงที่อายุเกิน 20 ปี สามารถที่จะตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ด้วยตนเอง จากการคลำเต้านมในขณะอาบน้ำและหลังประจำเดือนหมด 3 วัน โดยใช้ท่าประกอบและร้องตามทำนองได้จากเพลงตรวจเต้านมด้วยตัวเองนี้
รู้เร็ว…หายชัวร์…ไม่ต้องกลัวมะเร็ง

ดูภาพประกอบในเว็บเหล่านี้นะคะ

ดูภาพประกอบที่ช่วยให้เข้าใจง่ายมากขึ้น น่าสนใจ เขาทำไว้มากเลย ^^

https://my.clevelandclinic.org/health/diagnostics/3990-breast-self-exam

https://www.breastcancer.org/symptoms/testing/types/self_exam

Reference

  1. โรคมะเร็งเต้านม, https://www.roche.co.th/th/disease-areas/breast-cancer.html
  2. มะเร็งเต้านม “เรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง”, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, เรียบเรียงโดย พว.มลฤดี เกษเพชร https://med.mahidol.ac.th/cancer_center/sites/default/files/public/pdf/Article/BreastCancer.pdf
  3. คลิปตรวจเต้านมด้วยตนเอง, ตรวจคัดกรองและป้องกันมะเร็งเต้านม, นพ. ชนินทร์ อภิวาณิชย์, 1 ตุลาคม 2558, https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/คัดกรองมะเร็งเต้านม
  4. คลิปวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง, โรงพยาบาลธนบุรี, https://www.youtube.com/watch?v=yW2f_hNKyu8
  5. ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ขั้นตอนสำคัญที่ผู้หญิงควรรู้, https://www.pobpad.com/ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง-ขั
-+=