จิตใจกับร่างกาย ส่งผลต่อกันจริงหรือ ?
ในยามที่เราเจ็บป่วยทางกาย ไม่ว่าจะด้วยโรคหรือภัยใด ล้วนส่งผลกับความรู้สึกและจิตใจของเราแต่ละคนไม่มากก็น้อย
ในทางกลับกัน สภาพจิตใจที่หม่นหมอง เป็นทุกข์ หรือตึงเครียด ก็ส่งผลย้อนกลับมาทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายได้เช่นกัน
ความสัมพันธ์และความสำคัญของร่างกาย และจิตใจ
ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจนี้ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน นักปรัชญาและนักจิตวิทยามากมายต่างศึกษาและบอกเล่าทฤษฎีในเรื่องนี้เอาไว้มากมาย ซึ่งต่างก็มีมุมมอง ข้อสันนิษฐาน และคำอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง กาย-ใจ ในแบบที่แตกต่างกันไป
ซึ่งเราจะไม่ขอยกเอาทฤษฎีมาถกกันให้ปวดหัว แต่อยากชวนให้เรามาสังเกต ทำความเข้าใจ เพื่อการตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และความสัมพันธ์ของร่างกายและจิตใจเราด้วยประสบการณ์ของตนเองมากกว่า…ใครจะรู้เรื่องของตัวเราได้ดีที่สุดนอกจากตัวเราเองล่ะ จริงไหม 🙂
“สังเกต เพื่อเข้าใจ”
ถ้าเราลองนึกทบทวนดู อาจจะจากประสบการณ์ของเราเอง หรือคนรอบตัวก็ได้ มีเหตุการณ์ไหนบ้างไหม ที่สะท้อนให้เราได้เห็นว่า “ความรู้สึก” หรือ “จิตใจ” สามารถส่งผลกับร่างกายเราได้โดยตรง
- “รู้สึกเครียดเรื่องงาน” ไม่นานก็ปวดหัว เป็นไมเกรน ท้องไส้ก็เริ่มปั่นป่วน จนระยะยาวอาจกลายเป็นโรคกระเพาะไปนานเลย
- “จิตใจหมองเศร้าจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ” นานวันเข้าร่างกายก็เหนื่อยล้าง่าย กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ บางส่วนที่เราอาจสังเกตเห็นกันได้อยู่บ่อยๆ ในชีวิต โดยแต่ละคนอาจมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป หากเราลองหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ก็อาจทำให้เกิดการค้นพบความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเราเองได้มากขึ้น ว่าอะไรมักเป็นสิ่งกระตุ้น และส่งผลต่อจิตใจ-ร่างกายเราแบบไหน
หากเราลองหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ก็อาจทำให้เกิดการค้นพบความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเราเองได้มากขึ้นว่า
อะไรมักเป็นสิ่งกระตุ้น และส่งผลต่อจิตใจ-ร่างกายเราแบบไหน
นักวิทยาศาสตร์เอง ก็สังเกตเห็นถึงความสัมพันธ์เหล่านี้เหมือนกัน
แม้ว่า จิต กับ สมอง จะเป็นเรื่องราวคนละส่วนกัน แต่จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทางสมองด้วยเครื่องตรวจสแกนสมองที่ทันสมัย เช่น fMRI (Functional magnetic resonance imaging), SPECT (Single-photon emission computed tomography), PET (Positron emission tomography) ได้แสดงผลให้เห็นถึงการทำงานของเซลล์สมองในตำแหน่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพจิตใจที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลบางอย่างต่อสมองโดยตรง และถูกแสดงออกมาในรูปแบบของสารเคมีในสมอง ฮอร์โมนควบคุม ระบบกระแสไฟฟ้าประสาท หรือภูมิต้านทานโรค เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงของระบบในร่างกายที่สัมพันธ์กับสมองเหล่านี้เอง คือสิ่งที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะและระบบภายในร่างกายต่างๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายความสัมพันธ์ของร่างกายและจิตใจได้อย่างชัดเจน
“ตระหนัก เพื่อดูแล”
หากเรามีสภาพจิตใจที่แข็งแรงแจ่มใส พลังบวกนี้ก็สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อร่างกาย หรือช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยทางร่างกายของเราให้ดีขึ้นได้เช่นกัน
เมื่อเราสังเกตและทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างร่างกายและจิตใจของเราเองได้มากขึ้นแล้ว ก็จะเห็นว่าการดูแลจิตใจของเรานี้ มีความจำเป็นและสำคัญมากไม่แพ้กับการดูแลร่างกายเลย ในทางกลับกัน หากเรามีสภาพจิตใจที่แข็งแรงแจ่มใส พลังบวกนี้ก็สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อร่างกาย หรือช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยทางร่างกายของเราให้ดีขึ้นได้เช่นกัน โดยอาจเริ่มต้นจากการตระหนักถึงความสำคัญนี้อยู่เสมอ เพื่อให้เราคอยสังเกตเรียนรู้ความเป็นไปของร่างกายและจิตใจตัวเราเองอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถค้นหาแนวทางการดูแลจิตใจของตัวเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ติดตามการดูแลกายและใจกับเราได้
มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เห็นถึงความสำคัญของการดูแลจิตใจเพื่อสร้างสมดุลให้กับสุขภาพองค์รวมของผู้ป่วยมะเร็งเป็นอย่างมาก จึงได้เปิดพื้นที่ให้กับการนำเสนอเนื้อหาด้านการดูแลจิตใจในมิติต่างๆ เพื่อให้ทั้งผู้ป่วยมะเร็ง และญาติผู้ดูแล สามารถศึกษาเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์
ครั้งถัดไป เราจะชวนพักกัน
ให้ร่างกายที่เจ็บป่วยเหนื่อยล้า ได้พักผ่อนคลายอ่านได้ที่ ขอให้เธอได้พัก
ขอบคุณจากหัวใจ
- คุณฝน กนกพร ตรีครุธพันธ์, ผู้เขียน
- หนังสือ ปรับใจ เยียวยากาย : Mind-body Medicine, ผู้เขียน น.พ. วิโรจน์ ตระการวิจิตร,สุภัฏ สิกขชาติ, สำนักพิมพ์ SOOK Publishing, พิมพ์เมื่อ 9/2019
- ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องความสัมพันธ์ของร่างกายและจิตใจ : “กาย จิต : ความสมบูรณ์แห่งชีวิต” โดย ดร.อริยา คูหา