บริจาคเลือด ที่สภากาชาดไทย
บริจาคเลือดให้ผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด
บริจาคโลหิตแต่ละครั้ง ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต
โลหิต 1 ถุงที่ได้จากการบริจาค จะถูกนำไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต 3 ส่วน เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ตรงตามอาการ การบริจาคโลหิตแต่ละครั้งจึงช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต
- เม็ดเลือดแดง นำไปรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ไขกระดูกฝ่อ ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร
- เกล็ดเลือด นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- พลาสมา นำไปรักษาผู้ที่มีอาการช็อคจากการขาดน้ำ ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิต 3 ชนิด ได้แก่
- แฟคเตอร์ 8 (Factor VIII) รักษาโรคฮีโมฟีเลีย (โรคขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด)
- อิมมูโนโกลบูลิน (IVIG) รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง
- อัลบูมิน (Albumin) รักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก และโรคตับ
ติดต่อลงคิวบริจาคได้ที่ไหน และต้องแจ้งอย่างไร
การบริจาคเลือดกับสภากาชาดไทยสามารถเข้ามาบริจาคได้เลย ไม่จำเป็นต้องจองคิวหรือลงทะเบียนล่วงหน้า
หากต้องการบริจาคเลือดให้ผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด สามารถแจ้งว่า ” ต้องการบริจาคให้ผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด” ได้เลย
บริจาคสเต็มเซลล์
เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยโรคเลือดสามารถหายขาดได้
การลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยโรคเลือดสามารถหายขาดจากโรคเลือดได้ โดยผู้ป่วยจะรับสเต็มเซลล์ได้เมื่อผู้บริจาคมีผลเนื้อเยื่อเอชแอลเอ (HLA) ตรงกับผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งมีโอกาสยากถึง 1 ใน 10,000
- หากเป็นพี่น้องท้องเดียวกันจะมีโอกาสตรงกัน 1 ใน 4
- หากเป็นอาสาสมัครจากคนทั่วไปจะมีโอกาสตรงกัน 1 ใน 10,000
คุณสมบัติเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง
- อายุ 18 ถึง 50 ปีบริบูรณ์
- น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
- ไม่มีโรคประจำตัว
- ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง
- ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดหาอาสาสมัครบริจาคเซลล์ ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วย มาตั้งแต่ปี 2545 สามารถจัดหาอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตได้ จำนวน 312,601 ราย ซึ่งมีผู้ที่สามารถบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตให้กับผู้ป่วยได้จริงเพียง 518 ราย และยังมีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโลหิตอีก 2,615 ราย อาทิ ผู้ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ลงทะเบียนตอนบริจาคโลหิต
การลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์จะต้องทำพร้อมกับการบริจาคโลหิต โดยต้องเก็บตัวอย่างเลือดเพิ่ม 1 หลอด ไม่เกิน 3 ซีซี เพื่อนำไปตรวจชนิดของเนื้อเยื่อเอชแอลเอ (HLA) และขึ้นทะเบียนรอการจับคู่ หากการตรวจยืนยันผลเอชแอลเอตรงกับผู้ป่วย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะติดต่อกลับไป พร้อมทำการนัดหมายและเข้าสู่กระบวนการบริจาคสเต็มเซลล์
วิธีบริจาคสเต็มเซลล์
แพทย์จะนัดหมายตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนการบริจาคสเต็มเซลล์ 1 เดือน ซึ่งผู้บริจาคจะได้รับการเจาะตรวจนับเม็ดเลือดตรวจสารเคมีในเลือด เอ็กซเรย์ปอด และตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า ผู้บริจาคมีอิสระในการเลือกวิธีการบริจาคสเต็มเซลล์ 2 วิธี ดังนี้
- การเก็บสเต็มเซลล์จากกระแสโลหิต โดยเครื่องแยกสเต็มเซลล์อัตโนมัติ
- การเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูก โดยเจาะเก็บบริเวณกระดูกสะโพก
หลังจากการบริจาคสเต็มเซลล์ ผู้บริจาคจะต้องนอนพักที่ โรงพยาบาล 1 วัน จากนั้นจึงกลับไปพักที่บ้านตามปกติ
โดยเจ้าหน้าที่จะติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ทุกขั้นตอนผู้บริจาคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ลงทะเบียนเป็นอสาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์
สำหรับผู้ที่สนใจลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ สามารถลงทะเบียนพร้อมกับการบริจาคโลหิตเพื่อเก็บตัวอย่างโลหิตนำไปตรวจเนื้อเยื่อ HLA โดยขึ้นทะเบียนได้ที่
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 02-256-4300
- ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 3 จังหวัดชลบุรี โทร. 038-278-905
- ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา โทร. 044-938-938
- ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 จังหวัดขอนแก่น โทร. 043-424-630
- ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053-418-389
การเตรียมตัวบริจาคโลหิต
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 5 ชั่วโมง
- สุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะบริจาคโลหิต งดบริจาคเมื่อรู้สึกไม่สบาย
- หากอยู่ระหว่างรับประทานยารักษาโรค ให้แจ้งแพทย์/พยาบาล ผู้ตรววจคัดกรองสุขภาพทุกครั้ง
- ดื่มน้ำ 3 – 4 แก้ว ก่อนบริจาคโลหิต ช่วยลดโอกาสการเป็นลมหลังการบริจาคโลหิต
- รับประทานอาหารประจำมื้อก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ แกงกะทิ ขนมหวาน ก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง
- แสดงบัตรประชาชนก่อนบริจาคโลหิตทุกครั้ง
มาตรการดูแลอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาบริจาคโลหิต
ก่อนบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้จัดเตรียม
- จุดกรอกแบบฟอร์มให้กับผู้บริจาคโลหิต เพื่ออัปเดตข้อมูลและคัดกรองสุขภาพตนเองก่อนการบริจาคโลหิต
- จุดวัดความดัน เพื่อตรวจเช็คความดันโลหิตของผู้บริจาคต้องอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริจาคโลหิตได้
- ค่าความดันโลหิต ตัวบน (Systolic) ไม่เกิน 160 มม.ปรอท และไม่ต่ำกว่า 100 มม.ปรอท
- ค่าความดันโลหิต ตัวล่าง (Diastolic) ไม่เกิน 100 มม.ปรอท และไม่ต่ำกว่า 50 มม.ปรอท
- จุดลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคโลหิต เพื่อลงทะเบียนการบริจาคโลหิต แสดงบัตรประจำตัวผู้บริจาคโลหิต และบัตรประชาชน
- จุดตรวจคัดกรองสุขภาพก่อนบริจาคโลหิต เพื่อเจาะปลายนิ้วตรวจความเข้มข้นโลหิต และตรวจหากรุ๊ปเลือดสำหรับผู้บริจาคครั้งแรก และพบแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพว่าสามารถบริจาคโลหิตได้หรือไม่
- จุดบริการน้ำดื่ม ก่อนบริจาคโลหิตควรดื่มน้ำประมาณ 300 – 500 ซีซี เพื่อให้โลหิตไหลเวียนดี ป้องกันอาการหน้ามืดและเป็นลม
หลังบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีห้องพักหลังบริจาคโลหิต ให้รับเครื่องดื่ม และอาหารว่าง นั่งพัก 10 – 15 นาที ก่อนเดินทางกลับ
- เป็นเม็ดเลือดตัวที่โตแล้ว ทำหน้าที่ได้
- เม็ดเลือดทั้ง 3 ชนิดที่ว่านี้ต้องมีจำนวนพอเหมาะพอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป ซึ่งมีแหล่งที่สร้างเรียกว่าไขกระดูกอยู่ในโพรงกระดูก ส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่ก็อยู่ในกระดูกแบน ๆ เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะ กระดูกสันหน้าอก กระดูกสะโพก
มาตรการการป้องกันโรค COVID-19 สำหรับผู้มาบริจาคโลหิต
ผู้บริจาคโลหิต
- ผู้บริจาคโลหิตต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างบริจาคโลหิต
- เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
- งดพูดคุยระหว่างรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มภายในบริเวณสถานที่รับบริจาคโลหิต
เจ้าหน้าที่และสถานที่
- เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และทำความสะอาดมือเป็นระยะ
- สถานที่และวัสดุอุปกรณ์รับบริจาคโลหิตมีความสะอาดและปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามแนวทางการดำเนินการเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับสถานประกอบการของกรมควบคุมโรค
สำหรับผู้ที่เคยป่วยและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 งดบริจาคโลหิตชั่วคราว 5 วัน
- ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่มีอาการแสดงใดๆ งดบริจาคโลหิตชั่วคราว10 วัน หลังจากการตรวจพบเชื้อครั้งสุดท้าย
- ผู้ที่ป่วยโดยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และหายป่วยแล้ว งดบริจาคโลหิตชั่วคราว 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่มีอาการใดๆ หลงเหลืออยู่
สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
- กรณีได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เว้น 7 วัน
- กรณีมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ขอให้หายดีก่อน จากนั้นเว้น 7-14 วัน ตามความรุนแรง ของอาการ
บริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน
การบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง บริจาคครั้งละ 350 – 450 ซีซี ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค คิดเป็น 10 -12% ของปริมาณโลหิตทั้งหมดในร่างกาย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต สามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน
ขอบคุณจากหัวใจ
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย https://www.facebook.com/nbctrc/