มะเร็งเต้านม

ในปัจจุบัน มะเร็งเต้านมถือเป็นโรคยอดฮิตในผู้หญิง ยิ่งเรามีอายุมากขึ้นโรคภัยหรือปัญหาด้านสุขภาพก็เริ่มตามมา ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ และเจ้ามะเร็งเต้านมมักไม่ค่อยมีสัญญาณเตือน
กลายเป็นมะเร็งได้อย่างไร
เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงเช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ
ทำความรู้จักกับเต้านม
เต้านมนั้นมีส่วนประกอบอยู่หลายชนิด เช่น ไขมัน (fat cells) ต่อมน้ำนม (lobule) ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำนม และท่อนํ้านม (duct) ทำหน้าที่รวบรวมน้ำนมที่ผลิตจากต่อมน้ำนมมายังหัวนม เซลล์ต่างๆ เหล่านี้สามารถกลายพันธุ์เกิดเป็นมะเร็งได้ทั้งนั้น แต่ที่พบบ่อยที่สุดที่เกิดความผิดปกติ และทำให้เกิดมะเร็งเต้านม คือ เซลล์ท่อนํ้านม
- เต้านมของคนเราประกอบไปด้วยไขมัน เนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนมประมาณ 15 – 20 กลีบ ภายในกลีบประกอบด้วยกลีบย่อยและมีถุงติดอยู่กับท่อน้ำนม ซึ่งจะเปิดยังหัวนม ภายในเต้านมยังมีหลอดเลือดและน้ำเหลือง ซึ่งจะไปรวมกันยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
- มะเร็งที่เกิดในท่อน้ำนมเรียกว่า Ductal Carcinoma เมื่อมะเร็งแพร่กระจายมักจะไปตามต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และอาจจะไปยังกระดูก ตับ ปอด และยังไปตามหลอดเลือด
- ลักษณะเต้านมในแต่ช่วงเวลาของรอบเดือนจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน ช่วงก่อนมีรอบเดือนเต้านมจะตึงและคัด เมื่อคลำจะรู้สึกตึง คลำได้ต่อมน้ำนม แต่หลังจากประจำเดือนมาแล้วเต้านมจะนิ่มขึ้น จึงแนะนำให้คลำหลังประจำเดือนมา ส่วนเต้านมในวัยทองจะเหลวนิ่ม เนื่องจากต่อมน้ำนมไม่ทำงาน สำหรับผู้ที่ตัดมดลูกโดยที่ไม่ได้ตัดรังไข่ เต้านมจะยังเหมือนเดิม
ดังนั้น มะเร็งเต้านมชนิดที่พบบ่อยที่สุด จึงมีชื่อเรียกว่า invasive ductal carcinoma และชนิดของมะเร็งที่พบน้อย คือ มะเร็งของต่อมนํ้านม ที่มีชื่อเรียกว่า invasive lobular carcinoma ซึ่งมะเร็งทั้งสองชนิดนี้มีวิธีการรักษาเหมือนกัน และชนิดสุดท้ายซึ่งพบเป็นก้อนที่เต้านมเกิดจากมะเร็งจากที่อื่นแพร่กระจายมา เรียกว่า metastatic carcinoma จะรักษาไม่เหมือนกับมะเร็งที่เกิดจากเต้านม และต้องรักษาตามชนิดของมะเร็งตัวแม่ที่ส่งเซลล์แพร่กระจายมา จึงไม่กล่าวถึงในที่นี้
การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากตรวจพบโรคได้เร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายมากขึ้น
การค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็กและก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้มีโอกาสหายขาดมากขึ้น
สาเหตุ / ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม มีอะไรบ้าง
- ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วนหลังหมดประจำเดือน ความอ้วน
- ประวัติดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เหล้าเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ดื่มมากกว่า2-5 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม 1.5 เท่า
- ประวัติการได้รับรังสี โดยเฉพาะการได้รับรังสีบริเวณหน้าอกเมื่ออายุยังน้อย และมีการให้รังสีรักษาที่เต้านมหรือทรวงอก
- ยาคุมกำเนิด และฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน รวมถึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดมากกว่า 5 ปี หรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนหลังหมดประจำเดือนเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมมากขึ้น (ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ)
- มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- ไม่ได้ให้นมบุตร เนื่องจากช่วงให้นมบุตรจะทำให้มารดาไม่มีประจำเดือนมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและป้องกันมะเร็งเต้านมได้
- มีประจำเดือนอายุน้อย (น้อยกว่า 12 ปี) หรือหมดประจำเดือนช้า (มากกว่าอายุ 50 ปี) ทำให้ร่างกายสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานกว่าผู้หญิงปกติ
- เต้านมมีเนื้อเยื่อแน่น หมายถึง มีต่อมนํ้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไปทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และอีกนัยหนึ่ง คือ ทำให้แพทย์พบความผิดปกติได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเต้านมหรือการใช้เครื่องมือช่วยวินิจฉัย
- ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คือ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว สาเหตุจากพันธุกรรมในคนไทยถือว่าพบในต่ำกว่าประเทศตะวันตก
- ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมจากยีนส์ จะสังเกตได้ว่าจะมีประวัติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง หรือมีพี่น้องมากกว่าหนึ่งคนเป็นมะเร็ง หรือ เกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชายในครอบครัวญาติพี่น้องสายตรง หากมีสัญญาณดังกล่าวควรจะหมั่นตรวจเช็กความผิดปกติ ซึ่งจะต้องใช้วิธีการตรวจแบบแมมโมแกรม ซึ่งมีความละเอียดสูง จึงจะสามารถตรวจหาสัญญาณความผิดปกติได้
- มะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมพบได้ 5-10% ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการแบ่งเซลล์ และยีนชนิดนี้สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติของยีนในเซลล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดมะเร็งได้
- เพศ ผู้ชายอาจเป็นมะเร็งเต้านมได้แต่น้อยกว่าผู้หญิงมาก ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชาย 100 เท่า
- เชื้อชาติ มีความสำคัญ ผู้หญิงตะวันตกมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงชาวเอเชีย
ห่างไกลมะเร็งเต้านม
ถึงแม้ว่าปัจจัยเสี่ยงจะดูมีมากมาย และทางการแพทย์ยังไม่ทราบว่าอะไรคือต้นเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านม แต่เราสามารถค่อยๆ ปรับพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้
ดูแลรูปร่าง
ดูแลรูปร่าง น้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ไม่อ้วน เนื่องจากความอ้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งเต้านม ทำได้โดยดูแลอาหารการกินให้ดี และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ทานอาหารดี
เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทานผักผลไม้ให้เยอะ
ออกกำลังกาย
ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง สามารถลดความเสี่ยงลงได้ 20–30% ด้วยการออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิค และโยคะ การออกกำลังกายยังช่วยลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำในผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งเต้านม
การออกกำลังกายเป็นประจำ มีผลต่อการหมุนเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อเต้านม รวมถึงมีผลต่อระดับอินซูลินและ Insulin–like growth factor (IGF) ซึ่งเชื่อมโยงกับการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม
เพิ่มวิตามิน D
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้หญิงที่ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ได้ทั้งจากการรับประทานอาหารหรือได้รับจากแสงแดด ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมลง 50%
ให้นมบุตรด้วยตนเอง
ผู้ที่มีบุตรควรให้นมบุตรด้วยตนเอง เนื่องจากระยะเวลาการให้บุตรที่นานขึ้นจะช่วยลดโอกาสการได้รับฮอร์โมนเช่นกัน ยิ่งให้นมนาน ก็ยิ่งช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น
แต่สำหรับคุณแม่ที่เป็นมะเร็งเต้านม แนะนำให้หยุดให้นมบุตร เนื่องจากทำให้เซลล์เกิดการขยาย จึงควบคุมเซลล์มะเร็งได้ยาก
ตรวจเต้านมด้วยตนเอง
ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ เดือนละ 1 ครั้ง ตรวจเต้านมด้วยตนเองง่ายๆ ทำอย่างไร คลิกเลย
ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมถึงแอลกอฮอล์ยังทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็ง และยับยั้งความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง
- หลีกเลี่ยงการได้รับรังสี
- ใช้ยาคุมกำเนิด และฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากต้องใช้ต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์เป็นระยะ
- นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้หญิงที่รับประทานยาไดเอทิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol-DES) ในระหว่างตั้งครรภ์ (เพื่อลดโอกาสในการแท้งบุตร) มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านม รวมถึงลูกสาวที่คลอดออกมาก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ตรวจเต้านมตนเอง ง่ายๆ ทำอย่างไร
ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองสม่ำเสมอ ทุกเดือน
ตรวจเต้านมด้วยตนเองง่ายๆ เพียง ดู | คลำ | บีบ
คลิกเลย
สัญญาเตือน / อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์
หากพบเจอก้อนที่เต้านม ไม่ว่าจะเจ็บหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
หากตรวจเช็กเต้านมด้วยตนเองแล้วพบอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นไป ดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์

- คลำพบก้อนหรือไตแข็งผิดปกติ รวมถึงที่รักแร้ด้วย
- มีอาการเจ็บเต้านม โดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน
- เต้านมเปลี่ยนแปลงไป
- เต้านมเปลี่ยนแปลง มีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป มักเริ่มที่ข้างเดียว ปกติแล้วผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีขนาดเต้านมทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน แค่สังเกตว่าเปลี่ยนแปลงไปไหม
- ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ เห็นรอยรูขุมขนใหญ่ขึ้นคล้ายเปลือกส้ม หรือบางส่วนเกิดเป็นสะเก็ด มีแผลที่ไม่หาย หรือเปลี่ยนสี ผื่นแดงคันรักษาด้านผิวหนังแล้วไม่หาย
- หัวนมเปลี่ยนแปลง เช่น หดตัว คัน หรือมีผื่นแดงผิดปกติ หัวนมดึงรั้งผิดปกติ หัวนมบอด หัวนมชี้เปลี่ยนทิศทาง มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกทางหัวนม โดยเฉพาะหากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลนั้นมีสีคล้ายเลือด และออกจากหัวนมเพียงรูเดียว
หากมะเร็งเริ่มเป็นมากและมีการแพร่กระจายจะมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
- ปวดกระดูก
- น้ำหนักลด
- แผลที่ผิวหนัง
- แขนบวม
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มีแบบไหนบ้าง
เนื่องจากมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าพบในระยะเริ่มแรกดังนั้น การตรวจพบแต่เนิ่นๆคือหัวใจสำคัญ วิธีการที่ทำให้เราสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่แรกๆ มี
- ตรวจเต้านมด้วยตนเอง (BSE, Breast Self Examination)
- ตรวจเต้านมด้วยแพทย์ (CSE, Clinical Breast Examination)
- ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammography)
ตรวจเต้านมโดยแพทย์
เมื่อตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป
ตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammography)

เครื่องแมมโมแกรมเป็นเครื่องเอ๊กซเรย์แบบพิเศษ ที่จะมีฐานรองรับเต้านมและมีฝาอีกด้านประกบลงมา วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น โดยความผิดปกติที่พบจากเครื่องแมมโมแกรมและอาจบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การมีหินปูนแบบละเอียดอยู่ในเต้านม (microcalcification) พบก้อนที่มีลักษณะแข็ง (solidmass) เป็นต้น การตรวจแมมโมแกรมอาจจะตามด้วยการทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์เต้านม (ultrasound of breast) เพื่อดูให้ละเอียดอีกที นอกจากตรวจเต้านมแล้วการทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ยังดูความผิดปกติ ที่ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณรักแร้อีกด้วย
การจำแนกระยะของมะเร็งเต้านม
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 ซม. มะเร็งยังคงอยู่เฉพาะในเต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้ จึงมักจะยังคลำก้อนผิดปกติที่เต้านมไม่ได้
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาด 2-5 ซม. และอาจมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน
- มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (ระยะที่ 3) ระยะนี้โรคมักจะเป็นค่อนข้างมาก เช่น ก้อนมีขนาดใหญ่มากขึ้น มากกว่า 5 เซ็นติเมตรขึ้นไป หรือมีการลุกลามไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้มาก จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นรวมติดกันเป็นก้อนใหญ่หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง เช่น คลำเจอก้อนที่รักแร้ ยิ่งถ้าใหญ่หรือติดกับเนื้อเยื่อข้างใต้ แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะห่างไกล
- มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (ระยะที่ 4) ขนาดของก้อนมะเร็งจะใหญ่เล็กแค่ไหนก็ได้ โดยมีการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะห่างไกล เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
การวินิจฉัยเบื้องต้น
การตรวจทางรังสีวิทยาและการเจาะชิ้นเนื้อตรวจ
เมื่อตรวจพบก้อนที่เต้านม คุณต้องไปพบแพทย์ทันที แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านมอย่างละเอียด รวมไปถึงการคลำต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้และที่คอ
นอกจากนั้นคุณยังต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม การตรวจเต้านมด้วยคลื่นเสียงและแมมโมแกรมเป็นวิธีที่ใช้เป็นประจำ
คลื่นเสียง
การทำคลื่นเสียงนั้นไม่เจ็บและใช้เวลาไม่นาน จะใช้คลื่นเสียงส่งผ่านผิวหนังเข้าไปและทำให้มีภาพข้างใต้ปรากฏขึ้นมา ใช้สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากเต้านมยังมีความหนาแน่นสูงทำให้การทำแมมโมแกรมไม่ชัดเจน นอกจากนั้นยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบนั้นมีนํ้าอยู่ด้วยหรือไม่ ถ้ามีถุงนํ้าเรียกว่า cyst
แมมโมแกรม
แมมโมแกรมเป็นวิธีหนึ่งของเอกซเรย์เต้านม โดยมากใช้สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป วิธีนี้มีประโยชน์มากสำหรับการวินิจฉัยมะเร็งระยะเริ่มแรกที่อาจจะยังไม่สามารถคลำก้อนได้
วิธีนี้อาจเจ็บบ้างเนื่องจากเต้านมต้องถูกหนีบไว้ระหว่างแผ่นเหล็ก รองสองแผ่น และใช้วิธีการบีบเข้าหากัน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่าเจ็บแบบแน่นๆ พอสมควร และไม่มีอันตรายต่อเต้านม
จากนั้นถ้าพบความผิดปกติแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยชิ้นเนื้อที่นำออกมานั้นจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการพยาธิวินิจฉัย เพื่อดูว่ามีมะเร็งหรือไม่ การนำชิ้นเนื้อไปตรวจมีวิธีหลายวิธี ตั้งแต่การเจาะดูดโดยเข็ม (fine needle aspiration) การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจบางส่วน (core needle biopsy) และตัดทั้งก้อนไปตรวจ (excisional biopsy)

การเจาะดูดโดยเข็ม
แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆเจาะเข้าไปในก้อนและดูดเซลล์มาตรวจ ถ้าก้อนนั้นมีนํ้าก็จะสามารถดูดนํ้าออกมาได้ด้วย
การเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจบางส่วน
เข็มที่ใช้เจาะจะใหญ่กว่าวิธีแรก และแพทย์จะฉีดยาชา เพื่อให้ชาก่อนทำ วิธีนี้จะได้ชิ้นเนื้อออกมาในปริมาณพอสมควร วิธีนี้ดีตรงที่แพทย์พยาธิวินิจฉัย นอกจากจะดูว่าเซลล์ผิดปกติเป็นมะเร็งหรือไม่ ยังสามารถดูว่ามะเร็งลุกลามออกมายังเนื้อเยื่อข้างๆด้วยหรือไม่ ทำให้บอกได้ว่า มะเร็งเต้านมนั้นเป็นแบบเริ่มแรกที่ยังไม่ลุกลาม (in situ) หรือลุกลามออกมาแล้ว (invasive carcinoma)
การตัดทั้งก้อนไปตรวจ
เป็นการผ่าตัดเล็ก นำก้อนทั้งก้อนไปตรวจทางพยาธิวิทยา
มะเร็งเต้านม รักษาอย่างไรได้บ้าง
- การรักษาเฉพาะที่ (local treatment) เพื่อควบคุมรอยโรคที่เต้านมและรักแร้ สิ่งสำคัญที่ต้องบอกคือ มะเร็งเต้านมจะหายได้นั้น จะต้องสามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกไปจากร่างกายได้จนหมด ได้แก่
- การผ่าตัด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของเต้านม และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ โดยมีทั้งแบบ
- เก็บเต้านมบางส่วน คือ ตัดเฉพาะมะเร็งให้มีเนื้อดีหุ้ม แล้วตามฉายแสงคุมเนื้อเต้านมที่เหลือ
- ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
- การฉายแสง (รังสีรักษา หรือฉายรังสี) ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลมีคุณภาพเดียวกัน ฉายที่ไหนก็ได้ [9]
- การผ่าตัด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของเต้านม และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ โดยมีทั้งแบบ
- การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย (systemic treatment) เพื่อควบคุมเซลล์มะเร็งที่อาจมีการกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย โดยหลักการคือเมื่อยาเข้าไปในร่างกายจะสามารถไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ไม่ว่าเซลล์นั้นจะอยู่ที่อวัยวะใด มีได้ทั้งแบบยาฉีด ยารับประทาน หรือ ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม ดังต่อไปนี้
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- ยาต้านฮอร์โมน (Antihormonal Agents)
- การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy)
- ยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด (Immunotherapy)
ระยะเริ่มแรก ก้อนยังไม่โต จะรักษาด้วยการผ่าตัด พร้อมกับวิธีอื่นเพื่อเสริมให้ผลการรักษาดีขึ้น แต่หากก้อนมะเร็งโต แพทย์อาจเริ่มการรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัด เพื่อให้ขนาดก้อนเล็กลงแล้วจึงผ่าตัด
การรักษามะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบผสมผสานกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเต้านม ระยะของโรค และความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การเลือกยาในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน ขึ้นกับระยะโรค คุณสมบัติของเซลล์มะเร็ง วิธีการผ่าตัด และปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เช่น ยีน HER2 (human epidermal growth factor receptor 2) ถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันแต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน
ดังนั้นการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของคนไข้ด้วย การตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถร่วมกันวางแผนการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม
เสริมความรู้จากคุณหมอ
Breast Cancer Library
เพลงตรวจเต้านมด้วยตนเอง Dance to check breast cancer
สำหรับผู้หญิงที่อายุเกิน 20 ปี สามารถที่จะตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ด้วยตนเอง จากการคลำเต้านมในขณะอาบน้ำและหลังประจำเดือนหมด 3 วัน โดยใช้ท่าประกอบและร้องตามทำนองได้จากเพลงตรวจเต้านมด้วยตัวเองนี้
รู้เร็ว…หายชัวร์…ไม่ต้องกลัวมะเร็ง
วางแผนรักษามะเร็งเต้านม
เมื่อได้ผลชิ้นเนื้อบอกว่าเป็นมะเร็งเต้านม ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรต่อ การรักษามะเร็งเต้านมก็เหมือนการติดกระดุมเสื้อ กระดุมเม็ดแรกมีความสำคัญมาก ถ้าเริ่มผิดก็จะทำให้กระบวนการรักษาที่ต้องทำต่อไปผิดพลาดไปหมด มาดูภาพรวมแนวทางการรักษาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม
ค่ารักษาโรงพยาบาลต่างๆ : 24:50
โดย รศ.พญ. เยาวนุช คงด่าน โรงพยาบาลนมะรักษ์

มะเร็งเต้านมกลับเป็นซ้ำ ชนิดเฮอร์ทู| คุยกับป้านุช |
โบกมือบ๊ายบายมะเร็งเฮอร์ทู ด้วยยาพุ่งเป้า มะเร็งที่หลายคนก็กลัว นอกจากความดุเรื่องโรค ยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เค้าว่าชอบกลับมาเป็นที่สมองมากกว่าชนิดอื่น จริงหรือไม่ ยาพุ่งเป้าต้องให้ไปนานเท่าไหร่ ยาพุ่งเป้ามีกี่ตัว จะเลือกใช้อย่างไร ยาBiosimilar ใช้ได้หรือไม่ มาค้นหาคำตอบกับป้านุชและพี่หมอมู่ พี่หมอจ๋า พี่หมอกิฟต์ พร้อมตอบคำถามช่วงท้าย พิมพ์คำถามรอได้เลยค่ะ
ดูไลฟ์ย้อนหลังได้ที่ https://facebook.com/NamarakBanRaknom/videos/788377652560555/
29 ธันวาคม 2564
อยากรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมเพิ่มเติม
อ่านที่เอกสารข้างล่างนี้ได้เลย
ความรู้เพื่อประชาชน เรื่องมะเร็งเต้านม
- ทำความรู้จักกับมะเร็งเต้านม
- อะไรเป็นตัวกระตุ้น
- รู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งเต้านม (มะเร็งไม่จำเป็นต้องมีอาการเจ็บ)
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์
- การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม
- คำแนะนำของต่างประเทศในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
- วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง
- ชนิด วิธีการวินิจฉัย ระยะของมะเร็งเต้านม
- เป็นแล้วทำอย่างไรต่อ : การวางแผนการรักษามะเร็งเต้านม สำหรับระยะเริ่มแรกและลุกลาม
- ทำนายนิสัยของมะเร็ง
- การจำแนกระยะของมะเร็งเต้านม
- มะเร็งเต้านม มีวิธีรักษาหลายวิธี ขึ้นกับลักษณะอาการของโรค และความเหมาะสมของร่างกาย
- การผ่าตัด
- รังสีรักษา
- เคมีบำบัด
- ยาต้านฮอร์โมน
- ยาพุ่งเป้าจำเพาะ
- ยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด
- คำถามที่พบบ่อยของมะเร็งเต้านม เช่น
- การรักษาแต่ละวิธี ทำเพื่ออะไร มีวิธีการอย่างไรบ้าง
- รูปลักษณ์เต้านมหลังผ่าตัดเป็นอย่างไรได้บ้าง แผลอยู่ตรงไหน
- การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแต่ละระยะ
- หลังรักษามะเร็งเต้านม ใช้ชีวิตอย่างไรในวันที่อาจมีบางอย่างเปลี่ยนไป
เข้าร่วมกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
Breast Cancer group

ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ จะสามารถพัฒนาศักยภาพในการทำงานเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยต่อไป
เรื่องที่น่าสนใจ มีทั้งอาหาร จิตใจ และข้อมูลด้านการแพทย์ที่เข้าใจง่าย
https://tbcc-community.com/articles/
https://tbcc-community.com/
https://facebook.com/tbcccommunity/

กลุ่มเพื่อนมะเร็งเต้านม
กลุ่มที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือญาติผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคน ได้เข้ามาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ในการรักษามะเร็งเต้านมในทุกๆ ระยะ เพื่อที่จะได้หายจากโรคกันทุกคน
แบ่งปันประสบการณ์ จากผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข
เพจบอกเล่าเล่าเรื่องราวประสบการณ์การรักษามะเร็งเต้านมและแชร์พลังบวก ของผู้หญิงสองคนที่เรื่องราวคล้ายกัน และมีความสุขจากมะเร็งเหมือนกัน

B Bird นก เรียนรู้ โลกใบใหม่
พื้นที่เล็กๆที่จะแบ่งปันพลังงานและกำลังใจจากคนป่วยมะเร็งเต้านมสู่คนรอบข้าง

มะเร็งไม่น่ากลัว Don’t be scared with Cancer
เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง ของคนที่รักษามะเร็งระยะที่4 และชีวิตหลังจากผ่านมะเร็ง
มูลนิธิต่างๆ ที่ทำเรื่องมะเร็งเต้านม

ศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ
ความตั้งใจของผม คือ การยกระดับมาตรฐานการรักษาและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมของประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล เพื่อให้มูลนิธิเป็นที่พึ่งของผู้หญิงไทยอย่างแท้จริง
นายแพทย์กฤษณ์ จาฏามระ
ประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ
อยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
https://qscbc.org/มูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้า/
มีกลุ่มบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเจ็บป่วยกับผู้ป่วยที่จบการรักษาแล้ว และเรียนรู้การดูแลตนเองจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ

มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์
“ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้อย่างเหมาะสม และให้รักษาคนจนคนรวยโดยเท่าเทียมกัน”
พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ในวันพระราชทานเงินก่อตั้งมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ปี พ.ศ. 2537
อยู่ในโรงพยาบาลศิริราช
http://www.thanyarak.or.th/
https://facebook.com/thanyarakbreastcenter/
Reference
- โรคมะเร็งเต้านม, https://www.roche.co.th/th/disease-areas/breast-cancer.html
- มะเร็งเต้านม “เรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง”, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, เรียบเรียงโดย พว.มลฤดี เกษเพชร https://med.mahidol.ac.th/cancer_center/sites/default/files/public/pdf/Article/BreastCancer.pdf
- คลิปตรวจเต้านมด้วยตนเอง, ตรวจคัดกรองและป้องกันมะเร็งเต้านม, นพ. ชนินทร์ อภิวาณิชย์, 1 ตุลาคม 2558, https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/คัดกรองมะเร็งเต้านม
- คลิปวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง, โรงพยาบาลธนบุรี, https://www.youtube.com/watch?v=yW2f_hNKyu8
- https://www.pobpad.com/ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง-ขั
- 6 พฤติกรรมลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม, นพ. ชินวัตร วิสุทธิแพทย์, 9 ตุลาคม 2563, https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ลดเสี่ยง-มะเร็งเต้านม
- ทำความรู้จักเต้านม, มะเร็งเต้านม, พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อายุรกรรมมะเร็งวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ, https://www.wattanosothcancerhospital.com/cancer-types/breast-cancer
- แพทย์แนะให้นมลูกช่วยลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม, https://www.thaihealth.or.th/Content/2964-แพทย์แนะให้นมลูกช่วยลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม.html
- วางแผนรักษามะเร็งเต้านม, นมะรักษ์, https://youtu.be/ewT9cisAkDc