ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะใกล้ตาย

ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะใกล้ตาย ทำไมต้องสนใจเรื่องความตาย

☘️ การตายอย่างสงบ ☘️

🍀 ปัจจุบันเรื่อง “ความตาย” เป็นที่สนใจกันมากขึ้น ใครเลยจะรู้ว่าวิวัฒนาการและเทคโนโลยีด้านการแพทย์นี้เองที่ทำให้มนุษย์มีโอกาสตายตามธรรมชาติได้น้อยลง ความตายอย่างสงบจึงอาจไม่เกิดขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อการ “ยืดชีวิต” ทำให้การตายอย่างสงบที่บ้านไม่สามารถทำได้ ผู้ป่วยระยะท้ายต้องเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและทรมานในโรงพยาบาลกับสายระโยงระยาง ที่เข้าและออกจากร่างกายด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่อยู่รอบตัว การดูแลรักษาเกิดความยุ่งยาก เกิดสภาวะความเครียด ส่งต่อเป็นปัญหาด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และด้านจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความสลับซับซ้อนมาก

การตายดี

🍀 “การตายดี” ในแง่พุทธศาสนานั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เขียนไว้ในหนังสือ การแพทย์ยุคใหม่ในพุทธทัศน์ เรื่องช่วยให้ตายเร็วหรือช่วยให้ตายช้าว่า

“ในคัมภีร์พุทธศาสนา พูดถึงเสมอว่า อย่างไรเป็นการตายที่ดี ท่านมักใช้คำสั้นๆ ว่า “มีสติไม่หลงตาย” และที่ว่าตายดีนั้น ไม่ใช่เฉพาะตายแล้วจะไปสู่สุคติเท่านั้น แต่ขณะที่ตายก็เป็นจุดสำคัญ ที่ว่าต้องมีจิตใจที่ดี คือมีสติไม่หลงตาย”

อย่างไรก็ตาม ยังมีการตายที่ดีกว่านั้นอีก คือ ให้เป็นการตายที่ใจมีความรู้ หมายถึงความรู้เท่าทันชีวิต จนกระทั่งยอมรับความจริงของความตาย หรือความเป็นอนิจจังได้ เพียงแค่ว่าคนที่จะตายมีจิตยึดเหนี่ยวอยู่กับบุญกุศล ความดี ก็นับว่าดีแล้ว แต่ถ้าเป็นจิตใจที่มีความรู้เท่าทัน จิตใจนั้นก็จะมีความสว่าง ไม่เกาะเกี่ยว ไม่มีความยึดติด เป็นจิตใจที่โปร่งโล่งเป็นอิสระแท้จริง ขั้นนี้แหละถือว่าดีที่สุด”

จิตตอนจะตาย

นอกจากนั้นท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกยังได้แทรกคติทางพุทธเกี่ยวกับจิตตอนที่จะตายว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ก็เป็นอันหวังทุคติได้ และเมื่อใจใสไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติก็เป็นอันหวังได้”

จากความหมายของการตายดีและคติทางพุทธเกี่ยวกับจิตตอนที่จะตาย ทำให้เห็นความสำคัญของการทำจิตให้ผ่องใสในเวลาที่จะตาย ความรู้นี้เป็นประโยชน์ในการที่เราจะให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ใกล้ตายด้านจิตใจ ตายกับสติไม่หลงตาย ซึ่งถือว่าเป็น “การตายที่ดี”

นอกจากนั้นทางพุทธศาสนาถือว่าชีวิตคนมีโอกาสตลอดเวลาจนถึงวาระสุดท้าย กล่าวคือ แม้ถึงวาระสุดท้ายมนุษย์ก็ยังไม่หมดโอกาสที่จะได้สิ่งดีที่สุดของชีวิต หากบุคคลผู้นั้นมีปัญญารู้เท่าทันชีวิตและบรรลุธรรมในขณะจิตสุดท้ายตอนจะดับ

☘️ แนวทางการช่วยเหลือคนใกล้ตาย

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจด้านร่างกายและจิตใจของคนใกล้ตาย และความตายดังกล่าวแล้ว ก็สามารถช่วยเหลือคนใกล้ตายได้ โดย

📍 มีจิตใจที่อยากช่วยเหลือ

จิตใจที่อยากช่วยเหลือเป็นคุณสมบัติแรกที่ควรต้องมี เพราะจิตใจนั้นจะแสดงออกทางกาย วาจาที่คนใกล้ตายสามารถสัมผัสและรับรู้ได้ เอื้อให้สิ่งที่จะทำเพื่อช่วยเหลือต่อไปได้ผลดี

📍 รู้เขารู้เรา

คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การรู้จักสภาพจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ด้วยการให้คนใกล้ตายได้มีโอกาสระบายความรู้สึก บอกความต้องการ โดยผู้ให้ความช่วยเหลือใส่ใจรับฟังและใช้ความสังเกต

เมื่อ “รู้เขา” แล้วก็สามารถช่วยเหลือได้ถูกต้องและเหมาะสม โดยปรับใช้วิธีการให้เข้ากับสภาพและภูมิหลังของคนใกล้ตาย โดยเฉพาะในด้านจิตใจและความรู้สึก เช่น เรื่องที่จะทำให้จิตใจสบายของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ก็ต้องเลือกพูดและเลือกทำให้เหมาะสม ในกรณีที่ผู้ใกล้ตายเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็ควรเปิดโอกาส ให้ได้เจริญสติโดยไม่ถูกรบกวน และช่วยให้คนใกล้ตายได้ใช้พลังในตัวเขาเองเผชิญกับความตายที่จะมาถึง

สำหรับการ “รู้เรา” คือ การรู้จักความสามารถและสภาพจิตใจของตนเองก็มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในด้านจิตใจ ผู้ให้ความช่วยเหลือต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคง สติตั้งมั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วนอกจากเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อตนเองด้วย ผู้ที่เคยช่วยเหลือคนใกล้ตายมีประสบการณ์ตรงกันว่าเกิดพลังขึ้นในตนเอง เมื่อการช่วยเหลือนั้นประกอบด้วยเมตตา กรุณา และอุเบกขา

📍 เอาใจเขามาใส่ใจเรา

การเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำให้สามารถช่วยเหลือคนใกล้ตายได้ดีขึ้น เพราะสิ่งที่เขาต้องการ คือ ใครสักคนที่พยายามเข้าใจเขา และให้ความเอาใจใส่เขา แม้เมื่อเขาไม่สามารถโต้ตอบได้ การสัมผัส การจับมือ ก็สามารถช่วยให้เขารู้สึกดีและสงบได้

🍀 สรุป

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น เรื่องเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความตายยังมีอีกมากมายและล้วนแต่น่าสนใจและน่าศึกษา ทั้งในด้านการแพทย์และด้านศาสนา สำหรับหนังสือภาษาไทยที่มีให้หาอ่าน คือ “เหนือห้วงมหรรณพ และ ประตูสู่ภาวะใหม่” ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้แปลจากหนังสือเรื่อง “The Tibetan Book of Living and Dying ” โดยท่านโซเกียล รินโปเช ซึ่งให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความตาย และวิธีช่วยเหลือผู้ใกล้ตายอย่างดีเยี่ยมควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ตอนหนึ่งที่ท่านไพศาลแปลไว้มีความว่า


“สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าหวัง ก็คือ หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้หมอทั่วโลกตระหนักว่า การอนุญาตให้ผู้ใกล้ตายได้จากไปอย่างสงบและเป็นสุขนั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ข้าพเจ้าใคร่ขอวิงวอนต่อบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน และหวังว่าจะช่วยให้เขาเหล่านั้น ค้นพบหนทางในการทำให้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แห่งความตายอันยากลำบากนี้ ผ่านไปอย่างง่ายดาย ไม่เจ็บปวด และสงบ เท่าที่จะทำได้ การตายอย่างสงบเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญโดยแท้ อาจสำคัญยิ่งกว่าสิทธิในการลงคะแนนเสียงหรือสิทธิที่จะได้ความยุติธรรมเสียอีก ทุกศาสนาสอนว่า นี้เป็นสิทธิที่มีผลอย่างมากต่อปกติสุข และอนาคตทางจิตวิญญาณของผู้ใกล้ตาย”


☘️ “ไม่มีสิ่งประเสริฐใดๆ ที่คุณสามารถจะให้ได้ นอกเหนือจากการช่วยให้บุคคลตายด้วยดี”


ขอบคุณเนื้อหาที่ดีจาก

อ่านเพิ่มเติม

สภาพจิตในเวลาตาย https://www.papayutto.org/en/book-reading/131/2

-+=