มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม

ในปัจจุบัน มะเร็งเต้านมถือเป็นโรคยอดฮิตในผู้หญิง ยิ่งเรามีอายุมากขึ้นโรคภัยหรือปัญหาด้านสุขภาพก็เริ่มตามมา ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้  และเจ้ามะเร็งเต้านมมักไม่ค่อยมีสัญญาณเตือน 

กลายเป็นมะเร็งได้อย่างไร

เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงเช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ

ทำความรู้จักกับเต้านม

เต้านมนั้นมีส่วนประกอบอยู่หลายชนิด เช่น ไขมัน (fat cells) ต่อมน้ำนม (lobule) ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำนม และท่อนํ้านม (duct) ทำหน้าที่รวบรวมน้ำนมที่ผลิตจากต่อมน้ำนมมายังหัวนม เซลล์ต่างๆ เหล่านี้สามารถกลายพันธุ์เกิดเป็นมะเร็งได้ทั้งนั้น แต่ที่พบบ่อยที่สุดที่เกิดความผิดปกติ และทำให้เกิดมะเร็งเต้านม คือ เซลล์ท่อนํ้านม

  • เต้านมของคนเราประกอบไปด้วยไขมัน เนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนมประมาณ 15 – 20 กลีบ ภายในกลีบประกอบด้วยกลีบย่อยและมีถุงติดอยู่กับท่อน้ำนม ซึ่งจะเปิดยังหัวนม ภายในเต้านมยังมีหลอดเลือดและน้ำเหลือง ซึ่งจะไปรวมกันยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
  • มะเร็งที่เกิดในท่อน้ำนมเรียกว่า Ductal Carcinoma เมื่อมะเร็งแพร่กระจายมักจะไปตามต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และอาจจะไปยังกระดูก ตับ ปอด และยังไปตามหลอดเลือด
  • ลักษณะเต้านมในแต่ช่วงเวลาของรอบเดือนจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน ช่วงก่อนมีรอบเดือนเต้านมจะตึงและคัด เมื่อคลำจะรู้สึกตึง คลำได้ต่อมน้ำนม แต่หลังจากประจำเดือนมาแล้วเต้านมจะนิ่มขึ้น จึงแนะนำให้คลำหลังประจำเดือนมา ส่วนเต้านมในวัยทองจะเหลวนิ่ม เนื่องจากต่อมน้ำนมไม่ทำงาน สำหรับผู้ที่ตัดมดลูกโดยที่ไม่ได้ตัดรังไข่ เต้านมจะยังเหมือนเดิม

ดังนั้น มะเร็งเต้านมชนิดที่พบบ่อยที่สุด จึงมีชื่อเรียกว่า invasive ductal carcinoma และชนิดของมะเร็งที่พบน้อย คือ มะเร็งของต่อมนํ้านม ที่มีชื่อเรียกว่า invasive lobular carcinoma ซึ่งมะเร็งทั้งสองชนิดนี้มีวิธีการรักษาเหมือนกัน และชนิดสุดท้ายซึ่งพบเป็นก้อนที่เต้านมเกิดจากมะเร็งจากที่อื่นแพร่กระจายมา เรียกว่า metastatic carcinoma จะรักษาไม่เหมือนกับมะเร็งที่เกิดจากเต้านม และต้องรักษาตามชนิดของมะเร็งตัวแม่ที่ส่งเซลล์แพร่กระจายมา จึงไม่กล่าวถึงในที่นี้

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากตรวจพบโรคได้เร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายมากขึ้น

การค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็กและก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้มีโอกาสหายขาดมากขึ้น

สาเหตุ / ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม มีอะไรบ้าง

  1. ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วนหลังหมดประจำเดือน ความอ้วน
  2. ประวัติดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เหล้าเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ดื่มมากกว่า2-5 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม 1.5 เท่า
  3. ประวัติการได้รับรังสี โดยเฉพาะการได้รับรังสีบริเวณหน้าอกเมื่ออายุยังน้อย และมีการให้รังสีรักษาที่เต้านมหรือทรวงอก
  4. ยาคุมกำเนิด และฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน รวมถึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดมากกว่า 5 ปี หรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนหลังหมดประจำเดือนเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมมากขึ้น (ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ)
  5. มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
  6. ไม่ได้ให้นมบุตร เนื่องจากช่วงให้นมบุตรจะทำให้มารดาไม่มีประจำเดือนมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและป้องกันมะเร็งเต้านมได้
  7. มีประจำเดือนอายุน้อย (น้อยกว่า 12 ปี) หรือหมดประจำเดือนช้า (มากกว่าอายุ 50 ปี) ทำให้ร่างกายสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานกว่าผู้หญิงปกติ
  8. เต้านมมีเนื้อเยื่อแน่น หมายถึง มีต่อมนํ้านมมากกว่าผู้หญิงทั่วไปทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และอีกนัยหนึ่ง คือ ทำให้แพทย์พบความผิดปกติได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเต้านมหรือการใช้เครื่องมือช่วยวินิจฉัย
  9. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คือ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว สาเหตุจากพันธุกรรมในคนไทยถือว่าพบในต่ำกว่าประเทศตะวันตก
    • ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมจากยีนส์ จะสังเกตได้ว่าจะมีประวัติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง หรือมีพี่น้องมากกว่าหนึ่งคนเป็นมะเร็ง หรือ เกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชายในครอบครัวญาติพี่น้องสายตรง หากมีสัญญาณดังกล่าวควรจะหมั่นตรวจเช็กความผิดปกติ ซึ่งจะต้องใช้วิธีการตรวจแบบแมมโมแกรม ซึ่งมีความละเอียดสูง จึงจะสามารถตรวจหาสัญญาณความผิดปกติได้
    • มะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมพบได้ 5-10% ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการแบ่งเซลล์ และยีนชนิดนี้สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้
  10. อายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติของยีนในเซลล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดมะเร็งได้
  11. เพศ ผู้ชายอาจเป็นมะเร็งเต้านมได้แต่น้อยกว่าผู้หญิงมาก ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชาย 100 เท่า
  12. เชื้อชาติ มีความสำคัญ ผู้หญิงตะวันตกมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงชาวเอเชีย

ห่างไกลมะเร็งเต้านม

ถึงแม้ว่าปัจจัยเสี่ยงจะดูมีมากมาย และทางการแพทย์ยังไม่ทราบว่าอะไรคือต้นเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านม แต่เราสามารถค่อยๆ ปรับพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้

ดูแลรูปร่าง

ดูแลรูปร่าง น้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ไม่อ้วน เนื่องจากความอ้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งเต้านม ทำได้โดยดูแลอาหารการกินให้ดี และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ทานอาหารดี

เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทานผักผลไม้ให้เยอะ

ออกกำลังกาย

ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง สามารถลดความเสี่ยงลงได้ 20–30% ด้วยการออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิค และโยคะ การออกกำลังกายยังช่วยลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำในผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งเต้านม

การออกกำลังกายเป็นประจำ มีผลต่อการหมุนเวียนของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อเต้านม รวมถึงมีผลต่อระดับอินซูลินและ Insulin–like growth factor (IGF)  ซึ่งเชื่อมโยงกับการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม

เพิ่มวิตามิน D

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้หญิงที่ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ได้ทั้งจากการรับประทานอาหารหรือได้รับจากแสงแดด ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมลง 50%

ให้นมบุตรด้วยตนเอง

ผู้ที่มีบุตรควรให้นมบุตรด้วยตนเอง เนื่องจากระยะเวลาการให้บุตรที่นานขึ้นจะช่วยลดโอกาสการได้รับฮอร์โมนเช่นกัน ยิ่งให้นมนาน ก็ยิ่งช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น

แต่สำหรับคุณแม่ที่เป็นมะเร็งเต้านม แนะนำให้หยุดให้นมบุตร เนื่องจากทำให้เซลล์เกิดการขยาย จึงควบคุมเซลล์มะเร็งได้ยาก

ตรวจเต้านมด้วยตนเอง

ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ เดือนละ 1 ครั้ง ตรวจเต้านมด้วยตนเองง่ายๆ ทำอย่างไร คลิกเลย

ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

  • งดสูบบุหรี่
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมถึงแอลกอฮอล์ยังทำปฏิกิริยากับสารก่อมะเร็ง และยับยั้งความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง
  • หลีกเลี่ยงการได้รับรังสี
  • ใช้ยาคุมกำเนิด และฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากต้องใช้ต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์เป็นระยะ
  • นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้หญิงที่รับประทานยาไดเอทิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol-DES) ในระหว่างตั้งครรภ์ (เพื่อลดโอกาสในการแท้งบุตร) มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งเต้านม รวมถึงลูกสาวที่คลอดออกมาก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ตรวจเต้านมตนเอง ง่ายๆ ทำอย่างไร

ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองสม่ำเสมอ ทุกเดือน

ตรวจเต้านมด้วยตนเองง่ายๆ เพียง ดู | คลำ | บีบ

คลิกเลย

สัญญาเตือน / อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์

หากพบเจอก้อนที่เต้านม ไม่ว่าจะเจ็บหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

หากตรวจเช็กเต้านมด้วยตนเองแล้วพบอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นไป ดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์

  • คลำพบก้อนหรือไตแข็งผิดปกติ รวมถึงที่รักแร้ด้วย
  • มีอาการเจ็บเต้านม โดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน
  • เต้านมเปลี่ยนแปลงไป
    • เต้านมเปลี่ยนแปลง มีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป มักเริ่มที่ข้างเดียว ปกติแล้วผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีขนาดเต้านมทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน แค่สังเกตว่าเปลี่ยนแปลงไปไหม
    • ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ เห็นรอยรูขุมขนใหญ่ขึ้นคล้ายเปลือกส้ม หรือบางส่วนเกิดเป็นสะเก็ด มีแผลที่ไม่หาย หรือเปลี่ยนสี ผื่นแดงคันรักษาด้านผิวหนังแล้วไม่หาย
    • หัวนมเปลี่ยนแปลง เช่น หดตัว คัน หรือมีผื่นแดงผิดปกติ หัวนมดึงรั้งผิดปกติ หัวนมบอด หัวนมชี้เปลี่ยนทิศทาง มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกทางหัวนม โดยเฉพาะหากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลนั้นมีสีคล้ายเลือด และออกจากหัวนมเพียงรูเดียว

หากมะเร็งเริ่มเป็นมากและมีการแพร่กระจายจะมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

  • ปวดกระดูก
  • น้ำหนักลด
  • แผลที่ผิวหนัง
  • แขนบวม

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มีแบบไหนบ้าง

เนื่องจากมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าพบในระยะเริ่มแรกดังนั้น การตรวจพบแต่เนิ่นๆคือหัวใจสำคัญ วิธีการที่ทำให้เราสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่แรกๆ มี

ตรวจเต้านมโดยแพทย์

เมื่อตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมต่อไป
 

ตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammography)

เครื่องแมมโมแกรมเป็นเครื่องเอ๊กซเรย์แบบพิเศษ ที่จะมีฐานรองรับเต้านมและมีฝาอีกด้านประกบลงมา วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น โดยความผิดปกติที่พบจากเครื่องแมมโมแกรมและอาจบ่งชี้มะเร็ง ได้แก่ การมีหินปูนแบบละเอียดอยู่ในเต้านม (microcalcification) พบก้อนที่มีลักษณะแข็ง (solidmass) เป็นต้น การตรวจแมมโมแกรมอาจจะตามด้วยการทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์เต้านม (ultrasound of breast) เพื่อดูให้ละเอียดอีกที นอกจากตรวจเต้านมแล้วการทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ยังดูความผิดปกติ ที่ต่อมนํ้าเหลืองบริเวณรักแร้อีกด้วย

การจำแนกระยะของมะเร็งเต้านม

  1. มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 ซม. มะเร็งยังคงอยู่เฉพาะในเต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้ จึงมักจะยังคลำก้อนผิดปกติที่เต้านมไม่ได้
  2. มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาด 2-5 ซม. และอาจมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน
  3. มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (ระยะที่ 3) ระยะนี้โรคมักจะเป็นค่อนข้างมาก เช่น ก้อนมีขนาดใหญ่มากขึ้น มากกว่า 5 เซ็นติเมตรขึ้นไป หรือมีการลุกลามไปยังต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้มาก จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นรวมติดกันเป็นก้อนใหญ่หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง เช่น คลำเจอก้อนที่รักแร้ ยิ่งถ้าใหญ่หรือติดกับเนื้อเยื่อข้างใต้ แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะห่างไกล
  4. มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (ระยะที่ 4) ขนาดของก้อนมะเร็งจะใหญ่เล็กแค่ไหนก็ได้ โดยมีการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะห่างไกล เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น
8

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม

การวินิจฉัยเบื้องต้น

การตรวจทางรังสีวิทยาและการเจาะชิ้นเนื้อตรวจ

เมื่อตรวจพบก้อนที่เต้านม คุณต้องไปพบแพทย์ทันที แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านมอย่างละเอียด รวมไปถึงการคลำต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้และที่คอ

นอกจากนั้นคุณยังต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม การตรวจเต้านมด้วยคลื่นเสียงและแมมโมแกรมเป็นวิธีที่ใช้เป็นประจำ

คลื่นเสียง

การทำคลื่นเสียงนั้นไม่เจ็บและใช้เวลาไม่นาน จะใช้คลื่นเสียงส่งผ่านผิวหนังเข้าไปและทำให้มีภาพข้างใต้ปรากฏขึ้นมา ใช้สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากเต้านมยังมีความหนาแน่นสูงทำให้การทำแมมโมแกรมไม่ชัดเจน นอกจากนั้นยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบนั้นมีนํ้าอยู่ด้วยหรือไม่ ถ้ามีถุงนํ้าเรียกว่า cyst

แมมโมแกรม

แมมโมแกรมเป็นวิธีหนึ่งของเอกซเรย์เต้านม โดยมากใช้สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป วิธีนี้มีประโยชน์มากสำหรับการวินิจฉัยมะเร็งระยะเริ่มแรกที่อาจจะยังไม่สามารถคลำก้อนได้

วิธีนี้อาจเจ็บบ้างเนื่องจากเต้านมต้องถูกหนีบไว้ระหว่างแผ่นเหล็ก รองสองแผ่น และใช้วิธีการบีบเข้าหากัน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่าเจ็บแบบแน่นๆ พอสมควร และไม่มีอันตรายต่อเต้านม

จากนั้นถ้าพบความผิดปกติแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยชิ้นเนื้อที่นำออกมานั้นจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการพยาธิวินิจฉัย เพื่อดูว่ามีมะเร็งหรือไม่ การนำชิ้นเนื้อไปตรวจมีวิธีหลายวิธี ตั้งแต่การเจาะดูดโดยเข็ม (fine needle aspiration) การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจบางส่วน (core needle biopsy) และตัดทั้งก้อนไปตรวจ (excisional biopsy)

การเจาะดูดโดยเข็ม

แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆเจาะเข้าไปในก้อนและดูดเซลล์มาตรวจ ถ้าก้อนนั้นมีนํ้าก็จะสามารถดูดนํ้าออกมาได้ด้วย

การเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจบางส่วน

เข็มที่ใช้เจาะจะใหญ่กว่าวิธีแรก และแพทย์จะฉีดยาชา เพื่อให้ชาก่อนทำ วิธีนี้จะได้ชิ้นเนื้อออกมาในปริมาณพอสมควร วิธีนี้ดีตรงที่แพทย์พยาธิวินิจฉัย นอกจากจะดูว่าเซลล์ผิดปกติเป็นมะเร็งหรือไม่ ยังสามารถดูว่ามะเร็งลุกลามออกมายังเนื้อเยื่อข้างๆด้วยหรือไม่ ทำให้บอกได้ว่า มะเร็งเต้านมนั้นเป็นแบบเริ่มแรกที่ยังไม่ลุกลาม (in situ) หรือลุกลามออกมาแล้ว (invasive carcinoma)

การตัดทั้งก้อนไปตรวจ

เป็นการผ่าตัดเล็ก นำก้อนทั้งก้อนไปตรวจทางพยาธิวิทยา

มะเร็งเต้านม รักษาอย่างไรได้บ้าง

  1. การรักษาเฉพาะที่ (local treatment) เพื่อควบคุมรอยโรคที่เต้านมและรักแร้ สิ่งสำคัญที่ต้องบอกคือ มะเร็งเต้านมจะหายได้นั้น จะต้องสามารถผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออกไปจากร่างกายได้จนหมด ได้แก่
    • การผ่าตัด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของเต้านม และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ โดยมีทั้งแบบ
      • เก็บเต้านมบางส่วน คือ ตัดเฉพาะมะเร็งให้มีเนื้อดีหุ้ม แล้วตามฉายแสงคุมเนื้อเต้านมที่เหลือ
      • ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด
    • การฉายแสง (รังสีรักษา หรือฉายรังสี) ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลมีคุณภาพเดียวกัน ฉายที่ไหนก็ได้ [9]
  2. การรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย (systemic treatment) เพื่อควบคุมเซลล์มะเร็งที่อาจมีการกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย โดยหลักการคือเมื่อยาเข้าไปในร่างกายจะสามารถไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ไม่ว่าเซลล์นั้นจะอยู่ที่อวัยวะใด มีได้ทั้งแบบยาฉีด ยารับประทาน หรือ ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ ประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม ดังต่อไปนี้
    • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
    • ยาต้านฮอร์โมน (Antihormonal Agents)
    • การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy)
    • ยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด (Immunotherapy)

ระยะเริ่มแรก ก้อนยังไม่โต จะรักษาด้วยการผ่าตัด พร้อมกับวิธีอื่นเพื่อเสริมให้ผลการรักษาดีขึ้น แต่หากก้อนมะเร็งโต แพทย์อาจเริ่มการรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัด เพื่อให้ขนาดก้อนเล็กลงแล้วจึงผ่าตัด

การรักษามะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบผสมผสานกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเต้านม ระยะของโรค และความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การเลือกยาในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน ขึ้นกับระยะโรค คุณสมบัติของเซลล์มะเร็ง วิธีการผ่าตัด และปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เช่น ยีน HER2 (human epidermal growth factor receptor 2) ถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันแต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน

ดังนั้นการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของคนไข้ด้วย การตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถร่วมกันวางแผนการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม

เสริมความรู้จากคุณหมอ

Breast Cancer Library

เพลงตรวจเต้านมด้วยตนเอง Dance to check breast cancer

สำหรับผู้หญิงที่อายุเกิน 20 ปี สามารถที่จะตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ด้วยตนเอง จากการคลำเต้านมในขณะอาบน้ำและหลังประจำเดือนหมด 3 วัน โดยใช้ท่าประกอบและร้องตามทำนองได้จากเพลงตรวจเต้านมด้วยตัวเองนี้
รู้เร็ว…หายชัวร์…ไม่ต้องกลัวมะเร็ง

วางแผนรักษามะเร็งเต้านม

เมื่อได้ผลชิ้นเนื้อบอกว่าเป็นมะเร็งเต้านม ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรต่อ การรักษามะเร็งเต้านมก็เหมือนการติดกระดุมเสื้อ กระดุมเม็ดแรกมีความสำคัญมาก ถ้าเริ่มผิดก็จะทำให้กระบวนการรักษาที่ต้องทำต่อไปผิดพลาดไปหมด มาดูภาพรวมแนวทางการรักษาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม
ค่ารักษาโรงพยาบาลต่างๆ : 24:50

โดย รศ.พญ. เยาวนุช คงด่าน โรงพยาบาลนมะรักษ์

มะเร็งเต้านมกลับเป็นซ้ำ ชนิดเฮอร์ทู| คุยกับป้านุช |

โบกมือบ๊ายบายมะเร็งเฮอร์ทู ด้วยยาพุ่งเป้า มะเร็งที่หลายคนก็กลัว นอกจากความดุเรื่องโรค ยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เค้าว่าชอบกลับมาเป็นที่สมองมากกว่าชนิดอื่น จริงหรือไม่ ยาพุ่งเป้าต้องให้ไปนานเท่าไหร่ ยาพุ่งเป้ามีกี่ตัว จะเลือกใช้อย่างไร ยาBiosimilar ใช้ได้หรือไม่ มาค้นหาคำตอบกับป้านุชและพี่หมอมู่ พี่หมอจ๋า พี่หมอกิฟต์ พร้อมตอบคำถามช่วงท้าย พิมพ์คำถามรอได้เลยค่ะ

ดูไลฟ์ย้อนหลังได้ที่ https://facebook.com/NamarakBanRaknom/videos/788377652560555/

29 ธันวาคม 2564

อยากรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมเพิ่มเติม
อ่านที่เอกสารข้างล่างนี้ได้เลย

ความรู้เพื่อประชาชน เรื่องมะเร็งเต้านม

  • ทำความรู้จักกับมะเร็งเต้านม
    • อะไรเป็นตัวกระตุ้น
    • รู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งเต้านม (มะเร็งไม่จำเป็นต้องมีอาการเจ็บ)
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
    • การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
    • การตรวจเต้านมโดยแพทย์
    • การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม
    • คำแนะนำของต่างประเทศในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
    • วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง
  • ชนิด วิธีการวินิจฉัย ระยะของมะเร็งเต้านม
  • เป็นแล้วทำอย่างไรต่อ : การวางแผนการรักษามะเร็งเต้านม สำหรับระยะเริ่มแรกและลุกลาม
    • ทำนายนิสัยของมะเร็ง
    • การจำแนกระยะของมะเร็งเต้านม
    • มะเร็งเต้านม มีวิธีรักษาหลายวิธี ขึ้นกับลักษณะอาการของโรค และความเหมาะสมของร่างกาย
      1. การผ่าตัด
      2. รังสีรักษา
      3. เคมีบำบัด
      4. ยาต้านฮอร์โมน
      5. ยาพุ่งเป้าจำเพาะ
      6. ยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด
    • คำถามที่พบบ่อยของมะเร็งเต้านม เช่น
      • การรักษาแต่ละวิธี ทำเพื่ออะไร มีวิธีการอย่างไรบ้าง
      • รูปลักษณ์เต้านมหลังผ่าตัดเป็นอย่างไรได้บ้าง แผลอยู่ตรงไหน
  • การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแต่ละระยะ
  • หลังรักษามะเร็งเต้านม ใช้ชีวิตอย่างไรในวันที่อาจมีบางอย่างเปลี่ยนไป

เพื่อนร่วมทาง..มะเร็งเต้านม

Breast Cancer Community

โลโก้ ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

ชมรมมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย

เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสามารถพัฒนาศักยภาพการทำงานเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทย
มีทั้งอาหาร จิตใจ และข้อมูลด้านการแพทย์ที่เข้าใจง่าย
tbcc-community.com/articles/

tbcc-community.com
Facebook page

Website : แนะนำมาก

กลุ่มเพื่อนมะเร็งเต้านม

เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ญาติผู้ป่วย หรือผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้เข้ามาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์การรักษามะเร็งเต้านมทุกระยะ เพื่อจะได้หายจากโรคกันทุกคน

Facebook group

มะเร็งเต้านมเป็นได้ก็หายได้

มะเร็งเต้านมเป็นได้ก็หายได้

รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม การปฏิบัติตัวระหว่างที่เป็น อาหาร ออกกำลังกาย เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตไม่มากก็น้อย

Facebook group

รู้ สู้ มะเร็งเต้านมbyหมอหมู

พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้สึก และช่วยเหลือเพื่อนๆ พี่น้องชาวมะเร็ง ให้เข้าใจมะเร็งได้ถูกต้อง

Facebook group


แบ่งปันประสบการณ์จากผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

แมวนมเดียว

แมวนมเดีย

“บันทึกสติ” ของแมววัยกลางคน ที่อยู่ๆ ก็นมหายไปข้าง เมื่อมะเร็งเต้านมมาสะกิดทักทาย

3 ปีเต็มที่ไร้นม แต่ก็เป็น 3 ปีเต็มที่ไร้มะเร็งเต้านมด้วย เย้

Facebook page

เพจก็แค่มะเร็งเต้านม

ก็แค่มะเร็งเต้านม

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสาม แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง 4 ต่อม

Facebook page

เพจ แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข

แฝดมะเร็งสวย รวยความสุข

เพจบอกเล่าเล่าเรื่องราวประสบการณ์การรักษามะเร็งเต้านมและแชร์พลังบวก ของผู้หญิงสองคนที่เรื่องราวคล้ายกัน และมีความสุขจากมะเร็งเหมือนกัน

Facebook page

เพจ B Bird นก

B Bird นก เรียนรู้ โลกใบใหม่

พื้นที่เล็กๆที่จะแบ่งปันพลังงานและกำลังใจจากคนป่วยมะเร็งเต้านมสู่คนรอบข้าง

Facebook page

มูลนิธิต่างๆ ที่ทำเรื่องมะเร็งเต้านม

โลโก้ มูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ

ศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ

ความตั้งใจของผม คือ การยกระดับมาตรฐานการรักษาและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมของประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล เพื่อให้มูลนิธิเป็นที่พึ่งของผู้หญิงไทยอย่างแท้จริง

นายแพทย์กฤษณ์ จาฏามระ
ประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ

อยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มีกลุ่มบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเจ็บป่วยกับผู้ป่วยที่จบการรักษาแล้ว และเรียนรู้การดูแลตนเองจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ

โลโก้ มูลนิธิถันยรักษ์ มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์

มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์

“ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้อย่างเหมาะสม และให้รักษาคนจนคนรวยโดยเท่าเทียมกัน”

พระราชดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ในวันพระราชทานเงินก่อตั้งมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ปี พ.ศ. 2537

อยู่ในโรงพยาบาลศิริราช

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

  1. โรคมะเร็งเต้านม, https://www.roche.co.th/th/disease-areas/breast-cancer.html
  2. มะเร็งเต้านม “เรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง”, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, เรียบเรียงโดย พว.มลฤดี เกษเพชร https://med.mahidol.ac.th/cancer_center/sites/default/files/public/pdf/Article/BreastCancer.pdf
  3. คลิปตรวจเต้านมด้วยตนเอง, ตรวจคัดกรองและป้องกันมะเร็งเต้านม, นพ. ชนินทร์ อภิวาณิชย์, 1 ตุลาคม 2558, https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/คัดกรองมะเร็งเต้านม
  4. คลิปวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง, โรงพยาบาลธนบุรี, https://www.youtube.com/watch?v=yW2f_hNKyu8
  5. https://www.pobpad.com/ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง-ขั
  6. 6 พฤติกรรมลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม, นพ. ชินวัตร วิสุทธิแพทย์, 9 ตุลาคม 2563, https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ลดเสี่ยง-มะเร็งเต้านม
  7. ทำความรู้จักเต้านม, มะเร็งเต้านม, พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อายุรกรรมมะเร็งวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ, https://www.wattanosothcancerhospital.com/cancer-types/breast-cancer
  8. แพทย์แนะให้นมลูกช่วยลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม, https://www.thaihealth.or.th/Content/2964-แพทย์แนะให้นมลูกช่วยลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม.html
  9. วางแผนรักษามะเร็งเต้านม, นมะรักษ์, https://youtu.be/ewT9cisAkDc
-+=